‘สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ กับจากการมาถึงการอำลาจาก ตอนที่ 6

จรัญ มะลูลีม

งานเขียนภาษาไทย

เท่าที่รับรู้ ดร.สุรินทร์ มิได้เขียนหนังสือที่เป็นภาษาไทยมากนัก

มีอยู่เล่มหนึ่งที่เขามาให้สำนักพิมพ์ทางนำซึ่งเป็นสำนักพิมพ์มุสลิม ที่ผมเคยเป็นบรรณาธิการอำนวยการอยู่จัดพิมพ์

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความที่ ดร.สุรินทร์เขียนขึ้นเพื่อแสดงทัศนะของเขาที่มีต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ โลกมุสลิมและมุสลิมในประเทศไทย

รวมทั้งแนวคิดของนักคิดด้านปรัชญาทางการเมืองของโลก (จากเพลโตถึงนักปรัชญาทางการเมืองปัจจุบัน) ไปจนถึงปัญหาปาเลสไตน์

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสนใจทั้งการเมืองโลก การเมืองไทยและโลกมุสลิมมายาวนาน

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า ด้วยจิตสำนึก ตีพิมพ์ในราวปี 2528 อันเป็นช่วงของการเข้าสู่การมีชีวิตคู่ของเขา

ทั้งนี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ใช้ชีวิตคู่กับคุณอลิสา พิศสุวรรณ ซึ่งมีความเป็นญาติทางฝ่ายพ่อของผมที่มาจากจังหวัดฉะเชิงเทราจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิตเป็นเวลา 35 ปีเต็ม

 

แปลหนังสือยากกว่าเขียนหนังสือ

ในระหว่างเดินทางไปอินเดีย เมื่อปี 2556

วันท้ายๆ ของการเดินทาง ผมนอนห้องเดียวกับ ดร.สุรินทร์

ก่อนนอนผมนั่งแปลหนังสืออยู่ ส่วน ดร.สุรินทร์อ่านหนังสือ

มีช่วงหนึ่ง ดร.สุรินทร์พูดว่า คนทั่วไปคิดว่าการเขียนหนังสือง่ายกว่าแปลหนังสือ

แต่ความจริงแล้วการแปลหนังสือยากกว่า

ผมคิดว่า ดร.สุรินทร์คงหมายถึงการแปลที่ต้องถ่ายทอดงานของผู้เขียนด้วยความเคารพผู้เขียนมากกว่าการเรียบเรียง

 

แพ้ควันบุหรี่อย่างแรง

ในคราวที่เดินทางไปประชุม OIC ที่ประเทศบูร์กินาฟาโซ เช่นกัน

ขณะนั่งอยู่ที่ภัตตาคารในเมืองหลวงวากาดูกู มีผู้ที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆ สูบบุหรี่และควันบุหรี่ลอยมาถึง ดร.สุรินทร์ ปรากฏว่ากล้ามเนื้อบนไหล่ของ ดร.สุรินทร์ถึงกับกระตุก

ตั้งแต่นั้นมาผมจึงรู้ว่า ดร.สุรินทร์เป็นคนแพ้ควันบุหรี่อย่างแรง

 

ดร.สุรินทร์กับปอเนาะที่เขาผูกพัน

ที่น่าสนใจก็คือ ดร.สุรินทร์ นั้นเติบโตมากับการศึกษาด้านศาสนาที่ปอเนาะบ้านตาล (ประทีปศาสน์) นครศรีธรรมราช พร้อมๆ ไปกับการศึกษาสายสามัญ

ด้วยเหตุนี้ ดร.สุรินทร์จึงมีความภูมิใจอยู่เสมอกับบรรยากาศของปอเนาะที่ทำให้เขามีความใกล้ชิดกับพุพการี

และผู้คนที่ส่งบุตรหลานจากจังหวัดต่างๆ มาเรียนที่ปอเนาะแห่งนี้พร้อมๆ ไปกับความเติบโตทางจิตวิญญาณและการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีดุลยภาพในเวลาเดียวกัน

ปอเนาะบ้านตาลตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของคุณแม่เศาะฟียะฮ์ ซึ่งเป็นคุณแม่ของ ดร.สุรินทร์มากนัก

ปอเนาะแห่งนี้ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติอันงดงาม มีสภาพป่าที่เขียวขจี

ลำธารที่นักเรียนปอเนาะใช้อาบน้ำละหมาดก่อนจะเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าที่ใสสะอาดและไหลเอื่อย

ปอเนาะแต่ละหลังที่เรียงรายกันอยู่คือแหล่งพำนักอันสันติ (Abode of Peace) สำหรับผู้ที่ค้นหาความสงบทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งเหมาะสมแล้วกับธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่รายรอบ

