อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : จิตรกรผู้หลอมรวมรูปกาย เข้ากับลวดลายวิจิตร

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านมา เราเคยกล่าวถึงจิตรกรเชิงสังวาสผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในยุคเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 อย่าง เอกอน ชีเลอ ในตอนนี้เราเลยจะขอกล่าวถึงจิตรกรในแนวทางเดียวกันอีกคนในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ที่ทรงอิทธิพลและมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

จิตรกรผู้นั้นมีชื่อว่า

กุสตาฟ คลิ้มต์ (Gustav Klimt)

จิตรกร นักออกแบบ มันฑนากร แนว Symbolist ชาวออสเตรีย สมาชิกคนสำคัญของ Vienna Secession ผู้ผลักดันให้ศิลปะอาร์ตนูโว เป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะและออกแบบของออสเตรียและทั่วโลก

คลิมต์เป็นที่รู้จักจากผลงานจิตรกรรม จิตรกรรมฝาฝนัง ภาพลายเส้น และศิลปะวัตถุอื่นๆ ส่วนใหญ่เขาจะวาดภาพร่างกายผู้หญิง และมักจะแสดงออกถึงเรื่องราวทางเพศอย่างชัดแจ้ง

เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานจิตรกรรมของคลิ้มต์คือภาพร่างกายคนที่ผสานกันอย่างกลมกลืนกับลวดลายอันวิจิตรพิสดารจนดูเหมือนจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

Danaë (1907) สีน้ํามันบนผ้าใบ

นอกจากนั้น เขายังวาดภาพเหมือนบุคคลและภาพทิวทัศน์ ด้วยความน่าตื่นตาของการประดับประดาและเชิงช่างอันเชี่ยวชาญ และด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน

ทำให้ผลงานของเขาเหนือล้ำกว่าศิลปินในยุคสมัยเดียวกันอย่างมาก

เกิดวันที่ 14 กรกฎาคม 1862 ที่เมืองบวมการ์เทน ใกล้กรุงเวียนนา ออสเตรีย พ่อของเขาเป็นช่างทอง ส่วนแม่เป็นแม่บ้านที่มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรี

กุสตาฟเป็นลูกคนที่สองในบรรดาพี่น้องเจ็ดคน ซึ่งพี่น้องชายสามคนต่างก็มีพรสวรรค์ทางศิลปะมาแต่อ้อนแต่ออก ในช่วงวัยเด็กพวกเขาอยู่กันอย่างยากจน

ในปี 1876 กุสตาฟได้ทุนเข้าเรียนที่สถาบัน Vienna School of Arts and Crafts และฝึกฝนเป็นช่างวาดภาพสถาปัตยกรรม

เขาจบการศึกษาในปี 1883

ในปี 1880 คลิ้มต์เริ่มอาชีพช่างวาดภาพฝาผนังและเพดานในอาคารใหญ่ ๆ หลายแห่ง

ในปี 1888 เขาได้รับรางวัล Golden order of Merit จากจักรพรรดิ ฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 แห่งออสเตรีย จากการเข้าร่วมวาดภาพฝาผนังโรงละครแห่งชาติ บูร์กเธียเตอร์ ในเวียนนา

ปี 1892 พ่อและพี่ชายของเขาเสียชีวิตลง เขาจึงต้องรับผิดชอบครอบครัวแทนทั้งสอง

เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อแนวคิดทางศิลปะของเขาไม่น้อย

อีกไม่นานหลังจากนั้นเขาก็หันเหไปสู่สไตล์การทำงานในรูปแบบของตัวเอง

The Kiss (1907-1908)
สีน้ํามันทองคําเปลวบนผ้าใบหอศิลป์เบลเวเดียร์เวียนนา

ปี1897 คลิ้มต์เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Vienna secession ที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสมาคมศิลปินแห่งเวียนนาให้ได้แสดงงาน รวมถึงนำเข้าศิลปินต่างชาติชั้นเยี่ยมเข้ามาทำงานในเวียนนา และจัดทำนิตยสารของตัวเองเพื่อเผยแพร่ผลงานของสมาชิก

กลุ่มศิลปะกลุ่มนี้ไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ศิลปะแนวไหนอย่างชัดเจน มีศิลปินทั้งในแนว Naturalists, Realists และ Symbolists อยู่ร่วมกันในกลุ่มอย่างหลากหลาย

