วิกฤตศตวรรษที่21 / การต่อสู้ทางการผลิต-การค้า: กรณีสหรัฐ-จีน

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (16)

การผลิตและการค้าในระบบทุนนิยม โดยธรรมชาติเป็นการแข่งที่ดุเดือดรุนแรงในตัว ถึงขั้นก่อสงครามน้อยใหญ่ในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา

หลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงได้มีความคิดจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลระเบียบการค้าโลก หลังจากเจรจาอยู่นานโดยมีสหรัฐและตะวันตกเป็นแกน

ได้เกิดเป็นองค์การการค้าโลกขึ้นในที่สุด ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาความขัดแย้งทั้งหลายลงได้ในระดับหนึ่ง

แต่ไม่สามารถแก้ไขการแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงตามธรรมชาติของมันได้

ในขณะนี้เห็นได้ชัดองค์การการค้าโลกไม่สามารถระงับยับยั้งไม่ให้สหรัฐเที่ยวแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ตามอำเภอใจได้

และก็ไม่สามารถยับยั้งไม่ให้สหรัฐก่อหวอดสงครามการค้าขึ้นได้เช่นกัน

ทำท่าจะกลายเป็นองค์การเสือกระดาษไปอีกองค์การหนึ่ง

การผลิตและการค้าในระบบทุนนิยม ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงใน 3 ด้านใหญ่คือ

ก) ความขัดแย้งกับทรัพยากรธรรมชาติ เกิดผลได้หลายอย่าง ได้แก่ เกิดสงครามแย่งทรัพยากร การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป การเกิดมลพิษต่างๆ ไปจนถึงเรื่องโลกร้อน เป็นต้น

ข) ความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน ที่ต่างฝ่ายต้องการส่วนแบ่งจากผลผลิตมากขึ้น ที่ชัยชนะมักตกอยู่กับฝ่ายนายทุน บ่มความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงานให้ระอุร้อน พร้อมระเบิดขึ้นมาได้ทุกที่ และท้ายสุด

ค) ความขัดแย้งระหว่างนายทุนด้วยกัน โดยทั่วไปทุนใหญ่กินทุนเล็ก ทุนที่ใช้เทคโนโลยีและการจัดการสูงชนะทุนที่ใช้เทคโนโลยีและการจัดการต่ำกว่า ทั้งหมดทำให้เกิดการขยายตัวของช่องว่างระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ระหว่างมนุษย์กับการทำงาน และระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง

การต่อสู้ทางการผลิต-การค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เห็นแต่ปรากฏการณ์ที่เป็นการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ-การค้า แต่ที่จริงพ่วงเอาความขัดแย้งในมิติอื่นตามไปด้วย ลำพังเฉพาะมิติเศรษฐกิจ-การค้าก็แก้ไขได้ยากอยู่แล้ว ถ้าหากรวมเอาความขัดแย้งมิติอื่นก็ยิ่งแก้ไขยากขึ้นมาก การต่อสู้นี้จึงมีความยืดเยื้อ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

แม้ว่าจะมีความพยายามเจรจากันอย่างหนักจากทั้งสองฝ่าย เพื่อป้องการไม่ให้สงครามการค้าที่เริ่มก่อหวอดขึ้น ไม่ขยายตัวไปจนควบคุมไม่ได้

สถานการณ์การต่อสู้ทางการผลิต-การค้าสหรัฐจีนเป็นอย่างไร

สถานการณ์เด่นได้แก่ความสำเร็จของจีน ที่สำคัญคือการทำสี่ทันสมัยได้สำเร็จ

สามารถสร้างฐานเกษตร-อุตสาหกรรมที่แข็งแรงทันสมัย

กวดไล่ทางเทคโนโลยีและการทหารกระชั้นเข้าไปทุกที

แก้ปัญหาความยากจน ยกมาตรฐานการครองชีพผู้คนจำนวนมากสู่ชนชั้นกลางโดยยกระดับค่าจ้างแรงงานโดยตลอด

ขยายขนาดเศรษฐกิจและการเติบโตระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

อาศัยความได้เปรียบทางดุลการค้า ส่งเสริมการออมและการลงทุนในระดับสูง

รักษาการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ โดยขยายฐานจากชนชั้นกรรมกร-ชาวนา ไปสู่ชนชั้นนายทุนและนายทุนน้อยหรือชนชั้นกลาง

