คนมองหนัง : อวสาน “บุพเพสันนิวาส” “ประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำ ประวัติศาสตร์จะไม่เปลี่ยน”

คนมองหนัง

ดังได้เคยอภิปรายไปแล้วในพื้นที่คอลัมน์นี้ว่า จุดเด่น ณ ช่วงแรกๆ ซึ่งปรากฏขึ้นอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจในละคร “บุพเพสันนิวาส” คือ การปะทะชนกันของความเชื่อ/ค่านิยม/วิถีชีวิตสองแบบ ระหว่าง “อดีต” กับ “ปัจจุบัน”

อาจกล่าวด้วยภาษาสมัยใหม่ได้ว่า “อดีต” หรืออยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นถูก “disrupt” อย่างหนัก (แต่ไม่ถึงกับถูกทำลาย) ด้วยอาการผิดที่ผิดทาง ผิดฝาผิดตัวต่างๆ นานา ซึ่งก่อขึ้นโดย “เกศสุรางค์” ในร่าง “การะเกด”

นี่ไม่ได้หมายความว่าละครเรตติ้งสูงสุดในยุคทีวีดิจิตอลจากช่อง 3 จะเดินทางไปสู่ภาวะ “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน” เหมือนดั่งเนื้อหาอันคมคายในเพลง “ประวัติศาสตร์” ของ “คริสติน่า อากีล่าร์”

แต่อย่างน้อยที่สุด “ประวัติศาสตร์” ในบุพเพสันนิวาสช่วงต้น ก็ค่อยๆ ถูกลากดึงลงจากหิ้ง กระทั่งมิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง หากสามารถถูกรบกวนป่วนปั่นได้แบบขำๆ

แม้ว่าสถานการณ์หลักๆ ผู้ชนะ และผู้แพ้ ในหน้าประวัติศาสตร์ จะยังคงสภาพเดิม ไม่แปรผันก็ตาม

อย่างไรก็ดี ลักษณะเด่นข้อนี้กลับค่อยๆ แผ่วหายไป เมื่อละครดำเนินมาถึงช่วงท้าย

เพราะการะเกด/เกศสุรางค์เริ่มตระหนักและพยายามโฆษณาชี้ชวนให้ผู้ชมเชื่อตามเธอว่า โลกในอดีตที่ตัวเองพลัดหลงเข้าไปอยู่นั้น กำลังเคลื่อนหน้า/คลี่คลายไปตามเนื้อหาและโครงสร้างเรื่องราวของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ชุดหนึ่งที่เธอเคยอ่านพบ (ขณะมีชีวิตในโลกปัจจุบัน) ทุกกระเบียดนิ้ว!

“ประวัติศาสตร์” จึงยังเป็น “ประวัติศาสตร์” เสมอ และทุกข้อสงสัยหรือข้อถกเถียงในบุพเพสันนิวาส ล้วนยุติลงทันที เมื่อการะเกด/เกศสุรางค์อ้างอิงถึง “ประวัติศาสตร์” อันเป็นสัจจะสูงสุด ยากต้านทานประหนึ่งมนต์กฤษณะกาลี

พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ โกษาปาน ไล่มาจนถึงอีผิน-อีแย้ม ต่างยอมรับ เชื่อฟัง และพร้อมเจริญรอยตาม “มนต์ประวัติศาสตร์” ที่การะเกด/เกศสุรางค์เอื้อนเอ่ยเจื้อยแจ้วครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่การยอมจำนนต่ออำนาจของ “ประวัติศาสตร์” ในบุพเพสันนิวาส ก็นำไปสู่ปัญหาสองประการ

ข้อแรก เหมือนการะเกด/เกศสุรางค์จะเชื่อมั่นยึดมั่นว่า “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ชุดใดชุดหนึ่งหรือบางชุด คือ “ประวัติศาสตร์” สูงสุดอันเป็นสัจจะ

ทุกสิ่งทุกอย่างต้องดำเนินไปตามโครงสร้างของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ชุดนั้น อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงขัดแย้งเป็นอื่นได้

แน่นอนว่าการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ การเข้ามาของฝรั่งเศสและขุนนางชำนัญการต่างชาติในราชสำนักอยุธยา ตลอดจนชัยชนะของพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ คือ “ความจริงทางประวัติศาสตร์” ที่มิอาจปฏิเสธหรือพลิกหัวกลับหาง

และตัวละครจาก “ปัจจุบัน/อนาคต” เช่น เกศสุรางค์ ก็ไม่มีศักยภาพมากพอจะไปเปลี่ยนแปลงภาพรวมขนาดใหญ่เช่นนั้นได้

นี่เป็นกฎกติการ่วมที่หนัง/ละคร/นิยายย้อนอดีตเกือบทั้งหมดต่างยึดถือ (อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ตัวละครในหนังบางเรื่องของ “เควนติน แทแรนติโน”)

ทว่าข้อเท็จจริงปลีกย่อยอื่นๆ ที่ลงลึกไปถึงความรู้สึกนึกคิดของบรรดาตัวละครสำคัญ ผู้เป็นปัจเจกบุคคล ในหน้าประวัติศาสตร์นั้น ล้วนขึ้นอยู่กับการ “เขียน/ตีความ” ตามทัศนะหรือจุดยืนที่แตกต่างกันไปของผู้สร้างสรรค์ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” แต่ละชุด

