สุรชาติ บำรุงสุข : โลกแห่งความผันผวน! สี่ความท้าทายใหญ่ปัจจุบัน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยิ่งนานวัน การเมืองโลกดูจะมีความผันผวนอย่างมาก

หากจะแยกพิจารณาถึงสถานการณ์บางส่วนที่สำคัญในเวทีโลกแล้ว

จะเห็นถึงปัจจัยที่มีนัยต่อโลกในอนาคต 4 กรณี

ได้แก่

กำแพงภาษีของทรัมป์

“สงครามการค้าเป็นสิ่งที่ดีและง่ายที่จะเอาชนะ”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาพร้อมกับแนวความคิดในการสร้างกำแพง 2 แบบ คือ กำแพงทางภูมิศาสตร์กายภาพระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก และกำแพงทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจด้วยการประกาศ “กำแพงภาษี” (tariff) ต่อการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายโดยตรงต่อการนำเข้าจากจีน

ผลที่เกิดขึ้นคาดเดาได้ไม่ยากว่า รัฐบาลจีนจะต้องตอบโต้ต่อการประกาศนโยบายกำแพงภาษีเช่นนี้อย่างแน่นอน

และก็เป็นไปดังคาด รัฐบาลจีนประกาศเตรียมตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐจำนวน 128 ชนิด ซึ่งรวมถึงเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อหมู และท่อเหล็ก

โดยจีนจะขึ้นภาษีสำหรับสินค้าสหรัฐเหล่านี้อีกร้อยละ 25

และทำเนียบขาวก็ตอบโต้กลับว่าอาจจะใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าที่ทำจากจีน ซึ่งผู้ผลิตจีนอาจจะต้องจ่ายภาษีนำเข้าราว 60 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สถานการณ์เช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “สงครามการค้า” เกิดขึ้นแล้ว

จะมองสถานการณ์ว่าเป็นเพียงการตั้งกำแพงภาษีแบบปกติไม่ได้แล้ว

หลายๆ ประเทศจึงมีความกังวลว่า ถ้าการตอบโต้ระหว่างสหรัฐกับจีนยกระดับมากขึ้น การต่อสู้ในสงครามการค้าครั้งนี้จะส่งผลกระทบใหญ่กับเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลว่าการเมืองโลกจะกลับเข้าสู่ยุคของสงครามการค้าเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐมหาอำนาจต่างพยายามใช้นโยบาย “เศรษฐกิจชาตินิยม” ในการปกป้องเศรษฐกิจภายในและปิดกั้นการเข้ามาของสินค้าจากภายนอก

ซึ่งในที่สุดแล้ว นโยบายเศรษฐกิจเช่นนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักให้การเมืองโลกเดินไปสู่วิกฤตของสงครามโลกครั้งที่ 2

เพราะรัฐทั้งหลายต่างก็พยายามตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องเศรษฐกิจภายใน

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนพยายามลดความร้อนแรงของสงครามการค้าด้วยการขอให้รัฐบาลสหรัฐทบทวนมาตราต่างๆ เพราะนโยบายของสหรัฐกำลังละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO)

แต่ขณะเดียวกันก็ตอบโต้ด้วยการประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 120 ชนิด ในอัตราร้อยละ 15

และมาตรการต่อมาก็เพิ่มภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 25 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู ซึ่งผลิตจากรัฐที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์

แม้ทรัมป์จะออกมาตรการโต้กลับด้วยการหาทางเก็บภาษีนำเข้าจากจีนให้มากขึ้น แต่ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทอเมริกันที่ต้องพึ่งพาตลาดจีน

ตั้งแต่บริษัทอย่างแอปเปิลจนถึงผู้ผลิตถั่วเหลืองที่ส่งออกไปยังจีน

น่าสนใจว่านโยบายนี้จะกระทบต่อฐานเสียงของทรัมป์อย่างไร

สงครามการค้าอาจจะดูเป็นเรื่องของ “ยักษ์ใหญ่” ในเวทีโลก

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาตรการกำแพงภาษีของทรัมป์จะกระทบต่อญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

