นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เกสตาปูกับ 6 ตุลา

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เกสตาปูกับ 6 ตุลา (1)

Geoffrey B. Robinson ออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ The Killing Season เป็นเรื่องสังหารโหดชาวอินโดนีเซีย 500,000 คน และจับกุมคุมขังอีกประมาณ 1,000,000 คนเป็นเวลาหลายๆ ปี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ถูกแจ้งข้อหาอะไรทั้งสิ้น

การสังหารหมู่ประชาชนอย่างมโหฬารนี้เกิดขึ้นในปี 1965-1966 ส่วนผู้ที่ถูกจับกุมคุมขัง ก็ถูกกักตัวไว้จนปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ส่วนใหญ่จึงได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่เหลือเพิ่งมาได้อิสรภาพเมื่อระบบซูฮาร์โต้ (หรือตามชื่อที่เป็นทางการคือระบบ “ระเบียบใหม่”) ล่มสลายลงแล้วใน 1998

ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อรอยแผลที่บาดลึกในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียครั้งนี้คือกองทัพ ซึ่งปั้นเรื่องขึ้นว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียพยายามก่อรัฐประหาร ด้วยการจับนายพลสังหารไป 6 คนอย่างทารุณโหดร้าย ในขณะที่ “รักษาความปลอดภัย” (ควบคุม) ประธานาธิบดีซูการ์โนไว้ ถือเป็นการทรยศหักหลังชาติอย่างร้ายแรง แม้กองทัพจะสามารถปราบฝ่ายกบฏได้ แต่พรรคคอมมิวนิสต์ได้สร้างความโกรธแค้นแก่ประชาชนชาวอินโดนีเซียอย่างมาก จึงลุกขึ้นมาจับสมาชิกพรรคหรือสมาชิกขององค์กรที่พรรคก่อตั้งขึ้นสังหาร ไม่เฉพาะแต่ในเขตเมืองเท่านั้น หากระบาดลงไปถึงระดับหมู่บ้าน

ความหมายก็คือกองทัพไม่เกี่ยว และไม่สามารถทำอะไรได้

Robinson ใช้เวลาเป็นหลายปี ในการเก็บรวบรวมหลักฐานและการสัมภาษณ์ผู้คน ไม่เฉพาะแต่ในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่รวมถึงขุดค้นเอกสารในหอจดหมายเหตุของสหรัฐและอังกฤษ นอกจากนี้ หลักฐานที่ปักกิ่งและมอสโก ก็ได้เปิดเผยออกมาแล้ว และมีผู้ศึกษาวิจัยหลักฐานเหล่านั้นแล้วด้วย จึงได้ข้อสรุปที่เถียงได้ยากว่า ที่จริงแล้วพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียไม่ได้ก่อการรัฐประหารในวันที่ 30 กันยายน 1965 (แม้อาจมีสมาชิกพรรคบางคนเข้าร่วมด้วย) แต่การรัฐประหารเกิดขึ้นจากหน่วยทหารบางหน่วยในกองทัพเอง แต่ในการปราบกบฏทหารครั้งนั้น กองทัพเลยถือโอกาสขจัดคู่แข่งทางการเมืองที่ทิ่มแทงใจมานานคือพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเสียเลย … ด้วยวิธีที่เหี้ยมโหดอย่างเหลือเชื่อ

จึงอาจกล่าวได้ว่า ในนาทีนี้ The Killing Season เป็น “คำตอบสุดท้าย” ที่น่าเชื่อถือที่สุดของเหตุการณ์การสังหารหมู่ประชาชนที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในเอเชีย (หรือจะพูดว่าในโลกก็ได้)

ส่วนการสังหารหมู่ถึง 500,000 ชีวิตนั้น กองทัพเป็นผู้จัดการอย่างแนบเนียน ทั้งการสร้างม็อบขึ้นเป็นองค์กรเพื่อจัดฉากให้กองทัพไม่เกี่ยว โดยได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองสายศาสนา เช่น Nahdatul Ulama ซึ่งเป็นคู่อริกับพรรคคอมมิวนิสต์อยู่แล้ว ทหารหรือตำรวจที่ยอมอยู่ใต้บัญชาของทหารเป็นผู้ส่งบัญชีรายชื่อให้แก่องค์กรอันธพาล เพื่อจับตัวเหยื่อไปสังหารหมู่ บางครั้งหน่วยทหารเองเป็นผู้มาเชิญตัวเหยื่อไป “คุ้มกัน” และส่งต่อให้องค์กรอันธพาลนำไปสังหารอีกทีหนึ่ง

