หน้า 8 : มาตรฐาน

วันนี้ “ระเบิดเวลา” ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจาก พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายนายกรัฐมนตรี ยังไม่จบ

เรื่องนี้เริ่มจากฝาย “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” ที่ “พัง” ไปเรียบร้อยแล้วทั้งทางการเมือง

และตัวฝายจริงๆ

พัฒนามาสู่เรื่องบริษัทรับเหมาก่อสร้างของนายปฐมพล ลูกชาย ที่กวาดงานจากกองทัพภาคที่ 3 ฐานอำนาจหลักของ พล.อ.ปรีชา

11 โครงการ 155 ล้านบาท

ภายในเวลา 2-3 ปี

ปมที่น่าสนใจที่สุดคือ สถานะบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 1.5 ล้านบาท

ไม่มีทรัพย์สินอะไรที่แสดงถึง “ความพร้อม” ในฐานะบริษัทรับเหมาก่อสร้างเลย

คล้ายๆ กับองค์การทหารผ่านศึก ที่รับงานขุดบ่อจากหน่วยงานรัฐ

บริษัทนี้ชนะประมูลด้วยการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อย ชนิดที่กลุ่มผู้รับเหมาด้วยกันมองทะลุถึง “ที่มา” แห่งชัยชนะ

ที่สำคัญคือ การใช้บ้านพักในค่ายทหารจดทะเบียนบริษัท

“บ้านพักของข้าราชการ” คือ “ของหลวง”

ผิดหรือถูก

เรื่องนี้มีคำตอบ

“แค่เอาโทรศัพท์ส่วนตัวมาชาร์ตไฟหลวงก็จะผิด เอาซองตราครุฑใส่เงินไปให้งานแต่งงานก็ผิด”

เป็นคำพูดของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

มือกฎหมายของรัฐบาล อธิบายเนื้อหาของกฎหมาย 3 ชั่วโคตรที่ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างละเอียด

“ตัวทำ-เมียทำ-ลูกทำ-พี่ทำ-น้องทำ-พ่อทำ หรือแม่ทำ ก็ไม่ได้” นายวิษณุให้สัมภาษณ์

อะไรที่เป็น “ของหลวง” ห้ามใช้ในงานส่วนตัวเด็ดขาด

และไม่ใช่แค่ “ลูกทำ” ไม่ได้

“พี่ทำ” หรือ “น้องทำ” ก็ไม่ได้

แต่กฎหมายนี้เพิ่งผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรี ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“พี่ชาย” ของ พล.อ.ปรีชา

ถ้านำคำตอบนั้นมาใช้กับเรื่องที่อื้อฉาวในวันนี้

คง “ผิด”

แต่ทันทีที่เรื่องการใช้บ้านพักข้าราชการจดทะเบียนบริษัทของลูกชาย พล.อ.ปรีชา ปูดออกมา

ท่าทีของนายวิษณุก็เปลี่ยนไป

ไม่มีการอ้างอิง “หลักการ” อีกต่อไป

น้ำเสียงที่เคยรังเกียจการนำ “ของหลวง” มาใช้กับเรื่องส่วนตัวหายไป

มีแต่ “คำตอบ” ที่ยึดตัวอักษรในกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเดียว

ตั้งแต่ยกตัวอย่างว่า “บ้านเช่า” ก็ยังใช้จดทะเบียนบริษัทได้เลย

“บ้านพักข้าราชการ” ก็ต้องได้

ไม่มีอะไรห้าม

เมื่อนักข่าวถามว่า “สมควรไหม”

คำตอบก็ชัดเจนยิ่ง

“ประเทศไทยมีอะไรที่โดยหลักการไม่น่าทำอีกเยอะ”

เป็น “คำตอบ” ที่เปี่ยมด้วย “หลักการ” อย่างยิ่ง