เผยแพร่ |
---|
ชัดเจนแล้ว สำหรับพรรค “หลัก” ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกคำรบ
หลังจากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ประกาศสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ คัมแบ๊กกลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562
โดยอ้างถึงความเชื่อมั่นในความดีและมีคุณธรรม
สามารถนำพาประเทศไม่ให้กลับไปสู่วังวนของความขัดแย้งได้อีก
และแย้มถึงการตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นเรื่องของลูกน้อง
โดยให้ไปถามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ซึ่งนายสนธิรัตน์ก็ออกมาขานรับ
ด้วยการกล่าวถึงกระแสการเดินสายหารือกับพรรคการเมืองต่างๆ ว่า สืบเนื่องจากนายสมคิดมองไปที่อนาคตว่าจะส่งมอบประเทศไปสู่การเลือกตั้งอย่างไร เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า
“คุยกับนักการเมืองมาโดยตลอดเพราะต้องลงพื้นที่ เราเป็นห่วงเรื่องอนาคตประเทศ มองว่าการเมืองหากไปในรูปแบบเดิมจะเกิดอะไรขึ้น เราได้มองว่าใครจะเป็นผู้ที่เหมาะสม ประชาชนอยากให้นำพาประเทศต่อไป ซึ่งกระแสท่านนายกฯ ก็เป็นกระแสส่วนหนึ่ง ในการสำรวจผู้นำ นายกฯ ก็เป็นอันดับหนึ่งตลอด”
“ถามผม ผมก็สนับสนุนนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะท่านมีความเหมาะสมคนหนึ่ง”
แม้ว่าในขั้นนี้จะชัดเจนในเรื่องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
แต่การตั้งพรรคนั้น นายสมคิดและนายสนธิรัตน์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้
อย่างไรก็ตาม ในแวดวงการเมือง ฟันธงไปแล้วว่า จะเป็นการเข้าไปใช้พรรคพลังประชารัฐ ที่ไปยื่นขอจดทะเบียนพรรคไว้แล้ว
ซึ่งตัวละครสำคัญที่จะไปขับเคลื่อน ก็ล้วนเป็นทีมของนายสมคิด
คือนายสนธิรัตน์ นายอุตตม สาวนายน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์
ตอนนี้อยู่ระหว่างการทาบทามนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่เข้าร่วมพรรคโดยตรง
หรืออาจใช้วิธีร่วมเป็นพันธมิตรกัน
ไม่ว่า กลุ่มของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุชาติ ตันเจริญ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงพรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูลด้วย
ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า นายสมคิดจะร่วมวงกินข้าวกับนายสุชาติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมมือ ที่บ้านริมน้ำของนายสุชาติ
ซึ่งแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นจริง
แต่ก็ทำให้เห็น “ภาพ” การต่อเชื่อมทางการเมืองที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ในงานวันเกิด “ปู่ชัย” นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ครบ 90 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีการเปิดบ้านศิลาชัย ที่ จ.บุรีรัมย์ รับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานคับคั่ง
ไฮไลต์ของงานนี้ถูกจับจ้องไปที่การเดินทางมาของ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่นำเครื่องเจ๊ตส่วนตัวทะยานขึ้นฟ้า
มาพร้อมกับนายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายบุญลือ ประเสริฐโสภา น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี
และยังมีแขกวีไอพีคนสำคัญคือ “พ่อมดดำ” นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำด้วย
การเดินทางมาของนายสุชาติพร้อมกับ “เสี่ยหนู” นั้น แม้ด้านหนึ่งจะเป็นการสยบกระแสข่าวว่า นายสุชาติเตรียมตัวออกจากภูมิใจไทยไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ร่วมกับนายสมคิด
แต่อีกด้านก็ให้ภาพนายสุชาติเป็นดัง “สะพาน” ที่ทอดระหว่างภูมิใจไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ “มิตรทางการเมือง”
