จากอยู่…ยาว มาสู่นายกฯ คนนอก ก็ยังไม่ไหว เป็นนายกฯ คนในจะง่ายกว่า

มุกดา สุวรรณชาติ

ยิ่งอยู่ยาว ยิ่งปัญหาเยอะ

ปัจจุบัน คสช. กุมอำนาจรัฐอยู่แล้ว ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง คสช. ก็จะอยู่ยาว มีอำนาจที่เหนือทุกอำนาจสามารถออกคำสั่ง เพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือสั่งการได้ทุกสถานการณ์ เหนือกว่าทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

การมีอำนาจแบบนี้จึงเป็นอำนาจที่เด็ดขาดกว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

เพราะไม่ต้องถูกตรวจสอบ คัดค้าน สามารถสั่งให้ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว

แต่ข้อเสียก็คือจะมีข้อผิดพลาดมากกว่า เกิดช่องโหว่ในการทุจริตมากกว่า

เราจึงเห็นการโกงรัฐ โกงประชาชน โกงนักเรียน โกงคนไร้ที่พึ่งทั้ง ชาวบ้าน ชาวเขา โกงวัคซีนหมา ประชาชนไม่เชื่อว่าจะปราบทุจริตได้แล้ว

คนจน และเกษตรกร ยากจนลงทุกวัน ในขณะที่บริษัทที่รวยมหาศาล ก็ขอเลื่อนการจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นโทรศัพท์ ให้รัฐออกไปเป็นงวด 3-5 ปี

พ่อค้าที่เสียภาษีก็บอกว่า ถ้าบริษัทยักษ์ทำได้ พวกเขาก็ขอเลื่อนการเสียภาษีออกไปบ้าง ยินดีจ่ายดอกเบี้ยให้รัฐร้อยละ 1.5 ต่อปีเหมือนบริษัทยักษ์

ชาวบ้านที่ใช้โทรศัพท์ก็บอกว่าดีมาก พวกเราขอเลื่อนการจ่ายค่าโทรศัพท์ไปซัก 3 ปี ยินดีจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปีเช่นกัน แบบนี้จึงจะยุติธรรม

เรื่องการก่อสร้างหมู่บ้านป่าแหว่ง ชาวบ้านบอกว่า ไม่ต้องทุบทิ้งก็ได้ แต่ชาวบ้านขอไปสร้างแบบนั้นอยู่บ้าง ไม่ต้องเอางบฯ หลวงจะสร้างเอง และยินดีจ่ายค่าเช่า ตามเงื่อนไขที่หมู่บ้านป่าแหว่งได้รับ แบบนี้ถือว่าเท่าเทียมกัน

 

จำเป็นต้องเลือกตั้งแล้ว

แผนที่เตรียมไว้ต้องใช้งาน

สถานการณ์ปัจจุบันแรงกดดันทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศบีบบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งจึงจะเป็นที่ยอมรับว่ารัฐบาลและสภาผ่านการยอมรับของคนทุกฝ่าย

การเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นหลายครั้งแม้เลื่อนแล้วเลื่อนอีก สุดท้ายก็ต้องเลือกจริงๆ แต่จะเป็นวันไหนยังไม่แน่ชัด ล่าสุดก็คือเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เมื่ออยากจะมีอำนาจและเป็นนายกรัฐมนตรีให้คนยอมรับ ทั้งในและต่างประเทศก็ต้องเป็นนายกฯ ที่ผ่านสนามเลือกตั้ง

แต่เมื่อไม่เคยอยู่ในระบบพรรคการเมืองที่ลงไปแข่งขันในการเลือกตั้งก็ไม่มีฐานคะแนนเสียง ถ้าลงไปโดยไม่มีแผนการ โอกาสแพ้และไม่ได้คุมอำนาจรัฐจะสูงมาก จึงต้องมีแผนการที่ชิงความได้เปรียบ

เริ่มจากการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปิดช่องให้มีตัวช่วยผ่านระบบการเลือกตั้ง

