การพึ่งพากันของภิกษุณีสงฆ์

ช่วงนี้เป็นช่วงทศวรรษที่สองของการทำงานของภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทย

ภิกษุณีไทยหลายแห่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น

ที่นครปฐม ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอารามซึ่งเป็นแห่งแรก เพราะตั้งมานานถึง 60 ปี ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้น มีภิกษุณีสงฆ์ประจำ สามารถทำสังฆกรรมกันเองได้

ทางเหนือ มีภิกษุณีอยู่กันกลุ่มใหญ่ที่นิโรธาราม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ทางอีสานก็มีที่ยโสธร

ส่วนทางใต้ก็มีที่เกาะยอ

ที่พูดถึงทั้งหมดนี้ มีจำนวนภิกษุณีเป็นสงฆ์แล้ว เวลาสวดปาฏิโมกข์ก็สามารถสวดกันเองได้

 

แต่ในทศวรรษแรกของการริเริ่มภิกษุณีสงฆ์นั้น แต่ละแห่งยังมีจำนวนไม่ได้ 4 รูป ประเทศใกล้เคียงก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน นั่นคือ ทั้งในอินโดนีเซียและเวียดนาม

ในปีแรกๆ วัดที่เวียดนามยังต้องขอภิกษุณีจากไทยไปร่วมอยู่ในช่วงพรรษา เพื่อให้สามารถรับกฐินได้

เงื่อนไขทางพระวินัยนั้น จะรับกฐินได้ต้องมีพระจำพรรษาอยู่ด้วยกันตลอดทั้งพรรษาอย่างน้อย 4 รูป

ทีนี้เวลามอบผ้ากฐิน ต้องมีรูปที่ห้า เพื่อเป็นผู้สวดมอบผ้ากฐินให้ อย่างนี้จึงต้องมี 5 รูป เพื่อรักษาพระวินัย

ท่านหลิวฟับ แม้ว่าท่านจะอุปสมบทก่อนท่านธัมมนันทา แต่ท่านต้องกลับไปเรียนปริญญาเอกให้จบก่อน ท่านจึงเสียเวลาไปหลายปี กว่าที่จะกลับมาประจำวัดของตนที่เวียดนาม ก็ใช้วิธีที่ว่านี้ นิมนต์พระภิกษุณีจากไทยไปอยู่ให้ครบองค์สงฆ์

ท่านธัมมนันทาเข้าไปร่วมงานกฐินต่อเนื่องกัน 3 ปี เพื่อช่วยท่านสวดมอบผ้ากฐิน

 

วัดสุญญตารามที่ท่านหลิวฟับดูแลอยู่ในเวียดนามนั้น อาจารย์ของท่านคือหลวงพ่อเวียงมินห์ ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาทไปจากไทย ขณะนี้รอตำแหน่งสังฆราชฝ่ายเถรวาท แต่ทางการยังไม่แต่งตั้ง ท่านเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังสนับสนุนให้เกิดภิกษุณีขึ้น

วัดภิกษุณีในเมืองโฮจิมินห์ทั้งสองแห่งเป็นการจัดสรรของท่านทั้งสิ้น

อีกวัดหนึ่งชื่อวัดเขมาราม ท่านสุสันตา ภิกษุณีที่เป็นลูกศิษย์ของท่านและบวชพร้อมกับท่านหลิวฟับเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั่น เป็นผู้ดูแล

ท่านหลิวฟับเนื่องจากท่านจบปริญญาเอกทางภาษาบาลี มีความเข้าใจในพระวินัยดี และเห็นพ้องกับท่านธัมมนันทาว่า ในการเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์จะต้องรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ทำการแบบสุกเอาเผากิน ขายผ้าเอาหน้ารอด

เพราะทุกก้าวย่างจะเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ของภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาททั้งสิ้น

 

ครั้งหนึ่ง ท่านธัมมนันทา ซึ่งได้รับนิมนต์ให้ลงไปช่วยบรรพชาสามเณรีที่เกาะยอ เกิดติดขัดผ่าตาและหมอห้ามมิให้เดินทาง ท่านก็ติดต่อขอท่านหลิวฟับเข้ามาทำหน้าที่แทน ท่านหลิวฟับเข้าใจสถานการณ์ รีบทิ้งงานสอน บินมาช่วยงานทันที

