ฝุ่นตลบลงลึกทุกพื้นที่ แย่ง ส.ส. แย่งหัวคะแนน แย่งแกนนำ

มุกดา สุวรรณชาติ

การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม
ทำให้ต้องแข่งตั้งแต่สัญญาณการเลือกตั้งยังไม่เริ่มขึ้น

มีการชิงความได้เปรียบทางการเมือง ให้บางพรรคออกตัวได้ก่อน หาเสียงได้ แต่ห้ามบางพรรคเคลื่อนไหวทางการเมือง ห้ามหาเสียง

ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ส.ส. ที่สมัครตามเขตต่างๆ เปรียบเหมือนกล่องหย่อนบัตรลงคะแนน

คนที่มีชื่อเสียงดีเป็นที่รัก เป็นผู้กว้างขวาง เป็นที่ชื่นชมในสังคม ก็จะมีคนมาลงคะแนนให้มาก

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมือง ดังนั้น เมื่อถึงวันนี้กระแสรังเกียจนักการเมือง ดูเหมือนจะเป็นน้ำลายที่พ่นออกจากปากแล้วต้องดูดกลืนกลับเข้าปากอีกครั้ง

หลายกลุ่มต้องวิ่งไปไล่ตามนักการเมือง

บางคนจากที่ไม่เคยแสดงตัวเป็นนักการเมืองก็ต้องแสดงตัวเป็นนักการเมืองเพราะการเลือกตั้งคือสนามของนักการเมือง

การแย่งคนมาลงสมัคร ส.ส. เป็นสงครามใหญ่ก่อนการเลือกตั้งเพราะต้องมีผู้สมัคร ส.ส.เขต จึงจะมีคะแนน

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีบัตรลงคะแนนพรรค อยากได้คะแนนมาก ต้องส่งคนสมัคร ส.ส. หลายเขต ถึง 350 เขตยิ่งดี ถ้าแข่งกัน

แค่ 20 พรรคก็ยังต้องมีผู้สมัคร ส.ส. ถึง 7,000 คน การหาผู้สมัครอย่างมีคุณภาพ เพื่อมีคะแนน ไม่ใช่เรื่องง่าย

ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้ผู้สมัครทุกคนมีความหมาย แม้รู้ว่าคนที่ส่งจะไม่ชนะในเขตเลือกตั้งนั้น แต่พรรคก็อาจตั้งเป้าหมายเป็นคะแนนว่าควรจะได้ 10,000 คะแนน หรือ 5,000 คะแนน หรือเกินกว่า 1,000 คะแนน แล้วแต่ศักยภาพของคนและพรรคนั้น

บางกลุ่มจึงได้แสดงพลังดูดแบบไม่อายต่อสายตาประชาชนเพราะหวังว่าจะได้ ส.ส. ตามจำนวนที่ตัวเองต้องการ

 

สภาพความเป็นจริง
ในพื้นที่ต่างๆ
ขณะนี้ฝุ่นตลบถึงระดับตำบล

1.นักการเมืองเคลื่อนไหวหาพรรคและพรรคก็เคลื่อนไหวหานักการเมือง สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งพรรคใหม่ พรรคเก่า กลุ่ม คสช. ก็ต้องอาศัยโครงการต่างๆ ออกไปทำโรดโชว์ ดึงกำลังตามท้องถิ่นต่างๆ ใครอยากสมัคร ส.ส. อยากร่วมรัฐบาลก็ต้องพยายามโชว์กำลังว่าตัวเองรวมกลุ่มได้มีฐานเสียง พรรคใหม่แม้ไม่ใช่พรรคใหญ่อย่างเช่นอนาคตใหม่ก็ยังต้องตระเวนไปตามภาคต่างๆ เพื่อพบปะมวลชน พบปะผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิก หาผู้สมัคร ส.ส. เพื่อแสวงหากำลังสนับสนุน

ส่วนพรรคเก่าก็ต้องพยายามตรึง ส.ส.เก่าไว้ให้ได้มากที่สุด ต้านพลังดูดจากพรรคใหม่ๆ โดยเฉพาะพรรคที่มีอำนาจ อิทธิพลและมีเงิน

2. สถานการณ์ในท้องที่ต่างๆ มีความสับสนซับซ้อนโดยเฉพาะจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งหลายๆ เขต มีนักการเมืองบางคนพยายามทำตัวเป็นผู้กว้างขวาง เสนอว่ามีความสามารถที่จะรับผิดชอบดูแลทั้งจังหวัด หรือดูแลเป็น 5 เขต 10 เขต ถ้าพรรคต่างๆ จะเข้าแข่งขันในเขตเหล่านี้ควรจะผ่านเขา