ขั้นต้น ต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบคือมีการตั้ง ส.ว. 250 คนให้มีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ เพื่อไม่ให้น่าเกลียดก็เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าใน 5 ปีแรกไม่ให้ ส.ส. ที่ประชาชนเลือกตั้งมา เป็นผู้เลือกนายกฯ ฝ่ายเดียว ต้องให้ ส.ว. มาร่วมด้วยแบบนี้ก็เท่ากับมีเสียงสนับสนุน ตุนไว้จำนวนมากกว่าคนอื่นแล้ว

ขั้นสอง ต้องมีเทคนิคที่ช่วยเพิ่มคะแนนเสียง คือ เปลี่ยนวิธีเลือกตั้งและคิดนับคะแนน จากที่เมื่อก่อนใช้บัตร 2 ใบ วิธีใหม่เลือก ส.ส. โดยบัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่มีการเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีก 1 ใบจะมีผลให้การหาเสียงตามนโยบายลดลง เน้นตัวบุคคลมากขึ้น

การเลือกแบบเดิมพรรคใหม่จะแพ้เยอะ แต่ในระบบจัดสรรปันส่วนผสมทำให้มีการจัดสรรปันส่วนคะแนนกันจริงๆ คือคะแนนของผู้แพ้ในทุกเขตสามารถนำไปนับรวมทั้งประเทศแล้วมาคิดเป็นสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ทั้งหมด แต่พรรคที่ได้ ส.ส.เขตไปแล้ว จะถูกนำไปหักออก

ดังนั้น แม้พรรคใหม่แพ้พรรคเก่าได้ที่ 2 ที่ 3 แต่มีคะแนนมากพอสมควรถ้ารวมกันได้หลายล้านก็จะได้ ส.ส. ไม่น้อย เช่น ถ้าส่งสมัคร 350 เขต ได้คะแนนเฉลี่ย 8,000 คะแนนต่อเขตก็จะมีคะแนนรวม 2,800,000 คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน มาจากคะแนนรวม 72,000 คะแนน

ถ้าทำสำเร็จจะได้บัญชีรายชื่อ 39 คน

 

ต้องมีพรรคการเมืองหนุน

รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกได้ร่างออกมาเรียบร้อยแล้วสามารถสร้างโอกาสได้ตามนั้นทำให้มีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย การเป็นนายกฯ ต้องมีพรรคการเมืองหนุน

ดังนั้น ต้องสร้างพรรคของตัวเอง และสร้างแนวร่วมกับพรรคใหม่ๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายกันหลายพรรคโดยต้องประสานเขตพื้นที่ในการหาเสียงและเก็บคะแนนเพื่อจะได้ไม่ซ้ำซ้อนกันและมีมากจนเกินไปการมีพรรคการเมืองสนับสนุนในการเลือกตั้งพร้อมกัน 40-50 พรรค ไม่ใช่เรื่องดี เพราะค่าใช้จ่ายสูง ฐานคะแนนทับซ้อน และอาจทำให้แตกสามัคคีกันได้

ถ้าจะแบ่งแยกกลุ่มพรรคการเมืองออกเป็นกลุ่มใหญ่ในการแข่งขันเช่นนี้ก็จะได้เป็น 4 กลุ่มหลัก

กลุ่มพรรคเพื่อไทยและพรรคที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบสากล ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่สนับสนุนพรรคที่มาจาก คสช. แต่ในกลุ่มนี้ก็ยังต้องแย่งคะแนนกันเอง

กลุ่มประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งมีฐานเสียงที่แน่นอนและเก่าแก่ยังมีโอกาสเข้ามาชิงการเป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลก็ได้

กลุ่มพรรคเล็กดั้งเดิมที่เคยอยู่ในวงการเมืองเช่นชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย กลุ่มนี้สามารถดึงเข้ามาเป็นพวกได้พร้อมที่จะเข้าร่วมรัฐบาลและด้วยความที่เป็นพรรคไม่มีคะแนนสูงคงไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง

กลุ่มที่จะหนุน คสช. กลุ่มนี้แบ่งได้เป็นหลายพวก เช่น

พรรคที่มาจากคนที่มีตำแหน่งในสภา หรือองค์กรต่างๆ ที่ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง พวกนี้จะประกาศชัดเจนว่าจะหนุนนายกฯ ที่มาจาก คสช.

