เศรษฐกิจ/จับตาเกมมะกัน! ปฏิบัติการถล่มซีเรีย และศึกการค้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้า เกมไหนจะฉุดจีดีพีเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจ

จับตาเกมมะกัน! ปฏิบัติการถล่มซีเรีย

และศึกการค้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้า

เกมไหนจะฉุดจีดีพีเศรษฐกิจโลก

วันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่สั่นคลอนขั้วการเมืองของประเทศมหาอำนาจระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย โดยในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา สหรัฐและประเทศพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ยิงขีปนาวุธหรือมิสไซล์ถล่มแหล่งเก็บและศูนย์วิจัยเคมีของซีเรีย เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เพื่อตอบโต้กลับซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนของประเทศตัวเอง เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐตอบโต้กลับในครั้งนั้นด้วยการยิงโทมาฮอว์กกลับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “สถานการณ์ในซีเรีย” ครั้งล่าสุดนี้ การปฏิบัติการยิงถล่มคลังอาวุธของซีเรีย ไม่ใช่สถานที่ที่มีคนอาศัยอยู่เยอะ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บน้อยราว 3 คน
ขณะเดียวกัน ทางรัสเซียก็สามารถยิงสกัดมิสไซล์ของฝั่งสหรัฐได้ 71 ลูก จากมิสไซล์ทั้งหมด 105 ลูก

การตอบโต้กันไปมา และสงครามที่เกิดกลางกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เป็นมหากาพย์หรือซีรี่ส์เรื่องยาว ที่น่าจะหาจุดจบสวยๆ ยาก แม้ว่าการตอบโต้ระหว่างกันของประเทศมหาอำนาจ จะเป็นเรื่องของการต่อรอง หรือเป็นสงครามตัวแทน หรือ Proxy War
ตามที่ “อิสระ อรดีดลเชษฐ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ระบุว่า การโจมตีของสหรัฐเป็นการทำสงครามแบบ Proxy War จึงคาดว่าผลของการทำสงครามจะกระทบกับความเชื่อมั่นของการลงทุนในช่วงสั้นๆ หากไม่ได้ลุกลามบานปลายไปในพื้นที่อื่น
สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ผลของการทำสงครามในครั้งนี้มีจำกัด โดย “ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ประเมินว่า สงครามระหว่างพันธมิตรนาโต้ของสหรัฐกับฝ่ายรัสเซียที่ประจำการอยู่ในซีเรียไม่บานปลายออกไป โดยฝ่ายรัสเซียสามารถคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่ามาก ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลต่อผลของสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม สงครามในซีเรียยังคงอยู่ ซึ่งหากฝ่ายรัฐบาลพยายามจะรุกเข้ายึดพื้นที่ส่วนที่เหลือคืนได้จากฝ่ายกบฏ ก็อาจเกิดการปะทะใหญ่อีกครั้งและจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดน้ำมันและทองคำ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันที่สำคัญของประเทศ
ขณะที่รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ยืนยันเช่นกันว่า แม้การโจมตีซีเรียของสหรัฐและชาติพันธมิตรอีก 2 ชาติคืออังกฤษและฝรั่งเศส จะจบเร็วไม่บานปลายเป็นสงครามข้ามชาติ แต่นักลงทุนยังระมัดระวังสถานการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน สหรัฐก็เล็งแซงก์ชั่นหรือคว่ำบาตรรัสเซีย เนื่องจากสนับสนุนซีเรีย
โดยเฉพาะการคว่ำบาตรในเชิงเศรษฐกิจ!

ส่วนในด้านการลงทุนในตลาดทองคำ “พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” กรรมการบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวถึงทิศทางราคาทองคำหลังสหรัฐและพันธมิตรโจมตีซีเรียว่า ช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียด ราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้นประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ปัจจุบันราคาทองคำอยู่ที่ประมาณ 1,347 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราคาทองคำในประเทศอยู่ที่บาทละประมาณ 19,900 บาท
อย่างไรก็ตาม ต้องรอติดตามการตอบโต้กลับของรัสเซีย รวมถึงติดตามสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งประเมินว่าไม่น่าจะลุกลาม คล้ายๆ กับการทำสงครามซีเรียเมื่อ 2 ปีก่อนที่จบได้ภายใน 1 วัน ประกอบกับแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องน่าจะระมัดระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศตัวเองและเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า หากสถานการณ์การสู้รบระหว่างประเทศซีเรียกับกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น รัสเซีย อังกฤษ ไม่ยืดเยื้อ ก็ไม่น่ามีปัญหากระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก
เพราะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ไม่ได้ขยายวงกว้างออกไป

