วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/Please Stand By : ตะลุยจักรวาล

วิช่วลคัลเจอร์
ประชา สุวีรานนท์

Please Stand By : ตะลุยจักรวาล

เมื่อหลายปีมาแล้ว ในวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษา มีคำถามหนึ่งว่าอวกาศคืออะไร? แน่นอน ผู้ถามคาดว่านักเรียนจะตอบอย่างในตำรา แต่เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนตอบอย่างกล้าหาญว่า มันคือ “แหล่งสำรวจสุดท้ายของมนุษย์”
ข้อความนี้เป็นสโลแกนของ “ตะลุยจักรวาล” หรือสตาร์เทรค (Startrek) หนังทีวีของช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งฝังหัวเด็กทุกคนและได้ยินกันทุกสัปดาห์ แต่ละตอนเริ่มด้วยเสียงทุ้มลึกของกัปตันเคิร์กที่ว่า “อวกาศ แหล่งสำรวจสุดท้ายของมนุษย์ นี่คือปูมการเดินทางของยานเอ็นเตอร์ไพรซ์ ภารกิจห้าปีของยานนี้คือสำรวจโลกใหม่ ค้นหารูปแบบชีวิตใหม่และอารยธรรมใหม่ ท่องไปยังที่ซึ่งไม่มีมนุษย์คนไหนเคยไปมาก่อน”
โชคดีที่ครูวิทยาศาสตร์พอจะเข้าใจวัฒนธรรมป๊อปจึงไม่ถือโทษ และบอกเพื่อนของผู้เขียนคนนั้นเพียงว่าตอบไม่ถูก
ที่สำคัญ นี่เป็นตัวอย่างที่บอกว่าในยุคนั้น เด็กหลายคนชอบดูสตาร์เทรค หนังที่สอนว่าการจงรักภักดีกับภารกิจ และการทำงานร่วมกันของลูกเรือคนอื่นๆ เช่น สป็อก แม็กคอย และสก็อตตี้ จะทำให้ภารกิจดำเนินไปได้
พูดอีกอย่าง ตั้งแต่เด็ก เรารู้กันว่า ยานเอ็นเตอร์ไพรซ์หมายถึงสหประชาชาติ หรือระบบโลกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นประมุข คลิงออนหมายถึงโซเวียต วัลคัน/โรมูลันหมายถึงจีน/ญี่ปุ่น และความหลากหลายทางเชื้อชาติเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้โลกเสรีอยู่รอด
สตาร์เทรคมีอายุยืนยาว และส่งผลให้มีการตั้งกลุ่มแฟนหนังที่เรียกกันว่า ชาวเทรค หรือ Trekkies ซึ่งมีจำนวนหลายสิบล้านคน อีกทั้งมีการสร้างภาคต่อกันอีกหลายสิบครั้ง ทั้งในรูปหนังทีวีและหนังโรง รวมแล้วก็กว่าสองร้อยตอน
หนังชุดที่มีอายุกว่าห้าสิบปีนี้เป็นตัวอย่างของ “บทบาทของผู้อ่าน” (Role of the Reader) เพราะทุกตอนจะถูกตีความโดยแฟนหนังทั้งในแบบกว้างและลึก
และนักเขียนทั้งในแบบผู้คลั่งไคล้และนักวิชาการ
ทุกตอนจะมีคนติดตามและพูดถึงกันมากมาย แม้บางตอนอาจจะเชยและอืดอาดน่ารำคาญก็ตาม
สามารถกลับมาในแบบที่สอดรับกับสถานการณ์ทุกครั้ง ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปทางใด นั่นคือสะท้อนการเมืองของโลก ทั้งในยุคสงครามเย็นและหลังจากนั้น
หนังชุดนี้จะมีบทบาทมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 รวมทั้งปัจจุบัน
เมื่อสงครามแย่งอำนาจยุคใหม่เริ่มต้นขึ้น ล่าสุดคือ บทความใน the Guard-ian ซึ่งมีชื่อว่า the How Star Trek tackled the final frontier : Trump

