เปิดใจ ว่าที่ยังบลัด ปชป. “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ ไม่เอา “นายกฯ คนนอก” ไม่ล้มรัฐบาลนอกระบบรัฐสภา

ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ชื่อนี้ปรากฏตามข่าวอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้จากเวทีการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่จัดขึ้นในหลายวงเสวนา

หลายคนอาจทราบเพียงว่าเขาคนนี้คือหลานของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่หลายคนก็ยังไม่มีโอกาสได้รับฟังแนวคิดหรือสิ่งที่เข้าต้องการจะเปลี่ยนประชาธิปัตย์

วันนี้มติชนสุดสัปดาห์จึงอยากจะพาไปเปิดใจในทุกประเด็น

: จุดเริ่มต้นสนใจการเมือง

เริ่มจากการที่ผมอยากพัฒนาประเทศไทย หลังจากผมได้ทุนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุ 13 ผมเห็นว่าอังกฤษมีระบบการปกครองเหมือนกับไทย แต่พอมองเปรียบเทียบกลับเห็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือเรื่องของ “ความเหลื่อมล้ำ”

เวลาที่ผมพูดคุยกับคนอังกฤษ ไม่ว่าเขาจะเกิดที่ย่านไหนก็ตาม เขาจะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด ถ้าคนในครอบครัวไม่สบายเขาก็จะไปรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

แตกต่างจากไทย อย่างที่เราเห็นโรงเรียนมีชื่อเสียงพ่อแม่ก็ยอมเสียเวลาเดินทางเพื่อจะพาลูกเข้าโรงเรียนนั้น หรือเวลาผมไปหาคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ผมก็เห็นว่ามีคนไข้เข้ามารักษาเยอะมากและเสียค่าเดินทางสูง มาไกลมากเพื่อที่จะมารักษาโรงพยาบาลนี้

ผมเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าระบบการปกครองเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์มันถึงต่างกัน

ผมจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่กลับมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยนั่นคือปัจจัยหลักที่ผมอยากกลับมาพัฒนาประเทศ

ซึ่งการอยากทำงานการเมือง เพราะว่ามีเอกลักษณ์ อย่างแรกคือเราสามารถทำในระดับมหภาคได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากผมเข้าไปเปลี่ยนกฎหมายให้คนที่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ (เพียงเปลี่ยนกฎหมายนิดเดียว) แต่มันจะเปลี่ยนชีวิตคนอีกหลายล้านคน ไม่ใช่แค่เขามีความสุขมากขึ้นในการที่เขาอยู่ได้กับคนที่เขารักโดยที่รัฐบาลยินยอม

แต่ว่ามันจะสามารถช่วยในเรื่องของผลประโยชน์ทางภาษี เรื่องของหลักประกันสุขภาพหรือโอกาสในการกู้ร่วมได้ด้วย การเปลี่ยนกฎหมายเล็กน้อย แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

โดยที่ความสำเร็จของผมในฐานะนักการเมืองก็จะขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากขนาดไหน แล้วประชาชนที่เป็นเจ้านายเราจะเป็นผู้กำหนดว่าเราควรจะได้โอกาสทำงานต่อหรือควรจะหยุด ผมเชื่อมั่นและยืนยันว่า อยากจะทำงานการเมืองเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

: การสมัครเข้าเกณฑ์ทหารจะกระทบแผนงานการเมืองหรือไม่?

อีก 6 เดือนข้างหน้าไม่ว่าผมจะสนใจงานการเมืองแค่ไหน หรือจะเป็นตัวแทนของพรรคอะไร แต่ในฐานะประชาชนชาวไทยที่อยู่ภายใต้กฎหมาย ผมมีหน้าที่ต้องไปรับใช้ชาติ หลังจากนั้นออกมาสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไรต้องรอดูอีกที

ขั้นตอนแรก ถ้าผมออกมาจากทหารแล้ว ต้องดูว่ามีพรรคการเมืองใดมีทิศทางที่สอดคล้อง ซึ่งผมยืนยันเสมอว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์สามารถปรับไปเป็นยุคใหม่อย่างที่ผมพยายามที่จะสร้างขึ้นมาได้ และมีความชัดเจนในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ผมก็จะสนใจสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่นั้น

กล่าวคือ สมาชิกพรรคจะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกผู้สมัคร หรือแม้แต่การเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง (ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน)

