วงค์ ตาวัน : ร่ำร้องกันต่อไป

วงค์ ตาวัน

เสียงตะโกนร้องว่า “ที่นี่มีคนตาย” ดังขึ้นอีกครั้งเมื่อค่ำวันที่ 10 เมษายน 2561 ที่บริเวณถนนดินสอ ย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงแยกคอกวัว โดยบรรดาญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง ระหว่างวันที่ 10 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2553 ที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 99 ศพ

ปีนี้ เป็นการครบรอบ 8 ปีของเหตุการณ์นองเลือด และการล้มตายของประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง ด้วยจำนวนศพที่มากที่สุดกว่าทุกเหตุการณ์ในบ้านเมืองเรา

มากกว่า 14 ตุลาคม 2516 มากกว่า 6 ตุลาคม 2519 และมากกว่าพฤษภาคม 2535

ไม่เพียงการปราบปรามในปี 2553 จะมีคนตายมากที่สุด แต่ความพัฒนาก้าวหน้าของเครื่องมือต่างๆ ทำให้ประชาชนมีอุปกรณ์สำหรับการบันทึกภาพหลักฐานเอาไว้อย่างมากมายที่สุด

ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถแสวงหารายละเอียด พยานหลักฐานได้มากมาย จนทำให้คดีดำเนินไปได้ค่อนข้างดี

แต่ไปๆ มาๆ จนบัดนี้ กลับไม่ปรากฏมีคดี 99 ศพ อยู่ในสารบบของกระบวนการยุติธรรมไทย

ยังไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการได้เลย!?!

การเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมให้กับคนตาย จึงต้องดำเนินต่อไป ไม่มีวันสิ้นสุด

ประการหนึ่ง จะปล่อยให้คดีฆ่าประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่มีพยานหลักฐานเยอะแยะไปหมด แต่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เท่ากับจะยอมให้ผ่านเลยไปเฉยๆ ได้อย่างไร

ประการต่อมา ขนาดมีร่องรอยการเข่นฆ่ามากมายขนาดนี้ แต่ไม่สามารถดำเนินคดีอะไรได้ ในอนาคตก็คงฆ่ากันอีกอย่างสนุกมือ คนใช้อำนาจจะไม่มีความเกรงกลัวใดๆ

จึงกล่าวได้ว่า จะปล่อยให้คดี 99 ศพจบไปเงียบๆ ไม่ได้ จะปล่อยให้คนร่วมร้อยตายฟรีไม่ได้

ผ่านมาแล้ว 8 ปี ก็ยังต้องมาร้องตะโกน “ที่นี่มีคนตาย” กันต่อไป!

ผลจากเหตุการณ์สลายม็อบปี 2553 มีส่วนทำให้คนในต่างจังหวัดจำนวนมาก ที่สูญเสียคนในครอบครัวไป แห่กันออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยจนชนะถล่มทลาย ในการเลือกตั้งปี 2554 ทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ และเริ่มมีการดำเนินคดีค้นหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ 99 ศพ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลัก

มีการรวบรวมหลักฐานที่มีประชาชน สื่อมวลชน บันทึกเอาไว้จำนวนมาก ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ

เห็นหน่วยทหารภายใต้คำสั่งของ ศอฉ. เล็งยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม

เห็นการใช้หน่วยสไนเปอร์ซุ่มยิงระยะไกล ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เอาสไนเปอร์มาร่วมสลายม็อบ!!

ขณะเดียวกัน ดีเอสไอได้ระดมหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ประสานกับกองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตรวจสอบวิถีกระสุนปืน ที่ยิงใส่ประชาชนจนล้มตายในแต่ละศพ แต่ละจุด จนได้พยานหลักฐานทางคดีอย่างละเอียด หนักแน่น

จากคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 คืนแรกของการเข่นฆ่า มีคนตายในวันนั้น 27 ศพ เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 ศพ

ดีเอสไอ สามารถไล่จุดที่ผู้เสียชีวิตนอนตายแต่ละจุด แล้วหาต้นตอของวิถีกระสุน ประสานเข้ากับภาพถ่ายและวิดีโอของประชาชนและสื่อมวลชน จนเป็นรูปเป็นร่าง

รวมไปถึงศพอื่นๆ ที่ทยอยถูกยิงตายไปจนถึงวันสุดท้ายของการชุมนุมคือ 19 พฤษภาคม รวมทั้งสิ้น 99 ศพ

จากนั้น ดีเอสไอได้ทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ โดยทยอยส่งขึ้นศาลให้พิจารณา เมื่อสามารถรวบรวมพยานหลักฐานในรายนั้นๆ ได้ชัดเจน

หลังการไต่สวน ศาลได้มีคำสั่งออกมาแล้ว จำนวน 17 ศพ ว่าตายด้วยปืนจากฝั่ง ศอฉ. หรือตายด้วยกระสุนที่ยิงจากเจ้าหน้าที่ ศอฉ.

จุดสำคัญสุดคือ เหตุการณ์เย็นจนถึงค่ำของวันที่ 19 พฤษภาคม หลังจากแกนนำเสื้อแดงถูกจับตัวไปหมดแล้ว เหลือผู้หลบภัยเข้าไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม ประมาณ 2 พันคน ที่หน้าวัดขึ้นป้ายผ้าตัวใหญ่ว่าเขตอภัยทาน

แต่แล้วกลับมีผู้ถูกยิงตายอีก 6 ศพ พยานพื้นๆ ก็คือคนนับพันในวัด ทุกคนเห็นด้วยตาตัวเองว่า กระสุนปืนที่ยิงเข้ามาใส่วัดนั้น ยิงจากบนรางรถไฟฟ้าหน้าวัด และยิงจากพื้นราบอีกส่วนหนึ่ง

ถ้ามีชายชุดดำมาเข่นฆ่าผู้ชุมนุมแล้วป้ายสีใส่ ศอฉ. ดังที่รัฐบาลพยายามจะอธิบายจริง

มีหรือคนนับพันสายตาจะไม่เห็น!?

