มนัส สัตยารักษ์ : กาสิโนเพื่อชาติ

เราเคยมีบ่อนถูกกฎหมายมาแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้ยกเลิกบ่อนจาก 403 ตำบล เหลือเพียง 9 ตำบล เนื่องจากพบกับปัญหาประชาชนติดการพนัน

และเมื่อถึงสมัยของรัชกาลที่ 6 ก็ได้ประกาศปิดบ่อนทั่วราชอาณาจักร

เนื่องด้วยเป็นยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเชื่อได้ว่าประกาศปิดบ่อนย่อมสัมฤทธิผลในส่วนของปัญหาประชาชน “ติด” การพนัน

แต่เชื่อว่าคงไม่ได้ทำให้ประชาชน “เลิก” การพนันได้แต่อย่างใด

มาถึงวันนี้นับได้ครบ 100 ปีพอดีที่เราไม่มีบ่อนถูกกฎหมาย

แต่นั่นไม่ได้หมายความเราจะไม่มีบ่อนการพนัน เพียงแต่เจ้าของบ่อนไม่ใช่รัฐ เจ้าของบ่อนคือมาเฟียผู้มีอิทธิพลภายใต้การคุ้มครองดูแลของคนในเครื่องแบบหรือนักการเมืองผู้มีอำนาจ

บ่อนการพนันจึงเป็นหนึ่งในปัญหาสารพัดของประเทศ ทั้งในทางสังคม ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

ถ้าเราเอาผู้นำทางความคิดของแต่ละฝ่ายมาดีเบตถกเถียงกันย่อมไม่มีจุดจบและไม่มีที่ลงเอยไปได้ เหตุผลของแต่ละฝ่ายมีส่วนถูกต้องน่ารับฟังและควรถือเป็นหลักปฏิบัติทั้งสิ้น

เมื่อประเทศก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของประชาธิปไตย บ่อนการพนันก็เติบโตไปตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง ประชาชนของแต่ละประเทศต่างมีความคิด วัฒนธรรมหรือความเชื่อทางศาสนาตลอดจนการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ผู้นำมีวิสัยทัศน์ต่างกัน

มีผู้เสนอให้รัฐเปิดบ่อนโดยอ้างปัญหาเศรษฐกิจ ไทยสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้ มิหนำซ้ำยังเป็นเหยื่อในบ่อนต่างชาติอีกด้วย

แต่ข้อเสนอถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากคนที่เป็นห่วงผลกระทบสังคม ห่วงภาพลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของประเทศ พร้อมกันไปกับการถูกต่อต้านจากผู้มีผลประโยชน์จากบ่อนเถื่อน ทหารและตำรวจมาเฟีย

เมื่อจะเขียนเรื่องบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย ผม-ซึ่งไม่สันทัดในเรื่องนี้-ไม่สามารถวางแผนจัดระเบียบหัวข้อให้รัดกุม ไม่สามารถเรียงลำดับวันเวลาของเหตุการณ์อันเป็นประวัติศาสตร์

ผมจะเขียนไปตาม “ไฮไลต์” ของเรื่องราวที่เกิดวาบขึ้นมาในความคิด หรือเกิดจากคำเล่าที่น่าสนใจของเพื่อนนักวิเคราะห์และสังเกตการณ์

เราช่วยกันหาคำตอบให้ได้ว่า ด้วยเหตุอันใดประเทศไทยจึงเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีบ่อนกาสิโน เป็นประเทศที่ตกอยู่กลางวงล้อมของเพื่อนบ้านที่เขามี และเหตุใดเราต้องยอมให้คนไทยตกเป็นเหยื่อและถูกเอาเปรียบ

หรือคิดว่ามันเท่เหมือนที่เราเป็นประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่ได้ชื่อว่า “ไม่เป็นเมืองขึ้นใคร”

คําตอบแรกที่เราได้คือ ไทยมีผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ นักการเมืองนิยมสร้างภาพตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรมแล้วพยายามรักษาภาพของตัวเอง ชอบแสดงว่าไม่ประสงค์จะเอาเงินจากอบายมุขมาพัฒนาประเทศ

บางครั้งอดไม่ได้ที่จะคิดว่าพวกเขาโง่จริงหรือแกล้งโง่ เขาเป็นห่วงวัฒนธรรมของชาติและห่วงอนาคตของเยาวชนจนมองข้ามความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า

คำตอบที่สองคือ คนบางพวกปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้จากการไม่มีกาสิโนในประเทศ พวกหนึ่งได้จากบ่อนเถื่อนในประเทศ อีกพวกหนึ่งได้จากบ่อนต่างประเทศ

คำตอบที่สาม นักการเมืองที่มีอำนาจและสื่อที่มีอิทธิพลรับเงินสินบนจากต่างชาติ เช่นเดียวกับที่ได้จากสิงคโปร์ในกรณีคัดค้านการขุดคอคอดกระในสมัยก่อน