จากนั้นหากผมจะเข้ามาเป็นผู้สมัครของพรรคในยุคใหม่แล้ว ต้องขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกพรรคจะยินยอมหรือไม่ ถ้ายินยอมผมก็สมัครเป็นผู้แทนก็ลงสนามเลือกตั้ง ส่วนจะได้รับเลือกหรือไม่ได้รับเลือกขึ้นอยู่กับประชาชน นี่คือ 3 ด่านที่ผมจะต้องผ่าน

: ประชาธิปัตย์อนุรักษนิยมสูง

ที่ผ่านมาคนอาจจะมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความอนุรักษนิยมสูง เป็นพรรคที่เก่าแก่มาก แต่ผมกลับมองว่าการที่เก่าแก่และยังอยู่ได้ เพราะว่ามีการปรับตัวอยู่เสมอ สะท้อนว่าพรรคได้ให้โอกาสคนหน้าใหม่ๆ นักการเมืองรุ่นใหม่เสมอมา เพราะว่าคุณชวน หลีกภัย หรือคุณอภิสิทธิ์ ก็เข้ามาในฐานะหน้าใหม่มาก่อนทั้งสิ้น

ผมมองว่าประชาธิปัตย์ยุคใหม่จะต้องมีการปฏิรูปการบริหารพรรค ซึ่งมี 2 ปัจจัยสำคัญ

อย่างแรก คือต้องมีความเป็นประชาธิปไตยภายในตัวเองมากขึ้น นี่จะเป็นจุดแข็ง เพราะว่าเป็นพรรคที่มีสมาชิกพรรคเยอะมาก แต่จะทำอย่างไรให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพรรค

ประการต่อมา คือการเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการตัดสินใจ ที่ผ่านมาคนอาจจะมองว่า พรรคตัดสินใจไม่เด็ดขาดหรือไม่รวดเร็วตามทันโลกพอ

คำตอบหนึ่งที่จะสามารถตอบโจทย์นี้ได้ คือการให้สมาชิกได้เลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง เป็นการเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยในตัวเองสูงขึ้น พอสมาชิกสามารถกำหนดว่าใครเป็นหัวหน้าพรรคได้ (ยังไม่เคยเห็นพรรคใดทำมาก่อน) ทีนี้หัวหน้าพรรคที่ได้ฉันทานุมัติจากสมาชิกแล้ว ก็จะมีอำนาจ และสามารถปรับทิศทางพรรคได้ ไม่ใช่เรื่องของนายทุน แต่เป็นการเลือกตั้งของสมาชิกทุกคน

ผมเข้าใจดีว่าตัวเองเป็นคนหน้าใหม่ ที่จะต้องเข้ามาทำงานกับคนหลายคนในพรรคที่ทำงานมานานแล้ว วิธีการที่เราเปลี่ยนวัฒนธรรมพรรคได้ คือจะทำอย่างไรให้คนรุ่นก่อนรับฟังเรา

วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการที่เราจะต้องรับฟังเขาเช่นกัน แล้วเราจะต้องอาศัยประสบการณ์จากคนรุ่นก่อนๆ เพราะหากเราเข้าไปบริหารประเทศ เราก็ต้องร่วมทำงานและปรับตัวกับข้าราชการเช่นกัน

: มุมมองต่อคำว่า “ประเทศไม่ใช่ที่ฝึกงาน”

ถ้าเราจะเข้ามาทำงานทางการเมือง ผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับจากการตัดสินใจของเราเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นพื้นที่ที่จะแค่เข้ามาทำการทดสอบเฉยๆ

และส่วนตัวผมไม่คิดว่าคนรุ่นใหม่ที่แสดงตัวอาสาจะเข้ามาทำงานการเมือง ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม เขาเพียงแค่จะเข้ามาทดลองงาน

แต่เขาล้วนมีเจตนาที่อยากเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงเข้ามาทำงานอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้น คำว่า “ประเทศไม่ใช่ที่ฝึกงาน” ไม่ได้แปลได้ว่า นี่ไม่ใช่พื้นที่ของคนรุ่นใหม่

ถ้าการฝึกงานหมายถึงการได้ฝึกฝนตัวเอง และการพัฒนาตัวเองและเรียนรู้ร่วมกันไปด้วย กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผมมองว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในวงการไหน ไม่ว่าจะมีประสบการณ์แค่ 1 เดือนหรือหลาย 10 ปี เราก็ล้วนต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