แม้วันนี้จะมีความพยายามจากหลายๆ ประเทศที่จะหาทางลดระดับความรุนแรงของสงครามเศรษฐกิจเช่นนี้

แต่สหรัฐภายใต้ทรัมป์ซึ่งเน้นอยู่กับนโยบายแบบ “America First” ที่มีสัญญาณในเชิงทิศทางมาโดยตลอดว่านโยบายสหรัฐจะลดความเป็นเสรีนิยมลง และเป็นชาตินิยมมากขึ้น

ดังนั้น การปรากฏตัวของนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมในยุคนี้ด้วยการประกาศตั้งกำแพงภาษีกับจีน ซึ่งมีฐานะเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกด้วยแล้ว ก็เป็นที่แน่ชัดว่าจีนคงจะไม่ยอมถอยให้สหรัฐ

ในที่สุดแล้วก็คงนำมาซึ่ง “สงครามการค้าโลก” อย่างน่ากังวล และหากสหรัฐยังดำเนินนโยบายกำแพงภาษีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งแล้ว เศรษฐกิจโลกจะอยู่ภายใต้ทิศทางหลักที่เป็นเศรษฐกิจชาตินิยมมากขึ้น

และผลที่ตามมาก็คือความขัดแย้งในการเมืองระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามการค้าครั้งนี้กำลังจะมีอาการแบบ “ช้างสารชนกัน”

จนมีความกังวลว่าประเทศเล็กซึ่งคงมีสถานะเป็นดัง “หญ้าแพรก” ก็อาจแหลกลาญไปด้วย

ความตายของสายลับรัสเซีย

“เรื่องนี้เป็นการแสดงละครสัตว์ในรัฐสภาอังกฤษ”

Maria Zakharova

โฆษกกระทรวงต่างประเทศเทศรัสเซีย

การลอบสังหารอดีตสายลับรัสเซียในภาคใต้ของอังกฤษเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือ Sergei V. Skripal และ Yulia บุตรสาว ด้วยการใช้สารพิษ (nerve agent) ทาไว้ที่บริเวณที่เปิดประตูหน้าของบ้าน เป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ในเวทีโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ทั้งสองจะยังไม่เสียชีวิต แต่ก็อยู่ในอาการที่ไม่ตอบสนอง

และแปดวันหลังจากเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้แถลงว่าสารพิษที่ใช้เป็น “Novichok” ซึ่งเป็นสารพิษที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในปีสุดท้ายก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย รัฐบาลอังกฤษจึงประกาศว่ารัสเซียจะต้องรับผิดชอบต่อการลอบสังหารครั้งนี้

แม้รัสเซียจะพยายามตอบโต้ข้อกล่าวหาของรัฐบาลอังกฤษว่าเป็นการสร้างโฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัสเซีย

แต่ก็เห็นได้ชัดว่าคดีลอบสังหารนี้ได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศไปแล้ว

ด้วยการที่อังกฤษประกาศขับไล่นักการทูตรัสเซียออกจากประเทศ และตามมาด้วยสหรัฐและประเทศต่างๆ อีกถึง 24 ประเทศ

รัสเซียเองก็ตอบโต้ด้วยการขับนักการทูตตะวันตกออกจากประเทศบ้าง แต่กรณีนี้ก็เห็นได้ชัดว่ารัสเซียตกเป็นฝ่ายรับในเวทีการทูตอย่างชัดเจน

แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำคดีเมื่อเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุก็ยังมีอาการป่วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวมีอันตรายร้ายแรงมาก

รัฐบาลอังกฤษพุ่งเป้าไปยังรัสเซียโดยตรงว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2549 ที่รัสเซียได้ใช้สารกัมมันตภาพรังสีในการสังหารอดีตสายลับรัสเซีย Alexander V. Litvinenko ที่แปรพักตร์เข้ากับอังกฤษ

รัฐบาลอังกฤษมีเหตุผลอย่างชัดเจนที่จะเชื่อได้ว่ารัฐบาลรัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารที่เกิดขึ้น