ธรรมชาติแบบนี้เองที่นำไปสู่ความคิดคำนึงถึงอำนาจอันสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้าที่มอบหมายให้มนุษย์ได้เดินอยู่บนวิถีทางที่ถูกต้อง สันติสุข และการมอบตนต่อพระองค์

สำหรับผู้ที่เข้าใจปอเนาะย่อมรู้ว่าปอเนาะคือแหล่งถ่ายทอดคุณธรรมดั้งเดิมที่ช่วยให้สังคมมีความร่มเย็นมาโดยตลอด

หากแต่การเปลี่ยนผ่านในภาคใต้โดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้นั่นเองที่มีผู้นิยามปอเนาะไปในทิศทางตรงกันข้าม

 

อาจกล่าวได้ว่าปอเนาะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับตั้งแต่มีชุมชนมุสลิมเกิดขึ้น

เป็นวิธีการศึกษาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และจากการศึกษาแบบปอเนาะนี่เองได้ก่อให้เกิดผู้นำศาสนาและนักการศาสนาที่มีบทบาทต่อสังคมมุสลิมจำนวนมาก

ในจำนวนนี้มีหลายคนที่ศึกษามาจากผู้รู้ชาวปัตตานี และขยายขอบเขตการศึกษาด้วยการผลิตตำราเผยแพร่เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้เป็นครู นับได้ว่าการถ่ายทอดคุณธรรมทางศาสนาอันเป็นวิถีชีวิตของชาวมุสลิมดังกล่าวนี้ยังคงดำรงความสำคัญอยู่จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกมีการเปลี่ยนผ่าน ความจำเป็นของชีวิตที่จะต้องเรียนรู้ทั้งทางโลก (temporal) และทางธรรม (spiritual) ไปพร้อมๆ กันก็เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมาปอเนาะจึงได้รวมเอาความสำคัญทั้งทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในที่สุด

แม้ว่าสายน้ำแห่งปอเนาะบ้านตาลยังคงไหลผ่านเส้นทางเดิม ธรรมชาติและความงามของท้องทุ่งและป่าเขายังมิได้เปลี่ยน

แต่ความจำเป็นในการพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เยาวชนในพื้นที่และที่อยู่ห่างไกลได้เข้าสู่โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรู้เท่าทันก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในที่สุดปอเนาะบ้านตาลก็ได้ปรับเข้าสู่การพัฒนาที่รวมเอาการศึกษาทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสมดุลของชีวิตมากขึ้นตามความหมายของอิสลามที่ยืนยันว่าจะต้องให้เกิดความสอดคล้องขึ้นอย่างแท้จริงระหว่างการไม่เป็นผู้สุดโต่งทางจิตวิญญาณ (ultra spiritualist) และความไม่เป็นผู้สุดโต่งทางวัตถุ (ultra materialist)

ดังนั้น อิสลามจึงให้ความสนใจทั้งโลกนี้และโลกหน้า รวมทั้งการเป็นอยู่ที่ดีทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าในเวลาเดียวกัน

 

ใกล้ๆ กับปอเนาะบ้านตาลมีเรือนไม้หลังใหญ่ที่คุณแม่เศาะฟียะฮ์อยู่อาศัยกับลูกๆ ในระยะต่อมา นอกจากบ้านหลังนี้จะเป็นที่พบปะของลูกศิษย์ลูกหาในปอเนาะบ้านตาลและผู้ที่มาจากแดนไกลแล้วยังเป็นศูนย์รวมของการพบปะกับประชาชนในพื้นที่อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิม ชาวพุทธ หรือชาวบ้านที่มาหาผู้แทนของพวกเขา

บ้านหลังนี้เองที่ ดร.สุรินทร์ถือกำเนิดขึ้นและได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่ออยู่บ้านที่ท่าศาลา ดร.สุรินทร์จะแต่งตัวด้วยเสื้อคลุมยาวและหมวกกะปิเยาะฮ์ขาวที่สะดวกสบาย

เขาเล่าให้ผมฟังว่าสมัยที่เรียนหนังสือภาคสามัญ เขาต้องเดินทางไกลมาก เขาพูดพร้อมกับโชว์กล้ามขาให้เห็นว่าความเข้มแข็งของกล้ามขานี้มาจากการเดินทางด้วยจักรยานไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดบ้านตาลซึ่งอยู่ไกลจากบ้านถึง 10 กิโลเมตร

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดร.สุรินทร์เป็นเลขาธิการอาเซียนที่ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากปอเนาะและการศึกษาสามัญทั้งจากประเทศไทยและโลกตะวันตกจึงมีความเข้าใจดีถึงการเปลี่ยนผ่านของชุมชนมุสลิมที่เขาเติบโตมา

และเข้าใจดีว่าชัยชนะทางการศึกษาเป็นกุญแจดอกสำคัญในการยกระดับการดำรงชีวิตของชาวมุสลิมที่จะต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน ทั้งทางโลกและทางธรรม