ในทางสากลสามารถผูกมิตรได้อย่างกว้างขวางโดยผ่านการค้า-การลงทุน และการทูตแบบหว่านเสน่ห์ รุกเข้าไปในทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา บริเวณหมู่เกาะทะเลใต้ในแปซิฟิก เอเชียกลาง แม้ในภูมิภาคมหาตะวันออกกลาง ที่สหรัฐทุ่มเททำศึกมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ก็ยังแทรกเข้าไปได้ในอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย เป็นต้น

ในยุโรป จีนก็สามารถผูกมิตรกับประเทศใหญ่อย่างเช่นอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี

ความสำเร็จขั้นแรกผ่านไปแล้ว เหลือขั้นสำคัญในการแซงหน้าสหรัฐ ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลนัก ประมาณกันว่าราวอีกสิบปีข้างหน้า ถ้าหากว่าทุกอย่างเป็นอย่างที่เคยเป็นเหมือนเมื่อสามสิบปีมาแล้ว แต่โลกและประเทศจีนในขณะนี้ก็ขัดสน ซับซ้อน เปราะบาง และมีปัญหามากกว่าเดิมเป็นอันมาก

สถานการณ์ในอีกด้านหนึ่งได้แก่ สหรัฐที่เสื่อมถอยจนหมดสภาพที่จะเป็นผู้นำทางอุดมการณ์ เศรษฐกิจ การทหารและการเมืองแบบเดิมเช่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เดินแนวทางโจมตีก่อนในด้านต่างๆ ตั้งแต่แซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ปิดล้อมให้โดดเดี่ยวทางการเมือง การทำสงครามข่าวสารสร้างข่าวปลอม เป็นต้น

ไปจนถึงใช้ปฏิบัติการทางทหารทั้งที่ลับและเปิดเผย เพื่อเปลี่ยนระบบแบ่งแยกดินแดนและอื่นๆ

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ใช้สงครามพันทางที่มีราคาแพงและได้ผลน้อยลงทุกที จึงต้องใช้การโจมตีก่อนที่เข้มข้นขึ้นอย่างที่ปฏิบัติในขณะนี้

ทางฝ่ายจีนนั้นปัจจุบันใหญ่เกินกว่าที่สหรัฐจะกดดันง่ายๆ เพราะแม้แต่การกดดันต่อรัสเซียที่มีประชากรไม่ถึง 150 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าของสหรัฐมากก็ยังไม่สำเร็จ

ดังนั้น จีนจึงใช้วิธีตอบโต้อย่างค่อนข้างสุขุม ซึ่งนักวิจารณ์บางคนเห็นว่าเงียบเกินไป

เช่น เมื่อทรัมป์ประกาศโผงผางขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าเป็นร้อยละ 25 และอะลูมิเนียมร้อยละ 10 โดยอ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ (ซึ่งชาติใดก็สามารถอ้างเช่นนั้นได้)

ต่อมายังเกทับด้วยการจัดทำบัญชีสินค้ากว่าพันรายการเพื่อขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทางด้านไฮเทค เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากจีน ตั้งเป้าไว้จะได้เงินภาษีเพิ่ม 6 หมื่นล้านดอลลาร์

และจะจำกัดการลงทุนของจีนในด้านนี้ด้วย โดยอ้างเหตุที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเวลานานหลายปี

จีนก็ตอบโต้ด้วยการประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้ากว่าหนึ่งร้อยรายการจากสหรัฐ รวมมูลค่าภาษีที่จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นเงินเพียง 3 พันล้านดอลลาร์

ซึ่งจีนได้แถลงภายหลังว่าเป็นการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม

การตอบโต้รายการหลังกำลังทำอยู่ เพียงแต่สำทับว่าจีนจะรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของตนจนถึงที่สุด ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่สหรัฐ

การที่จีนมีท่าทีเช่นนี้คงเนื่องด้วยจีนเห็นว่าการค้าระหว่างประเทศไม่ใช่การเล่นเกม “แพ้-ชนะ” ไปเสียทั้งหมด มีด้านที่ “ชนะ-ชนะ” อยู่ด้วย เพราะแม้ชาติหนึ่งจะเสียเปรียบดุลการค้า แต่ก็ได้สินค้าสนองการบริโภคในประเทศของตน ซึ่งอาจไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้แต่มีราคาแพงกว่า

