คนมองหนัง : สรุปภาพรวม “รางวัลหนังไทย 60” ปีทองของ “ฉลาดเกมส์โกง” และที่ทาง “เล็กน้อย” ของภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ

คนมองหนัง

ล่วงเข้าถึงเดือนเมษายน 2561 ผลรางวัลสำหรับภาพยนตร์ไทยประจำปี 2560 โดยสถาบันหลักต่างๆ ได้ถูกทยอยประกาศออกมาจนครบถ้วนแล้ว

จึงขออนุญาตนำผลการประกาศรางวัลเหล่านั้นมาสรุปประมวล เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของแวดวงหนังไทยเมื่อปีที่แล้ว

เริ่มต้นด้วยรางวัลสาขาหลักที่เกือบจะเป็น “ภาคบังคับ” ซึ่งแทบทุกสถาบันต่างจัดมอบในแนวทางเดียวกัน

รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2560 ผู้ชนะอย่างเป็นเอกฉันท์คือ “ฉลาดเกมส์โกง” ที่กวาดรางวัลระดับแกรนด์สแลมไปหมดจด จากเวทีสุพรรณหงส์, ชมรมวิจารณ์บันเทิง, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์

แพตเทิร์นเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายรางวัล ได้แก่ นัก/ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม และนัก/ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ที่ “ชานน สันตินธรกุล” และ “ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง” แห่ง “ฉลาดเกมส์โกง” ควงคู่กันไปโกยรางวัลจากทั้งสี่เวที

เช่นเดียวกับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ที่นัฐวุฒิ พูนพิริยะ, ธนีดา หาญทวีวัฒนา และวสุธร ปิยารมณ์ ทีมเขียนบท “ฉลาดเกมส์โกง” ผงาดคว้ารางวัลจากสี่สถาบันหลัก

ขณะที่ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต ก็ได้รับรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมจากผลงานที่เขาฝากเอาไว้ใน “ฉลาดเกมส์โกง” บนเวทีสุพรรณหงส์, ชมรมวิจารณ์บันเทิง และสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์ (สมาคมผู้กำกับฯ ไม่มีการมอบรางวัลสาขานี้)

รางวัลอีกหนึ่งสาขาที่มีคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ คือ เพลงนำ/จากภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งคณะกรรมการของรางวัลสุพรรณหงส์และชมรมวิจารณ์บันเทิง ต่างพร้อมใจกันโหวตเลือกเพลง “ทดเวลาบาดเจ็บ” จากหนัง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” (ขับร้องโดย บอย พนมไพร ประพันธ์โดย เต้ย อธิบดินทร์ และ ธีระพงศ์ แก้วเนตร)

มาว่าถึงรางวัลที่มีกรณี “เสียงแตก” กันบ้าง

เริ่มจากรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่ง “นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” แห่ง “ฉลาดเกมส์โกง” เหมือนจะนอนมาแบบสบายๆ หากพิจารณาชัยชนะบนเวทีสุพรรณหงส์, ชมรมวิจารณ์บันเทิง และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย

ทว่า ทีมนักวิจารณ์แห่งนิตยสารสตาร์พิคส์ก็ช่วยทำให้สถานการณ์พลิกผันและมีสีสันขึ้นเล็กน้อย เมื่อตัดสินใจลงคะแนนเลือก “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” จากหนังสารคดี “หมอนรถไฟ” เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์

สมพจน์ยังคว้าชัยชนะในสาขา “ถ่าย/กำกับภาพยอดเยี่ยม” โดยเขาได้รับรางวัลหมวดนี้จากทั้งชมรมวิจารณ์บันเทิงและสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์ มีเพียงเวทีสุพรรณหงส์เท่านั้น ที่มอบรางวัลเดียวกันให้แก่ภาเกล้า จิระอังกูรกุล ตากล้อง “ฉลาดเกมส์โกง”

นอกจากนี้ รางวัลนัก/ผู้แสดงสมทบชายและหญิงยอดเยี่ยมก็เป็นอีกสองสาขา ที่ไม่มีความเห็นเอกฉันท์

