คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : มีนัดกับพระเจ้าที่อินเดีย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศอินเดีย เป็นการเดินทางสั้นๆ ระหว่างวันที่ 11-17 กันยายน เพื่อไป “แสวงบุญ” ยัง อัษฏวินายก หรือพระคเณศ “สวายัมภู” ซึ่งเชื่อกันว่า เกิดขึ้นเองในแคว้นมหาราษฎร์ และร่วมงานคเณศมโหตสวะ หรืองานฉลองพระคเณศที่มุมไบ

ผมเดินทางเป็นครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้ เพราะไปเกินสิบครั้งในรอบเก้าปีมานี้ และไปที่เดิมๆ เกือบทุกครั้ง

แต่ไปทีไรก็ได้พบเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้ความรู้ความคิดเพิ่มขึ้นเสมอ

สิ่งที่ชวนให้ชุ่มชื่นใจ คือการได้ไปพบ “เพื่อนเก่า” ไม่ว่าจะคุณลุงคุณป้าร้านขายดอกไม้หน้าวัด (ที่ยังจำเราได้เสมอ) พราหมณ์แทบทุกวัด ยามของบางวัด เจ้าหน้าที่จากบริษัทเอเยนซี่ เจ้าของร้านหนังสือข้างทาง ฯลฯ

และที่สำคัญ พระคเณศ “เพื่อนรัก” ที่รอคอยจะได้เจอพบกันที่อินเดียอีกครั้ง

เหมือนผมมีนัดกับพระเจ้าที่นั่น

สําหรับชาวฮินดู พระเจ้าเป็น “เพื่อน” ก็ได้นะครับ ไม่แปลกอะไร เพราะเพื่อนเป็นความสัมพันธ์แบบคู่คิดที่เราคอยปรึกษาหารือ ปรับทุกข์และให้กำลังใจกันได้ โดยไม่ต้องเกรงกลัว

จะหยอกจะแซวกันบ้างก็ได้ ไม่โกรธ ไม่พิโรธ

คนที่นั่นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับสำหรับความสัมพันธ์ต่อพระคเณศ ผมไม่เจอเทวรูปพระคเณศที่น่าเกรงขามเหมือนศิลปะของบ้านเรา (ซึ่งได้อิทธิพลจากชวามาอีกทอด) มีแต่น่ารักกรุบกริบ

อาจารย์ที่สอนภาษาฮินดีผม คือ อาจารย์กิตติพงษ์ บุญเกิด ท่านว่า ภาษาฮินดีซึ่งปกติเป็นภาษาที่มีระดับ เช่น สรรพนามเรียกบุรุษที่สอง คือผู้ฟังนั้นมีถึงสามระดับ แต่พอเวลาคนพูดกับเทพจะใช้สรรพนามและภาษาระดับเดียวกับเราหรือระดับที่ใช้พูดกับเพื่อนหรือลูกๆ หลานๆ

อันนี้แปลกดีครับ คือ นอกเสียจากจะใช้ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็น “ภาษาหลวง” ซึ่งพราหมณ์ใช้กัน แต่ชาวบ้านใช้ภาษาขั้นเพื่อนสนิทกับเทพซึ่งไม่ถือว่าผิดมารยาทอะไร

ท่านว่า เพราะเขาถือว่าเทพเป็นเสมือน “คนกันเอง” เป็นเหมือนคนในครอบครัว (ซึ่งเทพก็อยู่ในครอบครัวเดียวกับคนนั่นแหละ) จึงไม่ต้องมากพิธีรีตอง ผิดกับเวลาพูดกับคนแปลกหน้า

น่าสนใจ น่าสนใจ และผมเข้าใจว่า ทั้งในภาษาสันสกฤตและฮินดีไม่มี “ราชาศัพท์” เหมือนอย่างบ้านเรา แม้ว่าจะมีศัพท์เกี่ยวกับพระราชาอยู่ และมีภาษาที่มีระดับอยู่บ้าง

แต่กระนั้น คล้ายๆ ว่า ภาษาสันสกฤต เป็นภาษา “ชั้นสูง” ในละครสันสกฤต ตัวละครสำคัญจะพูดสันสกฤต แต่ตัวชาวบ้านจะพูดภาษาปรากฤต หรือภาษาถิ่น

แต่สันสกฤตก็ไม่ได้เป็นราชาศัพท์ในตัวเองนะครับ เพราะใครมีการศึกษาย่อมใช้สันสกฤต แสดงสถานะทาง “การศึกษา” ของตัวมากกว่าอย่างอื่น

ราชาศัพท์จึงเป็นนวัตกรรมของเราอีกอย่างที่ผมเข้าใจว่าวัฒนธรรมแขกไม่มี และถ้ามีก็คงไม่เหมือน

เกี่ยวกับที่ที่ผมไปนั้น รัฐ “มหาราษฎร์” ด้านความเชื่อรัฐนี้มีความสำคัญที่โดดเด่นอยู่สามประการ

ประการแรก รัฐนี้ชาวบ้านถือกันว่าเป็น “บ้านของพระคเณศ”

ประการที่สอง รัฐนี้เต็มไปด้วย “นักบุญ” ในศาสนาฮินดู ซึ่งมีอิทธิพลต่อขบวนการสันติวิธีของชาวบ้าน และสามยังคงมีอะไรที่เป็นความเชื่อพื้นบ้านอยู่มาก

ที่ว่าเป็นบ้านของพระคเณศนั้น โดยการสังเกตแบบหยาบๆ ผมพบว่า รถยนต์แทบจะทุกคันล้วนแต่มีพระคเณศวางหน้ารถแบบเดียวกับพระหน้ารถของเรา ในบ้านช่องห้องหับ โรงแรมที่พักและออฟฟิศต่างๆ ก็ล้วนแต่พระคเณศทั้งสิ้น

