จิตต์สุภา ฉิน : ทำไมพี่มาร์กชอบมีอภิสิทธิ์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ไม่นานก่อนหน้านี้ความเป็นเฟซบุ๊กเป็นอะไรที่เท่ ที่คูล สามารถยืดอกได้อย่างสง่าผ่าเผย ไปทางไหนก็มีแต่คนเกรงขามเพราะกำโลกทั้งใบเอาไว้ในมือ

แต่ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน สถานการณ์ผกผันแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

แม้ตอนนี้เฟซบุ๊กจะยังมีโลกใบเดิมอยู่ในฝ่ามือ แต่ก็ไม่อาจจะเคลื่อนไหวปรู๊ดปร๊าดทะลุทะลวงชนคนที่ขวางทางอย่างไม่แคร์หน้าอินทร์หน้าพรหมได้อีกแล้ว

เพราะแค่จะขยับตัวนิดเดียวก็ถูกจับตามองและจ้องหาความผิดอยู่ตลอดเวลา

เหตุการณ์ล่าสุดที่เฟซบุ๊กต้องรับมือคือการที่หัวหน้าใหญ่ อย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มีอภิสิทธิ์ในการใช้ฟีเจอร์ที่ผู้ใช้งานคนอื่นทั่วโลกไม่มี

นั่นคือการดึงข้อความที่ส่งไปหาคนอื่นในกล่องข้อความของเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์กลับคืนมา โดยไม่ทิ้งร่องรอยว่าเคยคุยอะไรเอาไว้กับคู่สนทนาบ้าง

และไม่แจ้งเตือนคู่สนทนาให้ทราบแม้แต่นิดเดียว

 

เรื่องนี้ถูกเปิดโปงขึ้นมาหลังจากคนที่เคยส่งข้อความคุยกับซักเคอร์เบิร์กตั้งแต่หลายปีที่แล้วย้อนกลับไปดูบทสนทนา แต่กลับเห็นแต่ข้อความที่ตัวเองส่งไปฝ่ายเดียว

ข้อความที่ส่งมาจากซักเคอร์เบิร์กนั้นถูกลบไปจนเกลี้ยง เมื่อนักข่าวล่วงรู้เข้าต่างก็พากันไปเช็กกล่องข้อความของตัวเองก็พบเหตุการณ์แบบเดียวกัน

ถ้าหากคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในคนที่ใช้บริการเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ ไว้ส่งข้อความหาเพื่อนและครอบครัว ก็คงจะคุ้นเคยกันดีว่าบริการนี้เป็นแบบส่งแล้วส่งเลย ไม่มีปุ่มให้กดดึงข้อความกลับ แม้จะลบข้อความทิ้งไปแต่นั่นก็เป็นการลบในกล่องของเราคนเดียวเท่านั้น คู่สนทนาเราก็ยังคงเห็นทุกอย่างอยู่ดี

ซึ่งบริการส่งข้อความอื่นๆ อย่างเช่น We Chat หรือ Line เขาได้ฟังเสียงผู้บริโภคว่าการส่งข้อความผิดหน้าต่างแชตนั้นทำให้อนาคตทั้งเรื่องการงานและเรื่องส่วนตัวของใครหลายคนพังยับเยินกันมานักต่อนักแค่ไหน ก็เลยใส่ฟีเจอร์ “Unsend” ให้ดึงข้อความกลับคืนได้ก่อนที่คู่สนทนาจะเห็น แต่เฟซบุ๊กออกฟีเจอร์แบบเดียวกันนี้

ความสามารถที่ใกล้เคียงที่สุดก็เห็นจะเป็นการสร้างหน้าต่างแชตแบบลับ (Secret) ที่เฟซบุ๊กบอกว่าการแชตแบบนี้ ทุกข้อความที่ส่งหากันจะถูกเข้ารหัสแบบเอนด์ ทู เอนด์ เอาไว้สำหรับอุปกรณ์โมบายล์ทุกเครื่องที่เราใช้

