อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : SOS นิทรรศการศิลปะกับชุมชน ของชุมชนศิลปินหลากสัญชาติ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านมาเราได้นำเสนอนิทรรศการศิลปะที่มีความนิ่ง เรียบ น้อย และเปิดพื้นที่ว่างให้ผู้ชมได้ใช้ความคิดและตีความอย่างมากไปแล้ว

ในตอนนี้เราเลยอยากขอนำเสนอของนิทรรศการศิลปะที่มีความแตกต่างกันเหมือนเป็นคู่ตรงข้ามกันบ้าง

โดยเป็นนิทรรศการแสดงกลุ่มของศิลปินมากหน้าหลายตา ที่มีงานศิลปะอัดแน่นให้ดูกันแบบเต็มอิ่มเต็มตาผู้ชมอย่างเรา

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

SOS

นิทรรศการแสดงศิลปะของโซลด์ เอาต์ สตูดิโอ (SOULED OUT STUDIOS) กลุ่มศิลปินและสตูดิโอที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 โดยศิลปินสตรีตอาร์ต คริส บาวเดน (Chris Bowden) หรือ Beejoir และ จอน-ไมเคิล โวเกล (Jon-Michael Vogel)

สมาชิกในกลุ่มประกอบด้วยศิลปินไทยและต่างชาติจากหลายภูมิหลังและที่มา หากแต่ทำงานและแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะร่วมสมัยร่วมกัน

นิทรรศการนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบปีที่ 15 ของกลุ่ม โดยมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นในการสำรวจธรรมชาติอันซับซ้อนของชุมชน และมุ่งประเด็นไปยังวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคม ผ่านผลงานจิตรกรรม, กราฟฟิตี้, ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่, วิดีโอจัดวางหลากสื่อของศิลปินไทยและต่างชาติในกลุ่มจำนวน 10 คน

ทั้งศิลปินไทยอย่าง เอ.เอ็ม.พี. (A.M.P.), อเล็ก เฟส (Alex Face), ก้อง (Gong), กัส (Gus), มือบอน (MUEBON) และศิลปินอังกฤษอย่าง บีฌัวร์ (Beejoir), แคนดีซ ทริปป์ (Candice Tripp), ลูคัส ไพรซ์ (Lucas Price), มาว มาว (Mau Mau)

รวมถึงศิลปินฝรั่งเศสอย่างฌ้าซ (Jace)

“มันเป็นงานที่มีความผสมผเสของศิลปินหลากหลายรูปแบบ ทั้งศิลปินร่วมสมัย ศิลปินกราฟฟิตี้ ศิลปินสตรีตอาร์ต ที่ทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างมาก การแค่เอางานพวกเขามารวมไว้ในห้องเดียวกันเฉยๆ มันคงไม่เวิร์ก เราต้องสำรวจว่าความคิดของงานแสดงกลุ่มคืออะไร ผมว่ามันเป็นเหมือนการทำงานกับชุมชน ของชุมชนของศิลปินมากกว่า” บีฌัวร์ ศิลปินผู้ก่อตั้งกลุ่มและควบคุมทิศทางของนิทรรศการนี้กล่าว

ผลงานชิ้นแรกในนิทรรศการ มีชื่อว่า Sign Post (2018) ของ เอ.เอ็ม.พี. หนึ่งในศิลปินไทยผู้บุกเบิกงานสตรีตอาร์ต และเป็นหนึ่งในศิลปินกลุ่มนี้

ผลงานของเขาเป็นผลงานเรดดี้เมด (readymade) ในรูปแบบของป้ายชื่อกลุ่ม ที่หยิบเอาป้ายชื่อถนนสาทรเก่าของจริงๆ มารีไซเคิลเป็นงานศิลปะ

ส่วนงานชิ้นที่สอง ที่ตั้งอยู่มีชื่อว่า The Alter to the Lost Conversations (2018) ของแคนดีซ ทริปป์ เป็นศิลปินชาวแอฟริกาใต้ ผลงานของเธอเป็นบ้านจำลองสูงตระหง่าน ตัวบ้านสีขาวเขียนลวดลายสีฟ้าจนดูคล้ายกับถ้วยชามกระเบื้องเคลือบของจีน

ภายในบ้านบรรจุถ้วยกระเบื้องเคลือบจีนสีขาวเขียนลายน้ำเงินที่ตั้งเรียงซ้อนกองพะเนินเทินทึก ภายในถ้วยเต็มไปด้วยน้ำตาลทราย

ทริปป์ได้แรงบันดาลใจในการทำผลงานชิ้นนี้จากช่วงเวลาในวัยเด็ก ที่เธอเคยไปขอน้ำตาลหรือนมสักถ้วยจากบ้านที่อยู่ข้างๆ เป็นเรื่องปกติ โดยในช่วงเวลานั้นเธอจะได้พูดคุยสนทนาสัพเพเหระกับเพื่อนบ้านเหล่านั้น