อีกคำตอบที่สำคัญคือ พฤติกรรมและภาพลักษณ์ของผู้เสนอติดลบไม่น่าเชื่อถือ เป็นเหตุให้มีช่องโหว่หรือจุดอ่อนให้ฝ่ายต่อต้านใช้เป็นช่องทางโจมตีได้

ผู้ที่เสนอมักจะเป็นนักการเมืองผู้มีอำนาจ นักการเมืองนั้นเป็นบุคคลสาธารณะย่อมมีทั้งภาพบวกและภาพลบติดตัว มีฝ่ายตรงข้ามคอยแฉอยู่ทุกอณูโดยธรรมชาติ

ในการเสนอเพื่อจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายครั้งหนึ่งของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เล่ากันว่ามีภาพ นายโส ธนวิสุทธิ์ เจ้าของสถานบริการอาบ อบ นวด ยืนค้ำหัวอยู่ข้างหลัง ท่านรัฐมนตรีอาจจะไม่รู้ตัว บริวารรอบข้างไม่มีใครกล้าท้วงติง และนายโสอาจจะไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไร แต่สังคมก็ตระหนักรู้ว่า นายโสประกอบธุรกิจประเภทใด สถานบริการของเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมการพนัน ได้ตัวนักการพนันพร้อมของกลางมากมาย

นายสมัคร สุนทรเวช ในช่วงเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรี พูดว่าถ้าได้อยู่ในตำแหน่งนี้นานพอจะเปิดกาสิโนให้สำเร็จ ดังนั้น จึงถูก ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการสายประชาธิปัตย์ถล่มเสียไม่มีดี

พอมาถึงยุค คสช. เมื่อกลุ่มสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอตั้งกาสิโน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.ในขณะนั้นให้สัมภาษณ์สนับสนุน (ในฐานะ สปช.) ถูกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตำหนิอย่างรุนแรง

สื่อบางส่วนโจมตีว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ”

โดยส่วนตัวผมคล้อยตามและเห็นด้วยกับ ผบ.ตร. แต่ต่อมาท่านเผลอให้สัมภาษณ์ว่า “อาชีพตำรวจเป็นเพียงไซด์ไลน์” ทำให้ผมเลิกเชื่อถือและไม่อยากฝากอนาคตของชาติไว้กับตำรวจที่ยอมเป็นหนี้นักธุรกิจสีเทาถึง 300 ล้าน

ฝ่ายคัดค้านได้เปรียบฝ่ายเสนออย่างท่วมท้น เพราะภาพลักษณ์ของพวกเขาเป็น “คนดี” ในสายตาของสังคม

พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย นับเป็นหัวขบวนฝ่ายคัดค้าน แม้ต่อมาสังคมจะพบว่าการเป็นคนดีเป็นแค่การ “สร้างภาพ” แต่การค้านอย่างใส่อารมณ์ก็ได้ผล

ชวน หลีกภัย ก็ใช้ภาพมีธรรมาภิบาลและภาพด้านบวกของตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องการเงินจากอบายมุขมาบริหารประเทศและยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่ไม่มีบ่อน (ซึ่งต่อมามีอย่างยิ่งใหญ่พร้อมวางกฎข้อบังคับสมบูรณ์แบบ)

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือว่าครองตนอย่างสมถะและสุจริต ประชาชนยอมเชื่อคำคัดค้าน แต่ต่อมากลายเป็นว่าเป็นนักการเมืองประเภท “สุดโต่ง” ที่น่ากังวล เพื่อชัยชนะท่านทำได้ทุกอย่าง ถึงขั้นไม่ยอมรับฟังคำสั่งศาลกรณีปิดถนน และฟ้องศาลฐานพิพากษาไม่เป็นธรรม

สรุปรวมแล้วดูราวกับว่าประเทศไทยไม่มีโอกาสเดินหน้าเรื่องกาสิโน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือคุ้นกันในชื่อ ทีดีอาร์ไอ TDRI (Thailand Development Research Institute) และสมัญญา “Think Tank”

เป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร พันธกิจหลักคือ ทำการวิจัยเชิงนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเผยแพร่ต่อภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อกำหนดนโยบายระยะยาว อันมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เป็นหน่วยงานวิจัยและเสนอนโยบายเป็นอิสระจากอำนาจการเมืองและข้าราชการ

ดูรายชื่อนักวิชาการทั้งในอดีตและปัจจุบันแล้วทั้งเชื่อมือและเชื่อใจได้ ไม่มีนักสร้างภาพหรือนักจริยธรรมแต่ปาก ไม่มีนักการเมืองที่ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว

เราต้องให้ทีดีอาร์ไอวิจัยเรื่อง “กาสิโน”