พรรคที่เป็นการจัดตั้งจาก คสช. โดยตรง มีการดำเนินการโดยคนใกล้ชิด และคนในวงการเมือง

พรรคที่มาจากกลุ่มที่เป็นนักการเมืองปัจจุบันและออกมาจากพรรคใหญ่ซึ่งสามารถจะชนะเสียงในเขตเลือกตั้งได้ในหลายท้องถิ่น เช่น กลุ่มจังหวัดชลบุรี สุโขทัย แม้แต่นครปฐมก็คงต้องแยกมาเพราะยังมีงานสัมปทานที่ต้องทำ

พรรคที่มาจากกลุ่มอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม เช่น กลุ่ม กปปส. ถึงแม้สุเทพ เทือกสุบรรณ จะไม่อยู่ข้างหน้าแต่ก็อาจจะอยู่ข้างหลัง ล่าสุดพยายามจะผลักดันแกนนำกลุ่มที่เคลื่อนไหวสมัยเป็น กปปส. มาตั้งพรรคและดึงคนเก่าสมัยพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วย โดยจะแตะต้องผู้สมัครจาก ปชป. น้อยที่สุด

แต่ในแง่คะแนนเสียง ต้องดึงคะแนนจาก ปชป. แน่นอน

 

เป็นนายกฯ คนนอกคงไม่ไหว
เป็นคนในง่ายกว่าเยอะ

แผนส่งนายกฯ มาจากคนนอกบัญชีรายชื่อ น่าจะต้องล้มไป

แผนเดิมอยากจะเรียนแบบนายกฯ เปรม คือเป็นนายกฯ ที่ได้รับเชิญ เพราะความขัดแย้งของพรรคการเมืองทำให้ตั้งนายกฯ ไม่ได้ คนนอกก็เลยจำเป็นต้องมาช่วย

แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไปถึงปี 2560 ก็พบว่าการจะเป็นนายกฯ คนนอกต้องมีเสียงสนับสนุนขั้นต้นถึง 500 เสียง คนไม่มีบารมีพอเป็นเรื่องยากที่จะทำอย่างนั้นได้

มีแต่สมัครผ่านพรรคการเมือง ใช้แค่ 376 เสียงก็ผ่านด่านแรก

จึงเหลือหนทางเดียวคือต้องลงสมัครผ่านบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองประกาศต่อประชาชนในขณะที่พรรคการเมืองเหล่านั้นหาเสียงว่าจะส่งใครลงนายกฯ ซึ่ง คสช. อาจไม่จำเป็นต้องส่งคนเดียว แต่คนหนึ่งคนสามารถสมัครอยู่ในบัญชีพรรคการเมืองได้พรรคเดียว

ข้อเสียของการส่งชื่อลงสมัครเป็นนายกฯ ตั้งแต่ตอนหาเสียงคือจะถูกโจมตีเข้าใส่จุดอ่อนต่างๆ แต่ก็มีผู้ท้วงว่าถึงแม้ไม่ลงสมัครนายกฯ คนใหม่ก็ต้องถูกด่าอยู่แล้ว ส่วนข้อดีก็คือได้ปรากฏตัวชัดเจนไปเลยว่าใครจะเป็นนายกฯ และสามารถรวมความนิยมได้ว่าถ้าอยากได้คนนี้เป็นนายกฯ ก็ต้องช่วยกันเลือก พรรคต่างๆ ที่สนับสนุนนายกฯ จาก คสช. ไม่ว่าชื่อนั้นจะเป็นนักธุรกิจ เป็นทหารหรือข้าราชการ

สำหรับประชาชนก็ชัดเจนดีว่าถ้าเลือกที่สนับสนุนคนนี้ คสช. ก็จะอยู่ในอำนาจต่อ ด้วยชอบความสงบหรือผลงานอื่นใดก็ตาม แต่ถ้าไม่ชอบ จะเพราะด้วยปัญหาเศรษฐกิจ หรือการเมือง ก็ต้องเลือกพรรคอื่นที่ไม่สนับสนุน คสช. พอถึงช่วงใกล้เลือกตั้ง แนวทางแบบนี้จะปรากฏชัดเจนขึ้นทุกพรรค

 

การเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง
คือ ดึงกำลังตั้งพรรคใหม่

