วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/สู่ร่มกาสาวพัสตร์ เช้าวันแรกออกบิณฑบาต

วางบิล
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

เช้าวันแรกออกบิณฑบาต

ได้ยินคำถามจากพระมหาสวัสดิ์ กลับนึกย้อนไปถึงที่มาของการตัดสินใจอุปสมบท ทั้งที่บอกไปในจดหมายกับจงจิต และความตั้งใจบวชให้มารดาได้เกาะผ้าเหลืองตามความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม รวมทั้งผลจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ผ่านมา ถึงกำหนดเวลาที่แจ้งกับพระครูพรหมก่อนยิ้มตอบออกไปว่า “กะไว้สองเดือนครับ”
“ไม่บวชสักพรรษารึ” พระมหาสวัสดิ์ชวนสนทนาขณะสายตาจับอยู่บนจอโทรทัศน์
“คงไม่กระมังครับ กว่าจะเข้าพรรษาอีกนาน” พระปานตอบไม่จริงจังขณะสายตาจับอยู่บนจอโทรทัศน์ที่รายงานข่าวประจำวันเช่นกัน
“อ้อ… จริงแหละ… ก็ยังดี” พระมหาสวัสดิ์กล่าวรับ สายตายังจับบนหน้าจอโทรทัศน์ แล้วเงียบไป มีแต่เสียงรายงานข่าวจากโทรทัศน์ สักครู่พระมหาสวัสดิ์กดรีโมตเปลี่ยนช่องไปเป็นละคร เรื่องอะไรไม่ทราบ แล้วเปลี่ยนกลับมาช่องเดิมซึ่งเป็นรายการข่าว สักครู่จบรายการข่าว คั่นด้วยโฆษณา
พระปานดูข่าวได้สักครู่ ไม่คิดจะดูรายการจากนั้น ทั้งเกรงใจเจ้าของกุฏิ ทั้งต้องการกลับไปอ่านหนังสือนวโกวาทให้จบสักเที่ยวหนึ่ง จึงขอตัวกลับกุฏิ
“อ้าว – ทำไมล่ะ ไม่ดูละครดูหนังสักเรื่องเรอะ” พระมหาสวัสดิ์ทักแล้วพยักหน้าเป็นเชิงอนุญาต