เพราะสารกัมมันตภาพรังสีที่ใช้ในการก่อเหตุคือพลูโตเนียม 210 นั้นพบในผู้ตาย ส่วนในครั้งนี้เป็นสารพิษในทางทหาร ซึ่งก็คือการถูกสังหารด้วยอาวุธเคมี (สาร Nivichok)

รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐในขณะนั้นถึงกับออกมาวิจารณ์ว่าไม่คิดว่าตัวแสดงที่เป็น “รัฐ” จะกระทำการสังหารในรูปแบบเช่นนี้

แต่ถ้าหากเป็นการกระทำของ “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” (non-state actor) แล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้บ้าง เพราะไม่มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบในแบบที่รัฐจะต้องมี พร้อมกันนี้ก็ประกาศจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลอังกฤษ

นอกจากนี้ Yvette Cooper ผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงานได้ยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษให้เข้ามาตรวจสอบการตายลึกลับ 14 กรณี ซึ่งหน่วยข่าวกรองของสหรัฐเชื่อว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายดังกล่าว

ผลจากการสังหารที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การขับไล่นักการทูตรัสเซียออกจากหลายประเทศ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับรัสเซียมีแนวโน้มที่จะมีปัญหามากขึ้น

จนทำให้หลายฝ่ายอดนึกถึงอดีตของความสัมพันธ์ในยุคสงครามเย็นไม่ได้

สภาพเช่นนี้ทำให้สถานการณ์โลกเกิดการเผชิญหน้าในทางการเมืองระหว่างตะวันตกและตะวันออกมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ปัญหาอาวุธเคมีกลับมาเป็นประเด็นในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้งด้วย

ความตายที่กาซา

“อิสราเอลมีราคาทางการเมืองที่ต้องจ่ายน้อยเหลือเกินในการฆ่าชาวปาเลสไตน์”

Ishaan Tharoor

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

สถานการณ์ความรุนแรงที่ฉนวนกาซากลับมาเป็นปัญหาในเวทีโลกอีกครั้ง เมื่อทหารอิสราเอลยิงผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 15 คนและบาดเจ็บมากกว่า 100 คน

การประท้วงเกิดขึ้นจากการปิดล้อมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลปีกขวาของนายกรัฐมนตรี Benjamin Netanyahu เพื่อต้องการควบคุมดินแดนในบริเวณดังกล่าว จนมีการเปรียบเทียบว่ากาซากำลังกลายเป็น “คุกใหญ่”

การประท้วงเกิดขึ้นกับแนวรั้วที่เป็นเส้นแบ่ง และทหารเป็นฝ่ายตัดสินใจใช้กำลัง และพบว่าผู้ประท้วงหลายคนที่วิ่งหนีถูกยิงเข้าด้านหลังจากพลแม่นปืน (สไนเปอร์)

จนแม้กระทั่งกลุ่มการเมืองปีกซ้ายในอิสราเอลคือ B”Tselem ก็ยังกล่าวว่า “ทหารอิสราเอลใช้กระสุนจริงยิงผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ที่ไม่มีอาวุธ”

ผู้นำอิสราเอลอาจจะไม่รู้สึกต้องกังวลใจกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น

เพราะหากจะมีการออกมติประณามอิสราเอล รัฐบาลอเมริกันก็จะเข้ามาปกป้องทำให้ไม่สามารถออกมติดังกล่าวได้

หรือเสียงวิพากษ์อย่างมากจากรัฐบาลอิหร่านและรัฐบาลตุรกี ซึ่งอิสราเอลก็ไม่ได้ให้ความสนใจอยู่แล้ว

สถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของทรัมป์ที่สนับสนุนการย้ายเมืองหลวงของอิสราเอล และเลือกประกาศนโยบายนี้ในวันก่อตั้งประเทศของอิสราเอล

ซึ่งสำหรับชาวปาเลสไตน์แล้ว วันนี้เป็นวันแห่ง “ความหายนะ”

นอกจากนี้ รัฐบาลอเมริกันยังแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลอิสราเอลอย่างชัดเจนหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้สถานะของสหรัฐฯ ในการเป็น “คนกลาง” ในการผลักดันให้เกิดการประชุมสันติภาพตะวันออกกลาง น่าจะสิ้นสุดลง

