คำว่า “ผา” สำเนียงไทยเก่าแก่ หมายถึง “ฟ้า” มีตกค้างในภาษาไทอาหม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“วันคืนข้างหน้าเราอาจจะได้นำคัมภีร์ไตอาหม ที่ภาษาพูดสูญไปแล้วนั้นมาศึกษาค้นคว้าดู เข้าใจว่าเราจะได้พบร่องรอยของโคลง กลอน และอะไรหลายอย่างที่ยังมืดมนในประเทศไทยปัจจุบันทีเดียว”

ปราชญ์ทางด้านภาษา โดยเฉพาะวิชานิรุกติศาสตร์อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยหล่นความคิดเห็นเอาไว้อย่างนั้นในหนังสือที่ชื่อว่า “โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา”

ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะมีตัวอย่างอยู่ในศิลาจารึกภาษาไทย ที่มีคำไทย สำเนียงเก่า ที่ยังเหลือร่องรอยอยู่ในภาษา “ไทอาหม” คือคำว่า “ผา” แต่พวกไทอาหมหมายความถึง “ฟ้า”

และในกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท ที่มีหลักฐานอยู่ในประเทศไทยเรา ก็มีชื่อกษัตริย์ที่มีพระนามขึ้นต้นว่า “ผา” อยู่มากเสียด้วยนะครับ

“พจนานุกรม ไทยอาหม-ไทย” ที่ปราชญ์ทางภาษาและจารึกอีกท่านหนึ่งอย่าง อ.ประเสริฐ ณ นคร แปลมานั้นระบุว่า คำว่า “ผา” ให้ดูที่ “ผะ” น. กษัตริย์ (ฟ้า) ผ้า เสื้อผ้า ฟ้า สวรรค์ ฝา พระเจ้า ผา

 

ควรทราบด้วยว่า สำหรับในภาษาอาหมยุคเก่า รณี เลิศเลื่อมใส ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานวิจัยเรื่อง จักรวาลทัศน์ ฟ้า-ขวัญ-เมือง คัมภีร์ไทอาหม ว่า ในหนังสืออาหมบุราณจี “ผา” หมายถึง “ฟ้า” และเขียน “ผวา” หมายถึง “ผา” หรือ “ภูผา, ภูเขา” อย่างสม่ำเสมอ ไม่เหมือนเอกสารสมัยหลังที่เขียนสลับกันไปมา

แต่เพราะภาษาอาหมเป็นภาษาที่ตายไปแล้ว คือไม่มีผู้ใช้สนทนากันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เราจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่า คำว่า “ผวา” เป็นเสียงควบ หรือไม่ออกเสียงคือเป็นพยัญชนะเงียบ โดยเฉพาะเมื่อเอกสารสมัยหลังใช้สลับกันไปมากับคำว่า “ผา”

อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงควบที่มีความหมายถึง “ภูผา” ปรากฏในกลุ่มตระกูลภาษาไทกลุ่มอื่นด้วยคือในภาษาจ้วงใต้ ที่ออกเสียง “ผา” ว่า “pya” (พยา) และเรียก “ภูผา” โดยเสียงสูงขึ้นว่า “pyaz”

 

คราวนี้ลองมาดูบรรดารายพระนามของ “เจ้า” หรือ “กษัตริย์” ที่มีอยู่ในประเทศไทย มีหลายพระองค์ที่มีคำว่า “ผา” และควรสังเกตว่าทั้งหมดครองราชย์อยู่ทางบริเวณที่อยุธยาถือว่า เป็น “เมืองเหนือ” ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย ล้านนา น่าน ฯลฯ เช่น พระเจ้าผายู แห่งเชียงใหม่, พระยาผากอง เจ้างั่วผาสุม และเจ้าผาแสง แห่งน่าน หรือแม้กระทั่งพระนามของกษัตริย์ในตำนานอย่างเจ้าจอมผาเรือง เป็นต้น

จารึกสุโขทัยคำว่า “ผา” เกือบทั้งหมดตรงกับ “ภูผา” อย่างไม่ต้องสงสัย มีเพียงพระนามของกษัตริย์บางพระองค์ที่มีคำว่า “ผา” ประกอบอยู่ด้วย โดยมีองค์สำคัญคือ “พ่อขุนผาเมือง” ใน จารึกสุโขทัย หลักที่ 2 วัดศรีชุมเท่านั้นที่ยังต้องสงสัยอยู่

ในจารึกวัดศรีชุม มีตัวเอกคือ “มหาเถรศรีศรัทธา” เล่าเรื่องย้อนกลับไปถึงสายตระกูลของท่านในช่วงแรกเริ่มของรัฐสุโขทัย ในยุคของราชวงศ์พ่อขุนศรีนาวนำถุม ก่อนราชวงศ์ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์

