คำ ผกา : ชุดไทย-ชุดสากล

คำ ผกา

เห็นคนแชร์รูปคนไทยแต่งชุดไทย “ออเจ้า” ไปถ่ายรูปหน้าหอไอเฟลที่ปารีสแล้วก็ต้องยอมรับว่ากระแสออเจ้าเค้าแรงจริงๆ

ฉันมีเพื่อนคนหนึ่ง ที่ชอบแต่งตัวตามธีม ตามคอนเซ็ปต์ต่างๆ เวลาไปเที่ยวก็สามารถจัดหาชุดแฟนซีสารพัด รวมทั้งชุดประจำชาติต่างๆ นานาลงกระเป๋าเดินทางไปด้วย

จากนั้นก็ยังสามารถจัดการนุ่งโจงห่มไทย ไปถ่ายรูปกับสถานที่สำคัญๆ ของโลก สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

ถามว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อนบอกว่า ก็ชอบ มันสนุก ถ่ายแล้วเพื่อนก็ขำ คนเดินผ่านไปผ่านมาก็ขำ เอามาลงโซเชียลก็ขำ ใครๆ ก็ชอบ

ทั้งหมดคือเพื่อความขำและความบันเทิงบวกใจรักในการแต่งคอสเพลย์ ดังนั้น จึงถือเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง เป็นความบันเทิงส่วนตัวและความรักที่จะเอ็นเตอร์เทนผู้อื่นอีกส่วนหนึ่ง

ถามต่ออีกว่า คนเดินผ่านไปผ่านมา เค้าไม่มองเธอแปลกๆ เหรอว่ามาใส่ชุดอะไรแปลกๆ แถวนี้

หรือเขาคิดว่าเธออยู่ในชุดพนักงานโรงแรม หรือพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารอะไรสักอย่างหรือเปล่า?

เพื่อนก็บอกว่า แล้วไง ใครแคร์ ไม่สน ไม่อาย ชั้นทำแล้วชั้นสนุกจบ!

คนไทยที่ไปใส่ชุดไทยกลางกรุงปารีสอาจจะคิดอะไรคล้ายๆ เพื่อนของฉันคือ ไหนๆ ก็ไปเที่ยวกับเพื่อน นัดกันทำอะไรสนุกๆ ดีกว่า

โอ้ กระแสออเจ้าก็มา กระไรเลย แต่งชุดไทยเป็นฝาแฝดไปถ่ายรูป ให้หอไอเฟลเป็นฉากหลัง สนุกๆ เป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งมาทำไรแปลกๆ ที่ปกติไม่ทำกับเพื่อน – ก็อาจเป็นได้

ฝรั่งหรือนักท่องเที่ยวอื่นๆ จะมองด้วยสายตาแปลกๆ ไหม? จะคิดว่าบ้าไหม? ฉันก็คิดว่าในปารีสน่าจะเต็มไปด้วยคนบ้าๆ คนเพี้ยนๆ มากเสียจนการไปใส่ชุดไทยถ่ายรูปหน้าหอไอเฟลก็ไม่ใช่เรื่องเพี้ยนเสียจนใครๆ ต้องหันมามอง

อย่างมากก็แค่ฉงนว่า นี่เขามาถ่ายพรีเวดดิ้งหมู่ หรือมาถ่ายอะไรขำๆ ไปไว้อำเพื่อนในปาร์ตี้อะไรหรือเปล่าเท่านั้น

มันยากมากที่จะบอกว่าอะไรคือชุดไทย

ก่อนไทยเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (หลัง 2475) คนในสยามก็แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่หลากหลายตามฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ ชนชั้น ความนิยมตามชนชั้นนำ ชาติพันธุ์

เช่น ชาวสยามเชื้อสายมาเลย์ ก็แต่งกายแบบหนึ่ง ชาวไทยยวนก็แต่งกายอีกแบบหนึ่ง และในหมู่ไทยยวน ไทยเขิน ไทยลื้อ ก็แต่งตัวต่างหลากหลายไปอีก

