เศรษฐกิจ/แผนฟื้นฟู ขสมก.สะดุด! รถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 489 คันค้างเติ่ง ฝันสลายพลิกวิกฤตหนี้ 1 แสนล้าน

เศรษฐกิจ

แผนฟื้นฟู ขสมก.สะดุด!

รถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 489 คันค้างเติ่ง

ฝันสลายพลิกวิกฤตหนี้ 1 แสนล้าน

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จนมีภาระหนี้สินสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท และต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
การจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ใหม่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนฟื้นฟูที่ ขสมก. คาดหวังว่าจะช่วยยกระดับให้บริการประชาชนและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากเมื่อมีรถเมล์ใหม่มาให้บริการ ขสมก. จะสามารถเดินหน้าลดจำนวนพนักงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ในการเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดหรือเออร์ลี่รีไทร์ ที่ตั้งเป้าหมายจะลดพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานตรวจบัตรโดยสารลง 3,774 คน
ซึ่งตามแผนงานที่กำหนดไว้ ขสมก. จะใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติทั้งหมดตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
ซึ่งการเปิดเออร์ลี่รีไทร์ จะใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 4,774 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2561 วงเงิน 401 ล้านบาท ปี 2562 วงเงิน 4,328 ล้านบาท และปี 2563 วงเงิน 45 ล้านบาท

แต่แล้วความฝันมาสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อศาลปกครองกลางได้ให้ทุเลาการบังคับใช้มติคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. ครั้งที่ 15/2560 เรื่องการอนุมัติผลประมูลโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษา จำนวน 489 คัน วงเงิน 4,261 ล้านบาท ที่กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ประกอบด้วยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล และมติบอร์ดครั้งที่ 16/2560 ที่รับรองรายงานการประชุมครั้งก่อนหน้า ตามคำร้องของบริษัท สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด โดยศาลปกครองกลางไม่ให้นำมติบอร์ดทั้ง 2 ครั้งไปดำเนินการใดๆ ที่มีผลผูกพันเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ขณะเดียวกันยังให้ ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด บริษัท อาร์แอนด์เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด บริษัท รถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัท เทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว จำกัด เนื่องจากบอกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี และบำรุงรักษา จำนวน 489 คัน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเงิน 1,159 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 1,147 ล้านบาท นับถัดจากวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
และให้ ขสมก. ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 จำนวน 547,427 บาท คืนแก่บริษัท เบสท์ริน กับพวก ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
หากคืนไม่ได้ ให้ชดใช้เป็นเงินตามจำนวนหนังสือค้ำประกันดังกล่าว

จากคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าว ทำให้ ขสมก. ต้องระงับการรับมอบรถเมล์ 389 คันที่เหลือทันที หลังจากที่ก่อนหน้านี้รับมอบจากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไปแล้ว 100 คัน และจะต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองก่อน เพื่อให้สามารถเดินหน้ารับรถเมล์เอ็นจีวีที่เหลือต่อไป
นอกจากนี้ โครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ หรือระบบอี-ทิกเก็ต บนรถเมล์ จำนวน 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ที่มีนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี เป็นผู้ชนะการประมูล ก็มีปัญหาเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
หลังจากเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นิติบุคคลร่วมทำงาน โดย ช ทวี ได้ส่งมอบระบบอี-ทิกเก็ต บนรถเมล์ 100 คันแรกให้ ขสมก. ตรวจสอบ เป็นรอบที่ 2 แต่ ขสมก. ก็ไม่สามารถรับมอบได้ เพราะยังไม่ผ่านเกณฑ์ตามเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์)
เนื่องจากยังพบปัญหา คือ เครื่องอี-ทิกเก็ต อ่านค่าโดยสารไม่ถูกต้อง เช่น ผู้โดยสารลงรถเมล์ระหว่างทาง แต่กลับคิดค่าโดยสารเต็มจำนวน
แต่ ขสมก. ก็ยอมรับว่ามีพัฒนาการดีขึ้นจากการส่งมอบครั้งแรก และใช้งานได้ประมาณ 80% แล้ว
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เครื่องเก็บค่าโดยสารแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ หรือแคชบ็อกซ์ ยังพบปัญหาแบบเดิมและยังไม่สามารถใช้งานได้