พระนาม “ผาเมือง” ปรากฏอยู่ในช่วงเวลานั้น ตามความในจารึกหลักนี้ พ่อขุนผาเมืองเป็นคนในรุ่นเดียวกับพ่อขุนบางกลา”หาว ที่ต่อมาจะสืบพระนาม “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” หรือที่ย่นย่อลงมาเหลือ “ศรีอินทราทิตย์” ต่อจากพ่อขุนผาเมือง

แน่นอนว่า คำ “ผาเมือง” อาจจะหมายถึง ภูผาแห่งเมือง หรือเขาเมืองได้เหมือนกันนะครับ แต่รายพระนามเหล่านี้ หากจะแปลคำว่า “ผา” ที่ปรากฏอยู่ในพระนามว่า “ภูผา” หรือ “ภูเขา” ก็ดูจะมีความหมายที่ไม่ชัดเจนนัก เช่น เจ้าผาแสง จะหมายถึง ภูเขาที่มีชื่อว่าแสง ซึ่งดูจะไม่มีความหมายที่สำคัญอันใดเลยสักนิด

แต่หากคำว่า “ผา” ในที่นี้หมายถึง “ฟ้า” จะหมายถึง “เจ้าฟ้าแสง” หรือ “เจ้าฟ้าผู้สว่างไสว” เป็นต้น ดังนั้น “พ่อขุนผาเมือง” ก็ย่อมอาจแปลว่า “พ่อขุนฟ้าเมือง” ได้เช่นเดียวกัน

 

ร่องรอยสำคัญอีกแห่งพบอยู่ในเรื่องขุนเจืองธรรมิกราช พงศาวดารลานนาไทย ประชุมพงศาวดารภาคที่ 10 ซึ่งเล่าถึงเรื่องของท้าวฮุ่ง หรือขุนเจือง วีรบุรุษในตำนานของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท-ลาว ซึ่งมักจะถูกกล่าวอ้างว่าเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์วงศ์ต่างๆ เพราะเป็นทั้งวีรบุรุษ และเป็นผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นกษัตริย์เพราะสืบสายมาแต่ “ฟ้า”

พ่อของขุนเจือง ซึ่งโดยทั่วไปมักปรากฏในชื่อ “ขุนจอมธรรม” แต่เรื่องขุนเจืองธรรมิกราชฉบับนี้เรียกว่า “เจ้าจอมผาเรือง” คำว่า “ผา” ที่ปรากฏอยู่ในชื่อดังกล่าว ไม่ควรแปลว่า “ภูผา” หรือ “หินผา” เพราะเจ้าจอมผาเรืองเป็นกษัตริย์ครองเมือง “เชียงเรือง” (ปกติเรื่องขุนเจืองสำนวนอื่นมักกล่าวว่าครองเมือง “สวนตาล” ซึ่งบางท่านว่าคือ “เชียงราย” บางท่านว่าคือ “พะเยา”)

คำว่า “เรือง” ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึงชื่อ “เมือง” ดังนั้น คำว่า “ผา” ในชื่อจึงควรแปลว่า “ฟ้า” คือ “เจ้าจอมฟ้าเรือง” หมายถึง “เจ้าฟ้าผู้ครองเมืองเรือง” นั่นเอง

 

ใน “อาหมบุราณจี” คือพงศาวดารเก่าแก่ของพวกอาหม คำว่า “ผา” ซึ่งหมายถึง “ฟ้า” มีปรากฏอยู่ในพระนามของกษัตริย์อาหมทุกพระองค์ ในคำเรียกขวัญพิธีราชาภิเษกของพวกอาหม เป็นพยานยืนยันว่ากษัตริย์อาหมอ้างตัวเป็นหลานของ “เลงดอน” ซึ่งถือว่าเป็น “ฟ้าเหนือหัว” ทำนองเดียวกับแนวคิดเรื่อง “เจ้าฟ้า” ที่มีอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมไท

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่คำว่า “ผา” จะถูกใช้นำหน้าชื่อเรียกเทพเจ้าต่างๆ เช่น “ผาขำ” เทวดาแห่งน้ำ “ผาตูจิง” (ฟ้าตัวยิ่ง) คือเทวดาสูงสุด หรือพระเจ้า เป็นต้น

เพราะศักดิ์ฐานะของ “เจ้า” หรือ “กษัตริย์” ในวัฒนธรรมอาหมในทางอุดมคติ ไม่ได้ต่างจาก “เทวดา” หรือ “เทพเจ้า” เนื่องจากถือว่า “กษัตริย์” สืบเชื้อสายลงมาจาก “ฟ้า” ที่พวกอาหมออกเสียงว่า “ผา”

คำว่า “ผา” ที่ปรากฏในพระนามของ “เจ้า” หรือ “กษัตริย์” หลายพระองค์จึงอาจหมายถึง “ฟ้า” ไม่ใช่ “ภูผา” หรือ “หินผา” ตามอย่างประเพณีเก่าของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท-ลาว ที่ยังพบหลักฐานอยู่มากในเอกสารเก่าแก่ของพวกอาหมนั่นเอง