สมมติว่าเราส่งข้อความหาเพื่อนด้วยวิธีลับบนไอโฟนของเรา แต่เมื่อไปเปิดในคอมพิวเตอร์ ก็จะไม่เห็นหน้าต่างแชตเดียวกันนี้ เพราะบทสนทนาจะถูกจำกัดไว้ให้อยู่ในอุปกรณ์ที่เราใช้สร้างแชตนั้นๆ เพียงเครื่องเดียว

นอกจากนี้ก็ยังสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้ข้อความทำลายตัวเองหายไปภายในเวลานานแค่ไหน ซึ่งก็สามารถตั้งค่าได้ตั้งแต่ 5 วินาที ไปจนถึงหนึ่งวัน

แม้จะเป็นความสามารถที่ทำขึ้นมาเพื่อช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล แต่ในชีวิตจริงซู่ชิงยังไม่เคยเห็นใครใช้มันเลยค่ะ

ซึ่งก็แปลว่าเมื่อใช้งานจริงแล้วมันค่อนข้างยุ่งยาก อาจจะเป็นเพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเราไม่ได้มีบทสนทนาลับกันตลอดเวลา

และจะคล่องตัวกว่าถ้าหากเราสามารถดึงบางข้อความที่เราไม่ตั้งใจ หรือไม่ต้องการอีกแล้วกลับคืนมาได้

 

เว็บไซต์เทค ครันช์ เขียนเอาไว้ว่า เงื่อนไขการใช้งานของเฟซบุ๊กไม่มีส่วนไหนที่ให้สิทธิบริษัทในการที่จะลบเนื้อหาใดๆ ก็ตามของผู้ใช้ออกไปเว้นแต่จะขัดกับกฎและมาตรฐานของบริษัท การที่บริษัทดึงข้อความของซักเคอร์เบิร์กกลับไป จึงเท่ากับการเข้าไปยุ่มย่ามกับกล่องข้อความของผู้ใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หากเฟซบุ๊กเกรงว่าชื่อบัญชีของซักเคอร์เบิร์กเสี่ยงที่จะถูกแฮ็ก สิ่งที่ควรทำคือเพียงแค่ลบข้อความทั้งหมดออกจากกล่องของตัวเขาเองก็พอ

เมื่อข่าวเรื่องนี้ถึงหูผู้ใช้ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคืองขึ้นอีกครั้ง

การที่ซักเคอร์เบิร์กมีอภิสิทธิ์ลบปุ่ม “เพิ่มเพื่อน” หรือปุ่มส่งข้อความหาเขา ออกไปก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องของเขาคนเดียว

แต่การที่เฟซบุ๊กย่องไปลบข้อความจากกล่องข้อความของผู้ใช้ และออกมายอมรับหลังจากที่ถูกจับได้ ก็ทำให้คนคิดว่าเฟซบุ๊กไม่ตรงไปตรงมา ไม่โปร่งใส และจะยอมรับผิดก็ต่อเมื่อถูกต้อนจนจนมุมเท่านั้น

อีกอย่าง ถ้าหากซักเคอร์เบิร์กสามารถทำได้ ทำไมผู้ใช้คนอื่นๆ ถึงไม่ได้รับสิทธิให้ดึงข้อความกลับแบบนี้บ้างล่ะ

 

ทีมงานเฟซบุ๊กชี้แจงว่าสาเหตุที่ต้องดึงข้อความของเขากลับคืนมานั้นเป็นเพียงมาตรการรักษาความปลอดภัยกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์การแฮ็กครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้ข้อมูลลับๆ ของบรรดาผู้บริหารบริษัทใหญ่ข้ามชาติทั้งหลายหลุดรั่วออกมาจนสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลไปแล้ว หลังเกิดเหตุนั้นทีมงานก็เลยต้องรีบทยอยลบข้อความที่นายใหญ่ส่งออกไปให้หมด

แต่เพื่อเป็นการปัดเป่าบรรเทาความไม่พอใจของผู้ใช้เฟซบุ๊กก็ขอสัญญา ขอเวลาอีกไม่นานจะออกความสามารถในการดึงข้อความกลับแบบเดียวกันนี้มาให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ใช้งานกันบ้าง