ในส่วนสาขาสมทบชาย “ธเนศ วรากุลนุเคราะห์” แห่ง “ฉลาดเกมส์โกง” กวาดรางวัลไปสามตัวจากสุพรรณหงส์, ชมรมวิจารณ์บันเทิง และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยมี “Teo Yoo” แห่ง “รักของเรา The Moment” ที่ได้รับรางวัลสาขาดังกล่าวของสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์

ที่ขับเคี่ยวกันเข้มข้นกว่าคือสาขาสมทบหญิง เมื่อ “พลอย ศรนรินทร์” จาก “สยามสแควร์” ได้รางวัลบนเวทีสุพรรณหงส์และสมาคมผู้กำกับฯ เสมอกับ “จรินทร์พร จุนเกียรติ” (เต้ย) จาก “Die Tomorrow” ซึ่งได้รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงและสตาร์พิคส์ฯ

อีกสองสาขาที่ “เสียงแตก” คือ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม/ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม ซึ่งพัชร เลิศไกร และฐานทัพ เรืองธารา จาก “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รับรางวัลบนเวทีสุพรรณหงส์และชมรมวิจารณ์บันเทิง ส่วนราสิเกติ์ สุขกาล และมานพ แจ้งสว่าง จาก “ป๊อปอาย มายเฟรนด์” ได้รางวัลของสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์

ยังมีสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ที่แม้หัวลำโพง ริดดิม และวิชญ วัฒนศัพท์ จะกวาดเรียบทุกเวที แต่พวกเขาก็ได้รางวัลสุพรรณหงส์และชมรมวิจารณ์บันเทิง จาก “ฉลาดเกมส์โกง” ทว่าได้รับรางวัลสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์ จาก “#BKKY”

ขณะเดียวกัน เวทีสุพรรณหงส์ยังจัดมอบรางวัลสาขาหลักๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ถูกบัญญัติหมวดหมู่เอาไว้ในเวทีอื่นๆ ได้แก่ บันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม นฤเบศ เปี่ยมใย และกันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จาก “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รับรางวัล, ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ปวเรศ วงศ์อร่าม จาก “ฉลาดเกมส์โกง” ได้รับรางวัล

เทคนิคพิเศษการแต่งหน้ายอดเยี่ยม เมธาพันธ์ ปิติธันยาพัฒน์ จาก “เปรมิกา ป่าราบ” ได้รับรางวัล และเทคนิคการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม ริฟ สตูดิโอ และบริษัท แฟท แคท จำกัด จาก “เพื่อน..ที่ระลึก” ได้รับรางวัล

มาถึงรางวัลพิเศษ ซึ่งบางสาขาในบางเวทีก็มีความสอดคล้องคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ไทยทำเงินสูงสุดในรอบปี 2560 ของชมรมวิจารณ์บันเทิง และรางวัลภาพยนตร์ยอดนิยม ของสตาร์พิคส์ ไทย ฟิล์ม อวอร์ดส์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมอบให้ “ฉลาดเกมส์โกง”

หรือรางวัล “Lifetime Achievement Award” ที่ชมรมวิจารณ์บันเทิงแปลเป็น “รางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ” โดยคนบันเทิงรายล่าสุดที่เพิ่งได้รับรางวัลสาขานี้คือ “มนตรี วัดละเอียด” เมกอัพอาร์ติสต์มากประสบการณ์แห่งวงการภาพยนตร์ไทย

ส่วนสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยก็แปลรางวัลดังกล่าวเป็น “รางวัลเชิดชูเกียรติผู้กำกับผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทย” ซึ่งผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติประจำปี 2560 คือ “มานพ อุดมเดช” ผู้กำกับฯ เจ้าของผลงานคลาสสิค อาทิ ประชาชนนอก, หย่าเพราะมีชู้ และกะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน

ขณะที่เวทีสุพรรณหงส์นั้นมีรางวัลพิเศษเฉพาะตัว อย่างนักแสดงนำชายและหญิงยอดนิยมจากการโหวต ซึ่งผู้ได้รับรางวัลคือ “ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์” จาก “มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ” และ “น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์” จาก “เพื่อน..ที่ระลึก”