ชาวจีนในสยามก็แต่งกายอีกแบบ

ชนชั้นนำ ขุนน้ำขุนนางก็มีแฟชั่นเป็นของตนเอง เช่น เจ้าดารารัศมีก็ทำผมทรง “ญี่ปุ่น” ใส่เสื้อแขนหมูแฮม กับผ้าซิ่นสวยงาม เป็นผู้นำแฟชั่นการแต่งกายแบบหนึ่งท่ามกลางความหลากหลายของการแต่งกายในยุคนั้น

ส่วนสามัญชน ไพร่ ทาส ทั้งหญิง ชาย ในภูมิภาคต่างๆ ก็แต่งกายกันเท่าที่ทรัพยากรอันจำกัดของตนจะอำนวย

บันทึกการเดินทางของทั้งคนสยาม คนต่างชาติก็บอกตรงกันว่า ชาวสยามสามัญชนนั้นมีผ้าอ่อนนุ่งห่มกันอย่างจำกัด ผู้หญิงยังเกือบๆ จะเปลือยอกกันด้วยซ้ำ ผู้ชายนั้นหากต้องถ่อเรือ พายเรือระยะทางไกลก็แทบจะเปลือยกาย

เสื้อผ้า เครื่องประดับหรืออาภรณ์ทั้งปวงจึงบอกสถานะของบุคคลได้

และนั่นจึงไม่แปลกใจที่เราจะมีความเชื่อว่า คนมีบุญวาสนา ย่อมมีหน้าตา ร่างกาย ที่สวยงาม

ทั้งนี้ก็เพราะคนมีบุญ มีวาสนา มีฐานะ สามารถแต่งกายและประดับร่างกายให้งดงาม มลังเมลืองได้นั่นเอง

เสื้อผ้าจึงเปรียบประหนึ่ง “ออร่า” ของผู้สวม ส่งให้เห็นถึงความสง่างามแห่งบารมี มีทั้งความเฉิดฉาย ความน่าเกรงขาม

หลังกำเนิดรัฐชาติสมัยใหม่ เมื่อความเป็นไทยถูกสถาปนาขึ้นในฐานะที่เป็น “ประชาชาติ” คนไทยไม่ว่าจะเป็นจีน ลาว มอญ แขก ฝรั่ง เขมร ฯลฯ ที่เกิดและอยู่ในเมืองไทยล้วนแต่เป็นผู้ถือสัญชาติไทย – ความเป็นชาติ ความเป็นไทยจึงต้องถูก “สร้างขึ้น”

สร้างขึ้นในที่นี้ หมายถึงการ “ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” เช่น ดนตรี ที่เคยมีหลากหลาย ก็ต้องถูกสังเคราะห์ เรียบเรียง สร้างแบบแผนขึ้นมาแบบหนึ่ง แล้วเรียกมันว่าดนตรีไทย

ภาษาไทยที่เรียนกันหลายเวอร์ชั่น (ดูตำราจินดามณีเป็นตัวอย่าง) ก็ต้องถูกจัดระเบียบ ชำระสะสางโดยเหล่าราชบัณฑิต กำหนดมาตรฐานขึ้นมาว่า ไวยากรณ์ต้องเป็นอย่างไร การสะกดต้องให้เหลือแบบเดียวที่เป็นมาตรฐานกลาง ยึดถือเป็น reference สะกด เขียน ให้เป็นแบบเดียวกันหมด

สรรพนาม การพูดจา แบบฟอร์มการเขียนจดหมาย การขึ้นต้น ลงท้าย ต่างๆ เหล่านี้ล้วนกำเนิดขึ้นหลังจากที่เรามี “ชาติ” แล้ว