แต่ในสภาพความเป็นจริงมีน้อยคนมากที่จะมีศักยภาพดูแลเขตเลือกตั้งเกิน 1-2 เขต

เพราะกระแสสูงของการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมาตลอด 10 ปีทำให้การตื่นตัวของมวลชนธรรมดา หัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่นผู้ที่เคยสมัคร ส.ส. พัฒนาไปมาก

มวลชนเปลี่ยนมาเป็นผู้มีอุดมการณ์ มีความรู้การเมืองมากมาย

นักการเมืองท้องถิ่นที่เคยอยู่ในระดับ อบต. หรือเทศบาล สามารถมีความคิดเป็นอิสระ และยังต้องคอยฟังเสียงประชาชน

เมื่อเป็นเช่นนี้การกล่าวอ้างว่าใครคุมใครได้จึงยังเป็นเรื่องที่เลื่อนลอย

การดึงแกนนำ 1-2 คนเข้ามาสมัคร ส.ส. อาจจะทำให้ขัดแย้งกับคนอีก 5-6 คนที่ไม่ได้เข้ามาสมัคร ส.ส.

ความขัดแย้งเดิมของคนในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดึงบางคนมารับผิดชอบทั้งจังหวัด

เพราะอาจจะทำให้มีคนแยกออกไปต่อต้านถึง 4-5 คน และอาจจะทำให้ชนะเพียงพื้นที่เดียวหรือ 2 พื้นที่จาก 5-10 พื้นที่

 

การเลือกตั้งท้องถิ่น
มีผลต่อการแข่งขันทุกเขต

การที่รัฐบาลออกข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ ทำให้การวางตัวผู้สมัคร เพิ่มความสับสน เพิ่มความขัดแย้งขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในพรรคเดียวกันและระหว่างพรรค ระหว่างสีเชิงอุดมการณ์ ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ในท้องถิ่น

ขณะนี้มีผลให้เกิดการเปลี่ยนตัวของผู้สมัคร ส.ส. ในหลายพื้นที่โดยมีการวางแผนโยกย้ายคนสลับเปลี่ยนคนเพื่อที่จะได้คุมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และคุมทั้ง ส.ส. หรือบางคนก็ประสานประโยชน์โดยผลักดันให้คู่แข่งมาสมัคร อบจ. แล้วจะสนับสนุนในขณะที่ตัวเองจะเป็นคนลง ส.ส.

แนวโน้มที่ชัดเจนคือการเลือกตั้งใหญ่น่าจะถูกเดินเกมบีบจนต้องเลือกตั้งตามกำหนด

แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้มีแรงบีบคั้นอะไร ข่าวที่ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นประมาณกลางปี จนถึงบัดนี้จะเข้าเดือนห้าแล้วยังไม่มีวี่แวว

ดังนั้น โอกาสเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน

อีกอย่างการเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้มีอำนาจหวังว่าถ้าเลือกแล้วจะใช้อำนาจที่เหนือกว่าชักจูงหรือโน้มน้าวให้ผู้บริหารท้องถิ่นมาช่วยฝ่ายตน

เรื่องนี้มีบวกและลบ มีได้มีเสีย เพราะมวลชนหรือกลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายที่บริหารท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นคู่แข่งหรือเลือกฝ่ายตรงข้ามทำให้เสียคะแนนไปก็ได้

ยิ่งจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ในระยะใกล้เคียงกับการเลือกตั้งใหญ่ พรรคการเมืองใหญ่ๆ จะพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เพราะจะเป็นการสร้างศัตรูมากกว่าจะได้มิตร

 

การเคลื่อนไหว
ของแกนนำและหัวคะแนน
ในท้องถิ่นมีความสำคัญ

ปัจจุบันก็ขยับตัวกันไปมากพอสมควร ส่วนที่เคลื่อนไหวในเชิงอุดมการณ์มีความนิยมชมชอบต่อพรรค สามารถกดดันผู้สมัครได้ ทำให้ ส.ส. บางคนแม้อยากย้ายพรรคก็ไม่กล้า

วันนี้กองเชียร์ก็เกิดการตื่นตัวว่าตนเองจะทำอย่างไรจะเลือกพรรคไหนดี จะสนับสนุนใครดี

ถ้าเกิดพรรค กปปส. ขึ้น ผู้สนับสนุนบางคนก็จะต้องคิดว่าจะช่วยประชาธิปัตย์ดี หรือพรรค กปปส. ดี

คนเสื้อแดงบางส่วนก็กำลังคิดว่าจะช่วยอนาคตใหม่ดี หรือช่วยพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม ปัญหาเหล่านี้ กำลังเกิดขึ้นในหมู่คนที่เคยเป็นเสื้อแดงหรือเคยเป็นเสื้อเหลือง เคยเป็น กปปส.

