เมนูข้อมูล : ต้นทาง “การศึกษาคุณภาพ”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการที่มาด้วยการใช้กำลังยึดอำนาจ หรือรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นโยบายหนึ่งที่มักจะประกาศว่าจะอำนวยให้เกิดขึ้นอย่างเอาจริงเอาจังคือ “การศึกษา”

ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่มีใครไม่รู้ว่า เรื่องที่เป็นความทุกข์หนักของประชาชนคนไทยมาตลอดคือ “การศึกษาของบุตรหลาน”

แม้ความวิตกกังวลจะเกิดขึ้นกับ “พ่อแม่-ผู้ปกครอง” ที่เป็นห่วงว่าลูกหลานจะได้ศึกษาในสถาบันที่ไม่ดีพอสำหรับความเจริญก้าวหน้าในอนาคต หรือต่ำกว่าเพื่อร่วมชนชั้น ขณะที่ “ลูกหลาน” ไม่หวาดวิตกในช่วงนี้สักเท่าไร ขอเพียงได้เรียนในแหล่งที่ได้อยู่กับเพื่อน ความวิตกนั้นแม้จะเกิดขั้นในช่วงแรก แต่จะหายไปในเวลาไม่นาน

ทว่า ความวิตกของเยาวชนจะกลับมาอีกครั้ง เมื่อถึงช่วงท่าต้องเปลี่ยนระดับชั้นเรียน หรือต้องออกไปหางานทำ ซึ่งคุณภาพของการศึกษาเล่าเรียนที่ผ่านมาจะส่งผลให้เห็นโอกาสว่ามีมาก น้อย หรือไม่มีเลย

เป็นความกังวลในเรื่องเดียวกับที่พ่อแม่ ผู้ปกครองห่วงใยล่วงหน้าไว้ข้างต้น

ความทุกข์ของผู้คนจึงเป็นที่รับรู้ของผู้ที่อยากได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนว่าจะต้องหาทางเยียวยาอย่างให้มีความหวัง

แต่เรื่องเหล่านี้มักแก้กันไม่ตรงจุด

ที่ผ่านมานโยบายทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเผด็จการหรือประชาธิปไตยจะมุ่งที่ไป “การเรียนฟรี”

ทำให้เป็นนโยบายที่เหนือกว่าด้วยการขยายระดับ “เรียนฟรี” ให้กว้างขั้น สูงขึ้นสูงขึ้น จาก “ประถม” เป็น “มัธยมต้น” ไป “มัธยมปลาย” จนประกาศจะให้ครอบคลุมถึง “ปริญญาตรี” ก็มีแล้ว

ซึ่งหากการอวดโอ่นโยบายที่เหนือกว่าดำเนินในด้วยสติปัญญาในครรลองนี้ ที่สุดแล้ว “เรียนฟรี” อาจจะขยายไปถึง “ปริญญาโท” และ “ปริญญาเอก” ตามลำดับในไม่นาน

และอาจจะเลยไปถึงระดับหรืออะไรต่ออะไรที่ก่อให้เกิดความคิดว่า “นโยบายที่เหนือกว่า”

ในเรื่องนี้หากดูจากผลสำรวจของ “กรุงเทพโพลล์” ล่าสุดเรื่อง “สอบเข้า ม.1 เด็กไทย…ค่านิยมกับความทุกข์ใจของผู้ปกครอง”

จะพบว่า เมื่อถามถึง “เหตุผลของการจัดสินใจเลือกโรงเรียนให้แก่บุตรหลานในการสอบเข้าศึกษาต่อชั้น ม.1 (ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ) พบว่า มีแค่ร้อยละ 25.2 เท่านั้นที่ตอบว่า “ค่าเทอมถูกกว่าเอกชน” ซึ่งเป็นคำตอบที่มีผู้เลือกน้อยที่สุด ที่มากสุดคือร้อยละ 65. เลือกที่ “ชื่อเสียงของโรงเรียน” ร้อยละ 63.7 ความสะดวกในการเดินทาง ร้อยละ 57.7 มั่นใจในระบบการเรียนการสอน

นั่นแปลว่า “เรียนฟรี” ไม่ใช่ความต้องการหลักของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลักของบุตรหลาน

คุณภาพที่มั่นใจในมาตรฐานการเรียนการสอน อันมี “ชื่อเสียงของโรงเรียนเป็นสัญญลักษณ์” ต่างหากที่เป็นที่ต้องการอย่างแท้จริง

ที่เห็นว่า “ชื่อเสียงของโรงเรียน” เป็นแค่ “สัญลักษณ์ของมาตรฐานคุณภาพ” นั้น ด้วยคำถามต่อไปของกรุงเทพโพลล์ที่ว่า “องค์ประกอบของระบบการศึกษาไทยที่หวังและอยากให้บุตรหลานได้รับในยุคไทยแลนด์ 4.0” (ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ)

ร้อยละ 72.6 อยากให้การเรียนการสอนมีมาตรฐานเท่ากันทุกโรงเรียน ว่าควรมีการจัดระดับ ร้อยละ 59.0 อยากให้ยกเลิกค่านิยมโรงเรียนดัง คู่/อาจารย์มีความทันสมัย เข้าใจหลักสูตร ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ร้อยละ 51.7 อยากให้รัฐบาล ผู้บริหารการศึกษาของประเทศสนับสนุนค่าเทอม ร้อยละ 48.0 อยากให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างโอกาสเท่าเทียมกันทางการศึกษา หลักสูตรสอดคล้องกับยุคสมัย เข้าใจเด็กยุค GEN Z

อันเป็นความเห็นที่ชัดเจนว่า อยากจะออกไปจากการดิ้นรนเพื่อเข้าโรงเรียนดัง

ดังนั้น ถ้าจะเขียนนโยบายด้านการศึกษาเพื่อให้ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่ ควรจะเน้นที่การสร้างมาตรฐานให้โรงเรียนต่างๆ มีความเท่าเทียมกันในเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนให้มากที่สุดมากกว่า

ซึ่งนโยบายที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของคุณภาพโรงเรียนนี้ แนวโน้มของผู้มีอำนาจที่จะนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงมากกว่าคือ “รัฐบาลประชาธิปไตย”

เพราะ “ความเท่าเทียม” นั้นเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ส่วน “รัฐบาลเผด็จการ” ย่อมเคยชินกับการใช้อำนาจ การใช้กำลังที่เหนือกว่า ซึ่งเป็นการยากที่จะตระหนักถึงคุณค่าของความเท่าเทียม