กําหนดให้ยืนยันสมาชิกใน 30 วัน ถ้าไม่ยืนยันหรือไม่จ่ายค่าสมาชิก ถือว่าออกไปแล้ว

นี่ก็คือการกำหนดช่วงเวลา ย้ายค่าย เปลี่ยนพรรค ของ ส.ส. และหัวคะแนน

เพราะคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตาม รธน. 2560 มาตรา 101 ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

นี่คือเหตุผลที่ต้องย้ายเข้าบ้านใหม่ให้ทัน

คนตั้งพรรคใหม่ จะหา ส.ส. มาจากไหน ก็ต้องหาจาก ส.ส. เก่าของทุกพรรค หรือจากนักการเมืองท้องถิ่น ดังนั้น นักการเมืองจึงไม่เป็นที่น่ารังเกียจอีกแล้ว การตระเวนออกไปติดต่อหัวหน้าสายตามภาคต่างๆ จึงจะต้องรีบทำ แต่ ส.ส.เก่าของทุกพรรคล้วนแต่มีประสบการณ์ พวกที่อุดมการณ์หลากหลายเปลี่ยนได้ตลอดก็เขี้ยวลากดิน ดังนั้น จึงต้องต่อรองกันหลายรอบ ต้องใช้เวลา ถ้าจะทำพรรคขนาดเล็ก ใครจะใหญ่? จะต้องใช้เงินเท่าไร?

แต่ ส.ส.เก่าก็ยังไม่ขยับง่าย ถ้าย้ายออกปั๊บ ก็จะมีคนใหม่เข้าเสียบทันที โดยเฉพาะพรรคใหญ่ เกมนี้จึงไม่ง่าย ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก่อนวันเลือกตั้ง เกมอาจพลิกได้

ถ้าต้องการ ส.ส.เก่าที่มีฐานคะแนนมาก จำนวนเป็นร้อยๆ คนเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเขตบ้าง และถ้าแพ้แต่ได้คะแนนพอควร มารวมเพื่อได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ไม่ใช่จะหาง่าย ถึงสิ้นเดือนเมษายน ทุกอย่างจะชัดเจน

ความได้เปรียบของ คสช.มีอยู่ตลอด
ตั้งแต่วันนี้ จนถึงเลือกตั้ง

บทเฉพาะกาล ให้อำนาจที่ได้เปรียบไว้แล้ว

มาตรา 263 ให้ สนช. ยังคงทําหน้าที่รัฐสภา จนถึงวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 26 ให้ ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้จนกว่า ครม.ใหม่จากการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่

มาตรา 265 ให้ คสช. ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ใหม่จะเข้ารับหน้าที่

การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพื่อความเหมาะสมจึงทำได้ การรีเซ็ต หรือต่ออายุ องค์กรอิสระก็ทำได้

ดังนั้น รัฐบาลสามารถมีโครงการที่จะลงสู่พื้นที่อีกมากมาย ทั้งลด แลก แจก แถม อย่างบัตรคนจน โครงการไทยนิยม ที่มีเวลาเป็นปี ใช้เงิน ใช้คนของหลวง โครงการสร้างความนิยม ยังจะมีอีกหลายโครงการ

รธน. นี้ไม่มีข้อห้ามเหมือนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะเบิกเงินต้องขออนุญาต กกต.

 

ทุกอย่างดูดีหมดได้เปรียบทุกด้าน
ยกเว้นยังไม่ได้ใจประชาชน

พอประเมินเสียงออกมา รวมพรรคเล็กที่สนับสนุนทั้งหมดน่าจะได้ 120 คน ต่อให้มี ส.ว. หนุนทั้งหมด 250 คน ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เลื่อนเลือกตั้งแล้วคะแนนก็ไม่เพิ่ม เหลือเวลาประมาณ 1 ปี ถ้าไม่มีอุบัติเหตุ

การเลือกตั้งครั้งใหม่จะพิสูจน์ความนิยมของ คสช., จุดยืนของ ปชป. ต่อการสืบทอดอำนาจ, ความนิยมของ กปปส., ความนิยมของเพื่อไทย และการต้อนรับพรรคแนวอุดมการณ์ใหม่ๆ ภายใต้คนคำนวณ ฟ้าลิขิต อิทธิฤทธิ์โซเชียลมีเดีย