แต่ในทุกวันนี้ไม่มีเรื่องแบบนี้อีกแล้ว บทสนทนาหายไป เหมือนกับถ้วยน้ำตาลที่หายไป เราไม่รู้จักเพื่อนบ้าน เราไม่พูดคุยกับคนข้างๆ บ้านอีกต่อไป

สำหรับเธอ น้ำตาลในถ้วย เป็นเหมือนสัญลักษณ์สากลของความสุขใจที่สามารถขอความช่วยเหลือ ขอมิตรภาพ และความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจากเพื่อนบ้านได้ ผลงานชิ้นนี้เป็นดั่งอนุสรณ์สถานและป้ายวิญญาณของบทสนทนากับเพื่อนบ้านที่สาบสูญไปแล้ว

ผลงานชิ้นที่สาม มีชื่อว่า Flight! or Duality (2018) ของฌ้าซ ที่เป็นงานพ่นกราฟเครื่องหมายประจำตัวของเขาลงบนว่าวทำมือ และกระสอบน้ำแข็ง ผลงานของเขาสื่อถึงความดีและความชั่ว ที่ครอบงำอยู่เหนือชุมชนตลอดเวลาและมีส่วนร่วมในทุกๆ การตัดสินใจ และเรื่องราวภายในชุมชนในทุกหนแห่งของโลก

 

ผลงานชิ้นที่สี่ เป็นของศิลปินสตรีตอาร์ตชื่อดังชาวไทยที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วอย่าง อเล็ก เฟส ที่มีชื่อว่า Memory House (2018) ซึ่งเป็นบ้านไม้ที่ประกอบขึ้นจากไม้เก่า ที่ผสานตัวเข้ากับประติมากรรมขนาดยักษ์รูปเด็กสามตาหูกระต่าย “มาร์ดี” อันคุ้นตาของเขา บ้านนี้เป็นตัวแทนของภาพของบ้านในความทรงจำวัยเด็กของศิลปิน

ภายในบ้านแขวนด้วยภาพวาดมาร์ดีในทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นผลงานที่ตอบสนองต่อโครงการยักษ์ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านแห่งความทรงจำหลังนี้ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเก็บภาพความทรงจำของภาพทิวทัศน์อันงดงามริมแม่น้ำ ก่อนที่มันอาจจะสูญหายไปตลอดกาล

ผลงานชิ้นที่ห้า มีชื่อว่า Bangkok Body Body (2018) ของลูคัส ไพรซ์ และเคลย์ อาร์ลิงตัน ศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยวิดีโอ ป้ายนีออนที่แขวนอยู่เหนือทางเข้า และประติมากรรมคอนกรีตนั่งได้ ที่เลียนแบบม้านั่งปูนตามที่สาธารณะ บนม้านั่งสลักด้วยบทกวีและสัญลักษณ์ต่างๆ

ผลงานชิ้นนี้เปรียบเสมือนจดหมายรักต่อกรุงเทพฯ จากมุมมองของคนนอก ที่นำเสนอภาพเคลื่อนไหวของชาวต่างชาติพลัดถิ่นที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ผู้ขายบริการทางเพศ ผู้อพยพ พ่อค้ายา นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และคนทำงานต่างด้าว ฯลฯ

ผลงานชิ้นที่หก มีชื่อว่า Den (2018) ของก้อง ซึ่งเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ ภายในบรรจุกระป๋องสีเก่าวาดเป็นลวดลายและถ้อยคำภาษาอังกฤษต่างๆ ตรงกลางกระต๊อบมีกระดานดำเขียนถ้อยคำภาษาไทยอยู่ ก้องเป็นหนึ่งในศิลปินจำนวนไม่กี่คนที่ใช้ตัวหนังสือเขียนแบบไทยสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ต่อสังคม ผ่านโครงสร้างกระต๊อบที่ได้แรงบันดาลใจจากห้องเรียนในวัยเด็ก

ผลงานชิ้นที่เจ็ด มีชื่อว่า Daily Catch (2018) ของบีฌัวร์ บ้านไม้ที่ประกอบขึ้นจากไม้ที่ศิลปินเก็บจากซากเรือที่ถูกทิ้งร้างตามชายหาด ภายในบ้านมีประติมากรรมปลาที่หล่อจากเงิน เกี่ยวด้วยตะขอเบ็ดทอง ที่หล่อจากแหวนแต่งงานของชาวประมงจำนวนเก้าคน

ผลงานของเขาแสดงถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมและสังคม เมื่อปลาในมหาสมุทรมีจำนวนน้อยลงอย่างมาก ทำให้ชาวประมงไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอเลี้ยงปากท้อง หลายคนต้องย้ายเข้าไปทำงานในโรงงานท้องถิ่น ปล่อยเรือประมงชำรุดทรุดโทรมกลายเป็นซากตามชายฝั่ง แต่ชาวประมงบางคนก็ยังพยายามรักษาวิชาชีพดั้งเดิมไว้ ทั้งๆ ที่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวแร้นแค้น