Robinson ได้พบจากเอกสารทางการของอเมริกันและอังกฤษด้วยว่า สองมหาอำนาจนี้มีส่วนร่วมกับการยึดอำนาจของกองทัพมาแต่ต้น ในช่วงนั้นการเมืองทุกฝ่ายในอินโดนีเซียกำลังหวั่นวิตกกับสุขภาพของซูการ์โน คาดไม่ถูกว่าอาจเสียชีวิตลงเมื่อไรก็ได้ ทุกฝ่ายในการเมืองอินโดนีเซียต่างขยับตัวเตรียมพร้อมสำหรับการเมืองในเงื่อนไขใหม่ที่ไม่มีซูการ์โน

ในขณะที่อเมริกันรวบรวมเหล่านายพลที่ใกล้ชิดอเมริกัน และสนับสนุนให้ยึดอำนาจ อังกฤษวางแผนให้เสร็จเลยว่า ต้องล่อหลอกให้พรรคคอมมิวนิสต์ชิงก่อรัฐประหารขึ้นก่อนตั้งแต่ยังไม่พร้อม แล้วกองทัพอินโดนีเซียก็จะสามารถยกกำลังเข้าปราบปราม พร้อมกับยึดอำนาจไว้เสียเลยได้อย่างแนบเนียน

แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 30 กันยายน 1965 ไม่ตรงกับแผนของมหาอำนาจนัก แต่บทบาทของกองทัพหลังจากนั้นตรงกับแผนที่วางไว้ล่วงหน้าเกือบหมด รวมทั้งการสังหารหมู่ซึ่งแม้ไม่มีหลักฐานว่ามหาอำนาจส่งเสริมให้ทำ แต่มีหลักฐานชัดเจนว่า ทั้งสหรัฐและอังกฤษมีส่วนอย่างมากในการช่วยปกปิดเรื่องราวมิให้กลายเป็นข่าวฉาวไปทั่วโลก ทั้งกับสื่อในออสเตรเลียและมาเลเซีย

เบน แอนเดอร์สัน

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ซึ่งติดตามศึกษาอินโดนีเซียมาอย่างต่อเนื่องหลายปี กล่าวตั้งแต่ปี 1966 ก่อนที่เอกสารราชการของอังกฤษและสหรัฐจะถูกเปิดเผยว่า การรัฐประหารซ้อนของซูฮาร์โตก็ดี การสังหารหมู่เพื่อกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์ก็ดี วางแผนและปฏิบัติการได้อย่างดีเยี่ยม อย่างชนิดที่กองทัพซึ่ง disorganized ของอินโดนีเซียจะทำได้เอง เว้นแต่ได้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ จากมหาอำนาจ (disorganized แปลทื่อๆ ว่าขาดระเบียบในการจัดองค์กร และแปลให้รู้เรื่องมากขึ้นได้ว่า กองทัพซึ่งงอกขึ้นมาจากกองกำลังปฏิวัติกู้ชาติของอินโดนีเซีย ยังไม่มีการบังคับบัญชาที่รวมศูนย์อย่างมีประสิทธิภาพนักใน 1965 คล้ายกับสมัยที่ทำสงครามกู้ชาติ คือพลังท้องถิ่นต่างๆ รบกับข้าศึกไปอย่างอิสระโดยขาดการวางแผนการรบหรือกำกับจากส่วนกลาง)

แต่ท่านอาจารย์เบนไม่สามารถแสดงหลักฐานอย่างปฏิเสธไม่ได้เหมือนกับที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

จะว่าไปแล้ว เรื่องราวสังหารโหดจำนวนมากในหนังสือเล่มนี้ เคยเผยแพร่มาแล้ว โดยนักวิชาการและสื่ออินโดนีเซียผู้กล้าหาญเอง ตั้งแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น และโดยนักวิชาการและสื่อต่างชาติ แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะเล่าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมหลักฐานยืนยันพร้อมมูลในรายละเอียดทุกเรื่องเหมือนกับในหนังสือเล่มนี้

