ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 เมษายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
ผู้เขียน | นิตยา กาญจนะวรรณ [email protected] |
เผยแพร่ |
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของละครเรื่องบุพเพสันนิวาสก็คือการปะทะกันระหว่างภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันประมาณ ๓๐๐ ปี
จากการค้นคว้าเอกสารโบราณหลายฉบับทำให้ผู้เขียนเรื่องและผู้เขียนบทสามารถจำลองภาพการใช้ภาษาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แม้เราจะไม่ทราบว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่แต่ก็ให้ความรู้สึกว่าน่าจะเป็นภาษาสมัยนั้น โดยเฉพาะการใช้ศัพท์โบราณ เช่น โข บาท เวจ/เว็จ อึดตะปือ
คำเหล่านี้หาความหมายได้จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ดังนี้
โข (ปาก) ว. มาก. (กร่อนมาจาก อักโข ซึ่งตัดมาจาก อักโขภิณี).
บาท ๔ น. ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที, โบราณเขียนเป็น บาตร ก็มี เช่น ย่ำรุ่งสองนาลิกา เสษสังขยาห้าบาตร (ตะเลงพ่าย).
เวจ, เวจ- [เว็ด, เว็ดจะ-] น. ที่ถ่ายอุจจาระ. (ป. วจฺจ).
อึดตะปือ ว. มากมาย, ล้นหลาม.
จากตัวอย่างเพียง ๔ คำนี้ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่าการใช้ภาษาของคนในสมัยนั้นก็ไม่ต่างจากคนสมัยนี้ เพราะมีการตัดคำให้สั้น จาก “อักโขภิณี” เป็น “โข” หรือ “อักโข” และมีการออกเสียงคำยืมตามแบบภาษาไทย คือ คำตายมักจะขึ้นเป็นเสียงตรี อย่าง คำ “เวจ” ซึ่งมาจากภาษาบาลี ก็ออกเสียงเป็น [เว็ด]
ส่วนรูปการเขียนในสมัยปัจจุบันนั้นถือหลักว่าคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตจะไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์หรือเครื่องหมายไม้ไต่คู้กำกับ เช่น “เพชร” อ่านว่า [เพ็ด]
แต่ในหนังสือโบราณอาจจะมีเครื่องหมายกำกับเช่น หนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ กรมกระยาดำรงราชานุภาพ เขียนว่า “เพ็ชร์บุรี” ตามการออกเสียงของคนไทยสมัยนั้น
สิ่งที่น่าสนใจและทำให้ละครเรื่องนี้มีเสน่ห์ก็คือ การปรับตัวระหว่างคน ๒ ยุค ที่พยายามเข้าใจภาษาซึ่งกันและกัน นางเอกจึงสามารถใช้คำจากภาษาอังกฤษอย่าง “ชัวร์” “ไดเอ็ต” และ “โอเค” สื่อสารได้
ละครเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “การเข้าใจซึ่งกันและกันและการปรับตัวเข้าหากันทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น”
เมื่อหันกลับมาสู่เหตุการณ์ปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ใช้ภาษาในยุคเดียวกัน แต่บางครั้งก็หาเข้าใจกันไม่ ดังในคำให้สัมภาษณ์ของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ แห่ง กลุ่ม Newground ซึ่งเผยแพร่ใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๑
เปรมปพัทธ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงความหมายของคำบางคำ เช่น คำว่า “ดึก” ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมาก
“…มีงานวิจัยว่าเด็กสมัยนี้กลับบ้านดึก ฟังดูเป็นเด็กเลว …ความดึกเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว อาจหมายถึงความน่ากลัว เพราะ ๒ ทุ่มก็มืดแล้ว แต่ทุกวันนี้เรามีรถไฟฟ้า มีไฟ มีป้ายบอกทาง มีจีพีเอส…”
นอกจากนี้ เขายังวิจารณ์ท่าทีและการใช้ภาษาของทางราชการว่า
“ต่อให้เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่วิธีใช้ภาษาก็มีส่วน เปิดแพลตฟอร์มของกรมกิจการเด็กจะพบว่าไม่เฟรนด์ลี่กับเราเลย เช่น การใช้เลขไทย จะทำงานเด็กเยาวชนควรเข้าใจวัฒนธรรมเขาก่อน”
เรื่อง “การใช้เลขไทย” นี้ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานแล้ว
เลขไทยใช้ในเอกสารราชการ แต่ในการสื่อสารระดับสากลจำเป็นต้องใช้เลขอารบิก เช่น รหัสไปรษณีย์ เลขทะเบียนรถ บ้านเลขที่ หมายเลขโทรศัพท์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขที่ปรากฏในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเป็นเลขอารบิก มิฉะนั้นจะสื่อกันไม่ได้ เช่น ประเทศไทย 4.0 3G 4G 5G Windows 7 Windows 8 Windows 10 เด็กรุ่นใหม่มีความคุ้นเคยกับเลขอารบิกด้วยสิ่งแวดล้อมใหม่ ฉะนั้น เมื่อเขาเห็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยเขาก็จะไม่สนใจ และอาจเกิดความรู้สึกว่าถูกทำให้ “เป็นอื่น” ก็ได้
ถ้าปรับตัวเข้าหากันได้อย่างในละคร ความขัดแย้งในสังคมก็อาจจะลดน้อยลง