งานใหญ่ที่สุดของแคว้นนี้คือ คเณศจตุรถีหรือคเณศมโหตสวะ เป็นงานที่โด่งดังระดับโลก แต่ละบ้านและชุมชน พากันสร้างเทวรูปสักการบูชาและแห่แหนอย่างอลังการ

ความน่ารักคืองานนี้ คือการท่องเที่ยวของรัฐไม่มีเอี่ยวหรือเป็นผู้จัด และแม้ว่ารัฐกับนักการเมืองจะพยายามเข้าไปอาศัยช่วงเวลานี้เป็นสปอนเซอร์และหาเสียงก็ตาม แต่เจ้าภาพของงานยังคงเป็นชาวบ้านและประชาชนทั่วไป

และเป็นงานที่ให้พื้นที่แก่ “เด็ก” มากกว่างานทางศาสนาอื่นๆ ทั้งหมดนะครับ ปกติผู้ดูแลเทพจะต้องเป็นพราหมณ์ โดยเฉพาะในเทวสถาน

แต่งานนี้ เด็กๆ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลพระคเณศ ไม่ว่าจะเด็กหญิงเด็กชาย เพราะพระองค์เป็นเพื่อนรักของเด็กๆ

การปล่อยให้งานตามประเพณีเป็นของชาวบ้าน ผมว่าทำให้ชาวบ้านรักษา “จิตวิญญาน” ของประเพณีเดิมไว้ได้ดีพอสมควร

ไม่ใช่งาน “จัดตั้ง” แบบไพร่เกณฑ์มาโชว์นักท่องเที่ยว จนนักเรียนที่แต่งชุดไทยแปลกๆ พากันลมจับเพราะเดินพาเหรดในอากาศร้อนๆ

อีกทั้งยังปล่อยให้เกิดความหลากหลายของวิถีด้วย เช่น แต่ละครอบครัว หรือชุมชนอาจมีประเพณี

ปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้าง ต่างคนต่างทำไปไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

ในบรรยากาศแบบนี้ ผมพบว่ามันงดงามมากทีเดียวครับ เป็นงานที่ไม่ว่ายากดีมีจนแค่ไหนก็มีส่วนร่วม แม้แต่พี่น้องต่างศาสนา เช่น มุสลิมและคริสเตียนต่างก็มาเป็นอาสาสมัคร ดูแลคนป่วย ตั้งโรงทาน ทำอะไรที่ถนัดกันไป โดยไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ว่าเป็นงานของศาสนาอื่น

สำนึกเช่นที่ว่านี้เกิดขึ้นได้ ผมว่าด้วยสาเหตุสองประการ คือ หนึ่ง สำนึกในความเป็นสมาชิกของชุมชนที่มีอยู่เหนือศาสนา ความภูมิใจในประเพณีท้องถิ่นของตัวที่อวดคนอื่นได้และสำนึกเช่นที่ว่านั้นคงเบ่งบานภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เน้น “ฆราวาสวิสัย” แบบที่อินเดียตั้งเป็นอุดมการณ์เอาไว้

สองคือ สำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ว่า งานคเณศจตุรถีในระดับรัฐนี้ เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะรวมเอาผู้คนที่แตกต่างกันไว้ให้มากที่สุดเพื่อต่อต้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษ

พระคเณศจึงถูก “เลือก” ให้เป็นเทพที่เหมาะที่สุดสำหรับวาระนี้ เพราะพระองค์ไม่มีข้อห้ามมากมาย เข้าได้ทุกชั้นชนและ “ไม่โกรธ” อีกทั้งพระองค์เองก็เป็น “ท้องถิ่น” เหมือนกัน

ผมคิดว่าสปิริตอันนี้ยังคงอยู่แม้จะผ่านมาเป็นร้อยปี เพราะทุกครั้งที่ไปตาม “ซุ้ม” พระคเณศของชุมชนหรือชาวบ้านยังคงมีรูปของ “พาล คงคาธร ดิลก” นักเรียกร้องเอกราชของอินเดีย ผู้ทำให้งานนี้กลายเป็นงานของรัฐประดับอยู่

เป็นเครื่องเตือนให้ผู้มาสักการะพระคเณศระลึกได้ว่า งานนี้มีภูมิหลังอย่างไร

ที่จริง ผมไม่แน่ใจนักว่าผมได้พบพระเจ้าหรือไม่ แต่แง่มุมหนึ่งที่พระเจ้าทรงเผยแสดงให้ผมเห็นคือ นอกจากความสง่างามของเครื่องประดับทองคำ แสงสีและเทวรูปมหึมา

ยังคงมีความยากจนข้นแค้น และผู้คนจำนวนมากที่ทนทุกข์ คนไร้บ้านที่นอนเกลือกกลิ้งตามข้างถนน ซึ่งปรากฏในทุกแห่งหน

ขณะที่ไม่ลืมพระคเณศที่อ้วนพีน่ารักและสุขสมบูรณ์ เราต้องไม่ลืม “พระเจ้า” ที่มาปรากฏในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

คือ “ทริทรนารายณ์” หรือ “พระเป็นเจ้าผู้ยากจน” ผู้ผ่ายผอมหิวโหย ซึ่งผู้คนมักจะหลงลืม

ในขณะที่เปี่ยมด้วยปีติก็ควรแบ่งอีกส่วนของหัวใจไว้สำหรับความเศร้าและเมตตาด้วย