ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
พลันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรับแก้ไขว่าไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ เกี่ยวกับประเด็นการมีสิทธิร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่จะต้องแจ้งไว้ 3 รายชื่อ
ซึ่ง กรธ. ยืนยันในเจตนารมณ์ในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ระบุไว้ว่า พรรคการเมืองโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะต้องเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อ เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
แม้ที่ประชุมรัฐสภาจะไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อได้ แต่สิทธิในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชี ก็ยังเป็นสิทธิของส.ส. เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา
แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้ชัดพร้อมโดยยกเหตุผลในการปลดล็อกไม่ให้การเมืองเกิดทางตัน ด้วยการสั่งให้ กรธ.ไปปรับแก้ไข มาตรา 272 ภายใน 15 วันดังนี้ คือ
1.ผู้มีสิทธิเสนอขอเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
และ 2.กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้”
“มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. ถอดรหัสคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แนะนำให้ กรธ. กลับมาแก้ไข มาตรา 272 ให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ คือ หากสรุปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาใน 2 ข้อ ก็เพียงแต่ให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้าชื่อยกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง เพื่อเปิดประชุมรัฐสภา จากเดิมที่ต้องใช้เสียง ส.ส. 250 เสียง โดยศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขโดยใช้เสียงของรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง จาก 750 เสียง ได้ ทั้งนี้ภายหลัง 15 วัน เมื่อ กรธ. ปรับแก้แล้วเสร็จตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก เพราะรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ไม่ได้กำหนดเอาไว้ สามารถส่งนายกรัฐมนตรี เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที
ขณะที่ “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ปัจจุบันนั่งเก้าอี้รองประธาน กรธ. ยังต้องต่อสายไปสอบถามคนในศาลรัฐธรรมนูญถึงคำนิวิจฉัยดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตีความคำวินิจฉัย พร้อมกับยืนยันอีกคนว่า “จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ส.ว. ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ให้สิทธิ ส.ว. มีสิทธิเสนอการยกเว้นการใช้บัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง และให้ใช้เสียงตัดสินเพียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงพิจารณาแล้วอาจ มองว่าการใช้เสียงของสมาชิกทั้งสองสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการใช้บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองอาจจะทำให้การเลือกนายกฯ มีปัญหาเกิดเด็ดล็อกได้ ขณะที่สิทธิเสนอชื่อนายกฯ นั้นยืนยันว่า ส.ว. ไม่มีสิทธิเสนอ อย่างไรก็ตาม มองว่าคำวินิจฉัยนี้ ออกมาแฟร์ดี
ส่วนขั้นตอนการเสนอชื่อนายกฯ ในกรณีที่ต้องเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯ กรธ. จะต้องไปพิจารณาอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หากจะถอดรหัสคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับประเด็นการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมรัฐสภา ตามนัยยะสภาพความเป็นจริงในทางการเมืองนั้น ย่อมเป็นไปได้ยากที่ที่ประชุมรัฐสภาจำนวน 750 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว.250 คน จะมีมติไปในทิศทางเดียวกันด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ เนื่องจาก ส.ว. ที่ฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นเสียงที่มีเอกภาพและเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี อาจไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองเสนอมา
เพราะหาก ส.ว. ทั้ง 250 คน ต้องการเลือกนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมา ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ หาก ส.ว. 250 คนไปจับมือกับ ส.ส. ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา คือ 376 คน ย่อมสามารถชี้ขาดและเลือกนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากบัญชีที่พรรคการเมืองได้อย่างไม่ยาก
ด้วยเหตุที่แหล่งกำเหนิดที่มาของ ส.ว. ทั้ง 250 คน ล้วนมาจากคนทำคลอดคนเดียวกัน นั่นคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีโรดแม็ปในการให้ ส.ว. เข้ามามีส่วนในการวางกลไกและขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในช่วง 5 ปีแรก ภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
ดังนั้น องค์ประกอบในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นอกจากจะต้องอาศัยร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปฏิรูปและปราบโกง” ของ กรธ. แล้ว คสช. อาจจะต้องส่งสัญญาณในการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระที่จะมีบทบาทในการปฏิรูปประเทศทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศ
ซึ่งองค์กรอิสระที่่สุ่มเสี่ยงจะถูกเซ็ตซีโร่ในคิวต้นๆ คงไม่พ้น “กกต.” เนื่องด้วยมีผลงานเป็นที่ไม่น่าประทับใจของผู้มีอำนาจ รวมทั้งชอบสร้างปรากฏการณ์เรียกแขกให้ฝ่ายตรงข้ามมาโจมตีผู้มีอำนาจและพวกเดียวกันเอง ไม่นับรวมการทำหน้าที่และปัญหาภายในเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ 5 เสือ กกต. ที่ส่งสัญญาณมาให้สังคมภายนอกรับรู้กันว่าเกิดอาการ “เกาเหลา” กัน ทั้งเรื่องการทวงถามสัญญาใจการปรับเปลี่ยนตัวประธาน กกต.
ไม่นับรวมปัญหาการบริหารงานภายในสำนักงาน กกต. ที่ฝ่ายประจำออกอาการว่ามีการ “ล้วงลูก” จากผู้มีอำนาจ
โดย คสช. เริ่มส่งสัญญาณออกมาบ้างแล้วว่า มีแผนและแนวทางรองรับในการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระไว้แล้ว
จากนี้คงต้องจับตาสัญญาณและทิศทางทางการเมือง หลังร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ปรับแก้ไขมาตรา 272 ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ว่าจะมีการเซ็ตซีโร่ และยกเครื่ององค์กรอิสระใดบ้าง เพื่อตอบโจทย์ให้เป็นไปตามโรดแม็ปของ “คสช.” ในการเข้ามาปฏิรูปประเทศ