อินเตอร์เน็ตเป็นพิษ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

หากคุณผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่มีอาการกลัดกลุ้มกังวลว่าคนยุคนี้กำลังติดโทรศัพท์มือถือหนักจนน่าเป็นห่วง ก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาตราหน้าว่าตื่นตูมหรือมองโลกในแง่ร้ายนะคะ เพราะคุณไม่ใช่คนเดียวที่คิดแบบนั้น แถมแนวคิดนี้ถูกสนับสนุนโดยบุคคลผู้ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนยอดฮิตอย่างแอปเปิลอีกต่างหาก

เรื่องมันมีอยู่ว่า โทนี่ ฟาเดลล์ อดีตวิศวกรของแอปเปิล ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “บิดาแห่งไอพอด” อุปกรณ์ฟังเพลงที่พลิกโฉมหน้าวงการเพลงครั้งใหญ่ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า แอปเปิลต้องรับผิดชอบที่ทำให้คนติดมือถือกันงอมแงมขนาดนี้

ขยายความให้ลึกลงไปอีก ฟาเดลล์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired ว่า ถ้าหากพูดถึงสารอาหารแห่งดิจิตอล เราต่างไม่รู้เลยว่าอะไรคือผัก อะไรคือโปรตีน หรืออะไรคือไขมัน เราไม่รู้ว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่าน้ำหนักมากเกินไป หรือน้ำหนักน้อยเกินไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าชีวิตดิจิตอลที่เฮลธ์ตี้และพอเหมาะพอดีนั้นมันหน้าตาเป็นยังไงกันแน่

เขาคิดว่าผู้ผลิตและนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั้งหลายจะต้องรับผิดชอบและเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ก่อนที่ภาครัฐจะเป็นคนยื่นมือเข้ามาจัดการเสียเอง

ถูกต้องค่ะ เราพากันมาถึงจุดซึ่งคนที่ออกแบบเทคโนโลยีถึงกับต้องลุกขึ้นมาเตือนสติว่าเรากำลังติดอุปกรณ์เหล่านี้มากเกินไป

แล้วจะทำอย่างไรล่ะ?

 

ฟาเดลล์ไม่ได้บ่นอย่างเดียว แต่เขายังเสนอไอเดียให้นำไปครุ่นคิดต่อด้วย เขามองว่าทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของค่ายผู้ผลิตอย่างแอปเปิล ซึ่งหลังจากนี้ไปควรจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มการใช้งานแบบใหม่เข้าไปในโทรศัพท์ ให้ผู้ใช้สามารถติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองได้อย่างใกล้ชิด

น่าจะคล้ายๆ กับที่ทุกวันนี้เราสามารถตรวจดูจำนวนก้าวเดินในแต่ละวันของเราได้นั่นแหละค่ะ

จะว่าไปนี่ก็ไม่ใช่ความคิดที่แย่เสียทีเดียว นี่จะเป็นความรับผิดชอบของแอปเปิลหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องถกเถียงกันต่อไป

แต่หากเราสามารถตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์มือถือของตัวเองได้โดยละเอียด ว่าวันหนึ่งๆ เราหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาปลดล็อกหน้าจอกี่ครั้ง เข้าเฟซบุ๊ก-ส่องอินสตาแกรมไปกี่นาที (หรือชั่วโมง) โดยเป็นความสามารถที่ฝังมากับระบบปฏิบัติการเลย ไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นอื่นมาติดตั้ง ก็น่าจะทำให้เรามองเห็นภาพรวมของการใช้งานโทรศัพท์เราได้ดีขึ้นนะคะ

ถ้าหากตัวเลขออกมาเป็นที่น่าวิตกกังวล เราจะได้รู้ตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทัน

ทุกวันนี้เรามักจะเป็นกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาการอยู่หน้าจอของลูก ว่าลูกของเรานั่งจ้องหน้าจอนานแค่ไหน

โดยมักจะลืมไปว่าผู้ใหญ่อย่างเราก็มีพฤติกรรมแบบเดียวกันหรืออาจจะสาหัสกว่าเด็กเสียอีก

มีการคาดการณ์ว่าแอปเปิลกำลังจะออกเครื่องมือชนิดใหม่ให้พ่อแม่สามารถตรวจสอบจำนวนเวลาการจ้องหน้าจอของลูกได้

ซึ่งก็คงจะดีไม่น้อยถ้าหากพ่อแม่นำเครื่องมือเดียวกันนี้มาใช้กับตัวเองด้วย

 