Please Stand By หรือ “เนิร์ดแล้วไง มีหัวใจนะเว้ย” เป็นหนังที่เกี่ยวกับสตาร์เทรค
เริ่มต้นด้วยเวนดี้ (ดาโกต้า แฟนนิ่ง) ซึ่งเขียนบทหนังตอนหนึ่งของชุดนี้อยู่เป็นแรมเดือน เธอเป็นเด็กอายุราวสิบหกในซานฟรานซิสโก
เพื่อจะส่งต้นฉบับให้ทันการประกวดของบริษัทพาราเมาท์พิกเจอร์ส เธอต้องเดินทางไปลอสแองเจลิสด้วยตนเอง
เวนดี้เป็นเด็กออติสติกและอาศัยอยู่ในบ้านเด็กพิการ การหนีจากบ้านและออกเดินทางของเธอจะเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยที่ตามมาด้วยการขบคิดเรื่องของหนังชุดนี้อีกครั้ง
ในหนังทีวีชุดนั้น ตัวละครที่เด่นคือ สป็อก ลูกครึ่งมนุษย์-วัลคัน อันเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีแต่ตรรกะ และมีปัญหาทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับอารมณ์ของมนุษย์จากดาวดวงอื่น และในบางครั้ง การพยายามจะเข้าใจสิ่งนี้เป็นพล็อตหลักเลยทีเดียว
เวนดี้ชอบสป็อก เพราะมีปัญหากับการแสดงออกทางอารมณ์เช่นกัน ใน Please Stand By อาการออติสติกถูกอธิบายว่าเป็นวิธีมองโลกแบบหนึ่ง และนอกจากสป็อก เราทุกคน ถ้าพยายามจะเข้าใจสังคมปัจจุบันย่อมมีปัญหานี้บ้างไม่มากก็น้อย
พูดอีกอย่าง สป็อกเป็นคนที่มีอาการออติสติก ทั้งเมื่อพยายามจะรู้จักวัฒนธรรมอื่นและเมื่อเจออารมณ์ของชาวโลก นั่นคือไม่มีความรู้สึกร่วม แต่มีความจงรักภักดีกับภารกิจและเพื่อนคนอื่นๆ
การผจญภัยของสป็อกจะเดินคู่ขนานไปกับเวนดี้เมื่อหนีออกจากบ้าน
ทั้งสองเชื่อว่าตรรกะนั้นสำคัญ แต่ก็ต้องรู้จักอารมณ์ด้วย หลังจากพบคนแบบต่างๆ ระหว่างทาง เธอจะรู้จักควบคุมการแสดงออกของตนเองมากขึ้น
อาการงอแงหรือแสดงอารมณ์ที่รุนแรงราวกับเด็กของเวนดี้จะค่อยๆ หายไป
นอกจากนั้น เราไม่ได้ต่างจากเวนดี้มากนัก เพราะเพื่ออยู่กับระบบ ทุกคนต้องพยายามทำตามกฎระเบียบของสังคมมากมาย
ในฉากต้นเรื่อง เวนดี้ต้องใส่เสื้อตามสีของแต่ละวัน
หัดทักทายลูกค้าที่ร้านขนม
และคิดคำนวณอย่างหนักทั้งเกี่ยวกับค่าโดยสารและระยะทางที่จะเดินทาง (แม้จะผิดไปบ้าง เช่น หลงคิดว่ารถบัสในเมืองเป็นรถระหว่างเมือง)
หนังจะชี้ว่านี่เป็นอาการเดียวกันกับคนทั่วไปในสังคมนั่นเอง

ตอนท้ายเรื่อง ฉากที่น่าประทับใจคือเมื่อตำรวจคนหนึ่งพยายามปลอบให้เวนดี้หายกลัว เขาทำได้โดยใช้วิธีพูดกับเธอด้วยภาษาคลิงออน
อันเป็นภาษาที่แฟนของสตาร์เทรคหลายคนพูดได้
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากพจนานุกรมภาษาคลิงออน หนังสือซึ่งมีทั้งไวยากรณ์ การสะกดและการออกเสียง และว่ากันว่า เดิมเป็นเพียงไกด์สำหรับทีมนักเขียนบทและนักแสดง แต่เมื่อพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ.2528 กลับเป็นที่นิยม ขายได้หลายแสนเล่ม และแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึงห้าภาษา
หนังเรื่องนี้สอนให้เรามองอาการออติสติกในเชิงเปรียบเปรย นั่นคือ ถ้าจะยอมรับคนอื่น ต้องมองเขาเป็นเรา และเริ่มสนทนากับเขาด้วยการพูดภาษาเดียวกัน
โลกของ “ตะลุยจักรวาล” จึงจะเปิดกว้างขึ้น