ส่วน “วิน อุดมรัชตวนิชย์” ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด (มหาชน) ให้น้ำหนักกับเรื่อง “สงครามการค้า” ว่าจะเป็นฮอต อิชชู่ที่จะมีผลกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมากกว่า โดยระบุไว้ 3 แนวทาง คือ
1. กรณีที่ดีที่สุด สหรัฐกับจีน ไม่มีการปรับขึ้นภาษีอย่างมีนัยสำคัญ และปัญหาสามารถจบลงด้วยการเจรจากันได้โดยเร็ว ซึ่งข้อนี้คาดว่ามีความน่าจะเป็นถึง 30% เนื่องจากภาษีที่ประกาศไปแล้วมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด แต่จะเจรจาเพื่อให้สหรัฐลดการขาดดุลการค้าลง และหากเป็นไปตามนี้มีโอกาสที่เป้าดัชนีตลาดหุ้นจะถึง 1,932 จุด
2. กรณีกลางๆ ทั้ง 2 ประเทศจะปรับขึ้นภาษีตามที่ประกาศไว้แล้วในมาตรา 301 แต่จะมาเจรจากันภายหลังเพื่อลดวงเงินภาษีลง ประเมินว่ามีความน่าจะเป็นมากที่สุดประมาณ 60% เนื่องจากได้ประกาศปรับภาษีตามที่แจ้งไปแล้วก่อนหน้านี้คือ จีน 128 รายการ และสหรัฐ 1,300 รายการ ซึ่งหากเป็นไปตามนี้เป้าดัชนีตลาดหุ้นจะอยู่ที่ระดับ 1,857 จุด
3. กรณีที่แย่ที่สุด ทั้ง 2 ประเทศจะประกาศขึ้นภาษีเพิ่มเติม รวมถึงใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อตอบโต้กัน และสหภาพยุโรป (อียู) จะเข้าร่วมสงครามทางการค้า ซึ่งในข้อนี้คาดว่าจะมีความเป็นไปได้น้อยที่สุดแค่ประมาณ 10% เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้ จะส่งผลให้กระทบต่อต้นทุนและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) กระทบต่อปริมาณการค้าโลก และผลลบที่มีต่อราคาสินค้าต่างๆ โดยให้เป้าดัชนีตลาดหุ้นของปีนี้ที่ระดับ 1,407 จุด
นายวินระบุว่า ทั้งนี้ มองว่าสงครามทางการค้าเป็นสัญญาณของยุคโลกานิวัตน์ (Deglobalization) ซึ่งหมายถึงสภาวะการหดตัวลงของการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูต หรือมีการเชื่อมต่อกันมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกานิวัตน์ครั้งใหม่นับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเน้นการบริโภคและลงทุนภายในประเทศ (Domestic Demand) มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักอย่างเช่น ประเทศไทย จะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น!
นายวินกล่าวเพิ่มเติมว่า และในอดีตที่ผ่านมาพบว่าหนึ่งในผลของการเกิดภาวะโลกานิวัตน์ จะส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง และมีความผันผวนที่สูงขึ้น โดยอัตราการเติบโตของปริมาณการค้าโลกนั้นมีความสัมพันธ์ทางตรงกับอัตราการเติบโตของจีดีพีโลกด้วยเช่นกัน
กล่าวคือ เมื่อใดที่ปริมาณการค้าโลกหดตัว จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวตามไปด้วย

สอดคล้องกับมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จํากัด ที่เปรียบเทียบน้ำหนักสงครามซีเรีย กับสงครามการค้าว่า สงครามซีเรียน่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น
แต่สงครามการค้าจะเป็นผลกระทบระยะยาว ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
แม้จะออกมายืนยันตรงกันว่า สงครามซีเรียไม่น่าลุกลามแน่นอน แต่คงติดตามกันต่อไป เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ความตึงเครียดว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงใช้ถ้อยคำโจมตีกัน
โดยพันธมิตรของซีเรีย “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวระหว่างการหารือทางโทรศัพท์กับ “ฮัสซัน รูฮานี” ประธานาธิบดีอิหร่าน ชาติพันธมิตรของซีเรียว่า การโจมตีของฝ่ายตะวันตกในครั้งนี้ อาจนำไปสู่ภาวะโกลาหล หากสหรัฐและประเทศพันธมิตรโจมตีซีเรียอย่างต่อเนื่องอีก
ซึ่งไม่ว่าศึกขึ้นภาษี หรือศึกถล่มมิสไซล์ จะมีประเด็นที่ต้องให้ติดตามกันอีกนาน
แต่ที่แน่ๆ กระทบจีดีพีของเศรษฐกิจโลก และบรรยากาศการลงทุนของแต่ละประเทศแน่นอน