ท่านสันตินี ซึ่งเป็นภิกษุณีรูปแรกของอินโดนีเซียก็เช่นกัน ในระหว่างสามประเทศ คือ ไทย เวียดนามและอินโดนีเซียนั้น ลำดับการอุปสมบทเรียงปีต่อกันมาเลย นั่นคือ ท่านสันตินีอุปสมบท พ.ศ.2543 ท่านหลิวฟับ (เวียดนาม) อุปสมบท พ.ศ.2545 และท่านธัมมนันทา (ไทย) อุปสมบท พ.ศ.2546 อีกท่านหนึ่งในศรีลังกา คือ ท่านวิชิตนันทา อุปสมบทพร้อมกับท่านหลิวฟับ พ.ศ.2545

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากนานาประการ ภิกษุณีสายเถรวาทที่เกิดขึ้นนี้ ในทศวรรษแรก ต่างอิงอาศัยกันอย่างเป็นรูปธรรม มีการช่วยเหลือกัน เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถรักษาพระวินัยให้พร้อมมูล

เมื่อมีการไถ่ถามกันในภายหลังก็จะสามารถตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ปฏิบัติตามเงื่อนไขพระวินัยมาโดยตลอด

 

สําหรับท่านสันตินีในอินโดนีเซียนั้น จะอยู่ในภาวะที่ลำบากกว่าเพื่อน เพราะเดิมเป็นแม่ชี อยู่ในวัดเถรวาทสายไทย เมื่อมีความกระจ่างชัดว่าสามารถบวชภิกษุณีได้ จึงเดินทางไปบวชภิกษุณีที่วัดโฝวกวางซานที่ประเทศไต้หวัน โดยมีพระภิกษุสายเถรวาทที่ทำพิธีบวชซ้ำให้เป็นเถรวาท

ท่านไปบวชกัน 4 รูป ด้วยความหวังและตั้งใจว่า กลับมาท่านก็เป็นสังฆะ ประกอบพิธีกรรมของภิกษุณีได้เต็มตามเงื่อนไขของพระวินัย

แต่เมื่อกลับมาอินโดนีเซีย พระภิกษุสายเถรวาทโจมตีและขัดขวาง เช่น ไม่ให้ท่านเทศน์ในวัด สาปแช่งว่าใครสนับสนุนภิกษุณีจะตกนรก เป็นต้น

ในที่สุดภิกษุณีที่บวชกับท่านก็ลาสิกขาออกไปสองรูป เหลือเพียง 2 รูป

เราคงไม่ลืมว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประชากร 300 ล้าน เป็นมุสลิมส่วนมาก มีชาวพุทธเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นมหายาน การเกิดขึ้นของภิกษุณีสายเถรวาทจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นทีเดียว

แต่แม้กระนั้น พ.ศ.2558 ท่านยังเป็นประธานในการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทนานาชาติ ถึง 9 รูป ที่วัดของท่านที่เมืองมารีบายา โดยนิมนต์อุปัชฌาย์ คือพระอาจารย์สรณังกร ชาวศรีลังกาจากมาเลเซีย และท่านสันตินีเป็นปวัตตินีเอง พระภิกษุที่มาร่วมงานทั้งหมด 7 ท่านส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุจากศรีลังกา ส่วนภิกษุณีนั้น ภิกษุณีผู้นำทั้งสามประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนามและประเทศไทย พร้อมหน้ากัน มีภิกษุณีชาวตะวันตกมาจากออสเตรเลียและสิงคโปร์หลายรูป

สำหรับนาคิณี คือผู้ขอบวช 9 รูปนั้น มาจากประเทศต่างๆ คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ศรีลังกาและอินโดนีเซีย

เรียกว่า การทำสังฆกรรมต่างๆ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากภิกษุณีสงฆ์ในต่างประเทศทั้งสิ้น

