สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/การะเกด คู่กับ ลำเจียก

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย
www.thaihof.org

การะเกด คู่กับ ลำเจียก

คราวก่อนแนะนำให้รู้จักต้นการะเกดไม้กลิ่นหอมและมีประโยชน์มากหลาย ที่ชวนให้รู้จักเพราะเห็นใครหลายคนยัง “อิน” กับแม่การะเกดกับพี่หมื่น ก็ชวนมาทำกิจกรรมแก้อาการเสพติดตัวละครด้วยการปลูกต้นการะเกด ให้เป็นยาถอนพิษคิดถึงได้บ้าง สมุนไพรชนิดหนึ่งที่หลายคนนึกไม่ถึงจึงนำมาเล่าไว้
แต่การเรียกชื่อต้นการะเกดนั้น มีเรื่องต้องขยายความในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า ชื่อสามัญภาษาไทยเรียก การะเกด ชื่อสามัญภาษาอังกฤษเรียก Screwpine แต่มีประเด็นคือชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ ในประเทศไทยเรียกว่า ลำเจียกหนู ซึ่งมีชื่อคล้ายกับพืชอีกชนิดว่า ลำเจียก แล้วต้นนี้ก็มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า การะเกด อีกด้วย
ทำให้คนอาจสับสนได้ว่าต้นไหนกันแน่

ต้นการะเกด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi อยู่ในพืชวงศ์ Pandanaceae
สำหรับต้นลำเจียก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze
แต่อยู่ในพืชวงศ์เดียวกันคือ Pandanaceae
แต่ก็ต้องถือว่าเป็นพืชคนละต้นเพราะในทางการได้จำแนกชื่อวิทยาศาสตร์แยกออกจากกันแล้ว แต่ด้วยคนไทยเรียกชื่อท้องถิ่นซ้ำกัน จึงทำให้เข้าใจว่าพืช 2 ชนิดนี้คือ การะเกด ต้นเดียวกัน
อันที่จริง ต้นลำเจียก คนไทยเรียกชื่อพื้นเมืองหรือชื่ออื่นๆ ว่า การะเกด ลำเจียก (ภาคกลาง) ปะหนัน ปาแนะ (มลายู-นราธิวาส) เกตก์ การเกด ลำจวน รัญจวน และเรียกชื่อสามัญภาษาไทย เตยทะเล
ซึ่งเตยทะเลนี้เป็นชื่อที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้มากกว่า
และยังมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Seashore screwpine
ซึ่งถ้าดูชื่ออังกฤษก็จะพอรู้ว่าต้นไม้นี้ชอบขึ้นริมทะเลเหมือนชื่อไทยว่า เตยทะเล นั่นเอง

ลําเจียก มีถิ่นกำเนิดตามชายหาดทั่วคาบสมุทรในแถบเส้นศูนย์สูตรรอบโลก
จึงพบได้ในหลายประเทศ
พบขึ้นเป็นดงอยู่ตามชายหาด ตั้งแต่หมู่เกาะของฟิลิปปินส์ เวียดนาม คาบสมุทรมลายู หมู่เกาะฮาวาย อินเดีย ออสเตรเลีย พอลินีเชีย และวานูอาตู
ส่วนในประเทศไทยพบได้มากทางภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดตรังและสตูล
การปลูกนั้นจะขึ้นได้ดีในดินร่วนซุยหรือดินเหนียวปนทรายที่อุ้มน้ำ ต้องการความชื้นและน้ำปริมาณมาก ชอบแสงแดด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล่าวได้ว่าเตยทะเลไม่ใช่เตยหอมที่เราคุ้นเคย คือเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะเป็นทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 5-6 เมตร
โคนต้นมีรากอากาศช่วยค้ำจุนลำต้น
ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนๆ มีหนามแหลมสั้นกระจายอยู่ทั่วไป
ใบเดี่ยวสีเขียว ออกเรียงสลับเวียนรอบกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม ส่วนขอบทั้งสองข้างจะหยักและมีหนามแหลมคม
ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด ปลายกิ่ง หรือออกตามซอกใบ
ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้มีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ไม่มีกลีบดอก มีกาบรองดอกสีขาวนวล 2-3 กาบ
ส่วนดอกเพศเมียเป็นสีเขียว อยู่ติดกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และมีกาบรองดอกสีเขียว 2-3 กาบ ดอกจะเริ่มบานในช่วงเย็นและจะมีกลิ่นหอมฉุน
สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ที่ควรรู้ว่ากันตามตำรา ระบุว่าต้นที่มีดอกเพศผู้จะเรียกว่า “ลําเจียก” ส่วนต้นที่มีดอกเพศเมียจะเรียกว่า “เตยทะเล” ผลเป็นผลรวมคล้ายผลสับปะรด ลักษณะเป็นรูปกลมหรือขอบขนาน
ผลมีลักษณะแข็ง ปลายมีหนามสั้นๆ ติดกันเป็นกลุ่มแน่น
ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีส้มอมแดง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ
ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปกระสวย สามารถออกผลได้ตลอดทั้งปี
ถ้าใครชอบใจต้องการขยายพันธุ์ทำได้ด้วยวิธีการแยกกอหรือหน่อ ซึ่งจะทำเมื่อต้นโตได้ 2 ปีแล้ว
และวิธีการเพาะเมล็ดซึ่งทำได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีเมล็ดให้เพาะนะ

ต้นลำเจียกหรือเตยทะเลก็มีประโยชน์ไม่แพ้ต้นการะเกด ในด้านยาสมุนไพรที่รู้จักกันดี คือตำรับยาเกสรทั้งเก้า (มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี บัวหลวง จำปา กระดังงา ลำเจียก ลำดวน) มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ลม บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ หรือเรียกเป็นยาหอมก็ได้
ลำเจียกยังใช้ปรุงเป็นยาหอมตำรับอื่นๆ ด้วย
รากลำเจียก มีรสเย็นและหวานเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิต
รากอากาศ ปรุงเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการแก้นิ่ว แก้ระดูขาวที่มีกลิ่นเหม็น
ต้น นำมาปรุงเป็นยาแก้กษัย เบาพิการ ขับปัสสาวะ
ผลลำเจียก กินได้ และยังนำมาผสมในอาหารให้สีสวยงามน่ากินขึ้นและให้กลิ่นหรือแต่งกลิ่นให้หอมด้วย
ใบ นำมาใช้ในงานฝีมือ เช่น เสื่อ หรือเครื่องใช้ประเภทจักสานได้
เปลือก สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้

ลําเจียกหรือเตยทะเลจัดเป็นไม้ประดับ ควรส่งเสริมการปลูกกันมากๆ ชอบขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ดินเค็มก็ขึ้นได้ ชอบขึ้นชายน้ำ ชายหาด ลำคลอง หนอง บึง ได้ทั้งหมด
ลำเจียกเป็นพืชทนทานต่อสภาพแวดล้อม น้ำขังแฉะ น้ำเค็ม ไม่ค่อยมีโรคและแมลงศัตรูพืชมารบกวน
นอกจากนี้ ยังปลูกไว้บังลมได้เพราะทั้งต้นเป็นพุ่มใหญ่จึงทนต่อลมแรงและอากาศแล้งได้ดี บางคนก็นิยมปลูกเป็นรั้วบ้านได้เพราะมีใบหนาและมีหนาม
เป็นอันว่าแนะนำ ต้นการะเกด และที่เรียกกันว่าการะเกดแต่คือต้นลำเจียกกันเรียบร้อย 2 ตอนแล้ว
ก็หวังว่าจะปลูกและนำมาใช้ประโยชน์กันต่อไป