หลักฐานสำคัญของเหตุวัดปทุมฯ ก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจบนตึกสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ถ่ายภาพวิดีโอเอาไว้ เห็นเจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ที่หมวกเหล็กติดริบบิ้นสีชมพู สัญลักษณ์บอกฝ่ายที่ ศอฉ. ใช้ ในวันเข้ายึดราชประสงค์

ทหารบนรางรถไฟฟ้าหลายนาย ประทับปืนเล็งยิงเข้าใส่ภายในวัด โดยคนยิงไม่มีใครต้องก้มหลบ

ตำรวจ ตชด. ที่ร่วมในทีมถ่ายวิดีโอเบิกความในศาลว่า ตามประสบการณ์การสู้รบ ชัดเจนว่า ถ้ามีการยิงตอบโต้ต้องก้มหลบ แต่นี่ยิงสบายๆ แปลว่าไม่มีการยิงจากภายในวัดขึ้นมาเพื่อต่อสู้ เป็นการเล็งยิงฝ่ายเดียว!

สำหรับ 6 ศพวัดปทุมฯ นี้ ศาลชี้ผลชันสูตรพลิกศพว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ศอฉ. บนรางรถไฟฟ้ายิง ด้วยดีเอสไอตรวจวิถีกระสุนได้ชัดเจน มีร่องรอยกระสุนจำนวนหนึ่งบนพื้นหน้าวัด ที่ตรวจสอบแล้วตรงกับการยิงจากรางรถไฟฟ้าลงมา

ศาลสรุปว่า 6 ศพวัดปทุมฯ ตายด้วยปืน ศอฉ. จากบนรางรถไฟฟ้า และอีกชุดที่ยิงจากพื้นราบหน้าวัด เหตุการณ์นี้ไม่มีชายชุดดำยิงต่อสู้ ดังที่ฝ่าย ศอฉ. อ้าง

จากคำสั่งศาลทั้ง 17 ศพ ที่ชี้ว่าตายด้วยปืน ศอฉ. ทำให้ดีเอสไอต้องนำมารวบรวมเป็นคดีอาญา เพื่อตั้งข้อหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในฐานะผู้ตั้ง ศอฉ. และอนุญาตให้ใช้ทหารเข้าสลายม็อบ ให้ใช้กระสุนจริงได้

ที่บ่งบอกอะไรมากมายอีกประการ ก็คือ รัฐบาลอ้างว่า มีชายชุดดำ มีผู้ก่อการร้าย จึงให้ใช้ทหารเข้าแก้ไขสถานการณ์ และให้ใช้กระสุนจริงได้

แต่ลงเอยที่ตายทั้ง 99 ศพ เว้นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 ราย นอกนั้นเป็นชาวบ้าน ไม่มีศพไหนที่มีอาวุธ เป็นชายชุดดำหรือผู้ก่อการร้ายแม้แต่ศพเดียว

แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่า การใช้ทหารและกระสุนจริงนั้น สมควรแก่เหตุหรือ!?

เมื่อศาลชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพแล้ว จากนั้นดีเอสไอนำไปทำเป็นสำนวนคดีอาญา แล้วนำสำนวนเสนออัยการ และอัยการมีความเห็นให้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในข้อหาทางคดีอาญา แต่เมื่อถึงศาล ฝ่ายนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายว่า คดีนี้เป็นเรื่องของการใช้ตำแหน่งหน้าที่ ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว จึงไม่ใช่คดีทางอาญา ต้องเป็นคดีทางด้าน ป.ป.ช.

จากนั้น ศาลอาญาได้มีคำสั่งยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ขอบเขตอำนาจศาลอาญา เห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.

เท่ากับว่าคดี 99 ศพ ได้หลุดจากสารบบคดีอาญาไปแล้ว เหลือเพียงต้องไปไต่สวนใน ป.ป.ช. ซึ่งก็มิใช่ข้อหาด้านการฆ่า ไม่ใช่คดีฆาตกรรม

แต่ลงเอย ป.ป.ช. ก็ยังเงียบอยู่

เท่ากับว่าในวันนี้ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ เพื่อพิสูจน์ความเป็นธรรมให้กับคนตาย

มิหนำซ้ำ นายธาริตและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ที่ค้นหาความจริง รวบรวมพยานหลักฐาน กลับต้องตกเป็นจำเลยในศาลอาญา ด้วยถูกนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพฟ้องกลับ

ทั้งหมดทั้งมวล นายอภสิทธิ์และนายสุเทพ ยังไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ในเรื่องคนตายร่วมร้อยศพเลย!!

จึงเป็นหน้าที่ของญาติมิตรคนตาย ที่จะต้องดิ้นรนหาความเป็นธรรม ต้องไม่ให้คนร่วมร้อยต้องตายฟรีกันต่อไป

เป็นหน้าที่ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง ที่ต้องไปทวงถามกับ ป.ป.ช. อย่างอดทนไม่ท้อถอยต่อไป

เสียงตะโกนร้อง ที่นี่มีคนตาย จึงต้องตะโกนกันต่อไป!