คุยกับอดีต ป.ป.ช./อดีตผู้พิพากษา ว่าด้วย วิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรม

รายงานพิเศษ / พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

ในยุคที่กระบวนการยุติธรรมและคนในแวดวงยุติธรรมถูกสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและหลายๆ กรณี (บังเอิญ) มาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

ทำให้ “เกิดความเป็นห่วง” จากสังคมและประชาชนที่ต้องการความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม

มติชนสุดสัปดาห์ จึงชวนสนทนากับ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้ที่มากประสบการณ์ ในเรื่องที่หลายๆ คนไม่สบายใจแม้แต่คนในกระบวนการยุติธรรมเอง

อาจารย์สมลักษณ์ มองปรากฏแรกที่ถูกกล่าวถึงในสังคมอยู่ในขณะนี้คือกรณีการสร้างบ้านพักผู้พิพากษา เชิงดอยสุเทพที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เท่าที่ฟังและติดตามข่าวเรื่องนี้ มีการเริ่มดำเนินการในการขอพื้นที่มาจากทหาร-กรมธนารักษ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งตามข่าวที่ปรากฏ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 และเป็นเวลาที่ยาวนานมาก เราก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเราไม่รู้ในเชิงข้อเท็จจริง

“แต่การปรากฏข่าวเช่นนี้ ด้วยความที่ตัวเองมีความผูกพันแนบแน่นใกล้ชิดและใช้ชีวิตอยู่ในวงการนี้มามากกว่า 36 ปี อยากบอกตามตรงว่า ส่วนตัวรู้สึกอดที่จะห่วงใยไม่ได้และพยายามสอบถามไปทางผู้พิพากษาที่ยังปฏิบัติข้าราชการอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งท่านเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่แล้ว จากการพูดคุยก็ทราบว่าบรรดาผู้พิพากษาก็ไม่สู้จะสบายใจเท่าไหร่เช่นกัน”

“ส่วนตัวอยากจะเรียนสังคมว่า อย่าเพิ่งตำหนิผู้พิพากษาศาลยุติธรรมท่าน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราดูข่าว เห็นภาพถ่ายบ้านพักที่ปรากฏ จะเห็นว่าพื้นที่โดยรอบเป็นป่าหมดเลย จะมีเพียงแค่บริเวณนั้นบริเวณการก่อสร้างบ้านที่โล้น ถ้าจะปฏิเสธว่าไม่ทราบเลยว่าบริเวณดังกล่าวเป็นป่า เป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก”

“เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรที่จะนำที่ดินตรงนี้มาก่อสร้างบ้าน แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้เกิดความชัดเจน ที่ผ่านมาสังคมเรามักมีกระแสการเรียกร้องเรื่องการทวงคืนผืนป่า ดังจะเห็นได้จากหลายกรณีที่มีนักธุรกิจเอกชนไปสร้างบ้านพักตากอากาศในที่ต่างๆ รุกล้ำ ก็ถูกรื้อถอนทั้งสิ้น”

“และพอเรื่องนี้เหตุการณ์นี้มาเกิดขึ้นกับสถาบันตุลาการ แน่นอนว่าต้องเป็นข่าวใหญ่แน่ แต่เรายังไม่สามารถที่จะกล่าวหาหรือโทษใครได้”

“แน่นอนทุกคนจะตำหนิติเตียนผู้พิพากษา เพราะว่าที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของผู้พิพากษามีแบบแผนความเรียบง่ายมักน้อย”

“ที่ผ่านมา บรรพตุลาการที่เราเห็นจะเป็นภาพของความสมถะ มักน้อย สันโดษ ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และจากประสบการณ์อยากยืนยันว่าทุกวันนี้ยังมีผู้พิพากษาที่ดำรงตนเช่นนี้อยู่ และเป็นส่วนมากของสถาบันตุลาการด้วย ด้วยความที่มักน้อยในไม่สร้างความยุ่งยากหรือเรียกร้องอะไร”