ปฏิกิริยาตอบสนองที่การะเกด/เกศสุรางค์ จะมีต่อความคิด-จุดยืน-การกระทำของบุคคลเหล่านั้น ภายหลังเธอได้มีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาจริงๆ จึงสามารถพลิก/ดิ้น/ไหลเลื่อนจาก “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ที่เธอเคยอ่านหรือเชื่อถือ

พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์อาจเป็นผู้ชนะ แต่ความชอบธรรมทางการเมืองของพวกเขาอาจมิใช่ “ความจริงสูงสุด” และการกระทำของพวกเขาอาจไม่ได้ “ถูกต้อง” ไปเสียทุกเรื่อง

ส่วนการะเกด/เกศสุรางค์ก็ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางย้อนอดีตกลับไปมอบคำอธิบายใดๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมทุกประการให้แก่พระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์

ในทางกลับกัน ถ้าการะเกด/เกศสุรางค์อยาก “เล่นการเมือง” จริงๆ ก็น่าตั้งคำถามว่าทำไมเธอจึงไม่ลองย้อนไปอธิบายกระบวนการตัดสินใจหรือแนวทางการต่อสู้ของฝั่งผู้แพ้ เช่น สมเด็จพระนารายณ์ ฟอลคอน หรือพระปีย์ ฯลฯ ดูบ้าง

ว่าการกระทำและทางเลือกของพวกเขาก่อนจะปราชัย มีความสมเหตุสมผลอย่างไร หรือมีความจำเป็นในบริบทแบบไหน

ข้อสอง แม้การะเกด/เกศสุรางค์จะยึดถือเชื่อฟัง “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ฉบับใดฉบับหนึ่งอย่างแน่วแน่ นั่นก็ยังไม่ใช่ “จุดผิดพลาดบกพร่อง” ที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์มากนัก

เช่น เธออาจเชื่อว่าพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์มีความชอบธรรมในการก่อรัฐประหาร เธอจึงเชียร์พวกเขา เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จ เธอย่อมรู้สึกดีใจและพลอยโล่งอกตามไปด้วย

แต่สิ่งที่หนักหนาสาหัสกว่า ซึ่งค่อยๆ บังเกิดขึ้นในช่วงท้ายของละคร และเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งในตอนจบ ก็คือ การะเกด/เกศสุรางค์ ดันนำ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ที่เธอเชื่อว่าถูกต้องทุกรายละเอียด มารับใช้/สนับสนุนการก่อรัฐประหารของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์

จนอาจกล่าวได้ว่ารัฐประหารในละคร/นิยายเรื่องนี้ จะแทบไม่มีความชอบธรรมใดๆ เลย (หรือกระทั่งอาจจะล้มเหลว) หากปราศจากการยืนกรานถึงความถูกต้องเหมาะสมและความสุกงอมตามวงล้อ “ประวัติศาสตร์” จากปากการะเกด/เกศสุรางค์

แม้จะเริ่มต้นเรื่องราวด้วยการล้อเลียน “ประวัติศาสตร์” ผ่านกระบวนท่า “เทียบเคียง/หยอกเย้า” ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน/อนาคต โดยยังไม่ถึงขั้น “แทรกแซง” อดีต

ทว่าตัวละครนำอย่างการะเกด/เกศสุรางค์ก็ค่อยๆ ถลำลึก จากบทบาทผู้ดู/ผู้สร้างเสียงหัวเราะครื้นเครงอยู่ห่างๆ ในวงนอก ไปสู่การเป็นผู้มีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองหรือผู้ชี้แนะยุทธศาสตร์ระดับวงใน

เธอกลายเป็นผู้เข้าไป “แทรกแซง” อดีต ด้วยความหวัง/ความทึกทักเข้าใจที่ว่าตนเอง (ในฐานะผู้รู้ “ประวัติศาสตร์”) ควรช่วยผลักดันให้ “ประวัติศาสตร์” ดำเนินไปตามครรลองของมัน (หมายถึง “ครรลองของประวัติศาสตร์นิพนธ์ชุดหนึ่ง”) อย่างเป๊ะๆ หมดจดงดงาม และปราศจากข้อสงสัยคลางแคลงใจใดๆ

พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ในบุพเพสันนิวาสไม่ควรเป็นเพียงผู้ชนะ แต่ต้องชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สมเหตุสมผล ใสสะอาด และล่วงรู้ความลับของศัตรู คือ ฟอลคอน

ผ่านความช่วยเหลือของ “ศาสดาพยากรณ์” ผู้หยั่งรู้อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ซึ่งไม่ใช่พระเจ้าเบื้องบนที่ไหน หากเป็นหญิงสาวชนชั้นกลางเนิร์ดๆ คนหนึ่งที่หลุดมาจากอีกยุคสมัย

การะเกด/เกศสุรางค์มิได้ “แทรกแซง” อดีต เพื่อทำให้ (มุมมองต่อ) “ประวัติศาสตร์” เปลี่ยนแปลงไป แต่เธอได้ “แทรกแซง” อดีต เพื่อทำให้ “ประวัติศาสตร์” จำหลักอยู่ในรูปรอยของ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์บางฉบับ” อย่างฝังลึกและหนักแน่นยิ่งขึ้น

บางทีบทเพลงที่เหมาะสมคู่ควรกับการะเกด/เกศสุรางค์ และละครเรื่องบุพเพสันนิวาส อาจต้องร้องว่า “ประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำ ประวัติศาสตร์จะไม่เปลี่ยน”