เราจำต้องมี “มาตรฐาน” ของชาติ ที่เป็นมาตรฐานเดียว (ตรงนี้คนชอบคิดว่า จอมพล ป. เป็นเผด็จการฟาสซิสต์ แต่ลองคิดดูว่า ในความเป็นไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น มันก็จำเป็นนะ เช่น ในการกำหนดว่า เออ เมื่อเจอกัน ต่อไปนี้คนไทยจะทักทายด้วยคำว่าสวัสดี ส่วนใครอยากทักว่า ไปไหนมา? กินข้าวหรือยัง? อาบน้ำหรือยัง? อะไรก็แล้วแต่ ทว่าสิ่งที่เป็นมาตรฐานคือ “สวัสดี”)

เรื่องเสื้อผ้าก็เหมือนกัน ในสายตาของนักชาตินิยม และผู้สร้างชาติทั้งหลาย ที่ความฝันของพวกเขาคือ เมื่อเป็นชาติแล้วมันแปลว่า เราคือส่วนหนึ่งของประชาคมโลก หรือในสมัยนั้นใช้คำว่า “นานาอารยประเทศ”

นั่นคือ ประเทศไทย คนไทย ต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเหมือนคนยุโรป คนญี่ปุ่น ต้องมี “อารยะ” ทัดเทียมกับเขา

ทีนี้ประเทศมหาอำนาจ (เจ้าอาณานิคม) ทั้งหลาย ก็ตั้งค่ามาตรฐานแห่งความเป็นอารยะเอาไว้ เช่น ต้องใส่เสื้อผ้ารัดกุม สวมถุงเท้ารองเท้า ใส่หมวก ใส่ถุงมือ ใส่สูท ผู้หญิงสวมกระโปรง มีถุงน่อง รองเท้าเรียบร้อย

ส่วนการแต่งกายแบบชาวพื้นเมืองนั้นเป็นที่ดูถูกของพวกเจ้าอาณานิคมว่า “บาบาริก” หรือ “ป่าเถื่อน” เช่น การไม่ใส่เสื้อ การสักทั้งตัว การนุ่งโสร่งตัวเดียวของผู้ชาย แล้วเสื้อแสงก็ไม่ใส่ การใส่โจงกระเบนของผู้หญิง

ผมที่สั้นกุดของผู้หญิงก็ถูกมองว่า “ไม่ดูเป็นหญิง – เพราะพวกเจ้าอาณานิคมลงหลักปักฐานเรื่องแนวคิด ทวิลักษณ์ทางเพศ หญิง-ชายไปแล้ว และกำหนดลักษณะ feminine และ masculine เอาไว้ชัดเจน ผู้หญิงต้อมผมยาว ผู้ชายต้องผมสั้น เป็นต้น

ผู้นำของไทยในยุครัฐประชาชาติ จึงต้องมานั่งกำหนด “เครื่องแต่งกายมาตรฐานสำหรับคนไทย” ขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนไทยหลายเชื้อชาติ หลายฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ ใช้ยึดถือเป็นคัมภีร์ว่า ถ้าจะแต่งตัวให้นานาอารยประเทศเขายอมรับเราจะแต่งแบบนี้

ในสมัยจอมพล ป. จึงมีหนังสือคู่มือการแต่งกายของพลเมืองออกมา และในคู่มือการแต่งกายนี้เอง มีทั้งการแต่งกายแบบ “สากล” และการแต่งกายแบบ “ไทย”

การแต่งกายแบบสากลของหญิง ชาย และเด็กนั้นไม่เป็นประเด็นเท่าไหร่ เพราะเป็น “สากล” เหมือนกันทั้งโลกจริงๆ และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอยากให้คนไทยแต่งตัวในมาตรฐานเดียวกันโดยไม่เกี่ยวกับความเป็นไพร่หรือเป็นนาย เพราะถือว่าทุกคนเป็นพลเมืองไทยที่มีศักดิ์ศรีเป็นอารยชนเสมอกัน

(ให้แต่งกายให้สมกับเป็นอารยชน โดยกำหนดการแต่งกายและทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคนไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบน เปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแทน เลิกการใช้ผืนเดียวคาดอก หรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน ส่วนชายนั้นขอให้เลิกนุ่งกางเกงแพรสีต่างๆ หรือผ้าม่วง เปลี่ยนมาเป็นนุ่งกางเกงขายาวแทน)