ผู้นำจีนเองก็ได้พูดย้ำหลายครั้งถึงความสัมพันธ์แบบชนะ-ชนะ

แต่ประเด็นมีอยู่ว่า สหรัฐต้องการเล่นเกมชนะ-ชนะแบบจีนที่ได้เปรียบดุลการค้าบ้าง ไม่ใช่ชนะ-ชนะแบบเสียเปรียบดุลการค้าอย่างที่เป็นอยู่

เนื่องจากมีการได้ประโยชน์จากการค้าแม้ต้องเสียเปรียบดุล เช่น ผู้บริโภค ผู้ค้าปลีก บรรษัทข้ามชาติ และรวมถึงสถาบันการเงินจำนวนหนึ่ง เมื่อมีการปฏิบัติผู้ที่ได้ประโยชน์เหล่านี้ก็จะออกมาต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มเคลื่อนไหวแล้ว เช่น กลุ่มค้าปลีกสหรัฐ ส่วนสถาบันการเงินแสดงออกโดยดัชนีราคาหุ้นของสหรัฐลดฮวบลงภายในสัปดาห์เดียว เนื่องจากเกรงว่าสงครามการค้าที่ขยายตัวจนควบคุมไม่ได้ จะกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนอย่างรุนแรง เปิดช่องให้จีนสามารถตอบโต้ได้อย่างหลากหลายในระดับต่างๆ

ดังนั้น ในทางปฏิบัติขณะนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ระดับของสหรัฐ-และจีน กำลังดำเนินการเจรจากันอยู่อย่างเคร่งเครียด

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสหรัฐและของจีนมีความแตกต่างทางโครงสร้าง ที่มีผลต่อดุลการค้าดังที่เป็นอยู่ ได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตด้วยการบริโภค การบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนในจีดีพีเกือบร้อยละ 70 นอกจากนี้ ยังอาศัยการบริหารการเงินและการลงทุน

ส่วนเศรษฐกิจของจีนเติบโตด้วยการออมและการลงทุน การบริโภคมีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่ถึงร้อยละ 40 ส่วนการลงทุนนั้น มีการลงทุนมากเกินไป จนผลิตสินค้าล้นเกินความต้องการบริโภค การปรับเชิงโครงสร้างดังกล่าวต้องใช้เวลานาน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่การเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนจะสำเร็จราบรื่นได้ในเฉพาะหน้า

สำหรับจีนที่ถูกอาวุธกีดกันทางการค้าจากสหรัฐสองดอกติดกันจนตั้งตัวแทบไม่ทัน อารมณ์หลักขณะนี้จึงกลายเป็นว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” ไม่ต้องกังวลอีกแล้ว

การเตรียมพร้อมรบของจีน : การกระชับอำนาจของสี จิ้น ผิง

ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอันเป็นองค์กรหลักในการปกครองประเทศ ระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม 2017 และการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน และสภาผู้แทนประชาชนจีน หรือสภานิติบัญญัติ ในช่วงเดือนมีนาคม 2018 ได้มีมติสำคัญเชิงยุทธศาสตร์หลายประการ

ประการหลักได้แก่ การเสริมอำนาจการนำของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้เลือกสี จิ้น ผิง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย

มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เกินสองวาระ

มีการเลือกคณะกรมการเมืองและคณะรัฐบาลใหม่ที่เห็นด้วยในแนวทางของสี จิ้น ผิง

บรรจุอุดมการณ์สี จิ้น ผิง และแนวคิดสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับจีนยุคใหม่ ไว้ในธรรมนูญของพรรค เป็นต้น

อุดมการณ์ 14 ข้อของสี จิ้น ผิง มีประเด็นสำคัญได้แก่

การดำเนินการปฏิรูปที่ลึกซึ้งและสมบูรณ์ต่อไป

ปรับแนวคิดใหม่ๆ เพื่อการพัฒนา การให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวจีน

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

การขยายอิทธิพลของจีนบนเวทีโลก ที่เน้นการสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ หรือเกมชนะ-ชนะ

มั่นคงในหลักการรวมศูนย์อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการตัดสินใจปฏิบัติ ทั้งในรัฐบาล กองทัพ

การบังคับใช้กฎหมายและในการกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ และการยึดมั่นในนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (สำหรับฮ่องกง มาเก๊า เป็นต้น) และนโยบายจีนเดียว (สำหรับไต้หวัน)

