สงกรานต์ “ตีม” ไทย

สงกรานต์ปีนี้คงละลานไปด้วยชุดไทย

โดยเฉพาะไทยโบราณประยุกต์ รวมไปถึงชุดพื้นถิ่น หรือชุดที่พยายามแสดงความเป็นไทย

แน่ละ เป็นกระแสละครดัง แต่ทางรัฐที่กระโดดเข้าเกาะ ก็พยายามผลักดันเต็มแรง

ขนาดเปิดทำเนียบ 4.0 กระทบไหล่ดารา ต่อบทกันสนุกสนานเฮฮา

ผมไม่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ แม้จะเชื่อว่าเป็นเรื่องกลวงๆ ไม่มีอะไรจริงจังนัก อีกสักพักงานเลี้ยงก็เลิกรา และมีสิ่งใหม่มาให้เห่อแห่ตามกันไป

นอกจากไม่หงุดหงิด ยังรู้สึกยินดี เพราะตัวสามารถเข้าใจยุคสมัยได้มากขึ้น

นี่เป็นยุคที่งานต้องมีคอนเซ็ปต์ หรือแนวคิดหลัก จนคำว่า “ตีม” ซึ่งเดิมทีใช้กันเฉพาะในแวดวงวรรณกรรม กลายมาเป็นเรื่องของชาวบ้าน ใครก็สามารถเข้าใจได้

การจัดงานต้องมีตีม!

แต่งงาน เลี้ยงรุ่น เลี้ยงพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องมีตีม เป็นโทนสี เป็นแนวเฉพาะ เคาบอย ลูกทุ่ง ฮิปปี้ กองทัพ…

ทั้งเป็นยุคสมัยที่งานอีเวนต์แพร่หลาย กระทั่งกลายเป็นธุรกิจ จัดงานแถลงข่าว เปิดตัว ฉลอง ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ประสบความสำเร็จ

ผมจึงรู้สึกยินดีกับสงกรานต์ตีมไทย

อย่างน้อยสุด เราจะได้เห็นสงกรานต์ในสีสันใหม่ เป็นแบบเฉพาะ แสดงภาพงานเทศกาลที่เป็นของเรา สิ่งที่จะปรากฏต่อแขกผู้มาเยือน พวกเขาได้เห็นว่า สงกรานต์มีอะไรมากกว่าการทำสงครามสาดน้ำ

สิ่งที่ผมเห็นในพื้นที่สังคมออนไลน์ คนไทยในต่างประเทศ บางส่วนก็เริ่มเคลื่อนไหวแต่งชุดไทย ระดับประณีตอลังการ เผยแพร่ไปในวงกว้าง

อย่างน้อยสงกรานต์ตีมไทย ก็แต่งองค์ทรงเครื่องมิดชิดมากขึ้น ความละเอียดอ่อนประณีตของการตกแต่ง เสื้อผ้าแพรพรรณ อาจจะช่วยให้การละเล่นสุภาพและเกิดความเคารพกันมากขึ้น

สงกรานต์ตีมไทย คงเป็นเรื่องเฉพาะน่าสนใจมากขึ้น ถ้าเพลาการเมามายลง ถือโอกาสหลบร้อนเข้าร่ม อ่านหนังสือจินดามณี โหมซื้อกันมาจนขาดตลาด หรือจะเลือกค้นคว้าประวัติศาสตร์ลึกบางยุคสมัย

ผมรู้ว่า งานเลี้ยงต้องเลิกรา ประสางานอีเวนต์ แต่กระแสที่โหมกระหน่ำแบบทะลักทลาย ควรจะทิ้งบางสิ่งไว้ เหมือนกระแสเห่อวิ่งทางไกลแบบตูน บอดี้สแลม หรือความนิยมการปั่นจักรยาน ที่ยังพอมีคนปฏิบัติกันอยู่ต่อเนื่องไม่น้อย

เอาเป็นว่า เตรียมชุดไทยกันแล้ว แต่งเป็นพี่ขุน พี่หมื่น ออกญา แม่นางผู้ดีแปดสาแหรก ก็ควรต้องเพิ่มความรู้จักสงกรานต์ ในฉบับแบบแผนไทยไว้บ้าง

ให้เป็นความเข้าใจร่วมกัน

 

เอกสารที่ผมพบ เป็นของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่เมื่อปี 2537 ไม่แน่ใจว่าจะยึดถือเอาเป็นทัศนะทางการได้หรือไม่ แต่อาจจะพอกล้อมแกล้มจับเอาความรู้ อิงเป็นหลักให้คิด ปฏิบัติ ในการดำเนินกิจกรรมตามแบบฉบับ

สงกรานต์ คือ ช่วงพระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่

ตกอยู่ในช่วงวันที่ 13-14-15 เมษายนของทุกปี

13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ การก้าวขึ้นครั้งใหญ่ในรอบปี ขณะ 14 เมษายน เป็นวันเนา วันพระอาทิตย์เข้าที่เข้าทางในการย่างเข้าราศีใหม่ และ 15 เมษายน วันเถลิกศก วันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่

ในปี 2525 คณะรัฐมนตรีลงมติให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ กำหนดแผนระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุ ด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา สังคม วัฒนธรรม ความมั่นคงทางรายได้และการทำงาน ด้านสวัสดิการสังคม

ปี 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับสู่ครอบครัวในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักในความสำคัญ และช่วยกันสร้างครอบครัวให้อบอุ่นมั่นคง

ช่วงสงกรานต์จึงบรรจุเอาความหมายทางสังคมเอาไว้หลายซับหลายซ้อน

 

เสฐียรโกเศศ ให้ความหมายว่า ประเพณีสงกรานต์ เป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี มีการทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญให้ทาน สรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ ละเล่นสาดน้ำ

ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ อธิบายว่า วันสงกรานต์ คือ วันปีใหม่ของไทย มีการเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญให้ทาน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เล่นสาดน้ำ และมีการละเล่นรื่นเริง

จากความหมายดั้งเดิมเหล่านี้ ผนวกเข้ากับความหมายใหม่ทางสังคม คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แต่งตั้งอนุกรรมการศึกษา พิจารณาถึงความหมายอันเหมาะควรกำหนด

เห็นว่า วันสงกรานต์ คือ วันแห่งความเอื้ออาทร

ความมีน้ำใจ การมีสัมมาคารวะและกตัญญู การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม

เป็นมรดกอันล้ำค่า เมื่อเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ทรงคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา ผู้คนผูกโยงกันด้วยสายใยแห่งญาติมิตรอย่างใกล้ชิดแน่นเหนียว

ทั้งอาจปลูกฝังและเพิ่มพูนจิตอาสาให้ก่อเกิดในหมู่คนรุ่นใหม่

ร่วมแรงร่วมใจทำความสะอาดบ้าน โรงเรียน วัด สาธารณสถานในท้องถิ่น…

หากเป็นได้ดั่งนี้ สงกรานต์ตีมไทย จึงจักก้าวทะลุเปลือก ก่อเกิดประโยชน์สมบูรณ์