ธุรกิจฝรั่งเศส กับสังคมไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เชื่อว่าผู้คนในสังคมกำลังมุ่งมองความเชื่อมโยงบางเรื่องราวในอดีตกับโลกที่เป็นจริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องราวความสัมพันธ์มิติต่างๆ เกี่ยวข้องกับประเทศฝรั่งเศส

ภาพกว้างๆ ว่าด้วยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ตามมุมมองของฝรั่งเศสเองซึ่งให้ภาพค่อนข้างชัดเจน (โปรดอ่านเรื่อง ความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศส ในมุมมองฝรั่งเศส ในกรอบที่แยกต่างหาก) ขณะที่ข้อเขียนชิ้นนี้ให้ความสำคัญ ให้ความสนใจเรื่องราวกว้างๆ เชื่อมกับสังคมธุรกิจไทย เป็นการเฉพาะ

“หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย ก่อตั้งขึ้น ณ กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2509 ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกกว่า 180 บริษัทจากกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ซึ่งมีความสนใจในการทำธุรกิจทั้งในประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส ก่อให้เกิดเครือข่ายทางธุรกิจที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ” (อ้างจาก https://th.ambafrance.org)

เรื่องราวธุรกิจฝรั่งเศสในประเทศไทยปัจจุบัน ควรเริ่มต้นค้นหาภาพใหญ่จากจุดนี้

 

ภาพใหญ่ธุรกิจฝรั่งเศสในสังคมไทยปรากฏโฉมขึ้นอย่างหลากหลายอย่างน่าสนใจ

ธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐมาช้านานก็มีอย่างธุรกิจการบิน Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายใหญ่ของโลก ซึ่ง บริษัทการบินไทย เป็นลูกค้ารายใหญ่ มีศูนย์บริการขึ้นอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย มักซื้อหาสินค้า Alstom เจ้าของเทคโนโลยีรถไฟรายใหญ่ของโลก

มีธุรกิจหลากหลายทีเดียวดำเนินกิจการอย่างเงียบๆ ซี่งมักเกี่ยวข้องกับเทคโลยีชั้นสูง ตั้งแต่ธุรกิจก่อสร้างพื้นฐาน มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Bouygues ธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น Schneider ผู้จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปจนถึงธุรกิจพลังงานอย่าง TotalFinaElf ซึ่งเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของ ปตท.สผ. ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

เกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อสารมี Alcatel และ Orange (เคยร่วมทุนในธุรกิจโทรศัพท์มือถือกับกลุ่มซีพี)

รวมทั้งสาขาธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งฝรั่งเศส Credit Agricole Corporate and Investment ซึ่งเข้ามาเมืองไทยนานทีเดียว ตั้งแต่ยุคอาณานิคม (ปี 2430) เปลี่ยนชื่อมาหลายครั้งจนเป็นชื่อนี้ กับ BNP Paribas เพิ่งเข้ามาเมืองไทยในปี 2522 ในฐานะสำนักงานตัวแทน

จากนั้นในปี 2540 ได้ยกฐานะเป็นสาขาธนาคารเต็มรูปแบบ

 

อีกภาพเป็นธุรกิจฝรั่งเศสในวงกว้างซึ่งผู้คนในสังคมสัมผัสได้มากขึ้น โดยเฉพาะ Michelin เจ้าของแบรนด์ยางรถยนต์รายใหญ่ของไทย มีโรงงานถึง 3 แห่ง และมีพนักงานประมาณ 7,000 คน เข้ามาประเทศไทยด้วยเป็นกิจการร่วมทุนกับเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ตั้งแต่ปี 2530

เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ปี 2540 เอสซีจีได้ถอนตัวออกจากธุรกิจซึ่งตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และได้ขายหุ้นคืนให้กับ Michelin

ขณะรถยนต์แบรนด์ฝรั่งเศส Peugeot อยู่ในตลาดมานานซึ่งผู้คนรู้จักอย่างดี แต่มีบทบาทในตลาดไม่มาก