“แต่พอมีเหตุการณ์นี้มันทำให้เกิดความรู้สึกของความขัดแย้งในภาพพจน์ของผู้พิพากษาที่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน มันเป็นภาพที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดความศรัทธาจากประชาชน เป็นอานิสงส์ของผู้พิพากษารุ่นก่อนๆ ที่ทำไว้ แต่กรณีนี้กลับขัดกับภาพที่เคยมีมาทั้งหมด”

ความกังวลใจที่เกรงว่าต่อไปจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ของ “อาจารย์สมลักษณ์” คือ “ถ้าหากมีการฟ้องร้องเป็นคดีความ ใครจะเป็นผู้ตัดสินคดีนี้? “ศาล” ซึ่งเป็นผู้ที่น่าจะดำเนินหน้าที่ศาลและทำให้เกิดความยุติธรรม หากท่านเป็นคู่กรณีเสียเองแล้ว ท่านอาจจะถูกฟ้องหรืออาจจะไปฟ้องคนอื่น จะทำให้มีความยากลำบากมาก ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่คิดอยู่ในใจ”

“ถึงแม้ว่ากรณีนี้จะเป็นการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างที่มีการชี้แจงกัน แต่ต้องไม่ลืมนึกถึง “เรื่องความเหมาะสม” และลักษณะของผู้พิพากษา ที่ดำรงต่อกันมาสืบทอดยาวนานของตุลาการ ไม่อยากให้ประชาชนรีบด่วนตัดสินหรือไปคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เกิดการตั้งคำถามว่าผู้พิพากษาเปลี่ยนแล้วหรือ? ความสมถะเรียบง่ายไม่มีแล้วหรือ? จากที่คุยกับผู้พิพากษาผู้ใหญ่และผู้พิพากษารุ่นเดียวกัน หลายคนไม่สบายใจในเรื่องนี้ แต่ก็ขอยืนยันว่าไม่มีใครนิ่งนอนใจ”

ภาพลักษณ์ข้าราชการ หน่วยงานอื่นๆที่มีการตรวจสอบพบ “ทุจริต”

ในฐานะที่อาจารย์สมลักษณ์เคยเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาเกือบ 4 ปี จะรู้และเห็นมาหมดแล้ว จนกล้ายืนยันได้ว่าทุกวงการทุกสถาบันมีบุคคลทุจริตอยู่ในนั้น หากพิจารณาให้ดีมันจะเกิดจากเมื่อ “มีอำนาจ”

เมื่อคนมีอำนาจมาก หรือคิดว่าไม่มีใครที่จะมาตรวจสอบได้ ประกอบกับมีโอกาสหรือหนทาง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างจะเป็นช่องทางสำคัญให้คนที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจใช้ อีกประการสำคัญคือ “ไม่มีความละอายต่อบาปและมีความละโมบ”

ปัจจัยทั้งหมดนี้ถ้ามีครบแล้วไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในอาชีพไหนก็ทุจริตได้หมด ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะนักการเมืองอย่างที่เขาว่าๆ กัน

อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีคนเรียกว่า “ปราบโกง” ที่พุ่งเป้าไปที่นักการเมือง ส่วนตัวไปพูดที่ไหนก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะนักการเมืองที่ดีก็มี “ความทุจริต” ต้องบอกว่ามีอยู่ในทุกวงการ จากข่าวที่ผ่านๆ มามีทั้ง “โกงเงินคนจน” หรือโกงแม้กระทั่งเรื่องวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ทั้งที่ไม่มีนักการเมือง

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตำรวจ ทหาร หรือแม้กระทั่งในสถาบันตุลาการก็มี แต่ว่ามีน้อยเพราะว่ามีระบบระเบียบการควบคุมและขัดเกลา มีการอบรมจริยธรรมที่เคร่งครัดรัดกุมสูง ถึงไม่ค่อยได้ปรากฏข่าวมาก แต่ก็มี ไม่ใช่ไม่มีเลย