นักวิจารณ์ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นไว้ให้อ่านและร่ำไห้ ผมทำอย่างนั้น เพราะการสังหารหมู่ประชาชนไม่ได้เกิดในอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียว ทุกรัฐในโลกสมัยใหม่สามารถทำอย่างนั้นได้ทุกรัฐ ตั้งแต่ผมเกิดจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีทศวรรษไหนเลยที่ปลอดการสังหารหมู่ประชาชนในโลก ใหญ่ขนาดอินโดนีเซียบ้าง ใหญ่กว่าอินโดนีเซียบ้าง (เช่น กัมพูชาภายใต้เขมรแดง) หรือเล็กกว่าเฉพาะพื้นที่เช่นราชประสงค์และสนามหลวงบ้าง

อาจเป็นเพราะรายละเอียดและการวิเคราะห์ที่เยือกเย็นของผู้เขียน แม้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้เรื่องนี้ตกอยู่ในความเงียบตลอดไปมานานแล้ว ทำให้เมื่อผมอ่านแล้วอดคิดถึงการสังหารหมู่ประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 1976 (2519) ไม่ได้ ยิ่งอ่านไปก็ยิ่งเห็นว่าสองเหตุการณ์นี้น่าจะนำมาศึกษาเปรียบเทียบอย่างยิ่ง แม้ขอบเขตจะห่างกันไกล ทั้งในตัวเหตุการณ์และผลกระทบจากการสังหารหมู่กลางเมือง

ผบ.ฝ่ายข่าวกรองของกองทัพอินโดนีเซีย เป็นคนตั้งชื่อเหตุการณ์ที่อ้างว่าพรรคคอมมิวนิสต์พยายามยึดอำนาจ และสังหารนายพลไป 6 คนว่า GESTAPU (Gerakan September Tiga Puluh – ขบวนการ 30 กันยายน) เพื่อเลียนเสียง GESTAPO หรือหน่วยตำรวจลับของนาซี ซึ่งมีชื่อด้านความโหดร้ายทารุณป่าเถื่อน นิทานอีกเรื่องหนึ่งที่กองทัพสร้างขึ้นในช่วงนั้นก็คือ นายพลทั้ง 6 ถูกกลุ่มสตรีของพรรคคอมมิวนิสต์ (GERWANI – Gerakan Wanita Indonesia หรือขบวนการสตรีอินโดนีเซีย) กระทำทารุณอย่างป่าเถื่อน เช่น เชือดอวัยวะเพศ ท่ามกลางการเริงระบำในพิธีกรรมอย่างบ้าคลั่ง เพื่อแสดงการฝ่าฝืนศีลธรรมของอิสลามอย่างอุจาด แต่ในหลักฐานการพิสูจน์ศพของแพทย์ซึ่งเปิดเผยขึ้นในภายหลังเมื่อนายพลซูฮาร์โตพ้นจากอำนาจแล้ว นายพลเหล่านั้นเพียงแต่ถูกยิงเสียชีวิตเท่านั้น

นี่คือที่มาของชื่อบทความคือการเปรียบเทียบ GESTAPU และ 6 ตุลา

ปี1976 ซึ่งเกิด 6 ตุลา แตกต่างจากปี 1965 มากพอสมควร แม้ว่าสงครามเย็นยังอยู่ แต่โซเวียตกำลังถูกโดดเดี่ยว เพราะนิกสันได้ไปพบกับเหมาที่ปักกิ่งแล้วตั้งแต่ 1972 สงครามเวียดนามพ้นอกอเมริกันไปด้วยความอัปยศใน 1975 อเมริกันต้องนิยามความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันใหม่ ปราศจากนโยบายสะกัดจีน ความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้ก็ลดลงอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ใน 1976 กระแสสิทธิมนุษยชนกำลังมาแรงในโลกตะวันตก ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ประกาศตั้งแต่รับตำแหน่งว่านโยบายต่างประเทศของสหรัฐ จะวางบนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ไม่ว่าอเมริกันจะมีส่วนร่วมหรือไม่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน อย่างไรเสียการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาก็ทำได้อย่างจำกัด แม้กระนั้น หากคิดถึงจำนวนคนที่ถูก “เก็บ” คือที่โรงเรียนพล ตชด. ที่บางเขน บวกกับศูนย์การุณยเทศทั่วประเทศ ก็มีจำนวนเป็นหลายพัน คนเหล่านี้อาจถูกสังหารหมู่อย่างเดียวกับเกสตาปูก็ได้ กองทัพหรือบางส่วนของกองทัพและชนชั้นนำได้สร้างและอุดหนุนกองกำลัง “มวลชน” ขึ้นแล้ว ทั้งในลักษณะกลุ่มอันธพาลและไม่ใช่ คนเหล่านี้อาจทำหน้าที่สังหารหมู่ประชาชนอย่างที่ทำในท้องสนามหลวงก็ได้ โดยผู้ที่เข้ายึดอำนาจอาจอ้างได้ว่าพวกตนมือสะอาด ไม่เกี่ยวกับเหตุจลาจลที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นพัน