การที่ผู้ผลิตเทคโนโลยีออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าเทคโนโลยีกำลังพาสังคมเราไปผิดทิศผิดทาง ไม่ใช่มีแต่กรณีของฟาเดลล์เท่านั้นนะคะ อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ที่เพิ่งจะไปนั่งตอบคำถามในระหว่างการสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการเมื่อเร็วๆ มานี้ ตัวเขาเองยอมรับสารภาพว่าเฟซบุ๊กได้หละหลวมและมีส่วนก่อให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายเสียหายในหลายด้าน ตั้งแต่ข่าวปลอมผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหล หรือวาจาที่สร้างความเกลียดชัง และยอมก้มหัวกล่าวคำขอโทษต่อคนทั่วโลกที่เขาไม่สามารถควบคุมแพลตฟอร์มที่ตัวเองสร้างขึ้นมาได้

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่ามาขบคิดต่อนะคะว่าความเจริญรุ่งเรืองของเทคโนโลยีดิจิตอลทุกวันนี้จะนำพาเราไปสู่สังคมแบบไหนในท้ายที่สุด

บทความบนเว็บไซต์ NYMAG ชิ้นหนึ่ง พอจะวาดภาพให้เราได้เห็นว่าไปยังไงมายังไงเราถึงมายืนอยู่ ณ จุดนี้กันได้

โดยแบ่งออกเป็นทีละขั้นๆ เลยค่ะ

 

เรื่องทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรมที่พากันไปกระจุกรวมตัวกันอยู่ในซิลิคอน วัลเลย์ โดยมีเจตนาดีๆ ในการเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้น แต่เจตนาดีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถผลักดันให้ใครไปไหนได้ไกล

จึงจำเป็นต้องนำมาผสมผสานเข้ากับทุนนิยมในการสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับการกอบกู้โลก

แต่ในเมื่อผู้ใช้ยังต้องการแต่ของฟรีบนอินเตอร์เน็ต ฝั่งผู้ผลิตจึงต้องนำเอาโมเดลของการโฆษณาดิจิตอลเข้ามาช่วย

ซึ่งหากต้องการให้มีคนเห็นโฆษณาเยอะๆ ก็ต้องทำให้ชุมชนของตัวเองเติบโตได้มากที่สุด ด้วยการออกแบบโซเชียลมีเดียให้เป็นสิ่งที่เสพติดเท่าไหร่ก็ไม่พอ พร้อมกับทุ่มทรัพยากรไปที่การขายโฆษณาอย่างเต็มกำลัง จนเพิกเฉยหรือไม่มีเวลาพอที่จะไปใส่ใจแง่มุมความปลอดภัยของผู้บริโภค

บทความนี้นำพาไปสู่ตอนจบว่า ในเมื่อบริษัทเทคโนโลยีกระโดดลงไปอยู่ในเกมกลนี้กันอย่างเต็มตัวจนยากที่จะหยุด

ผู้บริหารก็ไม่อยากทุบหม้อข้าวตัวเอง จึงเหลือเพียงแต่พนักงานบางคนที่อดรนทนไม่ได้ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงเพื่อพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง

ดังที่เราจะเห็นและได้ยินข่าวมาอยู่เรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดหากต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

NYMAG แนะนำว่า จะต้องมีการคิดโมเดลธุรกิจของซิลิคอน วัลเลย์ ขึ้นมาใหม่ ให้บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายหาช่องทางการทำรายได้ช่องทางอื่นๆ ที่ใหม่และแตกต่าง แทนที่จะมุ่งขายโฆษณาอย่างเดียวเหมือนทุกวันนี้ และหนึ่งในโมเดลที่ว่าก็คือ การให้แพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กเก็บเงินค่าบริการนั่นเอง ซึ่งไม่ใช่ว่าจะห่างไกลความเป็นจริงเลยเพราะในระหว่างการสอบสวนครั้งที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้เปิดทางให้กับเฟซบุ๊กเวอร์ชันจ่ายเงินแล้ว

เมื่อเห็นได้ชัดว่าโมเดลการทำธุรกิจจะถูกผลักไปทางนั้นอย่างค่อนข้างแน่ชัด

ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของผู้ใช้งานอย่างเราที่ต้องมาถามตัวเองว่า เราพร้อมจะจ่ายเงินค่าใช้บริการแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก เพื่อแลกมาซึ่งพื้นที่ที่สะอาด ปลอดภัย ไร้โฆษณา

หรือจะยังอยู่กับบริการฟรีที่เราไม่มีอำนาจที่จะเลือกปรับแต่งอะไรได้ต่อไป

และเมื่อโซเชียลมีเดียถูกออกแบบใหม่ให้เป็นสังคมอุดมคติไร้ดราม่ามากระชากอารมณ์เรียกยอดไลค์ยอดแชร์แล้ว เรายังจะติดสมาร์ตโฟนหนักหน่วงเหมือนทุกวันนี้หรือไม่

รีบคิดนะคะ ดูท่าทางการตัดสินใจนี้จะอยู่ข้างหน้าไม่ไกลเลยค่ะ