: ความคิดเห็นต่อนายกฯ คนนอก

ผมประกาศไว้เลยว่า ถ้าผมได้มีโอกาสเป็นผู้แทนฯ ในสภา

ผมจะไม่มีวันยกมือให้กับนายกฯ คนนอก

เพราะว่าคนนอกหมายถึงบุคคลที่ไม่ได้ปรากฏอยู่ใน 3 รายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้เสนอในวันเลือกตั้ง แสดงว่า ณ วันที่ประชาชนได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เขาไม่มีวันรู้ว่าคนคนนี้คือใคร ผมรู้สึกว่าการที่มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในสภาแล้ว เราจะต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ

ถ้าสมมุติว่ามี พล.อ.ประยุทธ์ มีอยู่ในรายชื่อ หรือถ้าเป็นคนใน ก็ต้องถามว่าเขาเป็นคนในของพรรคอะไร และพรรคนั้นมี ส.ส. กี่คน ระบบรัฐสภาเราต้องให้พรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากสุดเป็นผู้ตั้งรัฐบาล ถ้าเกิดว่าพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์สังกัดมี ส.ส. ไม่มาก ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องไปยกมือให้ท่านมาเป็นนายกรัฐมนตรี

: มุมมองความสัมพันธ์ของ กปปส. จะส่งผลต่ออนาคต ปชป. อย่างไร?

เราต้องย้อนไปดูอดีตว่า กปปส. เริ่มต้นมาจากความพยายามที่จะผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่พอ พ.ร.บ. ได้ตกไปแล้ว ผมก็คงกลับบ้าน (ถ้าผมอยู่ในประเทศไทย) เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการล้มรัฐบาลนอกระบบรัฐสภา

ผมเข้าใจว่ามุมมองในอดีต ระหว่างความเชื่อมโยง กปปส. กับพรรคประชาธิปัตย์สามารถมองได้หลายมุม คนในพรรคเองที่ไม่ได้เข้าร่วมก็มี แล้วเขาก็ชัดเจน และถ้าผมจะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่

จะต้องชัดเจนว่าจากนี้ไปพรรคจะไม่มีส่วนร่วมในการล้มรัฐบาลนอกระบบรัฐสภา นี่คืออุดมการณ์ของผมที่ชัดเจนมาก

: เคยคิดจะตั้งพรรคใหม่เองไหม

อย่างที่ผมเคยประกาศในงานเสวนาต่างๆ ว่าผมสามารถเป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ยุคเก่าที่เคยมีมาก่อนได้ไหม ผมก็เรียนตามตรงว่าผมไม่ค่อยสบายใจ เพราะว่ามีหลายอย่างที่ผมสงสัย เช่น เรื่องความชัดเจนในระบอบประชาธิปไตย ผมก็เคยคิดเหมือนกันว่า อาจจะตั้งพรรคใหม่

แต่พอมาถึงวันนี้ ผมมี 2 เหตุผล

เหตุผลแรก รู้สึกว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถก้าวข้ามไปเป็นยุคใหม่ที่มีความชัดเจนขึ้นในความเป็นประชาธิปไตยได้

อีกประการหนึ่ง การที่ผมเป็นคนรุ่นใหม่ ผมสามารถสะท้อนความต้องการ หรือความเชื่อของคนรุ่นใหม่ได้โดยไม่ต้องไปสร้างพรรคใหม่อย่างเดียว

การที่ผมได้มาทำงานในพรรคที่มีมาอยู่แล้ว มีประโยชน์อยู่สองด้าน คือทำให้ผมได้คำนึงถึงความต้องการของคนรุ่นก่อน ถ้าเรามองคนก่อนเป็นคนที่มีอายุมาก คนกลุ่มนี้ก็จะต้องขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมสูงอายุ

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผมได้มีโอกาสทำงานกับคนรุ่นก่อนในพรรค ก็จะเป็นบททดสอบเหมือนกันว่าผมจะสามารถ มีประสิทธิภาพในการทำงานกับคนรุ่นเก่า ในระดับข้าราชการ หรือในกระทรวง ได้แค่ไหน ถ้าหากวันหนึ่งผมมีโอกาสได้บริหารประเทศ