แต่การสังหารหมู่ของไทยก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตและพิการน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลังเกสตาปูในอินโดนีเซีย ปราศจากเงื่อนไขบางอย่างในช่วงนั้นนอกเหนือจากการเมืองระหว่างประเทศ 6 ตุลา อาจเป็นบาดแผลที่ร้าวลึกกว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้ และผมอยากพูดถึงเงื่อนไขเหล่านั้น

ผมเชื่อว่า เมื่อไรที่กองกำลังซึ่งเข้ายึดอำนาจรัฐมีความอ่อนแอมากเท่าไร ก็ยิ่งจะโหดร้ายทารุณมากเท่านั้น ดังนั้น การสังหารหมู่ประชาชนไปครึ่งล้านในอินโดนีเซียจึงแสดงความอ่อนแอโดยเปรียบเทียบ (กับอริ) เช่นเดียวกัน

ดังที่กล่าวแล้วว่า ใน 1965 กองทัพอินโดนีเซีย disorganized หรือขาดระเบียบในการจัดองค์กร แม้แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นก็เริ่มมาจากการก่อกบฏของบางส่วนในกองทัพเอง เป็นไปไม่ได้ที่กองทัพจะยึดอำนาจรัฐโดยปราศจากการต่อต้าน และกลุ่มที่อาจต่อต้านกองทัพอย่างได้ผลคือประธานาธิบดีซูการ์โน และพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะสองกลุ่มนี้เข้าถึงมวลชนในระดับที่กว้างกว่ากองทัพมาก และหากถูกต่อต้านจริง แม้แต่หน่วยทหารในกองทัพบางหน่วยก็กลับไปร่วมกับฝ่ายคู่อริได้

ความสำเร็จในการสถาปนาความกลัวขึ้นครอบงำสังคมอย่างสิ้นเชิง ด้วยการสังหารหมู่และคุมขังคนไป 1,500,000 คน จึงทำให้กองทัพคุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จสืบมาอีก 31 ปี

ผมควรกล่าวด้วยว่า พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเองก็ไม่ได้เข้มแข็งอะไรนัก แม้ได้สร้างกลุ่มที่เป็นเครือข่ายไว้กว้างขวาง พรรคมีผู้ถือบัตรสมาชิกมาก (ที่สุดในบรรดาพรรคคอมมิวนิสต์นอกม่านเหล็กและม่านไม้ไผ่) แต่สมาชิกพรรคจำนวนมากในชนบทก็เพียงแต่ถือบัตรเพื่อรวมกลุ่มกันในการต่อสู้กับอำนาจท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเท่านั้น หาได้มีความเข้าใจอุดมการณ์ของพรรคไม่ นอกจากนี้ นโยบายของพรรคที่ทำให้ได้รับความสนับสนุนจากมวลชน ก็ก่อให้เกิดศัตรูของพรรคไปทั่วหัวระแหง เช่นนโยบายปฏิรูปที่ดินบนเกาะชวาและบาหลีเป็นต้น ศัตรูเหล่านี้ล้วนเป็นหัวหน้าในกลุ่มอุปถัมภ์ต่างๆ ในท้องถิ่นเสียด้วย