ปี 1894 คลิ้มต์ได้รับการว่าจ้างในการวาดภาพประดับเพดานในหอใหญ่ของมหาวิทยาลัยเวียนนา ผลงานของเขาสามชิ้น Philosophy, Medicine และ Jurisprudence ที่เปลี่ยนคติความเชื่อและสัญลักษณ์แบบประเพณีให้กลายเป็นภาษาใหม่ที่เต็มไปด้วยความเปิดเผยทางเพศและท้าทาย แต่กลับถูกโจมตีว่าวิปริตอนาจาร

ผลก็คือ มันไม่ถูกนำไปติดตั้งเลยแม้แต่ภาพเดียว

ทำให้เขาเลิกรับจ้างทำงานให้ภาครัฐนับตั้งแต่นั้นมา

ช่วงปี 1899-1910 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายที่สุด ซึ่งเรียกว่า “ยุคทองคำ” เหตุเพราะภาพวาดของเขาในยุคนี้โดดเด่นด้วยการใช้ทองคำเปลวและสีทองเมลืองมลัง อาทิ ภาพ Pallas Athene (1898) และ Judith I (1901) รวมถึงผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาอย่าง The Kiss (1907- 1908) และ Portrait of Adele Bloch-Bauer I (1907) หรือ Woman In Gold (สตรีในชุดสีทอง)

ภาพวาดภาพนี้เป็นภาพที่โด่งดังที่สุดของคลิ้มต์ และเป็นภาพสุดท้ายที่เป็นตัวแทนของยุคทองของเขา

มันเป็นหนึ่งในสองภาพเหมือนของ อดีเล่ บล็อก-บาวเออร์ (Adele Bloch-Bauer) สตรีชาวเวียนนาผู้เป็นเพื่อนสนิทและเป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของคลิ้มต์ ซึ่งสามีของเธอ เฟอร์ดินานด์ บล็อก นักลงทุนอุตสาหกรรมชาวยิวผู้รักศิลปะที่ร่ำรวยจากธุรกิจค้าน้ำตาลเป็นผู้จ้างวานให้เขาวาด

คลิ้มต์ใช้เวลาสามปีในการวาดภาพนี้ขึ้นมา โดยใช้สีน้ำมันและทองคำเปลวบนผ้าใบ ที่แสดงให้เห็นถึงสีสันอันเรืองรองสง่างาม รายละเอียดอันซับซ้อน ลวดลายประดับประดาอันละเอียดอ่อนในแบบศิลปะอาร์ตนูโวอันเลิศหรูตระการตา

สีหน้าแววตาของนางแบบที่แสดงออกถึงความปรารถนาและความลุ่มหลงอันลึกซึ้ง

Portrait of Adele Bloch-Bauer I (1907) สีน้ํามัน
ทองคําเปลวบนผ้าใบ, แกลเลอรี Neue ในนิวยอร์ค

การใช้วัสดุสูงค่าอย่างทองคำกับพื้นหลังและเสื้อผ้าของตัวละครในภาพ ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะไบแซนไทน์ ซึ่งโดยปกติมักใช้กับภาพของพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีย์ นักบุญ หรือผู้ปกครองรัฐ เพราะสีทองเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และความศักดิ์สิทธิ์

แต่เขากลับนำวัสดุและสีอันสูงส่งนี้มาใช้ในภาพของสามัญชนคนธรรมดา

และใช้ในเชิงประดับประดาตกแต่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความหมายเชิงสัญลักษณ์ และความหมายเชิงวัฒนธรรมของมันโดยสิ้นเชิง

อดีเล่ บล็อก-บาวเออร์ เป็นนางแบบเพียงคนเดียวที่คลิ้มต์วาดภาพเหมือนถึงสองภาพ เมื่อเขาวาดภาพที่สองของเธอ Portrait of Adele Bloch-Bauer II เสร็จในปี 1912 เธอเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 44 ปี หลังจากการคลอดลูกซึ่งมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน

Portrait of Adele Bloch-Bauer II (1912) สีน้ํามันบนผ้าใบ

สามีของเธอตกแต่งห้องเธอให้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำด้วยภาพวาดของคลิ้มต์ทุกภาพที่เขามีอยู่