สหรัฐไม่มีสถานะเป็น “ผู้ที่ได้รับความเชื่อถือ” จากชาวปาเลสไตน์อีกต่อไปแล้ว

ผลพวงจากประธานาธิบดีคาร์เตอร์จนถึงประธานาธิบดีโอบามาที่พยายามแก้ปัญหาตะวันออกกลางได้สิ้นสุดลง และส่งผลให้ตะวันออกกลางกำลังเดินทางกลับสู่ “เส้นทางสงคราม” อีกครั้ง

และคงต้องยอมรับว่า สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางมีผลกระทบต่อความมั่นคงในเวทีโลกเสมอ

เสียงเพลงที่เปียงยาง

“ฉันต่อต้านเกาหลีเหนือที่ร่วมทีมกีฬากับเรา แต่ในเกมที่ชนะญี่ปุ่นมีความหมายอย่างมากสำหรับเราในความเป็นชาติ”

Min Seung-Won

นักเรียนมัธยมปลายชาวเกาหลีใต้

หลังจากสถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง เมื่อถึงช่วงแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เหตุการณ์ก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก นักกีฬาจากเหนือและใต้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นทีมเดียวกัน

และที่สำคัญก็คือการเอาชนะญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัตรูสำคัญในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลเกาหลีเหนือจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์มาสู่การเปิดเกมการทูตด้วยกีฬา ดูจะกลายเป็น “ปฏิบัติการสร้างเสน่ห์” (charm offensive) ครั้งสำคัญในเวทีการเมืองโลก

และยังเดินเกมการรุกด้วยการเยือนเกาหลีใต้ 3 วันของน้องสาวประธานาธิบดีคิมจองอึนที่มาพร้อมกับรอยยิ้ม และคำเชิญประธานาธิบดีเกาหลีใต้เยือนเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ ยังส่งทีมนักร้องหญิงเข้าร่วมการเชียร์กีฬาจนกลายเป็น “การรุกด้วยเสน่ห์” ครั้งใหญ่ในทางการทูต

ผลจากการเปิดเกมการทูตใหม่ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ทำให้ “การหว่านเสน่ห์” ผ่านกีฬาและดนตรี เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก

อย่างน้อยก็ช่วยลดความกังวลต่อปัญหาสงครามนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีลงได้ในระดับหนึ่ง

April 1, 2018 AFP. / (Photo credit should read KCNA VIA KNS/AFP/Getty Images)

แม้จะมีเสียงของความกังวลจากสหรัฐและญี่ปุ่นต่อเกมการทูตนี้ก็ตาม แล้วเกาหลีใต้ก็เปิด “ปฏิบัติการเสน่ห์” ต่อเกาหลีเหนือบ้าง ครั้งนี้ รัฐมนตรีวัฒนธรรมเกาหลีใต้พาวงดนตรีร่วมสมัยพร้อมบรรดานักร้อง “K-Pop” ไปเปิดการแสดงที่เปียงยาง

โดยมีผู้นำเกาหลีเหนือและภริยาเข้าร่วมชมการแสดง

และยังได้แสดงความสนใจถามถึงเพลงและเนื้อเพลงอีกด้วย

การไปครั้งนี้รวมทั้งศิลปิน นักดนตรี นักกีฬาเทควันโด นักข่าว ผู้แทนรัฐบาล ต้องถือว่าเกมการทูตของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้การแสดงดนตรีนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกก็ตาม (การแสดงครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2548)

สถานการณ์บนคาบสมุทรดูจะลดความตึงเครียดลงจากเกมการทูตที่สร้าง “การรุกด้วยเสน่ห์” ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า การรุกทางการทูตเช่นนี้จะมีความยั่งยืนเพียงใด

และจะสามารถเปลี่ยนเงื่อนไขความขัดแย้งบนคาบสมุทรได้จริงเพียงใดด้วย

แต่อย่างน้อยคงต้องยอมรับว่าปฏิบัติการด้วยเสน่ห์เช่นนี้ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดเปลี่ยนไปอย่างมาก!