ในเรื่องนี้ นางพนิดา ทองสุข รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ขสมก. ยืนยันว่า หากตรวจรับครั้งที่ 3 แล้วยังไม่ผ่าน ก็อาจพิจารณายกเลิกสัญญา โดยเอกชนจะอ้างไม่ได้ว่าความบกพร่องดังกล่าวเกิดจากปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาระบบไฟฟ้าบนรถเมล์หรือระบบตั๋วร่วม เพราะเอกชนต้องรู้สภาพรถเมล์ ขสมก. ตั้งแต่ก่อนเข้าประมูลอยู่แล้ว เพราะหากปล่อยไปก็อาจเกิดความเสียหายกับ ขสมก. ขณะเดียวกัน ขสมก. ได้นำเรื่องการยกเลิกติดตั้งแคชบ็อกซ์บนรถเมล์ 2,600 คัน ภายใต้สัญญาโครงการเช่าระบบอี-ทิกเก็ต ให้ฝ่ายกฎหมายและกรมบัญชีกลางพิจารณาด้วยว่า จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่
นางพนิดาระบุอีกว่า ขสมก. ได้ส่งหนังสือถึงนิติบุคคลร่วมทำงานโดยบริษัท ช ทวี เพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการติดตั้งระบบอี-ทิกเก็ต รวม 22 ล้านบาท
แบ่งเป็น
1. กรณีที่ทำให้ ขสมก. สูญเสียรายได้วงเงินรวม 21 ล้านบาท เพราะ ขสมก. ต้องสำรองจ่ายค่าโดยสารให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่สามารถเบิกเงินคืนจากกรมบัญชีกลางได้
2. กรณีส่งมอบระบบอี-ทิกเก็ต และแคชบ็อกซ์ล่าช้า คิดเป็นวงเงินค่าปรับราว 1.6 ล้านบาท เพราะในทีโออาร์กำหนดให้ส่งมอบงวดแรก 100 คัน ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2560
ซึ่งการที่บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบอี-ทิกเก็ต และแคชบ็อกซ์ได้ตามเป้าหมาย ก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ในการเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ยังมีปัญหากรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. ทยอยลาออก โดยนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ก็มีกรรมการบอร์ดลาออก คือ พล.อ.วราห์ บุญญะสิทธิ์ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ และนายชัยชนะ มิตรพันธ์

ทําให้เมื่อวันที่ 24 เมษายน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) นำโดยนายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธาน สร.ขสมก. ต้องเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ซึ่งในเนื้อหาระบุว่า ขอให้ปลดบอร์ดชุดเดิม และเร่งรัดแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา ขสมก.
ขณะเดียวกันก็ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้บรรจุแต่งตั้งพนักงานที่ผ่านการสอบคัดเลือกในตำแหน่งต่างๆ ที่ขาดอัตรากำลังของฝ่ายเดินรถ และฝ่ายสนับสนุนการเดินรถให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ ยังให้พิจารณาทบทวนคำสั่งย้ายนายสุระชัย เอี่ยมวชิระสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ที่ไปประจำสำนักนายก กลับมาปฏิบัติหน้าที่เหมือนเดิม
ขณะเดียวกัน ยังขอให้รัฐบาลพิจารณารับผิดชอบหนี้สินของ ขสมก. ที่ขาดทุนตามนโยบายของรัฐบาลและให้จัดสรรงบประมาณให้ ขสมก. ชดเชยส่วนต่างที่ขาดหายไปในการบริการเชิงสังคม ที่เก็บราคาต่ำกว่าต้นทุน
หากไม่สนับสนุนงบประมาณ ก็เห็นควรให้ ขสมก. ปรับอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงได้
พร้อมกันนี้ก็ขอให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหากรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ขสมก. ชดเชยค่าเสียหายทางแพ่งให้กับบริษัท เบสท์ริน กรณีไม่รับรถโดยสารเอ็นจีวีจำนวน 292 คัน ที่ได้ดำเนินการติดตั้งจีพีเอสและได้รับการจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) แล้ว เพื่อหาทางออกร่วมกัน และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ส่วนกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจัดซื้อจ้างรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ก็ขอให้นายกฯ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดชอบ หาก ขสมก. ได้รับความเสียหาย เป็นต้น
เมื่อดูจากปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว หลายคนก็ต้องถอนลมหายใจแรงๆ เพราะแต่ละเรื่องคงจะใช้เวลาแก้ไขนานแน่นอน!!