กองทัพไทยใน 1976 ก็ disorganized เหมือนกัน แต่คนละลักษณะกับอินโดนีเซีย กองทัพไทยเคยชินกับการจัดองค์กรในระบบอุปถัมภ์ กล่าวคืออยู่ภายใต้ “บิ๊ก” บางคน ที่ได้รับความเชื่อถือกว้างขวางกว่าภายในกองทัพเอง “บิ๊ก” จึงเป็นเหมือนหัวประแจสำหรับเชื่อมพันธมิตรของกองทัพเข้ามาร่วมกัน และแน่นอนสามารถแบ่งปันอำนาจและทรัพยากรให้แก่บริวารได้อย่างทั่วถึง

หลังการล่มสลายของระบบสฤษดิ์ใน 14 ตุลา กองทัพไม่มี “บิ๊ก” เหลืออยู่ อำนาจต่อรองของกองทัพกับพันธมิตรของตนลดลง ทำให้พันธมิตรบางกลุ่มเข้ามามีบทบาทชี้นำในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองเพิ่มขึ้น (แต่ก็ยังไม่เด็ดขาด)

ในส่วน พคท. ดูเหมือนมีความเข้มแข็ง แต่เนื้อแท้แล้วก็ไม่ได้เข้มแข็งจริง นอกจากต้องพึ่งต่างชาติอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อเศรษฐกิจ-สังคมไทยเปลี่ยนไป พรรคก็หมดสมรรถนะที่จะตามทัน เช่น เมื่อชนชั้นแรงงานในเมืองขยายตัว พรรคก็ไม่อาจช่วงชิงการนำในกลุ่มกรรมาชีพนี้ได้ แรงสนับสนุนของพรรคจำกัดความเข้มข้นอยู่ที่ลูกหลานคนชั้นกลางในเมือง หากกองทัพสามารถขจัดพลังของกลุ่มนี้ได้ กองทัพก็สามารถครอบงำพื้นที่ในเขตเมืองได้เด็ดขาด (ส่วนเขตชนบท ยังต้องแบ่งอำนาจกับ พคท.)

นี่คือเหตุผลที่การสังหารหมู่มุ่งกระทำไปยังลูกหลานคนชั้นกลางในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวงเท่านั้น ในขณะที่การ “เก็บ” หนุ่มสาวเหล่านี้ด้วยการจับกุมคุมขังมีข้อจำกัดมาก เพราะคนชั้นกลางในเมืองซึ่งส่วนหนึ่งก็คือพันธมิตรของกองทัพ ย่อมกดดันมิให้สังหารหมู่ลูกหลานของตนเอง

การยึดอำนาจในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นความร่วมมือกันของคนหลายกลุ่ม ต่างมีเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง (และเพื่อตนเอง) ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง ซ้ำฝ่ายศัตรูก็ไม่เข้มแข็งอะไรนัก ผู้ลงมือกระทำการจึงขาดทั้งสมรรถภาพและความจำเป็นจะต้องสังหารหมู่ให้ใหญ่อย่างกองทัพอินโดนีเซียใน 1965-1966 ผลก็คือไม่สามารถสร้างความกลัวอย่างสุดขั้วขึ้นในสังคมไทย จนกระทั่งการสังหารหมู่ครั้งนั้นไม่ “เงียบ” เท่ากับในอินโดนีเซีย และประชาชนยังลุกขึ้นสู้ได้อีกจนปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน บรรยากาศสิทธิมนุษยชนในโลกเวลานั้น ไม่เอื้อให้เกิดการสังหารหมู่กลางเมืองได้อย่างอินโดนีเซียปี 1965 ด้วย

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 6 ตุลา เป็นกรณีแรกที่รัฐไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ก่อนหน้านั้นเพียง 3 ปี ในเหตุการณ์ 14 ตุลา รัฐใช้กำลังทหารยิงใส่ฝูงชนจนเสียชีวิตไปหลายสิบ แต่ 6 ตุลา รัฐต้องสร้างภาพมวลชน (จัดตั้ง) ขึ้นมาทำหน้าที่แทน หรือทำหน้าที่กำบังกำลังแท้จริงของทหารและตำรวจซึ่งปฏิบัติการสังหารหมู่

รูปแบบใหม่ของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเช่นนี้ จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่รัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้กันสืบมา แต่น่าประหลาดที่ไม่ได้ใช้ในประเทศไทยอีกเลย อย่างน้อยก็ไม่ถึงขนาดที่สามารถกำบังการใช้กำลังของรัฐได้อย่างที่ทำในการสังหารหมู่ 6 ตุลา