: เบื่อไหมกระแสคำพูดที่ว่า “โคลนนิ่งอภิสิทธิ์”

ต้องยอมรับว่าผมก็อึดอัดเหมือนกัน ตอนที่คุณกรณ์ จาติกวณิช ชวนผมไปงานเสวนาในฐานะตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ผมยังแกล้งพูดเลยว่า ผมอยากแสดงให้เห็นว่าอุดมการณ์ผมมีอะไร แต่เหตุผลเดียวที่จะทำให้ผมไม่ไป เพราะว่าผมเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์ ผมพอจะรู้ว่ามันจะถูกตีความไปต่างๆ นานา

พอผมไปเล่าให้คุณอภิสิทธิ์ฟัง คุณอภิสิทธิ์ยังพูดเล่นๆ เลยว่า เราจะเซ็นสัญญาตัดขาดน้าหลานกันหรือไม่?

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไปห้ามความคิดใครไม่ได้ ผมก็ยืนยันว่าทุกการตัดสินใจในชีวิตผม ทุกความคิดของผมตั้งแต่ผมเกิดมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าผมจะเป็นหลานคุณอภิสิทธิ์หรือไม่ ความคิดของผมก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนเดิม

: การเลือกตั้งคือคำตอบ-ทางออกของประเทศหรือไม่ในวันที่มี (บาง) คนไม่อยากให้เกิดขึ้น

ผมเป็นคนเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง ผมเป็นนักประชาธิปไตย ผมเชื่อมั่นในประชาชนและคิดว่าประชาชนจะรู้ดีที่สุด ว่าแต่ละคนต้องการอะไร ซึ่งระบบการเลือกตั้ง-ประชาธิปไตย ยึดมั่นในเรื่องคุณค่าของความเท่าเทียมกัน และคุณค่าของอิสรภาพ

เพราะว่า ไม่ว่าคุณจะเกิดมาในสถานะ สภาวะใดก็ตาม คุณมีคะแนนเสียงเท่ากันหมด มันเป็นการเคารพถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์

ประการต่อมา ผมมองว่าประชาธิปไตยเป็นวิธีที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ตัวเองได้ดีที่สุด เรามีสิทธิ์เลือกทิศทางที่เราต้องการที่จะเห็นประเทศไป แต่เราอาจจะไม่ได้เลือกได้ถูกต้องไปซะทุกครั้ง แต่ทุก 4 ปี เราจะมีสิทธิ์เลือกใหม่

นี่จึงเป็นวิธีการที่มนุษย์จะได้เรียนรู้จากการที่ตัวเองอาจจะเคยเลือกผิดพลาดก็มีโอกาสครั้งต่อไปในการเลือกใหม่

ผมเลยเชื่ออุดมการณ์การเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตย

แต่ถ้าถามว่า การเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตย คือทางออกในตัวมันเองหรือไม่ ผมมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นของทางออก เพราะว่าหากมีการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ใช่การที่นำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ

สมมุติว่าประเทศเรามี 100 คน 60 คนนับถือศาสนา ก.ไก่ อีก 40 คนนับถือศาสนา ข.ไข่ หากมีการเลือกตั้ง และ 60 คนของศาสนา ก. รวมตัวกันแล้ว โหวตไม่ให้คนที่นับถือศาสนา ข. สามารถนับถือศาสนานี้ได้ ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ถามว่ามีการเลือกตั้งไหม มี และเคารพเสียงข้างมากหรือไม่ ก็ใช่

แต่ถามว่ามันเป็นประเทศที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่เคารพถึงความหลากหลายของมนุษย์และอิสรภาพหรือไม่ ก็ไม่ใช่

เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีการกระจายอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจ การเข้าใจถึงสิทธิมนุษยชนถึงจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบได้ และยิ่งไปกว่านั้น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบก็ยังไม่ใช่ทางออกของประเทศอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เพราะว่าในที่สุดแล้ว

ทางออกของประเทศขึ้นอยู่กับนโยบาย เศรษฐกิจจะตอบสนองความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นหรือไม่ โครงสร้างเศรษฐกิจจะตอบโจทย์รองรับสังคมสูงวัยหรือไม่

ผมมองว่าการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นจะต้องมี แต่ว่าอย่างเดียวไม่พอ

ชมคลิป เปิดใจ พริษฐ์ วัชรสินธุ เต็มๆได้ที่นี่