สรรพากรเช็กทุกบัญชี รีดทุกเม็ด ปิดประตู “หลบภาษี” กวาดเรียบทั้ง “ออนไลน์-ออฟไลน์”

กําลังเป็นที่จับจ้องของคนค้าขายแบบตาไม่ยอมกะพริบ ถึงท่วงท่าใหม่ของกรมสรรพากร

หลังจากกรมสรรพากรดำเนินการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ระหว่างวันที่ 1-15 เมษายน 2561

ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่างๆ นานาขึ้นมากมายในโลกออนไลน์

โดยเฉพาะประเด็นที่ร่างกฎหมายกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องรายงานข้อมูลการทำ “ธุรกรรมพิเศษ” ประกอบด้วย

1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง

2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่ออธิบดีกรมสรรพากร ในเดือนมีนาคมของทุกปี

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ “กรมสรรพากรกำลังจะตรวจสอบรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจค้าขายออนไลน์อย่างเข้มข้น” บางรายถึงขั้นมองว่า นี่คือ “จุดจบธุรกิจออนไลน์ที่หลบภาษี” เลยทีเดียว

 

“ประสงค์ พูนธเนศ” อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่า เดิมร่างกฎหมายที่กรมเสนอ ไม่ได้กำหนดจำนวนธุรกรรม แต่หลังจากมีการพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เห็นควรให้กำหนด โดยกรมตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะให้เริ่มรายงานในเดือนมีนาคม 2563 เป็นครั้งแรก ซึ่งหมายถึงธุรกรรมที่เกิดขึ้นในปี 2562 ตลอดทั้งปีนั่นเอง

โดยกรมจะพิจารณาเก็บภาษีเฉพาะธุรกรรมที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่ได้เก็บภาษีจากการโอนเงินให้บุตรหลาน หรือโอนเงินชำระหนี้

“สิ่งที่เรากำลังทำ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษีมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนทำงานรับเงินเดือน ต้องจ่ายภาษีเต็มๆ แต่มีคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เสียภาษี แต่มีรถสปอร์ตขับ ดังนั้น ต้องยืนอยู่บนหลักเดียวกัน”

นั่นคือ คนที่มีรายได้มาก ก็ควรเสียภาษีมากกว่าคนที่รายได้น้อยกว่า โดยเหตุผลที่ต้องเสนอเรื่องนี้ก็คือ

1. จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เพราะข้อมูลส่งผ่านระบบ ไม่เกิดการรั่วไหล

2. ทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

และ 3. ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าใครจนจริง หรือจนไม่จริง

สำหรับจำนวนธุรกรรมที่ต้องรายงานไว้ตามที่ร่างกฎหมายกำหนดไว้นั้น อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันว่า ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันประมวลรัษฎากรก็กำหนดว่า ผู้ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ดังนั้น การกำหนดไว้ที่ 2 ล้านบาท จึงไม่ได้มากหรือน้อยเกินไป โดยผู้เสียภาษีสามารถใช้รายการลดหย่อนภาษีต่างๆ ได้ ซึ่งบางรายก็อาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรมจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี VAT ได้ดีขึ้น จากปัจจุบันจัดเก็บได้อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี และ ขยายฐานภาษีจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียน VAT อยู่ที่ราว 5-6 แสนราย ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า ต่อไปการหลบภาษีจะทำได้ยากขึ้น

ยกตัวอย่างกรณีร้านขายทองคำ ที่อาจจะมีบางรายที่ใช้วิธีขายทองแล้วให้เงินเข้าบัญชีลูกจ้าง ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ก็จะไม่มีใครกล้าให้ใช้บัญชีของตัวเองอย่างไม่ถูกต้องอีกต่อไป

“จริงๆ แล้ว ภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ทางกรมก็มีอำนาจเรียกข้อมูลเหล่านี้มาตรสวจสอบได้อยู่แล้ว แต่กรมต้องการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องใช้คนไปตรวจเอกสาร ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจ ลักลั่น และปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันได้” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

 

ในรายละเอียดเชิงลึก แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร ระบุว่า การรายงานจะเน้นธุรกรรมที่มีความ “ถี่” และ “ใหญ่” (วงเงิน) ผิดปกติ ซึ่งเกือบทุกประเทศทั่วโลกก็ทำกัน

โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีบทลงโทษผู้ไม่ส่งข้อมูลอย่างหนักเป็นคดีอาญาด้วย เพราะถือว่าเป็นอาชญากรทางภาษี

แต่ส่วนไทยไม่มีโทษอาญา ซึ่งการรายงานธุรกรรมไม่ใช่เฉพาะค้าขายออนไลน์ แต่รวมทั้งหมด นอกจากนี้ ก็ยังมีธุรกิจประเภทที่ชอบหลบรายได้ อาทิ ธุรกิจค้าทองคำ ร้านขายยา เป็นต้น

เรียกว่าทั้ง “ออนไลน์” หรือ “ออฟไลน์” จะถูกสแกนบัญชีทั้งหมด

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การรายงานธุรกรรมดังกล่าว จะมีผลทางจิตวิทยาต่อพ่อค้าแม่ค้าทั้งหมด ทั้งร้านค้าปกติและร้านค้าออนไลน์ ซึ่งก็อาจมีผลกระทบต่อแผนของแบงก์ในการที่จะขยายร้านค้าเพื่อใช้ระบบคิวอาร์โค้ดในการรับชำระเงิน เพราะร้านค้าก็เกรงว่าจะทำให้ถูกสรรพากรตรวจสอบมากขึ้น

เนื่องจากร้านค้าในเมืองไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบ VAT อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบอีเพย์เมนต์ เป็นช่องทางที่ผู้บริโภคให้ความนิยมมากขึ้น ร้านค้าก็อาจไม่มีทางเลือกอื่น

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย “นริศ สถาผลเดชา” เจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว น่าจะมีประโยชน์ 2 ส่วนต่อประเทศ ได้แก่

1. การติดตามภาษีจากกลุ่มที่ไม่เคยเสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ครบจำนวน

และ 2. ติดตามการฟอกเงินและธุรกิจมืด เช่น หวยใต้ดิน โต๊ะแทงบอล โพยก๊วน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งจะมีปริมาณธุรกรรมขนาดเล็กแต่ปริมาณธุรกรรมจะถี่ ส่วนภาคธุรกิจทั่วไปคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมาก

มองในเชิง “หลักการ” ถือเป็นสิ่งที่ดีในการจัดเก็บภาษีเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

แต่กับ “ผู้ค้ารายย่อย” นี่คือข่าวร้ายอย่างแน่นอน