วิธีการป้องกันข้าราชการโกงได้ คือการปิดช่องออกโอกาส หรือไม่ปล่อยให้มีการร่างกฎหมายที่ให้อำนาจคนกลุ่มเดียวหรือคณะเดียวให้สามารถทำอะไรได้โดยไม่มีผู้ตรวจสอบ-ผู้โต้แย้ง

จุดสำคัญคือต้องมีกฎหมายที่รัดกุม เมื่อปิดช่องโอกาสแล้วการป้องกันที่ดี เราจะต้องเริ่มปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เยาว์วัย ใช้กระบวนการขัดเกลาทางสังคม อย่างง่ายๆ เรื่องวินัยจราจรก็ถือเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง แต่เราก็เห็นคนละเลยตลอด

เราต้องปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ คนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและคิดถึงคนอื่นจะไม่ให้ทำผิดกฎหมายและทำให้ใครให้เดือดร้อน

สังคมไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม-องค์กรอิสระ

องค์กรอิสระถูกตั้งมาให้เป็นอิสระอยู่ในกระบวนการยุติธรรม อาจารย์สมลักษณ์ชี้ว่า ท่านต้องให้เขาเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง อย่าให้มีผู้ใช้อำนาจรัฐมากระทำการให้คุณหรือให้โทษจะทำให้เสียระบบหมด

คนที่จะเข้ามาอยู่ในองค์กรนี้ต้องทำหน้าที่อย่างอิสระ

ที่ผ่านมามีคนชอบถามตลอดว่าคนนั้นเป็นคนของคนนี้ กรรมการคนโน้นเป็นคนของคนนั้น ใครจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระแล้ว ต้องตั้งค่าความสัมพันธ์ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เห็นแก่ใครทั้งสิ้น

ตราบใดที่เราคิดว่าคนนั้นคนนี้มีเมตตาต่อเราหรือคืออุปถัมภ์ค้ำชูเรา ถ้ามีกรอบความคิดนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ท่านอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ได้! แล้วประชาชนเขาจะมองออก ว่าการกระทำใดที่เป็นการเอื้อ

ฉะนั้น ต้องตัดให้ขาด ท่านจะพูดเฉยๆ ไม่ได้ ว่าเราไม่ยุ่งเกี่ยวหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คนที่ถูกกล่าวหา ต้องทำการพิสูจน์ตัวเองให้เห็น ด้วยผลงาน และการกระทำ ไม่ใช่การออกปากพูด!

เมื่อสังคมมีความหวาดระแวงเกิดขึ้น ท่านอย่าเพิ่งไปโกรธคนเหล่านั้น ท่านจงหันมาดูตัวเองก่อน ว่ามีจุดไหนที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความชัดเจน จนนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมหรือมีสองมาตรฐานอย่างที่มีคนกล่าวหาไว้หรือไม่

ต้องสำรวจตัวเองว่าท่านมีพฤติกรรมอะไรที่ทำให้เขาเกิดความหวาดระแวงเช่นนี้ ความศรัทธาจะหมดไปทันที เมื่อมีความหวาดระแวง ถึงแม้ท่านจะออกปากว่าไม่มีอะไรก็ตาม

ฉะนั้น ผู้พิพากษา / ป.ป.ช. / คนในสายงานยุติธรรม ต้องใช้หลักเหตุผล ต้องสามารถอธิบายสังคมให้ได้ด้วยเหตุผลว่า จะยกฟ้องสั่งฟ้องหรือตีตกเรื่องใดๆ ไปเพราะอะไร อธิบายด้วยบนพื้นฐานของข้อกฎหมาย

อย่าให้คนในสังคมเกิดการตั้งคำถามว่าคดีเหล่านี้หลุดไปได้อย่างไร?

ที่สำคัญอย่าเอา “ความเกรงกลัว” มายุ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ เพราะเรามีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถ้ากลัว-เกรงใจคนที่มีอำนาจหน้าที่แล้ว ต่อไปนี้ประชาชนที่เขาถูกรังแกเขาจะไม่ยิ่งแย่ไปกว่านี้หรือ

สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอคือ “อย่าขายจิตวิญญาณ!”