ผลงานชิ้นที่แปด เป็นของกัส ประติมากรรมจัดวางจากชิ้นส่วนสเก๊ตบอร์ด และวิดีโอจัดวางจอเดี่ยวที่เป็นภาพตัดต่อฟุตเทจกลุ่มเพื่อนสเก๊ตบอร์ดย่านรังสิตภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ “Maison de Paix” ที่นำเสนอผลงานศิลปะที่อวลอายด้วยสุนทรียะอันดิบกระด้างของสตรีตอาร์ต และอารมณ์อันหลอนหลอกที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมบุปผาชนอย่างไซเคเลอลิก (Psychedelic)

ผลงานชิ้นที่เก้าของมาว มาว เป็นศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยผลงานสามชิ้นคือ Red Baron Fox (2018) ประติมากรรมจัดวางจากถังขยะเหล็ก และตุ๊กตาเรซิ่นรูป Red Baron Fox แคแร็กเตอร์ของมาว มาว ที่ปรากฏบนท้องถนนในชิคาโก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสัตว์ป่าอย่างหมาจิ้งจอก ที่ถูกความเจริญรุกล้ำจนทำให้พวกมันต้องออกมาหาอาหารกินตามถังขยะในเมือง

และ Get Rich or Try Sharing (2018) ที่หยิบเอาป้ายบิลบอร์ดจากลอนดอนในยุค 1980 ผลงานของเขาสะท้อนความยากลำบากของศิลปินกราฟฟิตี้ที่ต้องทำงานบนท้องถนนอย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากผู้รักษากฎหมาย

และ We Found Nemo (2018) ศิลปะจัดวางจากขยะพลาสติกที่เก็บจากชายหาด และภาพสามมิติของนีโม ปลาในการ์ตูนชื่อดัง ที่ตีแผ่ปัญหาขยะพลาสติกจำนวนมากที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในท้องทะเลอันจะส่งผลระยะยาวต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้

ผลงานชิ้นสุดท้ายมีชื่อว่า SWEET CITY (2018) เป็นศิลปะจัดในรูปบ้าน ที่จำลองพื้นที่จากโครงการศิลปะในชื่อเดียวกัน ที่มือบอน กับ ปิยะ สกุลเดช และกลุ่มเพื่อนศิลปิน ทดลองทำงานศิลปะร่วมกับชุมชนหมู่บ้านรังสิตซิตี้ (อดีตโครงการแฟลตปลาทอง) ตั้งแต่ต้นปี 2018 เดิมทีโครงการแฟลตปลาทองเป็นที่รู้จักจากโฆษณาอันโด่งดังทางโทรทัศน์ แต่ปัจจุบันกลับตกอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมและถูกทิ้งร้างเกือบหมด อันเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง

โดยมือบอนได้ทำการเปิดพื้นที่หอศิลป์แบบฉับพลัน (Pop-up Gallery) ภายในชุมชนหมู่บ้านรังสิต ซิตี้ เพื่อแบ่งปันพื้นที่ศิลปะที่ปลอดภัยให้แก่ผู้คนในชุมชน

นับแต่นั้น พื้นที่ดังกล่าวค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ให้ผู้คนในชุมชนได้มาพบปะพูดคุย และสร้างงานศิลปะภายใต้การดูแลของมือบอนและทีมงาน รวมถึงมีชั้นเรียนศิลปะให้เด็กๆ ในชุมชน โดยมีกล้องวงจรปิดยิงสัญญาณภาพจากหอศิลป์แฟลตปลาทองมาฉายบนจอบ้านจำลองในหอศิลป์

กลางบ้านยังมีอาคารที่ต่อจากตัวต่อเลโก้ ซึ่งจำลองแบบจากตัวอาคารแฟลตปลาทองจริงๆ วางโชว์อยู่ด้วย

และสองวันสุดท้ายของนิทรรศการ (31 มีนาคม – 1 เมษายน 2018) ก็มีการจัดนิทรรศการศิลปะขนาดย่อม SWEET CITY ARTWORKS ที่นำผลงานศิลปะจากการทำเวิร์กช็อปในวันเสาร์และวันอาทิตย์ตลอด 7 สัปดาห์กับเด็กๆ ในชุมชนรังสิตซิตี้มาแสดงในพื้นที่หอศิลป์ ร่วมกับกิจกรรมฉายภาพเคลื่อนไหวและดนตรีกลางแจ้ง ENERGYWORK โดยลูคัส ไพรซ์ และเคลย์ อาร์ลิงตัน ในสวนของหอศิลป์อีกด้วย

นิทรรศการ SOS โดยโซลด์ เอาต์ สตูดิโอ แสดงผ่านไปแล้วที่หอศิลป์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ (Bangkok CityCity Gallery) ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ – 1 เมษายน 2018