ส่วนหัวคะแนนที่มีอุดมการณ์หลากหลาย ก็ต้องการหารายได้ จึงกำลังรอดูว่าครั้งนี้จะเรียกค่าใช้จ่าย ค่าเหนื่อยจากใครได้สูงสุด ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้ผู้สมัครทุกคนมีความหมายแม้รู้ว่าคนที่ส่งจะไม่ชนะในเขตเลือกตั้งนั้น แต่พรรคก็อาจตั้งเป้าหมายเป็นคะแนนว่าควรจะได้ 10,000 คะแนน หรือ 5,000 คะแนน หรือเกินกว่า 1,000 คะแนนแล้วแต่ศักยภาพของคนและพรรคนั้น

เป้าหมายจูงใจของผู้ที่เข้ามาช่วยหาเสียงบางคนอาจต้องมีค่าตอบแทนเป็นเงิน บางคนมาเพราะอุดมการณ์ชอบหรือเชียร์พรรคการเมืองนั้น บางคนชอบการเมืองอยากเป็นนักการเมือง การมาช่วยพรรคต่างๆ ก็เพื่อหาประสบการณ์ หาข้อมูลทางการเมือง

หรือต้องการปรากฏตัวแนะนำตัวให้คนท้องถิ่นนั้นรู้จัก เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองในโอกาสต่อไปจะเป็นในท้องถิ่นหรือระดับชาติก็ได้

 

การเลือกตั้งใต้ รธน. 2560
จะรุนแรงกว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง

เพราะทุกคะแนนนำมาคิดเป็นจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ซึ่งได้เคยประเมินกันแล้วว่าประมาณ 72,000 คะแนนต่อ 1 คน

ดังนั้น แต่ละพรรคจึงจะให้ผู้สมัครของตนเองสู้แบบถึงที่สุด แม้รู้ว่าแพ้ก็ยังต้องสู้ต่อไป

การเลือกตั้งครั้งเก่าๆ เมื่อรู้ว่าตนเองคะแนนแค่ 10,000 คู่ต่อสู้ 40,000 สภาพการหาเสียงก็ไม่เอาเป็นเอาตาย ยอมรับความพ่ายแพ้ได้อยู่แล้ว

แต่ปัจจุบันการได้ 1,000 คะแนน 10,000 คะแนน หรือ 20,000 มีความหมายต่างกันยิ่ง

บางพรรคอาจตั้งรางวัลโบนัสให้กับผู้สมัคร หรือทีมงานที่ได้คะแนนตามเป้า

ดังนั้น การแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้จะสู้กันถึงหยดสุดท้าย

ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแย่งชิง ส.ส. แย่งชิงแกนนำ แย่งชิงหัวคะแนน แย่งชิงคะแนน สู้ไปจนถึงการนับคะแนนจบ และอาจต้องสู้ฟ้องร้องในช่วงที่ กกต. พิจารณาผลการเลือกตั้ง

คาดว่าหลายพรรคต้องมีการตั้งมาตรฐานของคะแนนที่ได้ควบคู่กับการจ่ายงบประมาณการหาเสียง จะมีรางวัลและบทลงโทษตามที่แต่ละกลุ่มกำหนด และใครที่เบี้ยวอาจต้องสาหัส

พรรคเชิงอุดมการณ์จะมีความแตกต่าง เนื่องจากผู้ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนมีลักษณะเป็นอาสาสมัคร ไปบังคับมากก็ไม่ได้ ถ้าตั้งเป้ามากเขาอาจยกเลิกการช่วยเหลือ บังคับมากก็อาจขัดแย้ง

แต่แน่นอนว่าการเลือกตั้งต้องใช้เงินบ้าง การได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เข้ามาช่วยจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ในเมื่อไม่มีเป้าหมายของคะแนน ไม่มีเส้นบังคับที่เป็นมาตรฐาน การหาคะแนนเสียงก็เป็นไปตามธรรมชาติ อาจทำให้ไม่สามารถทำคะแนนได้ตามที่คาดไว้

 

ตัวอย่างการเมืองทับซ้อนในเขต กทม.

การดึงคุณสกลธี ภัททิยกุล เข้าเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มีคนวิเคราะห์ว่าผู้ว่าฯ คนปัจจุบันคือ อัศวิน ขวัญเมือง อาจจะลาออกมาทำพรรคการเมืองและลงสมัคร ซึ่งจะต้องมีคนรักษาการ และจะให้คุณสกลธีทำแทน

แต่ก็มีคนที่วิเคราะห์ออกมาละเอียดว่า สกลธีคือแกนนำ กปปส. ที่ร่วมกับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งนี้เมื่อคุณสุเทพกลับคำพูดมาหนุนหลังการตั้งพรรค กปปส. แม้ไม่เปิดตัวออกมาอยู่ข้างหน้า แต่ก็มีความจำเป็นจะต้องหาแกนหลักจำนวนหนึ่งมาเป็นแกนนำพรรคและลงสมัคร ส.ส.