และที่สำคัญได้แก่ การเดินหน้าเปิดประเทศ ให้ความสำคัญแก่ “คุณภาพ” และการให้ความสำคัญสูงในการพัฒนาชนบทเพื่อแก้ปัญหาความยากจนสัมบูรณ์ที่มีอยู่มากในชนบท และความยากจนในเมืองที่ส่วนใหญ่เกิดจากแรงงานอพยพจากชนบท

การเตรียมพร้อมของจีนดังกล่าวสะท้อนปัญหาและความยากลำบากจำนวนมากทั้งภายในและทางสากล ทำให้จีนต้องตระเตรียมรับมือ ต้องการการนำพิเศษต่างจากเดิม คือมีเสถียรภาพและความต่อเนื่องในยามสำคัญจำเป็น ความยากลำบากภายในที่สำคัญเกิดจากขั้นของการพัฒนาที่สูงขึ้นและยากลำบากขึ้นในตัว

ดังจะเห็นว่าการพัฒนาออกจากความยากจนนั้นทำได้ง่าย ประเทศเกือบทั้งโลกสามารถทำได้แม้ว่าจะไม่น่าประทับใจเหมือนของจีน

แต่การพัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางกลายเป็นประเทศร่ำรวยนั้นทำได้ยาก มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ทำได้สำเร็จ

ส่วนใหญ่ติดกับดัก ประเทศรายได้ปานกลาง

มีประเทศไทยเป็นต้น ติดอยู่นานหลายปีแล้วจนทำท่าว่าจะงอกรากอยู่ตรงนี้

มองประเทศที่ยากจนกว่า เดินเข้าใกล้มาทุกที

การพัฒนาที่ผ่านมาของจีนยังมีจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคต่อการก้าวเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากเป็นการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก จนเกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อม กินแรงงานมาก ประชากรวัยทำงานร่อยหรอ ไม่เข้มแข็งเหมือนเดิม ทั้งการพัฒนานี้ได้ขยายช่องว่างทางสังคมและช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท มีคนจำนวนมากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ทั้งในความยากจนสัมบูรณ์และความยากจนสัมพัทธ์ ง่ายแก่การปลุกปั่นยุแหย่ทั้งจากภายในและภายนอก

จุดอ่อนที่สำคัญในทัศนะของสี จิ้น ผิง คงได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เป็นพรรคปฏิวัติและนำพาประเทศจีนมาจนเป็นอยู่อย่างที่เป็น ได้เกิดความชราภาพขึ้นภายในพรรค

ทำให้ส่วนหนึ่งไม่ขวนขวายสร้างหรือยอมรับแนวคิดใหม่ในการบริหารปกครองให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมไปในทางใช้อำนาจในทางที่ผิด มีการทุจริตคอร์รัปชั่นระบาด เป็นที่ไม่พอใจอย่างมากของประชาชน

ประธานสีกล่าวถึง “การฟื้นเยาวภาพของชาติ” อยู่บ่อยๆ ซึ่งการจะฟื้นได้หมายถึงการฟื้นเยาวภาพของพรรคนั่นเอง

ในทางสากล เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ-การเงินต่อเนื่องกันหลายครั้ง บวกกับเหตุปัจจัยอื่น ภาวะเศรษฐกิจประเทศ พัฒนาแล้วได้ชะลอตัวลงจนเข้าขั้น “ภาวะชะงักถาวร” จะหวังพึ่งเป็นตลาดส่งออกเหมือนเดิมไม่ได้ ซ้ำสหรัฐยังเดินหน้ามาปิดล้อมจีนอย่างจริงจัง ถึงขั้นก่อหวอดสงครามการค้าขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้ หากจีนไม่ยืนหยัด ปล่อยให้การนำตกอยู่ในความไม่แน่นอน ก็อาจไม่สามารถรักษาผลได้ทั้งหมดจากการพัฒนาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไว้ได้

การรวมศูนย์อำนาจของสี จิ้น ผิง นี้เข้าใจว่าได้รับการเห็นพ้องจากผู้นำภายในพรรคอย่างกว้างขวางพอสมควร ส่วนที่จะทำได้สำเร็จตามเป้าประสงค์หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป

ฉบับต่อไปเป็นตอนจบจะกล่าวถึงการเตรียมพร้อมรบของรัสเซียและยุโรปจะไปทางไหน