ปีนี้มีเรื่องเศร้าใจ คือท่านสีลวดี ซึ่งเป็นภิกษุณีที่ทำงานร่วมกับท่านสันตินีมาตั้งแต่ต้น มามรณภาพลง ท่านสันตินีก็เลยอยู่กับภิกษุณีสงฆ์เด็กๆ อีก 2-3 รูปเท่านั้น

 

งานที่เป็นสังฆกรรมภิกษุณีสงฆ์ในประเทศที่เพิ่งมีการเริ่มต้นนี้ ล้วนจำเป็นต้องอิงอาศัยกันทั้งสิ้น สังฆกรรมเป็นกรอบที่ช่วยให้ภิกษุณีเองเห็นความสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันและกัน เพื่อให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สำหรับอินโดนีเซียนั้น ต้องเล่าให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพรวมว่า ในกลุ่มชาวพุทธนั้นมี 3 นิกาย นิกายมหายานมีจำนวนมากที่สุด

นิกายเถรวาท เพิ่งเกิดขึ้นในอินโดนีเซียโดยการนำของพระไทย คือท่านเจ้าคุณวิญญ์ จากวัดบวรนิเวศฯ สมัยที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนยังมีพระชนม์ชีพ ท่านมีนโยบายที่จะเผยแผ่พุทธศาสนาไปในประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันน่าจะมีพระภิกษุสายเถรวาทประมาณ 50 รูป สายนี้ไม่รับภิกษุณีสงฆ์ ท่านสันตินีมีความเป็นมาจากบริบทนี้ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากภิกษุสงฆ์

 

อีกนิกายหนี่ง เป็นนิกายที่ยอมรับทั้งมหายาน เถรวาทและวัชรยาน เรียกว่า สังฆะอากุงอินโดนีเซีย ในสายเถรวาท ภายใต้สังฆะอากุงมีภิกษุณีสายเถรวาท ปีนี้จะมีภิกษุณีในสายนี้เรียนจบปริญญาเอกอย่างน้อย 2 รูป และภิกษุณีกลุ่มนี้สังกัดอยู่กับวิทยาลัยพุทธ ซึ่งมีพระภิกษุในสายเถรวาทเป็นอธิการบดี พระภิกษุในระดับคณบดีก็เข้ามาศึกษาพุทธศาสนาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในประเทศไทย

ด้วยท่าทีทีเป็นมิตรกับภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ในโครงสร้างของนิกายสังฆะอากุงอินโดนีเซียดูจะมีโอกาสก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าในสายเถรวาท โดยการนำของท่านสันตินีที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ภิกษุณีในสายสังฆะอากุงอินโดนีเซียก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภิกษุณีไทย ในการจัดการประชุมนานาชาติของ ABC ซึ่งเดิมเรียกว่า ASEAN Bhikkhuni Conference, และต่อมาขยายออกเป็น ASEAN Buddhist Conference, จนในท้ายที่สุด ปรับเป็น Asian Buddhist Connection แต่ยังคงใช้ตัวย่อเดิม คือ ABC

ในการประชุม ABC ทั้งสองครั้งแรก ภิกษุณี ฐิตาจารินี จากนิกายสังฆะอากุงมาร่วมประชุมด้วย และเนื่องจากเป็นวัยนักศึกษา จึงมีความกระตือรือร้นที่จะเรียน และร่วมมีผลงานทางวิชาการ จนในปีนี้ พ.ศ.2561 ABC จะไปจัดที่ประเทศอินโดนีเซียภายใต้การดำเนินการในประเทศโดยชาวพุทธในกลุ่มสังฆะอากุงอินโดนีเซียที่ว่ามานี้นั่นเอง

กิจกรรมต่างๆ ของชาวพุทธเอเชียนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานพระศาสนาเหล่านี้ แท้จริงคือภิกษุณีในประเทศเอเชียที่ยังต้องอิงอาศัยกันตลอดมาในช่วงทศวรรษแรก

ถือโอกาสประชาสัมพันธ์งาน ABC ด้วยเลยนะคะ ถ้าสนใจสามารถเข้าไปศึกษาดูรายละเอียดได้ที่ www.asianbuddhist.org หรือที่ www.thaibhikkhunis.org