แต่จะหาคะแนนจากที่ไหนเป็นกอบเป็นกำได้ในเมื่อภาคใต้ประชาธิปัตย์ก็ครอบครองอยู่เกือบทั้งหมด โอกาสได้ ส.ส.เขตในภาคใต้แทบไม่มีเลย อาจจะได้คะแนนมาสะสมเพื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อบ้างเล็กน้อย

แหล่งคะแนนใหญ่ที่สำคัญคือใน กทม. เพราะจากการก่อม็อบขับไล่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผู้คนออกมาร่วมจำนวนมาก แม้ในช่วงท้ายจะเหลือน้อยแต่ก็หวังว่าคนที่เคยร่วมอาจจะออกมาลงคะแนนให้ กปปส. ก็ได้

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมัครแข่งกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ซึ่งครั้งนั้นแม้หม่อมสุขุมพันธุ์จะมีจุดอ่อนมากมาย แต่ระบบการหาคะแนนที่ผ่านสายงาน กทม. และพรรคประชาธิปัตย์สามารถทำคะแนนได้เกิน 1 ล้านและแซงกระแสพงศพัศเข้าไปชนะได้

การศึกในครั้งหน้าจึงมีผู้คิดว่าถ้าหากอยากจะหาคะแนนจำนวนมาก ความเป็นไปได้คือจะต้องลงสมัครในเขต กทม. เรียกกองเชียร์และเครือข่าย ใน กทม. ที่วางไว้ออกมาใช้อย่างเต็มกำลัง

แม้ไม่ชนะหรือชนะในเขตน้อยมาก แต่ก็จะสามารถทำคะแนนได้ถึง 5 แสนคะแนน

ถ้าเป็นแบบนี้พรรค กปปส. ที่ตั้งขึ้นก็ยังจะพอมีน้ำยา ที่รับปากรับคำ รับกำลังหนุนเสบียงกรังมาทำงานก็ยังพอมีคำตอบ ไปให้ผู้อุปถัมภ์ได้

แต่ถ้าหากไม่ใช้ กทม.เป็นหัวหาดใหญ่จะไปหาคะแนนจากตรงไหน เพราะในแต่ละเขตเลือกตั้งล้วนแล้วแต่มีเจ้าถิ่น มีคู่แข่งตัวฉกาจฉกรรจ์ทั้งสิ้น พรรคหลักที่สนับสนุน คสช. เขาก็มีกำลังและพื้นที่ของเขา

พรรคที่เป็นแนวร่วมแบบอิสระอย่างภูมิใจไทยก็มีกำลังและพื้นที่ของตัวเอง กลุ่มที่ประกาศว่าจะสนับสนุนคน คสช. แต่ละพรรคก็ล้วนแล้วแต่ต้องหาเสียงแข่งกันทั้งสิ้น

ดังนั้น งานนี้ศึกใน กทม.จะกลายเป็นศึกใหญ่ที่พรรค กปปส. จะต้องแย่งคะแนนกับ ปชป.

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยจะได้โอกาสที่ดีเยี่ยม เพราะว่าในสายของฝ่ายประชาธิปไตยจ๋าก็มีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมา

และคนที่ตื่นตัวหัวก้าวหน้าสุดๆ คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็อยู่ใน กทม.

นี่แหละที่จะเลือกพรรคอนาคตใหม่

ดังนั้น คะแนนของพรรคเพื่อไทยก็ถูกแบ่งออกไปเช่นกัน คะแนนเสียงเกือบ 3 ล้านใน กทม. ถึงอย่างไรก็ต้องมาแชร์กัน เพียงแต่การชนะ ส.ส.เขตขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของพื้นที่ว่าใครจะได้มากน้อย

สำหรับแกนนำพรรคต่างๆ การเมืองแบบนี้จะต้องหาข้อมูลล่าสุดว่า สถานการณ์ล่าสุดในแต่ละเขตเลือกตั้ง ในแต่ละจังหวัดดำรงอยู่ในสภาพใด มีการขัดแย้งในกลุ่มใครบ้าง แม้แต่ผู้หนุนหลังซึ่งเป็นแกนนำในท้องถิ่นที่เล็กลงไประดับตำบลหมู่บ้านยังต้องพิเคราะห์ให้ละเอียด

มิฉะนั้นถ้าเกิดการผิดพลาดจะเสียผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ไปและได้มาเพียงส่วนน้อย