คุยกับทูตอิสราเอล ‘เมเอียร์ ชโลโม’ กรณีสหรัฐฯรับรองเยรูซาเลม / ประวัติศาสตร์ยิว และความสัมพันธ์กับไทย-อาเซียน

คุยกับทูต เมเอียร์ ชโลโม ไทย-อิสราเอล ยกระดับกระชับความร่วมมือ (จบ)

กรุงเยรูซาเลมหรือเมืองของกษัตริย์เดวิด เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาจูดาห์และศาสนาคริสต์ เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก

หลังจากประเทศอาหรับโจมตีอิสราเอลประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ เมืองนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยอยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอลและจอร์แดน (ค.ศ.1949) เป็นเวลาถึง 19 ปี ที่กำแพงคอนกรีตและลวดหนามได้แยกดินแดนผืนนี้ออกจากกัน

ผลของสงครามหกวันทำให้เยรูซาเลมกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวดังเดิม

ด้วยเหตุที่เยรูซาเลมเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว ชาวคริสต์และชาวมุสลิม อิสราเอลจึงมีนโยบายชัดเจน ที่เคารพในความนับถือทางศาสนาที่ต่างกัน และเปิดให้ผู้คนที่นับถือศาสนาต่างๆ ได้เข้ามาปฏิบัติศาสนกิจของตน

“ในความเป็นจริง เยรูซาเลมเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด และเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลมา 3,000 ปีแล้ว วันนี้ รัฐสภาอิสราเอล (Knesset) ศาลฎีกา และอาคารรัฐบาลอื่นๆ ก็ตั้งอยู่ที่นั่น ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นที่สหรัฐออกมาประกาศรับรองเรื่องนี้ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการค้นพบของสหรัฐแต่อย่างใด เพราะเยรูซาเลมเป็นหัวใจของอิสราเอล และเป็นข้อเท็จจริงที่บางประเทศไม่ต้องการยอมรับ”

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (H.E. Dr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยกล่าวถึงสถานภาพของเยรูซาเลมซึ่งยังเป็นประเด็นหนึ่งในความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ประชาคมโลกบอกว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับสถานะของเยรูซาเลมสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสันติภาพที่มีการเจรจากันแล้ว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศต่างๆ จึงเปิดสถานเอกอัครราชทูตของตนในเทลอาวีฟ หรือบริเวณใกล้เคียง และมีเพียงสถานกงสุลในกรุงเยรูซาเลม

ปัจจุบัน มีผู้แทนต่างประเทศ 119 ประเทศ ซึ่งจำนวนนี้รวมสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ 86 แห่ง ตั้งอยู่ในเทล อาวีฟและปริมณฑล

ส่วนที่เยรูซาเลม เป็นสถานที่ตั้งของกงสุลและสำนักงานผู้แทนต่างประเทศ 30 ประเทศ และยังมีสถานกงสุลในเมืองอื่นๆ รวมทั้งเมืองเอลัต เมืองไฮฟา

แต่ทั้งหมดนี้ก็กำลังเปลี่ยนไปหลังจากที่สหรัฐตัดสินใจจะย้ายสถานเอกอัครราชทูตมายังกรุงเยรูซาเลม

เมื่อ ค.ศ.1995 รัฐสภาอเมริกันผ่านกฎหมาย “เยรูซาเลม เอมแบสซี แอกต์” (Jerusalem Embassy Act) ซึ่งกำหนดให้สหรัฐรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และให้ย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาไปตั้งที่นั่นด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็อนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อนได้ หากมีเหตุอันจะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

ประธานาธิบดีสหรัฐ ตั้งแต่นายบิล คลินตัน เรื่อยมาจนถึงนายบารัค โอบามา ต่างใช้อำนาจสั่งเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด

ในที่สุด ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.2017 ว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐจะย้ายไปอยู่ที่เยรูซาเลม

AFP PHOTO / SAUL LOEB

คำประกาศนี้เป็นเพียงการยอมรับความเป็นจริงเท่านั้น เพราะเยรูซาเลมเป็นเมืองที่ตั้งของสถานที่ราชการของอิสราเอล และเป็นไปตามพระราชบัญญัติ Jerusalem Embassy Act ที่จะนำมาซึ่งการย้ายสถานทูตสหรัฐประจำอิสราเอลมาอยู่ที่เยรูซาเลมด้วย

“ดังนั้น เรามั่นใจว่า สหรัฐยินดีที่จะย้ายสถานเอกอัครราชทูตอเมริกาจากนครเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม” ท่านทูตชโลโมกล่าว

อิสราเอลกับประเทศในกลุ่มอาเซียน

หลายปีที่ผ่านมาอิสราเอลได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศต่างก็ได้เห็นประโยชน์ของการเสริมสร้างความร่วมมือกับอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับอิสราเอล

ความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่เริ่มขึ้นไม่นานหลังการประกาศการสถาปนาประเทศอิสราเอลเมื่อ ค.ศ.1948 อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางการทูตระหว่างอิสราเอลกับประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ของอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน

“ประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนของเรา แม้เราจะไม่มีสถานเอกอัครราชทูตในประเทศมุสลิมทั้งสามนี้ แต่เรายังคงมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับบางประเทศ” ท่านทูตกล่าว

“เรามีสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำเวียดนาม ฟิลิปปินส์และพม่า ถึงแม้จะไม่มีสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในลาวและกัมพูชา แต่เราก็มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศ ซึ่งผมเป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำกัมพูชาที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทย”

อิสราเอลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงอยู่ในฐานะที่สามารถช่วยให้กลุ่มอาเซียนบรรลุถึงเป้าหมายในการพัฒนาด้านสุขภาพ เกษตรกรรมและการวิจัย

ประวัติศาสตร์ของชาวยิว

แหล่งกำเนิดของชาวยิวอยู่ในดินแดนอิสราเอล (Eretz Yisrael) ประวัติศาสตร์อันยาวนานเกิดขึ้นที่นี่ วัฒนธรรม ศาสนาและความเป็นชาติเริ่มต้นที่นี่

แม้เวลาจะผ่านไปหลายศตวรรษแต่หลักฐานของการดำรงอยู่ของชาวยิว ณ ดินแดนแห่งนี้ก็ยังมีอยู่

แม้ชาวยิวส่วนใหญ่จะถูกขับไล่ออกจากดินแดนไปก็ตาม

แต่ตลอดเวลาหลายร้อยปีของการพลัดพรากจากบ้านเกิด ชาวยิวไม่ได้ตัดขาด หรือลืมความผูกพันที่มีต่อดินแดนอิสราเอล

การก่อตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อ ค.ศ.1955 ได้นำมาซึ่งอิสรภาพของชาวยิวที่สูญหายไปกว่าสองพันปีให้คืนกลับมา

ท่านทูตชโลโม ตอบคำถามถึงสาเหตุของการต่อต้านยิว (Anti-semitism หรือ Judeophobia)

“เกิดจากพื้นฐานสามประการ เรื่องแรก เมื่อคุณเป็นชนกลุ่มน้อย คุณก็จะรู้สึกว่า คุณต้องพิสูจน์ตัวเอง ดังนั้น ชนกลุ่มน้อยจึงมักจะเก่ง และเมื่อพวกเขามีแนวโน้มที่จะเก่ง พวกเขาก็จะทำได้ดี และเมื่อพวกเขาทำได้ดีจริงๆ คนจำนวนมากก็จะพากันอิจฉา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุที่ชาวยิวเป็นชนกลุ่มน้อยในหลายประเทศ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่พวกเขาถูกข่มเหง”

“เรื่องต่อมาเป็นเรื่องของศาสนาที่สำคัญมาก อันเกิดจากความเป็นอคติต่อชาวยิว บางครั้งก็เรียกว่า ลัทธิการต่อต้านศาสนายูดาห์ (anti-Judaism) กรณีที่เลวร้ายที่สุดเป็นความหายนะซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปที่ทำให้ชาวยิวจำนวน 6 ล้านคนถูกสังหาร แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เรารู้สึกว่า ความหายนะที่ว่านี้กำลังจะเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับเรา”

“แต่ความแตกต่างระหว่างปัจจุบันกับการสังหารหมู่ชาวยิว (Holocaust )ในอดีต ก็คือ หากมีการข่มเหงเกิดขึ้นอีก คราวนี้ชาวยิวสามารถกลับไปยังอิสราเอลได้ เนื่องจากอิสราเอลเปิดรับชาวยิวทั้งหมด นั่นคือความแตกต่างจาก 70 ปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นเมื่อเยอรมนีภายใต้ระบบนาซีต้องการจะกำจัดชาวยิว ไม่มีที่ใดที่พวกเขาจะหนีไปพึ่งได้”

“แต่ทุกวันนี้ชาวยิวจำนวนมากต่างก็กลับมายังประเทศอิสราเอล เพราะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ และสถานการณ์นี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“และเรื่องสุดท้ายคือ แนวโน้มของมนุษย์ที่มักชอบคนที่เป็นเหมือนตัวเองและไม่ชอบคนที่แตกต่างกัน เพราะชาวยิวยึดมั่นในการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม ส่วนใหญ่แต่งงานกับคนในพวกเดียวกันเท่านั้น ทั้งยังเป็นชุมชนที่ใกล้ชิดกันด้วย คนจึงเกิดความสงสัยและอิจฉา ชาวยิวมีอยู่เกือบทุกประเทศ และไม่ใช่เฉพาะแต่ชาวยิวเท่านั้น ถ้าคุณเป็นชนกลุ่มน้อย คุณก็จะเผชิญกับปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง”

ชาวยิวนับเป็นชนชาติที่สืบทอดวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาซึ่งหยั่งรากลึกมากว่าสี่พันปี ปัจจุบันนี้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวยิวยังคงดำรงอยู่ ณ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันเป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสำคัญของโลก ดินแดนนั้นคือประเทศอิสราเอล

เอกอัครราชทูตชโลโม กล่าวตอนท้ายว่า

“ผมยินดีมากที่มีโอกาสได้กลับมายังประเทศไทย แม้ว่ายังไม่มีเวลาที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด แต่ผมก็หวังว่าจะมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนภายในระยะเวลาสี่ปีของการปฏิบัติหน้าที่ในเมืองไทย”

“ในโอกาสนี้ ผมขอส่งความระลึกถึง และความปรารถนาดีมายังคนไทยทุกคน ขอขอบคุณที่ให้การต้อนรับและให้ความเป็นมิตรแก่เราอย่างมาก ไม่ว่าจะเดินทางไปแห่งไหน ตั้งแต่ร้านอาหารไปจนถึงวัดวาอาราม ทำให้เรารู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม”

“และผมหวังว่า การกระชับความร่วมมือในโครงการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลไทยและอิสราเอลนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต”