เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร

พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (1)

มีบทความเรื่อง พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร โดยพระภิกษุรูปหนึ่งในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนกรกฎาคม 2543

หลังจากข้อเขียนลงพิมพ์ มีเสียงท้วงติงจากผู้รู้มากมายทำให้เจ้าของบทความเข้าใจผิดว่า นักวิชาการไทยใจแคบ ไม่ยอมรับฟังทรรศนะใหม่ๆ

โดยตั้งคำถามท้าทายว่า “จริยธรรมของนักวิชาการไทยหายไปไหน” อะไรทำนองนั้น

ความจริงผู้เขียนบทความนี้เข้าใจผิด ที่คนเขาท้วงติงนั้นมิได้เกี่ยวกับทรรศนะหรือข้อคิดเห็นทางวิชาการ เพราะเท่าที่แสดงออกมาก็มิได้มีแนวคิดอะไรใหม่ นอกเหนือจากที่รู้ๆ กันอยู่

พูดอีกนัยหนึ่ง ข้อมูลที่เขียนบทความอ้างมาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก็ล้วนเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วไปทราบกันอยู่

แต่เขาท้วงติง “ท่าที” และ “ถ้อยคำ” ที่ผู้เขียนบทความใช้มากกว่า

คือใช้ท่าทีของคนนอกศาสนา ใช้ถ้อยคำแสดงความไม่เคารพต่อพระรัตนตรัย และพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สังคายนาพระธรรมวินัย

เช่น เรียกพระพุทธเจ้าว่า “สิทธัตถะโครตมะ” อันเป็นถ้อยคำที่เดียรถีร์เรียกพระพุทธเจ้า กล่าวหาว่าพระอรหันต์ผู้สังคายนาพระธรรมวินัยว่า “ฟั่นเฟือน”

ข้าพเจ้าได้ท้วงติงในเรื่องดังกล่าวแล้วในที่อื่น ในที่นี้จะไม่พูดถึงอีก จะชี้แจงเฉพาะประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนเข้าใจคลาดเคลื่อน เพื่อความเข้าใจถูกต้องร่วมกัน

ขอยกมาอภิปรายเป็นประเด็นๆ ดังนี้ครับ

1.การนิพานของพระสารีบุตร

ผู้เขียนกล่าวว่า พระสูตรแห่งอื่นพูดว่าพระสารีบุตรนิพพานก่อนแล้ว ทำไมจึงมีปรากฏการณ์โผล่มาถวายการต้อนรับพระพุทธเจ้าอีก หรือว่า “ผู้เรียบเรียงพระสูตรนี้เกิดฟั่นเฟือน”

คำพูดนี้หลวงพี่เล่นแรง ชาวพุทธจึงท้วงติง ขอให้พิจารณาดังนี้ครับ

พระสูตรแห่งอื่นที่ว่านี้ คงหมายถึง จุนทสูตร (สํ.ส.19/733-740) ที่เล่าถึงพระจุนทะกับพระอานนท์นำบาตรจีวรของพระสารีบุตร หลังจากเล่านิพพานที่บ้านเกิด เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน กราบทูลว่าพระสารีบุตรสิ้นสุดไปแล้วทำให้มืดแปดด้าน พระพุทธองค์ตรัสเตือนว่า สารีบุตรตายไป สารีบุตรเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ไปด้วยหรือ จึงต้องเสียอกเสียใจ อะไรทำนองนั้น

พระสูตรนี้ก็มิได้บอกวันเวลาว่า พระสารีบุตรนิพพานเมื่อใด รู้แต่ก่อนว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

ที่น่าสังเกตก็คือระบุสถานที่ที่พระเถระทั้งสองไปเฝ้าพระพุทธเจ้าคือพระเชตวัน เมืองสาวัตถี

พิเคราะห์ตามพระสูตร พระสารีบุตรพบพระพุทธเจ้าในช่วงที่เสด็จออกจากราชคฤห์ใหม่ๆ ผ่านนาลันทา (คงหลังพรรษาที่ 44) หลังจากนั้นมหาปรินิพพานสูตรไม่พูดถึงพระสารีบุตรอีกเลย แสดงว่าพระสารีบุตรนิพพานหลังจากนั้นไม่นาน

แต่เมื่อใดล่ะ?

ถึงแม้มหาปรินิพพานสูตรไม่พูดถึง แต่ก็มีจุนทสูตรที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนิพพานของพระสารีบุตร

นอกจากนี้ อรรถกถา สุมังคลวิลาสินี้ (ภาค 2 หน้า 151-156) ยังได้ให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า หลังจากออกพรรษาที่เวฬุคามแล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จนิวัติไปเมืองสาวัตถี และราชคฤห์อีกครั้ง

ขอคัดพระบาลีมาดังนี้ ภควา กิร วุฏฐวสฺโส เวฬุวคามกา นิกฺขมิตฺวา สาวตฺถึ คมิสฺสามีติ อาคตมคุเคเนว ปฏินิวตฺตนฺโต อนุปุพฺเพน สาวตฺถึ ปตฺวา เชตวนํ ปาววิสิ = นัยว่า พระผู้มีพระภาคออกพรรษาแล้ว ทรงดำริว่าจะเสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถีจึงเสด็จกลับไปตามทางที่เสด็จมาแล้วนั้นแล ถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ เสด็จเข้าไปยังวัดเชตวันแล้ว

ณ ที่นั้นเอง พระสารีบุตรได้ไปกราบทูลลานิพพาน ท่านพร้อมพระจุนทะน้องชายไปยังบ้านเกิด เทศนาโปรดโยมมารดาของท่าน และนิพพาน ณ ห้องนอนเดิมของท่าน พระจุนทะได้เผาศพพระพี่ชาย แล้วถือเอาพระธาตุ บาตร และจีวรของท่านกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังได้กล่าวไว้แล้ว

พระพุทธองค์รับสั่งให้ก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระอัครสาวกแล้ว จากนั้นก็เสด็จจากสาวัตถีไปยังราชคฤห์อีกพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ณ คราวนี้เองพระมหาโมคคัลลานะได้นิพพาน หลังจากให้ก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะให้ประชาชนสักการบูชาแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จมุ่งตรงไปยังฝั่งคงคาถึงหมู่บ้านอุกกเวละ (หรือ อุกกเจละ) ออกจากอุกกเวละแล้ว จึงเสด็จไปยังเมืองเวสาลีอีกครั้ง

พระบาลีตรงนี้ว่า ภควาปิ ภิกฺขุสงฺฆปริวุโต ราชคหํอคมาสิ ตตฺถ คตกาเล มหาโมคฺคลฺลาโน ปรินิพฺพายิ ภควา ตสฺสาปิ ธาตุโย คเหตฺวา เจติยํ กาเรตฺวาราชคหโต นิกฺขมิตฺวา อนุปุพฺเพน คงฺคาภิมฺโข คนฺตฺวา อุกฺกเวลํ อคมาสิ…อุกฺกเวลโตนิกฺขมิตฺวา เวสาลี อคมาสิ + พระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จต่อไปยังเมืองราชคฤห์ เมื่อเสด็จไปถึง พระมหาโมคคัลลานะก็นิพพาน พระองค์ทรงก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุของท่านแล้ว เสด็จมุ่งตรงไปยังแม่น้ำคงคา ถึงหมู่บ้านอุกกเวละออกจากอุกกเวละแล้วเสด็จไปยังเมืองเวสาลี

(โปรดสังเกตว่า เมื่อประทับ ณ หมู่บ้านอุกกเวละนี้เองทรงทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์ที่ตามเสด็จพากันนิ่งเงียบ จึงทรงปรารภขึ้นว่า พอสิ้นพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว บริษัทนี้ดูว่างเปล่าชอบกล)

จากนั้นเสด็จไปยังปาวาลเจดีย์ (ณ ที่นี้ทรงปลงอายุสังขารว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน) – กูฏาคารป่ามหาวัน – ภัณฑคาม – หัตถีคาม – อัมพคาม ชัมพุคาม – โภคนคร แล้วเข้าเขตเมืองปาวา เสวน สูกรมัททวะของนายจุนทะเสด็จต่อไปยังกุสินารา โดยผ่านแม่น้ำกกุธา เลียบฝั่งน้ำหิรัญวดี

เสด็จถึงสาลวโนทยาน พระอุทยานหลวงของเหล่ามัลลกษัตริย์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่นั้น

แฟ้มภาพ พระพุทธรูปปางปรินิพพาน จากวัดในนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว (AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

พระสูตรและอรรถกถาบรรยายเส้นทางพุทธดำเนินละเอียดออกอย่างนี้ คนเขียนบทความนี้ยัง “เบลอร์” พูดมาได้อย่างไรว่า “แต่ความในมหาปรินิพพานสูตรระบุไว้ชัดเจนว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานหลังออกพรรษาใหม่ๆ คือประมาณเดือน 11-12 หรืออาจล่วงเลยได้ถึงเดือน 1 ของปีจันทรคติต่อมา” ไม่เห็นมีตรงไหนระบุ “ชัดเจน” อย่างนั้นมีแต่บอกว่าหลังจากออกพรรษาแล้วเสด็จไปไหนต่อไหนอีกมากมายหลายแห่ง กว่าจะถึงเมืองกุสินาราก็กินเวลาหลายเดือนไฉนไยสรุปดื้อๆ ว่าออกพรรษาแล้วก็ปรินิพพานทันที

ที่กล่าวมาข้างตนนั้น สรุปได้ว่า

1. พระสารีพระบุตรพบพระพุทธเจ้าสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อเสด็จผ่านไปยังนาลันทาใหม่ๆ ครั้งที่สอง เมื่อท่านจะปรินิพพานได้ไปทูลลาพระองค์ที่พระเชตวันเมืองสาวัตถี (หลังพรรษาที่ 45 ของพระพุทธองค์)

2. ระยะเวลานิพพานของพระสารีบุตรคงประมาณสี่ห้าเดือนก่อนปรินิพพานข้อนี้ สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของ ดร.มาลาเสเกรา ว่า “พระสารีบุตรนิพพานสามสี่เดือนก่อนพระพุทธเจ้า” (Dictionary of Pail Proper Names เล่ม 2 หน้า 1115)

3. หลังจากได้รับข่าวพระสารีบุตรนิพพานแล้วพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถี กลับไปยังเมืองราชคฤห์อีกครั้ง จากราชคฤห์จึงไปยังเวสาลีอีกเป็นครั้งที่สองข้อมูลจากแห่งต่าง ๆ สอดคล้องกัน เพียงแต่บันทึกไว้ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง

ถ้าประมวลมาไม่ครบ มีสิทธิ์สับสนได้