เป็นมิตรการเมือง เหมือนกับกระแสข่าวว่า นายสมคิดทอดไมตรีไปยังพรรคพลังท้องถิ่นไท ของนายชัชวาลย์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน เช่นกัน
ซึ่งนายชัชวาลย์ระบุว่า พรรคพลังท้องถิ่นไทนี้ตั้งขึ้นมา เนื่องจากสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย อยากมีตัวแทนเป็นปากเสียงในสภาบ้าง จึงได้มาหาตน และตอนนั้นคือปี 2556 นายสมคิดยังอยู่กับตนที่สยามรัฐ เห็นว่านายสมคิดเก่ง จึงอยากให้เป็นหัวหน้าพรรค แต่นายสมคิดได้ปฏิเสธ ประกอบกับเกิดปฏิวัติ จึงไม่มีอะไรคืบหน้า แต่ยังพบปะกันอยู่แต่ละจังหวัด มาถึงขณะนี้พรรคนี้ยังดำรงอยู่ตามกฎหมาย
ซึ่งแม้นายชัชวาลย์จะปฏิเสธว่ายังไม่ได้คุยกับนายสมคิด
แต่วันข้างหน้าจะไปร่วมกับพรรคการเมืองไหนก็ไม่ขัด ขอให้เกี่ยวข้องผลประโยชน์ประเทศชาติ
“ผมตั้งใจจะทำให้ประเทศชาติก่อนตายสักครั้ง” นายชัชวาลย์ระบุ
ในนาทีนี้จึงค่อนข้างชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐ น่าจะเป็น “ก๊ก” การเมืองสำคัญก๊กหนึ่ง
ที่กำลังรวบรวมคนทั้งมา “ร่วมพรรค”
และเป็น “พันธมิตรทางการเมือง”
ซึ่งน่าจะรวมถึงพันธมิตรอย่างพรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย
ที่ยืนยันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน
และมีดีเอ็นเอคล้ายพรรคพลังประชารัฐ
โดยพิจารณาจากผลการประชุมผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปเพื่อทำตามขั้นตอนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป คำประกาศอุดมการณ์ของพรรค พร้อมกับเห็นชอบคณะกรรมการบริหารชุดแรกของพรรค
ปรากฏว่า นายไพบูลย์ เป็นหัวหน้าพรรค, พล.อ.ลือพงศ์ โชติวิทยกาญจน์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย, นายเทพสิทฐิ์ ปะวาหะนาวิน นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นรองหัวหน้าพรรค, นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นเลขาธิการพรรค, พล.อ.จิรศักดิ์ บุตรเนียร อดีตรองหัวหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นรองเลขาธิการพรรค
ซึ่งแนบแน่นกับ “สีเขียว” ค่อนข้างมาก
นอกจากก๊กพลังประชารัฐ และพันธมิตรข้างต้นแล้ว
อีกก๊กหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ก๊กของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เมษายน ไม่ว่าจะใช้คำว่า กลับคำ หรือใช้คำว่า ยืนยัน ก็ตาม
แต่ก็ชัดเจนแล้วว่า นายสุเทพ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ประกาศตั้งพรรคการเมืองอย่างแน่นอน
“สำหรับผมเองขอยืนยันว่าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรอีกแล้ว ตั้งแต่ออกมาเดินถนน จึงไม่ต้องการที่จะรับตำแหน่งอื่น แม้ผมไม่ประสงค์ที่จะมีตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็มีหน้าที่เหมือนคนไทยทั้งหลายที่จะต้องเข้ามาดูแลงานการเมืองให้กับประเทศไทย เพราะฉะนั้น ขอได้โปรดติดตามเรื่องนี้ต่อไปก็จะได้พบความเป็นจริง นวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเมือง”
“ยืนยันว่าแนวความคิดอุดมการณ์ของมวลมหาประชาชนทางการเมืองที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น จะต้องมีประชาชน มีกระบวนการของประชาชน พรรคการเมืองของประชาชนทำหน้าที่นี้ สืบสานปณิธาน อุดมการณ์ของ กปปส. ต่อไป”
“ไม่ใช่พรรคการเมืองของ กปปส. แต่เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ที่จะผลักดันให้แนวความคิดของคนที่เคยเป็น กปปส. สำเร็จสมบูรณ์ให้ได้”
นั่นคือคำประกาศของนายสุเทพ
ซึ่งก็อาจแตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐ ที่มุ่งเน้นเก็บกวาดนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่เข้ามาร่วมเป็น “พันธมิตร”
แต่พรรค กปปส. ของนายสุเทพ จะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มพลังมวลชน ทั้งกลุ่ม กปปส.
