คุยกับทูต ‘พันเอกราซา อุล ฮัซเนน’ ทหารกับการทูตเชิงวัฒนธรรมของปากีสถาน

คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ทหารกับการทูตเชิงวัฒนธรรมของปากีสถาน (1)

เมื่อไม่นานมานี้ พันเอกไซยิด มูฮัมหมัด ราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Syed Muhammad Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย ได้นำเสนอถึงการดำเนินงานทางการทูตในด้านต่างๆ โดยฝ่ายทหารของกองทัพปากีสถาน

และในครั้งนี้จะมาเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติมนอกเหนือจากเรื่องราวทางการทหาร

เริ่มจากด้านการท่องเที่ยวของประเทศปากีสถาน

ปัจจุบันปากีสถานได้เริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกระตุ้นความสนใจต่อแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีทางพุทธศาสนาในปากีสถาน

เพราะปากีสถานเคยมีความเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ทางศิลปวัฒนธรรม

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดินทางไปปากีสถานเพิ่มขึ้น เพื่อให้เห็นกับตาว่าพุทธศาสนาในปากีสถานนั้นยิ่งใหญ่และเคยรุ่งเรืองเพียงใด นอกเหนือจากธรรมชาติอันงดงามปานวิมานของปากีสถาน

ถึงแม้ว่าอดีตบนรอยทางแห่งอารยธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาจะลบเลือนจากความทรงจำ โดยเหตุที่ประชากรปากีสถานส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และกลายเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์มากเป็นอันดับที่สองของโลกแล้วก็ตาม

เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ปากีสถานจึงได้ออกนโยบายใหม่ในการออกวีซ่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่ม (Group Tour) โดยเฉพาะที่มาจากประเทศไทย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก กรีซ เบลเยียม ออสเตรีย ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เกาหลี โปรตุเกส สิงคโปร์ และลักเซมเบิร์ก

“นักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มสามารถขอรับวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงปากีสถาน โดยผ่านช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) โดยได้รับการยกเว้นวีซ่าได้ไม่เกิน 30 วัน แต่ก่อนที่จะได้รับวีซ่า นักท่องเที่ยวจะต้องจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องและลงนามในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน”

พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ชี้แจง

ปากีสถาน คือประเทศที่คอยดูแลรักษาอารยธรรมคันธาระของพุทธศาสนา รวมถึงสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาอีกหลายๆ แห่งที่ตั้งอยู่ในดินแดนนี้ แคว้นคันธาระอยู่ในหุบเขาเปชวาร์ (Peshawar) อารยธรรมคันธาระมีบทบาทสำคัญในศาสนาพุทธนิกายมหายาน

แคว้นนี้จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา ด้วยเคยเป็นเส้นทางการค้า จึงทำให้ศาสนาพุทธในแคว้นคันธาระได้เผยแผ่ไปทั่วเอเชียตะวันออก

“พระมารานานันทะ (Monk Marananatha) เป็นพระภิกษุรูปแรกที่นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ยังประเทศเกาหลีในปี ค.ศ.38”

“พุทธสถานตั๊กใบหรือตั๊กอิบาฮิ (Takht-I-Bahi) ได้รับการยกย่องโดย UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ค.ศ.1980 ให้เป็นหนึ่งในพุทธศาสนสถานในอารยธรรมคันธาระที่ใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณหุบเขาสวัต (Swat Valley)”

“หุบเขาสวัต เป็นหุบเขาขนาดใหญ่อันเป็นที่รู้จักกันดีในนามดินแดนแห่งพระธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ได้ชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์งดงามดั่งสวิตเซอร์แลนด์ และอากาศเย็นสบาย มีแม่น้ำไหลผ่านหุบเขา สถานที่นี้เต็มไปด้วยวัด สถูป พุทธสถาน และเป็นแหล่งก่อเกิดพุทธมหายานในปากีสถาน มีพระพุทธรูปน้อยใหญ่กว่า 400 องค์ประดิษฐานโดยรอบบริเวณหุบเขา” ผู้ช่วยทูตทหารกล่าว

“เป็นความภาคภูมิใจของปากีสถานซึ่งได้ดูแลรักษาอารยธรรมคันธาระ ประกอบด้วยเมืองสำคัญที่มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากอันมีค่ายิ่งสำหรับชาวพุทธ ได้แก่ ตักศิลา เปชวาร์ หุบเขาสวัต และตั๊กใบหรือตั๊กอิบาฮิ สถานที่ดังกล่าวมีหลักฐานสำคัญที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในกาลนั้น โดยเฉพาะที่ตักศิลา ผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนาทั้งหลายจะรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี”

ดินแดนที่เป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งแคว้นคันธาระ ศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในอดีตก่อนที่มุสลิมจะเข้ามามีอิทธิพลครอบครองดินแดนแถบนี้

และยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมายหลงเหลืออยู่เพื่อแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาในอดีต

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ พุทธศิลป์แห่งแคว้นคันธาระนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของการปั้นพระพุทธรูปให้เป็นรูปเคารพแทนพระพุทธองค์แห่งแรกของโลก

และศิลปกรรมดังกล่าวได้เป็นต้นแบบของพระพุทธรูปยุคต่างๆ ในเวลาต่อมา

ตักศิลา เป็นชื่อนครหลวงของแคว้นคันธาระ อยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัด นครหลวงของปากีสถานในปัจจุบันไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นนครศูนย์กลางการศึกษาด้านศิลปะและวิทยาการแขนงต่างๆ ทั้งของพราหมณ์และของชาวพุทธมาก่อน แต่คงสร้างขึ้นหลังสมัยพุทธกาล เพราะไม่ปรากฏชื่อตักศิลาในพระไตรปิฎก

 

ส่วนในอรรถกถามักกล่าวอยู่บ่อยๆ ว่า ราชกุมาร บุตรพราหมณ์ และบุตรของชนชั้นสูงจำนวนมากสำเร็จการศึกษาจากนครแห่งนี้ ในวรรณคดีไทยก็มักกล่าวว่า เจ้าชายทั้งหลายไปศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ ในสำนักตักศิลา โดยมีสถานที่ทางโบราณคดีประมาณ 50 แห่งในและรอบเมืองตักศิลา

ภาษาไทยปัจจุบันจึงมักใช้คำว่า ตักศิลา ในความหมายว่า ศูนย์กลางการศึกษาด้านวิทยาการหรือด้านศิลปะ เช่น มหาสารคามเป็นตักศิลาแห่งที่ราบสูงอีสาน และมีผู้เสนอแผนให้กรุงเทพฯ เป็นตักศิลาแฟชั่นของโลก

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้ ปากีสถานมีแต่เรื่องราวความไม่สงบสุข เต็มไปด้วยภาพของผู้อพยพชาวอัฟกันจากประเทศอัฟกานิสสถาน เพื่อนบ้านเรือนเคียงที่หนีตายมาแออัดกันอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนติดกับปากีสถาน โดยเฉพาะที่เมืองเปชาวาร์ ชาวอัฟกันเหล่านั้นหนีการรุกรานของโซเวียตมาหลบซ่อนอยู่ตามแนวพรมแดนปากีสถานนานหลายสิบปีแล้ว จนกระทั่งโซเวียตล่มสลายก็ยังปักหลักต่อ เมื่อรัฐบาลสหรัฐเข้ามาใช้ปากีสถานเป็นฐานที่มั่นในการบุกไปถล่มรัฐบาลทาลิบันของอัฟกานิสถานจนสำเร็จ สันติสุขคล้ายจะกลับคืนสู่แผ่นดินแถบนี้อีกครั้งในระยะสั้นๆ

ปัจจุบัน รัฐบาลกลางปากีสถานในกรุงอิสลามาบัด ได้ทบทวนนโยบายด้านผู้อพยพ และพยายามดำเนินหลายมาตรการ เพื่อกดดันให้ผู้อพยพชาวอัฟกันเดินทางกลับประเทศอัฟกานิสถานโดยเหตุผลที่ว่า ปากีสถานได้ทำหน้าที่เป็นบ้านให้กับผู้อพยพเหล่านี้มานานกว่า 35 ปี และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้อพยพชาวอัฟกันจะต้องเดินทางกลับไปยังอัฟกานิสถานบ้านเกิดเมืองนอนของตน และตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ค่ายผู้อพยพชาวอัฟกันในปากีสถานถูกมองว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดสุดโต่งและเป็นแดนสวรรค์สำหรับผู้ก่อการร้าย

ในประวัติศาสตร์โลก ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่นอกจากจะใช้อำนาจทางทหาร ทางเศรษฐกิจและใช้อำนาจตามอำเภอใจแล้ว ก็มักจะใช้ Soft power เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศด้วย เรียกว่าถ้าใช้กำลังไม่ได้ ก็ใช้วิธีการอื่นที่ละมุมละม่อมกว่า Soft power จึงตรงกันข้ามกับ Hard power

วัฒนธรรมคืออาวุธสำคัญหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถือเป็น Soft Power ปากีสถานมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่และมีคุณค่า จึงมี Soft power สูงมากประเทศหนึ่ง ในช่วงหลังนอกจากจะพัฒนากองทัพ เปิดประเทศ เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศที่เป็นมิตรกับทุกประเทศมากขึ้นแล้ว ปากีสถานเลือกใช้ขุมทรัพย์ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต นั่นคือวัฒนธรรม และพยายามฟื้นฟู Soft Power นี้

เช่น การฟื้นฟูพุทธโบราณสถานในรัฐต่างๆ เพื่อดึงดูดชาวพุทธจากทั่วโลกให้ไปเยือนปากีสถาน