จากนั้นมีธุรกิจบริการ เครือข่ายธุรกิจโรงแรมระดับโลก Accor Hotel ซึ่งมีเครือข่ายโรงแรมในประเทศไทยมากถึง 75 แห่ง ด้วยห้องพักมากถึง 17,400 ห้องในนามเชน (Chain) ต่างๆ มากถึง 9 เชน

อาทิ Sifitel MGallery Pullman Swissotel Grand Mercure Novotel Mercure และ IBIS

และเครือข่ายร้านสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะเครื่องสำอางแบรนด์อย่าง L”OREAL และโดยเฉพาะ Louis Vuitton สินค้าแฟชั่นระดับสูงซี่งมีสาขาในกรุงเทพฯ ถึง 3 แห่ง ที่ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน และเกษรพลาซ่า

 

กระแสคลื่นล่าสุด ธุรกิจฝรั่งเศสสู่สังคมไทย เป็นไปตามกระแสยุโรปสู่เอเชียในช่วงทศวรรษก่อนหน้าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เริ่มจากดีลร่วมทุนใหญ่ ระหว่างเอสซีจีกับ Michelin ในปี 2530 ก่อนจะมาถึงการเข้ามาบุกเบิกธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศไทยในโมเดล Hypermarket ด้วยการร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กับ Casino Group ในปี 2537

นั่นคือแผนการก่อกำเนิดเครือข่ายค้าปลีกในนาม Big C

“BigC กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้สร้างขึ้น ตามแผนการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกโมเดล Hypermarket เมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้วผู้บริหารเซ็นทรัลคนหนึ่งเคยบอกว่า C เป็นอักษรย่อมีความหมายได้ทั้ง Central และ Chirathivat (จิราธิวัฒน์) นับเป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัว ในช่วงเซ็นทรัลเผชิญวิกฤต Casino Group แห่งฝรั่งเศส (C เป็นอักษรย่อของ Casino ได้ด้วย) ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เข้ามาบริหาร (ปี 2542) ชื่อจึงไม่เปลี่ยน” ผมเคยนำเสนอเรื่องนี้ไว้

กระแส Hypermarket ตามรูปแบบฝรั่งเศสซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นและเติบโตในยุโรปก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ตามมาด้วยแผนการเคลื่อนย้ายไปยังขอบเขตทั่วโลก ในสังคมไทยนอกจาก Casino Group ยังมีแผนการใหญ่กลุ่มเซ็นทรัลอีกเช่นกัน ในความพยายามร่วมมือกับ Carrefour แห่งฝรั่งเศส (ปี 2539)

กระแสคลื่นดังกล่าวเผชิญความผันผวนอย่างยิ่งในช่วงสังคมไทยเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ เริ่มต้นในปี 2540 ไม่เพียงกรณีเอสซีจีกับ Michelin เท่านั้น กระแสค้าปลีก Hypermarket ก็ได้รับผลกระทบด้วย

เซ็นทรัลได้ตัดสินใจยุติการร่วมทุนขายหุ้นคืนให้ Carrefour ขณะที่ Carrefour เมื่อเข้ามาปักหลักในเมืองไทย ย่อมถอยไม่ได้ จึงดำเนินเองต่อไปตามแนวทางเชื่อว่า Hypermarket ในสังคมไทยกำลังเติบโต

อีกด้านหนึ่ง กลุ่มเซ็นทรัลได้ลดภาระการลงทุนใน BigC ปล่อยให้เครือข่ายค้าปลีก Casino Group แห่งฝรั่งเศสเข้ามาถือหุ้นใหญ่ เข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว

เรื่องราว Hypermarket ฝรั่งเศสในสังคมไทยพลิกผันอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เริ่มต้นในปี 2554 มีการหลอมรวม ผนึกพลังเครือข่ายค้าปลีกของฝรั่งเศสด้วยกันเอง เมื่อ BigC แห่ง Casino Group ซื้อกิจการ Carrefour ในประเทศไทย ประหนึ่งเตรียมพร้อมจะเผชิญหน้าเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ของอังกฤษอย่าง Tesco