ข้ามฟากไปยังชมรมวิจารณ์บันเทิง ก็มีรางวัลพิเศษที่ไม่เหมือนใครเช่นกัน คือ นักทำหนังหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ซึ่งในปี 2560 คณะกรรมการลงมติเลือก “สุรศักดิ์ ป้องศร” ผู้กำกับหนัง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ให้เป็นผู้ได้รับรางวัล

อีกสถาบันที่มีการจำแนกประเภทรางวัลในลักษณะเฉพาะตัวมากๆ คือ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ซึ่งโดดเด่นด้วยการจัดมอบรางวัล “รองชนะเลิศ” ของแต่ละสาขา

ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศประจำปี 2560 ประกอบด้วย รองชนะเลิศภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – แมลงรักในสวนหลังบ้าน, รองชนะเลิศผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (แมลงรักในสวนหลังบ้าน), รองชนะเลิศบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (แมลงรักในสวนหลังบ้าน)

รองชนะเลิศนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม – ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ (มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ), รองชนะเลิศนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม – น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ (เพื่อน..ที่ระลึก) รองชนะเลิศนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ (ฉลาดเกมส์โกง)

และรองชนะเลิศนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – จรินทร์พร จุนเกียรติ (Die Tomorrow)

ปิดท้ายด้วยไบโอสโคป อวอร์ดส์ โดยนิตยสารไบโอสโคป ที่มีลักษณะการมอบรางวัลแตกต่างจากเวทีอื่นๆ อย่างเด่นชัด ดังนี้

รางวัลสูงสุดของไบโอสโคปคือ คนทำหนังแห่งปี ซึ่งในปีล่าสุด ได้มอบให้แก่ “สยมภู มุกดีพร้อม” ผู้กำกับภาพชาวไทยจากภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องดังอย่าง “Call Me by Your Name” ซึ่งส่งผลให้เขาคว้ารางวัลอินดีเพนเดนต์ สปิริต อวอร์ด (รางวัลสำหรับหนังอินดี้ที่ใหญ่สุดของสหรัฐ) มาครอง

คนทำหนังแห่งปีอีกราย ได้แก่ “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ซึ่งเฝ้าต่อสู้ผลักดันจน “แมลงรักในสวนหลังบ้าน” ชนะการต่อสู้คดีในศาลปกครอง และสามารถออกฉายเชิงพาณิชย์เมื่อปีที่แล้ว

ส่วนรางวัลหนังไทยแห่งปี มีภาพยนตร์หกเรื่องที่ได้รับศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกันคือ ฉลาดเกมส์โกง, แมลงรักในสวนหลังบ้าน, ไทบ้าน เดอะซีรีส์, หมอนรถไฟ, นิรันดร์ราตรี และ Die Tomorrow

รางวัลหน้าใหม่น่าจับตา ประกอบด้วย เซิ้ง โปรดักชั่น (ทีมผู้สร้างไทบ้าน เดอะซีรีส์), ไพรัช คุ้มวัน (ผู้กำกับฯ สยามสแควร์), วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย (ผู้กำกับฯ นิรันดร์ราตรี) และ Purin Pictures (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่สนับสนุนผลงานของคนทำหนังอิสระทั้งในและต่างประเทศ ก่อตั้งโดยอโนชา สุวิชากรพงศ์, อาทิตย์ อัสสรัตน์ และภาริณี บุตรศรี)

รางวัลดวงกมล (ผู้มีบทบาทต่อวงการหนังไทย) มอบให้แก่ บริษัท สยามมหรสพ จำกัด (เครือโรงภาพยนตร์เอเพ็กซ์) และการแสดงแห่งปี ตกเป็นของทีมนักแสดงจากไทบ้าน เดอะซีรีส์, ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ (ฉลาดเกมส์โกง) และชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง (ฉลาดเกมส์โกง)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2560 คือ “ปีทอง” ของ “ฉลาดเกมส์โกง” อย่างมิต้องสงสัย แต่หากเพ่งมองลึกๆ ลงไปในรายละเอียด เราก็จะพบเห็นหนังไทยและบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ไทยที่ทรงคุณค่าเรื่อง/รายอื่นๆ ปรากฏขึ้นมา

บนที่ทาง “เล็กๆ น้อยๆ” อันถูกแบ่งสันปันส่วนเอาไว้