พระครูพรหมเพิ่งเดินกลับจากสวดพระอภิธรรม สักครู่พระมหาอุดมตามกลับมา พระปานได้ยินเสียงพระทั้งสองรูปพูดคุยกัน แล้วได้ยินเสียงพระครูพรหมเปิดห้อง สักครู่ เสียงจากโทรทัศน์ดังขึ้น มีเสียงพระจากต่างคณะที่มาร่วมวงสนทนาและอาศัยดูโทรทัศน์
พระปานหยิบหนังสือนวโกวาทขึ้นมาเปิดอ่าน เล่มนี้จำเป็นต้องอ่านให้ขึ้นใจที่สุด เพราะเป็นบทวินัยบัญญัติคือข้อห้ามที่ภิกษุไม่ควรประพฤติปฏิบัติ หรือกฎหมายพระซึ่งหากล่วงละเมิดแล้วจะเป็นอาบัติตั้งแต่อย่างร้ายแรงที่สุดคือขาดจากความเป็นพระไปถึงอาบัติเล็กน้อยที่ต้องแสดงต่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจึงจะหมดไป
วินัยบัญญัตินี้ บ้างเรียกว่าศีล 227 ข้อ เป็นศีลปาฏิโมกข์ที่ภิกษุในบวรพุทธศาสนาต้องจดจำเพื่อไม่ให้ล่วงละเมิด ให้เป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลส เพื่อเป็นผู้มักน้อย สันโดษ เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อรักษาไว้ซึ่งพรหมจรรย์ อันเป็นประการที่สุดของภิกษุในพุทธศาสนา
ศีล 227 ข้อนี้ พระปานเห็นว่าที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง หรือสีกามีพอสมควร ตั้งแต่โทษร้ายแรงพ้นจากความเป็นภิกษุ ถึงโทษขั้นแสดงอาบัติได้ มีโทษเสพเมถุนเป็นข้อใหญ่ ถึงอยู่สองต่อสองทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง แสดงธรรมเกิน 6 คำโดยไม่มีผู้ชายรู้เดียงสาอยู่ด้วย จับต้องด้วยกำหนัดยินดี พูดเกี้ยว พูดล่อให้บำเรอกาม เป็นสื่อให้ผู้ชายกับผู้หญิงเป็นผัวเมียกัน ชวนเดินพ้นบ้านหนึ่ง นอนในที่มุงบังอันเดียวกันแม้ชั่วคืน เหล่านี้
กระนั้น ในหลายข้อเป็นสิ่งที่ไม่ต้องอาบัติในสมัยนี้แล้ว เพราะผู้ที่ทำให้ต้องอาบัติไม่มี คือภิกษุณี
ส่วนอีกหลายข้อที่เป็นข้อที่ภิกษุกระทำต่อภิกษุด้วยกัน บางข้อ แม้ว่ากระทำแล้วจะแสดงอาบัติได้ แต่เป็นการไม่สมควร จะเป็นที่ติเตียนของชาวบ้าน ที่เรียกว่า โลกวัชชะ หรือชาวโลกติเตียน เช่น การดื่มน้ำเมา การฉันอาหารเย็น การว่ายน้ำเล่น การไม่สำรวมตัว เป็นต้น
ในบทบัญญัติแต่ละข้อ ตามความคิดของพระปานเห็นว่า พระพุทธเจ้าอาจต้องการให้ภิกษุหรือผู้ที่เข้ามาถือบวชในศาสนานี้ เป็นผู้สำรวมทั้งกาย วาจา และใจ แม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติทางใจก็ตาม แต่เมื่อสำรวมกาย วาจา ปรากฏแล้ว ทางใจสามารถระงับยับยั้งความโลภ โกรธ หลง ลงไปได้โดยไม่ยาก
แต่ละข้อของศีล วันต่อมา พระมหาอุดมบอกให้ฟังว่าล้วนแล้วแต่มีที่มาทั้งสิ้น ทั้งมีผู้ประพฤติปฏิบัติแล้ว พระพุทธเจ้าจึงต้องบัญญัติไว้เป็นกฎข้อบังคับ ทั้งหมดนี้ หาอ่านได้จากพระไตรปิฎก ส่วนของวินัยปิฎก ซึ่งเป็นความพิสดารว่าแต่ละบทบัญญัตินั้นมีความเป็นมาอย่างไร
นอกจากในส่วนของวินัย ครึ่งหลังของเล่มเป็นธรรมวิภาค ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมคิหิปฏิบัติ ธรรมที่สาธุชนทั่วไปควรประพฤติปฏิบัติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อันมหาศาลแก่ผู้ที่สามารถปฏิบัติตาม แม้เพียงบางส่วน แต่หากใครสามารถทำได้ในทุกส่วน ผู้นั้นจะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีจิตใจที่ไม่เศร้าหมอง
สามารถอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบด้าน

 