ว่าไปแล้ว ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ซึ่งกำลังสั่นสะเทือนสังคมไทย ในเวลานั้นอยู่ในกำมือเครือข่ายธุรกิจยุโรปอย่างสิ้นเชิง

แต่แล้วไม่นานนั้น (ปี 2559) ได้ประกาศถอนตัวออกจากเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง ด้วยการขายเครือข่ายทั้งหมดให้กับกลุ่มทีซีซี กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย

ภาพนั้นมองเห็นแผนการธุรกิจฝรั่งเศสดูยืดหยุ่นพลิกแพลง อีกภาพที่ซ่อนอยู่ ผู้บริโภคคนไทยโดยเฉพาะผู้มีกำลังซื้อ เชื่อว่ายังคงติดตามสินค้าฝรั่งเศสอย่างไม่ลดละอย่างที่เป็นมา ล่าสุดคนกรุงเทพฯ เพิ่งตื่นเต้นเหลือกำลังกับ Michelin Star

 

ความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศสในมุมมองฝรั่งเศส

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทยมีประวัติอันยาวนาน

ช่วงศตวรรษที่ 17 ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยามได้เริ่มความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการครั้งแรก คณะทูตจากประเทศไทยได้เดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2227 และ พ.ศ.2229 โดยได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

คณะตัวแทนจากฝรั่งเศสหลายคณะได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน

คณะที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะได้แก่คณะของเชอร์วัลลิเยร์เดอโชมงต์ ความสัมพันธ์ทางด้านการทูตของทั้งสองประเทศเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2399

ในส่วนของการล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อปี พ.ศ.2436 วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (กรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศส) ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งในปี พ.ศ.2440 และ พ.ศ.2450 สัมพันธภาพดังกล่าวดีขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยร่วมมือทางการทหารกับฝรั่งเศส

หลังสงครามสิ้นสุด ในปี พ.ศ.2461 ประเทศสยามได้ส่งทหารเข้าร่วมสวนสนามที่ถนนชองส์ เอลิเซส์ ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย

ในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสได้กระชับความสัมพันธ์ทั้งด้านการทูตและการเมือง รวมถึงด้านการทหาร (รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระสหายร่วมชั้นกับนายพลเดอโกลล์ของฝรั่งเศส) และด้านวัฒนธรรม นักศึกษาจากประเทศสยามเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงปารีสเป็นจำนวนหลายคน

รวมถึงท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาประเทศไทยยุคใหม่

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ.2483 และพฤษภาคม พ.ศ.2484 กองทหารของประเทศทั้งสองได้เผชิญหน้ากันทั้งในดินแดนอินโดจีน อาณานิคมของฝรั่งเศส และในประเทศไทย

ฝ่ายไทยได้ยึดเสียมเรียบและพระตระบอง ประเทศฝรั่งเศสแสดงความไม่พอใจ และปะทะกับกองทัพไทย อันเป็นเหตุให้เรือรบไทยจมลงที่เกาะช้าง

สุดท้าย มีการลงนามสงบศึกที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484

 

ช่วงต้นปี พ.ศ.2543 ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและไทยกลับกระชับเหนียวแน่นอีกครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้เยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2546

ประเทศทั้งสองพร้อมใจที่จะเปิดศักราชใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ยังมีการลงนามในแผนปฏิบัติการร่วม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2547 โดยนายมิเชล บาร์นิเยร์ และ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของประเทศทั้งสอง

การเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายฌากส์ ชีรัก ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเสนอให้มีการรับร่างสนธิสัญญาสมานฉันท์และความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หรือ TAC) เพื่อกระตุ้นให้มีการหารือทางด้านการเมืองระหว่างประเทศทั้งสองมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยและการป้องกันประเทศ การช่วยเหลือประเทศที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศลาวและกัมพูชา ร่วมกัน

ทั้งนี้ รวมถึงความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การศึกษาระดับสูงและการวิจัย และการกระตุ้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ณ กรุงปารีส

———————————————————————————————————–
(คัดลอกข้อมูลส่วนใหญ่จากข้อมูลสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย https://th.ambafrance.org)