และจนกว่าจะถึงวันนั้นก็ขอสัญญาด้วยเกียรติของลูกเสือว่าซักเคอร์เบิร์กจะไม่ดึงข้อความคืนโดยพละการแบบนี้อีกแล้ว

 

ทุกวันนี้ในฐานะที่ซักเคอร์เบิร์กเป็นหัวเรือใหญ่ของแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลมหาศาลของผู้ใช้กว่าพันล้านคนเอาไว้ เขาจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษก่อนที่จะพูดหรือแสดงออกเรื่องอะไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้

ตราบาปอย่างหนึ่งที่ติดตัวเขามาอย่างแน่นเหนียวและน่าจะติดไปอีกนานแสนนาน คือเมื่อปี 2010 เว็บไซต์บิสซิเนส อินไซเดอร์ ได้รายงานเกี่ยวกับข้อความที่เขาเคยส่งหาเพื่อนเมื่อปี 2004 ในสมัยที่เขายังอายุเพียง 19 ปี และเพิ่งก่อตั้งเฟซบุ๊กใหม่ๆ

ซักเคอร์เบิร์กส่งข้อความไปหาเพื่อนคนหนึ่งว่า “ถ้าแกอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับใครในฮาร์วาร์ดก็บอกฉันได้นะ ฉันมีอีเมล ภาพ ที่อยู่ และโซเชียลมีเดียของคนตั้งกว่า 4,000 คนแน่ะ”

เมื่อเพื่อนถามกลับมาว่า “อะไรนะ แล้วแกไปเอาของพวกนั้นมาได้ยังไง”

เขาก็ตอบว่า “พวกมันให้ข้อมูลมาเองน่ะสิ ฉันไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม พวกมัน “เชื่อใจ” ฉันล่ะมั้ง พวกหน้าโง่” (นี่แปลอย่างละมุนละม่อม)

ได้ยินเขาด่าผู้ใช้งานว่าพวกหน้าโง่นี่ก็ทำให้ต้องเอามือทาบอกร้องอุทานว่า “คุณพระ” กันเลยทีเดียว

แม้เขาจะออกมาขอโทษขอโพยไปยกใหญ่แล้ว ว่าเขาเสียใจที่ได้พูดออกไปแบบนั้น

และตอนนี้เขาโตเป็นผู้ใหญ่มากกว่าตอนนั้นแล้ว

แต่ลึกๆ ในใจของคนที่ได้รู้ว่าเขาเคยพูดและคิดแบบนี้ ก็น่าจะมีความรู้สึกกริ่งเกรงอยู่บ้างว่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นเราก็ยกให้เฟซบุ๊กไปเหมือนกันนี่นา แล้วเขากับบริษัทของเขาจะคิดว่าเราหน้าโง่เหมือนกันหรือเปล่าหนอ

อย่างไรก็ตาม ซู่ชิงคิดว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่เฟซบุ๊กจะต้องใช้เวลาเพิ่มอีกสักเล็กน้อยก่อนที่จะเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถดึงข้อความที่ส่งไปแล้วกลับคืนมาได้ เพราะด้านหนึ่งแม้ความสามารถนี้จะช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกสบายใจมากขึ้นเพราะมีอำนาจควบคุมข้อความที่ตัวเองส่งได้อย่างเต็มที่

แต่อีกด้านหนึ่งก็คือความยุ่งยากในหลายสถานการณ์ ผู้ใช้จะ “แคป” หน้าจอบทสนทนากันรัวๆ เพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะดึงกลับเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะเป็นการเปิดช่องให้มีการส่งข้อความที่หยาบคาย ละลาบละล้วง ไม่เหมาะสมหาคนอื่นได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ (เพราะสามารถดึงกลับได้) หรือหากเกิดคดีความอะไรขึ้น หลักฐานก็จะถูกลบทำลายทิ้งง่ายดาย

มารอดูกันว่าเฟซบุ๊กจะจัดการแก้โจทย์เหล่านี้อย่างไรนะคะ