เช้ารุ่งขึ้น พระปานยังไม่ออกบิณฑบาต แต่ยังเดินไปรอบพระอุโบสถอย่างที่ปฏิบัติเมื่อเช้าวันก่อน จนได้เวลาฉันอาหารเช้า พระครูพรหมจึงบอกกับพระสุชัยว่า พรุ่งนี้เช้าให้นำพระปานออกไปรับบิณฑบาต ซึ่งพระปานรู้สึกปีติที่จะได้มีโอกาสออกหาอาหารด้วยปลีแข้งของตัวเองตามอนุศาสน์ที่ได้รับมาเมื่อวันบวช
คืนนั้น พระสุชัยมาที่ห้อง ให้พระปานจัดเตรียมซ้อนผ้าจีวรเป็นสองผืนสำหรับห่ม ติดกระดุมในส่วนล่างปลายจีวรเพื่อกันชะเวิกขึ้นเมื่อโดนลม เตรียมบาตร เช็ดให้สะอาด คว่ำลงบนฝาบาตร
พระปานตื่นแต่เช้ามืด ประมาณตีห้าครึ่ง ท้องฟ้าสว่างด้วยแสงจันทร์ ด้วยยังเป็นฤดูหนาว กว่าจะสว่างจากแสงอาทิตย์อีกประมาณ 10-15 นาที พระครูพรหมบอกอย่างนั้น พระปานเข้าห้องอาบน้ำให้สดชื่น เมื่อเสร็จออกมา พระสุชัยตื่นแล้ว กำลังล้างหน้าที่หน้ากุฏิ พระปานกลับเข้าห้องนุ่งสบง สวมอังสะ แล้วใช้รัดประคตคาดทับเป็นเข็มขัด เตรียมห่มจีวรที่ทำซ้อนเป็นสองชั้นตั้งแต่เมื่อคืน ซึ่งต้องห่มคลุมไหล่ทั้งสองข้าง ลังเลว่าจะห่มอย่างไร พอดีกับพระสุชัยเดินเข้ามาแล้วช่วยจัดการห่มให้
“คุณเอามือขวาจับชายบนทั้งสองข้างให้เท่ากัน ใช้มือซ้ายจับชายสุดยกชูขึ้นเสมอไหล่ แล้วม้วนชายผ้าเข้าหาตัวเมื่อยกขึ้นสุดแขนจะตึงพอดี ทีนี้ปล่อยมือข้างขวาล้วงเข้าตรงกลางค่อนมาข้างบนจับม้วนตวัดเข้าหาตัว มือซ้ายชูปลายจีวรไว้อย่างนั้น มือขวาจับม้วนเข้ามาจนติดตัว” พระสุชัยบอกพร้อมช่วยม้วนจนรู้สึกรัด
จากนั้นให้จับลูกบวบนั้นกระตุกขึ้นเสมอหัวไหล่ซ้าย ลดมือซ้ายที่จับชายจีวรให้เกือบเสมอลำตัว ตวัดลูกบวบในมือขวาข้ามไหล่ซ้าย ซึ่งไม่ใช่ของง่ายเลยสำหรับครั้งแรกๆ พระสุชัยช่วยจับให้ลูกบวบม้วนตัวย้อยไปข้างหลัง ให้ใช้มือซ้ายจับปลายลูกบวบจนตึงแล้วตวัดเข้ารักแร้หนีบไว้กันหลุด
เมื่อดึงจีวรลงให้เข้ารูปเข้ารอยดีแล้ว พระสุชัยจึงช่วยแหวกปลายจีวรด้านล่าง เพื่อให้มือขวาออกมาช่วยประคองบาตร ใช้มือขวาเปิดฝาบาตรเวลารับอาหารบิณฑบาต เสร็จแล้วพระสุชัยกลับเข้าห้องห่มจีวรเตรียมตัวออกบิณฑบาต เมื่อกลับออกมาพอดีกับพระปานกำลังวางบาตรลงบนโต๊ะข้างห้อง
“มันหลุดครับ” พระปานบอกเมื่อเงยหน้าเห็นพระสุชัย
พระสุชัยวางบาตรลง บอกพระปานระวังการวางบาตร ให้คว่ำด้านฝาลงบาตรจะได้ไม่กลิ้ง แล้วช่วยจัดแจงจับจีวรให้ใหม่จนกระชับตัวดีแล้ว หยิบบาตรส่งให้พระปาน แล้วชวนกันลงจากกุฏิ เดินออกประตูด้านข้างวัด รับอาหารบิณฑบาตจากโยมซึ่งรอตักบาตรอยู่ตามทางและหน้าบ้านที่ผ่าน