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพวาดภาพนี้เคยถูกนาซีปล้นชิงไป ก่อนที่จะกลับมาอยู่ในความครอบครองของหอศิลป์แห่งชาติของออสเตรีย และกลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่เป็นหน้าเป็นตาและเป็นความภูมิใจสูงสุดของมหาชนชาวออสเตรียจนถึงกับมีคนให้สมญานามมันว่า “โมนาลิซ่าแห่งออสเตรีย” เลยทีเดียว

แต่ต่อมาภาพวาดภาพนี้ถูกทายาทของอดีเล่ฟ้องร้องรัฐบาลออสเตรีย เพื่อทวงกรรมสิทธิ์คืนจนสำเร็จ และถูกประมูลไปโดย โรนัลด์ เลาเดอร์ (ทายาทของเอสเต้ เลาเดอร์ แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง) ไปในราคา 135 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันมันถูกจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรี่ Neue ในนิวยอร์กจวบจนถึงทุกวันนี้

(ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในหนัง Woman In Gold (2015))

กุสตาฟ คลิ้มต์ เป็นศิลปินที่เก็บตัว ใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยส่วนใหญ่เขาอุทิศเวลาให้กับงานศิลปะและครอบครัว

หลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์แม้กระทั่งในแวดวงศิลปะด้วยกัน ด้วยเหตุที่กระบวนการวาดภาพของเขาต้องใช้เวลาและความอุตสาหะอย่างมาก

ถึงแม้งานของเขาจะพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผยจะแจ้ง และตัวเขาเองก็มีแรงขับทางเพศสูง แต่เขาเก็บงำชีวิตเซ็กซ์ของตัวเองอย่างมิดชิดและมักจะหลีกเลี่ยงเรื่องอื้อฉาวอย่างสิ้นเชิง คลิ้มต์ไม่ค่อยแสดงออกถึงทัศนคติและปรัชญาของตัวเองนัก

และเขาเองก็ไม่เคยวาดภาพเหมือนของตัวเองเลยแม้แต่ภาพเดียว เขากล่าวว่า

“ผมไม่สนใจที่จะวาดภาพตัวเอง เหมือนกับที่ผมวาดภาพคนอื่น โดยเฉพาะผู้หญิง ตัวผมไม่มีอะไรพิเศษ ผมเป็นจิตรกรที่วาดภาพไปวันๆ เช้ายันค่ำ ถ้าใครอยากรู้อะไรเกี่ยวกับตัวผม ก็ควรจะมองหามันจากภาพวาดของผมมากกว่า”

ในปี 1911 ภาพวาด Death and Life ของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน World Exhibitions ที่กรุงโรม ในปี 1915 หลังจากที่แม่ของเขาเสียชีวิต และทุกข์ทรมานจากอาการเป็นลมชักและปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่

The Three Ages of Woman (1905) สีน้ํามันบนผ้าใบ

กุสตาฟ คลิ้มต์ ก็ตายในอีกสามปีให้หลังที่เวียนนา ในวันที่ 6 มกราคม 1918 เขาถูกฝังในสุสานฮีตซิงในเวียนนา

ทิ้งภาพเขียนจำนวนมากที่ยังเขียนไม่เสร็จไว้เบื้องหลัง

ผลงานของเขาส่งอิทธิผลอย่างสูงให้ศิลปินชื่อก้องร่วมสมัยเดียวกันกับเขาอย่าง เอกอน ชีเลอ ที่เป็นเหมือนลูกศิษย์และเพื่อนสนิทของเขา

นอกจากนั้น มันยังให้แรงบันดาลใจให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์อย่างกวี นักดนตรี ไปจนถึงนักวาดการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่น รวมถึงวงการแฟชั่น ดีไซเนอร์ชื่อดังอย่างจอห์น กัลลิอาโน ก็ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2008 มาจากผลงานจิตรกรรมของคลิ้มต์อีกด้วย

อ่านเกี่ยวกับ เอกอน ชีเลอ ได้ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13-19 มกราคม 2560 หรือ https://www.matichonweekly.com/column/article_21854

อ่านเชิงอรรถศัพท์ศิลปะของบทความนี้ได้ที่ http://goo.gl/2QSPvr

ภาพจาก http://www.klimt.com/, https://en.wikipedia.org/wiki/Gustav_Klimt