ล้านนาคำเมือง : วังฯกุลา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วังกุลา”

วังกุลาเป็นวังน้ำในห้วยแก้ว อยู่เหนือน้ำตกห้วยแก้วขึ้นไป

คำว่า กุลา หรือ กูลวา ในภาษาล้านนาแปลว่า “คนต่างชาติ” จะเป็นคนอินเดีย ฝรั่ง หรือชาวต่างชาติใดก็ได้ เดิมทีที่เรียกขานวังน้ำตรงนั้นว่า “วังกุลา” เพราะมีแขกขาว (ฝรั่ง) คนหนึ่งตกลงไปเสียชีวิต

ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “วังบัวบาน” เมื่อปี 2497 เพราะครูสาวชื่อ “บัวบาน” ตกลงไปตายที่นี่ และวังน้ำแห่งนี้ก็ถูกเรียกโดยใช้ชื่อนี้เรื่อยมา แม้ว่าจะมีคนตายที่วังน้ำแห่งนี้อีกหลายราย ล่าสุดก็เมื่อเดือนตุลาคม 2560 มานี้เอง

สำหรับเรื่องราวของครูบัวบานที่เล่าๆ กันในเชียงใหม่ มีหลายกระแส

ที่เล่าตรงกันคือ ครูบัวบานเป็นครูสาวสวย บ้านอยู่แถวฟ้าฮ่าม สอนหลายโรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนดาราวิทยาลัย

ต่อมาครูสาวช้ำรัก อกหัก เสียใจ แล้วตกลงไปตายที่วังน้ำแห่งนี้

แต่ละเรื่องมีตัวละครแตกต่างกันไป ว่าคนที่สลัดรักครูบัวบานนั้นมีตั้งแต่ นายทหารยศนายร้อย หนุ่มจากภาคกลาง ครูประชาบาล และปลัดอำเภอ แล้วแต่ว่าเป็นเรื่องไหน

ส่วนที่ว่าทำไมครูบัวบานจึงไปตายที่วังน้ำแห่งนี้ มีตั้งแต่เรื่อง พลาดตกลงไปโดยอุบัติเหตุ

ตั้งใจกระโดดลงไปฆ่าตัวตาย

และกระทั่งมีคนสงสัยว่าอาจจะถูกฆาตกรรม

อย่างไรก็ตาม ในสมัยก่อน ห้วยแก้วเป็นลำน้ำร่มรื่น น้ำใส ตื้น มีก้อนหินใหญ่ๆ เหมาะสำหรับคนเชียงใหม่เอาไว้พักผ่อนคลายร้อน เนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมือง

สมัย 50-60 ปีก่อน จำได้ว่าในยามร้อนจัดๆ ผู้คนจะขนเอาผ้าไปซักและตากตามโขดหินในลำน้ำห้วยแก้ว บริเวณน้ำตกห้วยแก้ว หรือไปนั่งพักที่ผาเงิบ นึ่งข้าวไปจากบ้าน จากนั้นจกปลา และเก็บผักป่ามาปรุงเป็นอาหารกลางวัน แล้วลงเล่นน้ำให้เย็นกาย ถึงเวลานั้นผ้าที่ซักตากไว้ก็จะแห้งพอดี

บ่ายแก่ ผู้คนก็จะพากันกลับบ้าน นับว่าห้วยแก้วเป็นที่หย่อนใจยอดนิยมของคนเชียงใหม่ในสมัยโน้น

บรรยากาศของห้วยแก้ว ผาเงิบ และวังบัวบาน แต่ก่อนเป็นเช่นไร เพลง “วังบัวบาน” ของสุนทราภรณ์ ที่คุณมัณฑนา โมรากุล ร้องเอาไว้ ทั้งเนื้อร้องและทำนองเพลงสะท้อนถึงบรรยากาศของลำน้ำห้วยแก้วในสมัยโบราณอย่างชัดเจน

ร้อนลมหน้าแล้ง ใบไม้แห้งร่วงลอย

หล่นทยอยเกลื่อนตา ไหลตามกระแสน้ำพา

ลอยมาทั้งกลีบดอกไม้ จากภูผาไหลมาสู่ในวังน้ำ

สุสานเทวีผู้มีความช้ำเหนือใคร ดอกไม้ใบไม้ไหลมา

คล้ายพวงหรีดร้อยมาลา ไหลมาบูชาบัวบานฯ

ทุกวันนี้ป่าไม้บนดอยสุเทพเหลือน้อยลง ลำห้วยแห่งนี้แห้งกลายเป็นธารน้ำตื้นๆ ในหน้าแล้ง แต่ดีที่ยังคงใสแจ๋วสมชื่อ “ห้วยแก้ว”

และลำห้วยแห่งเดียวกันนี้จะกลายเป็นธารน้ำพลุ่งพล่านโหดร้ายพร้อมที่จะกลืนชีวิตผู้คนในหน้าฝน