และที่กำลังเอื้อมมือเข้าไปแตะก็คือ กลุ่มคนเสื้อเหลือง อันรวมถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย
แม้จะไม่ลงตัว ยังมีความแตกต่างทางความคิดอยู่บ้าง
แต่เป้าหมาย “มวลชน” คือสิ่งที่นายสุเทพต้องการ ให้เป็นก๊กการเมืองอีกก๊กหนึ่ง
นอกจาก 2 ก๊กข้างต้นแล้ว พรรคอีกพรรคหนึ่งที่พยายามจะวางตนเองเป็นอีกก๊กการเมืองหนึ่ง
คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการเป็นก๊กที่ 3 คือไม่เอาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และไม่เอานายทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งแคมเปญในการหาเสียงก็คงขายจุดยืนนี้ คือแทรกอยู่ตรงกลาง
นั่นคือ ไม่เผาผีระบบทักษิณ
ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิด ในเรื่องการใช้ทำเนียบรัฐบาล ทำกิจกรรมทางการเมือง
ขณะเดียวกัน ใช้กลไกรัฐบาลเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
และคงมีอีกนานาประเด็นที่ติดตามมา
ซึ่งแม้จะสร้างความ “หงุดหงิดใจ” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิด ถึง “อุปนิสัย” ของพรรคประชาธิปัตย์
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้กล่าวเย้ยๆ ไว้แล้ว ให้รอดูสิ่งที่จะเกิดหลังการเลือกตั้งจะดีกว่า
นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์จะเอา พล.อ.ประยุทธ์ หรือเปล่า
แน่นอนหากฝันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคที่หนึ่ง
พรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่เอาผู้นำทหาร
แต่ในความเป็นจริง ยากมากที่พรรคประชาธิปัตย์จะครองเสียงข้างมาก แนวโน้มจึงน่าจะเป็น “พรรคร่วม” กับพรรคการเมืองอื่นมากกว่า
ซึ่งก็เป็นที่คาดหมายว่า กับนายทักษิณคงไม่ร่วม
แต่กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นไม่แน่
และเราคงจะได้ฟังเหตุผลอันพิสดารทางการเมืองต่อไปว่า เพราะอะไรพรรคประชาธิปัตย์จึงจะเข้าไปร่วมหนุน พล.อ.ประยุทธ์
ด้วยความเชื่อเช่นนี้
พรรคประชาธิปัตย์จึงมิอาจเรียกเป็นก๊กได้เต็มปาก
หากจะเป็น “กั๊ก” มากกว่า
นั่นคือ กั๊กที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายไหนก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับตน
การขับเคี่ยวในสงครามเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
จึงน่าจะเป็นอย่างที่นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ชี้
นั่นคือ ไม่ใช่การเลือกตั้งสามก๊ก หรือสี่ก๊ก
แต่จะเป็นการเลือกตั้งเพียงสองทางเลือกเท่านั้น
คือจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กับไม่สนับสนุน เท่านั้น
สนับสนุน ก็คือก๊กนายสมคิด+นายสุเทพ+(ประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง) = แป๊ะ (พล.อ.ประยุทธ์)
ซึ่งนายอลงกรณ์ก็ชี้ไว้อย่างน่าพิจารณา นั่นคือ
พรรคตามสมการข้างต้นนั้นจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของอีกก๊ก คือพรรคเพื่อไทย และพรรคที่ไม่เอาทหาร ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ (จริงๆ)