ในชุดสากล ชายหญิงก็มีทั้งชุดทำงาน ชุดลำลอง ชุดกลางวัน ชุดกลางคืน ชุดปิกนิก ชุดทัศนาจร ชุดไปทะเล ชุดไปงานที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ

อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะคิดเหมือนฉันว่า เอ้อ…มันก็ไม่ได้มีอะไรเลวร้ายนะ – และฉันก็ยังงงว่ามีคนเยอะแยะเลยชอบบอกว่า จอมพล ป. ทำลายความหลากหลายวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ในสยาม บังคับให้คนแต่งตัวเหมือนกันหมด

แต่เออ…ถ้าจะเปลี่ยนจากไม่สวมเสื้อมาสวมเสื้อ และแต่งตัวให้ถูกต้องตามหลักสากล มันก็ไม่แย่นะ

แล้วอีกอย่าง ความหลากหลายของเสื้อผ้าชาติพันธุ์ที่นักอนุรักษ์ทั้งหลายไปฟูมฟายอยากรักษาไว้นั้นก็ไม่ใช่เสื้อผ้าของไพร่สามัญชนทั้งสิ้น

ดังนั้น การเปลี่ยนไพร่สักลายทั้งตัวหรือไพร่เปลือยนมมาใส่สูทหรือสวมเดรส ใส่ถุงน่องรองเท้าก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดแล้ว

ในส่วนของชุดไทย รัฐประชาชาติไทยก็ต้องประดิษฐ์มาให้พลเมืองอย่างแน่นอน และกำหนดไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า ในยามปกติ พลเมืองก็แต่งกายแบบสากลตามอารยประเทศ

แต่ในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น งานเลี้ยง งานทำบุญ ตักบาตร งานฉลองต่างๆ ที่ต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองก็พึงแต่ง “ชุดประจำชาติ”

แล้วคำว่า “ชุดประจำชาติ” ก็ปรากฏมาในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

ชุดประจำชาติไทย สำหรับหญิง ก็เป็นเสื้อแขนกระบอก ผ้าถุงยาว เรียบๆ ง่ายๆ ดูดี (ก่อนหน้านี้ผ้าถุง ถูกมองว่าเป็นผ้าลาว แต่รัฐบาลไทยตอนนั้นน่าจะเห็นว่า ผ้าถุงดู feminine ตรงตามคอนเซ็ปต์สากลมากกว่า) ส่วนผู้ชายใส่เสื้อราชปะแตน กางเกงขายาว ถุงเท้า รองเท้า

เพราะฉะนั้น ชุดไทยเบสิกที่ถูกสถาปนาให้เป็นชุดประจำชาติมีแค่นี้ ไม่ใช่ชุดแม่นากห่มสไบ มีสร้อยประหลาดๆ ตุ้มหูประหลาดแบบนางรำแก้บนใดๆ ทั้งสิ้น – และชุดแบบนั้นก็ดูเป็นชุดแก้บนตามศาลต่างๆ เสียจริงๆ ด้วย

หากจะยึดเอาตรงนี้เป็นกำเนิดของชุดประจำชาติไทย ก็ต้องบอกว่า การเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของคนไทยให้เข้าสู่ความเป็น “สากล” มีความเป็นอารยะ ทัดเทียมกับชาวโลกทั้งปวง เปลี่ยนจากคนพื้นเมืองไม่ใส่เสื้อ เดินตีเปล่า มาเป็นพลเมืองแห่งรัฐรัฐหนึ่งที่สวมเสื้อผ้า ใส่รองเท้า อย่างถูกสุขอนามัย ไม่สวมกางเกงแพร เดินรุ่ยร่ายตามท้องถนนพร้อมขากถุย ถ่มน้ำหมากไปด้วย – นั่นแหละ คือความเป็นไทยที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้น

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งปวงแล้วว่าอยากจะเป็นแม่การะเกด หรืออยากจะเป็นเหมือนนานาอารชนสากลประเทศเขา

ก็เลือกเอาเท่านั้นเอย