ต่างประเทศ : เฟซบุ๊ก กับวิกฤตข้อมูล บนยอดภูเขาน้ำแข็ง

วิกฤตการณ์การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน “เฟซบุ๊ก” ที่ถูกบริษัทบุคคลที่ 3 นำไปใช้หาประโยชน์ กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ทำให้ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟซบุ๊กต้องออกมาขอโทษและยอมรับกับความผิดพลาดหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ซักเคอร์เบิร์กยืนยันว่าจะควบคุมระบบระเบียบในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานโดยบุคคลที่ 3 ให้เข้มงวดมากขึ้น

ทว่า นั่นก็ทำให้เกิดคำถามที่กว้างออกไปว่า ในเวลานี้ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นทั่วโลกถูกเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานไปมากเท่าใดแล้ว

ทำอย่างไรข้อมูลของเราจะไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่รู้ตัว และเราจะสามารถลบข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างไร

 

พาเดรียก เบลตัน และเมตธิว วอลล์ ผู้สื่อข่าวสายเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของบีบีซี รายงานไว้ในบทความที่มีชื่อว่า “กรณีอื้อฉาวเฟซบุ๊ก : ใครบ้างที่มีข้อมูลของคุณ?” สรุปไว้ชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับก็คือ “การเก็บเกี่ยวข้อมูลผู้ใช้งานนั้นเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ”

ข้อสรุปดังกล่าวมีที่มาจากบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นส่วนตัวและบริษัทเทคโนโลยีในวงการ ที่ยืนยันตรงกันว่าบริษัทหลายพันแห่งนั้นกำลังทำธุรกิจจากการเก็บเกี่ยวข้อมูลไม่เพียงผ่านพฤติกรรมทางออนไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพฤติกรรม “ออฟไลน์” ด้วย

เช่น การใช้จ่ายผ่านบัตรสมาชิก บัตรเครดิต หรือการติดตามอุปกรณ์มือถือผ่านสัญญาณไว-ไฟ เป็นต้น และนั่นเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับข้อมูลของเราบ้าง

จากข้อมูลของคณะกรรมการการค้าแห่งรัฐ (เอฟทีซี) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าบริษัทนายหน้าขายข้อมูลในสหรัฐมีจำนวนมากถึง 4,000 แห่ง

บริษัทใหญ่ที่สุดอย่าง Acxiom เพียงแห่งเดียวมีรายงานว่ามีการเก็บข้อมูลผู้บริโภคถึง 700 ล้านคนทั่วโลก มีข้อมูลทั้งเพศ วัย การศึกษา จำนวนบุตร ขนาดบ้าน ความสูง น้ำหนัก หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง

ไม่เพียงแต่ยากที่จะรู้ว่าข้อมูลอะไรของเราบ้างที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เท่านั้น แต่มันยังยากเช่นกันที่จะรู้ได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกต้องเพียงใด

 

พาเมลลา เดกซอน ผู้อำนวยการบริหารองค์กรการประชุมความเป็นส่วนตัวโลก (World Privacy Forum) อีกกลุ่มองค์กรเรียกร้องสิทธิความเป็นส่วนตัวระบุว่า หลังจากตนเช็กข้อมูลของตัวเองจากบริษัทขายข้อมูลเหล่านั้นกลับพบว่าข้อมูลนั้นผิดเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรายได้ สถานภาพแต่งงาน รวมถึงความชอบส่วนตัว

ซูซาน ไบเดล นักวิเคราะห์ข้อมูลที่บริษัท “ฟอร์เรสเตอร์ รีเซิร์ช” ในนครนิวยอร์ก หนึ่งบริษัทนายหน้าขายข้อมูลของสหรัฐระบุว่า ความเข้าใจพื้นฐานในอุตสาหกรรมขายข้อมูลนั้นเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ทว่า นั่นก็ถือว่ามีความสำคัญสำหรับแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่จะนำไปใช้เพื่อทำให้แน่ใจว่าเงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์ที่ใช้ไปในการโฆษณานั้นคุ้มค่า

นอกจากนั้นแล้วข้อมูลผู้บริโภคซึ่งเคยมีการเก็บแบบออฟไลน์ย้อนหลังไปกว่า 100 ปี พัฒนามาสู่การให้ “คะแนนเครดิต” ที่ทำให้เราถูกเลือกปฏิบัติตามความสวยหรูของคะแนนดังกล่าว โดยองค์กรการประชุมความเป็นส่วนตัวโลกระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้เราได้รับการพิจารณาอนุมัติเครดิตการ์ดหรือการจดจำนองได้ง่ายขึ้น หากมีคะแนนเครดิตที่ดี ทว่าก็จะถูกปฏิเสธการสัมภาษณ์งาน ส่วนลด ของแถม และโอกาสอื่นๆ ได้เช่นกันหากคะแนนเครดิตนั้นอยู่ในระดับต่ำ

ปัจจุบันการเก็บข้อมูลส่วนใหญ่ซึ่งย้ายแพลตฟอร์มจากออฟไลน์สู่ออนไลน์เป็นการเก็บแบบองค์รวมและนิรนาม ทว่าบางกรณีก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป และส่วนใหญ่เป็นผลจากการ อนุมัติ “ข้อตกลงและเงื่อนไข” ในผลิตภัณฑ์ออนไลน์โดยที่ไม่ได้อ่านรายละเอียดก่อน

ทว่าบรรดาข้อตกลงและเงื่อนไขในมุมมองของผู้ใช้งานนั้นอาจเป็นสิ่งที่ยุ่งยากหากต้องอ่านทำความเข้าใจ

 

นักวิจัยจาก “มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน” ในสหรัฐระบุว่า หากผู้ใช้งานต้องอ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวที่ต้องพบเจอในโลกออนไลน์ทั้งหมด อาจต้องใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวันต่อเนื่องเป็นเวลา 76 วันจึงจะอ่านได้ทั้งหมด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นส่วนตัวระบุว่าเป็นหน้าที่ของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องปกป้องข้อมูลของลูกค้า

ไม่เฉพาะแต่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟนเท่านั้นที่เก็บข้อมูลของเรา เว็บไซต์ทั่วๆ ไปรวมไปถึงเว็บไซต์ข่าว อย่างเช่น “นิวยอร์กไทม์ส” ที่พึ่งพาระบบ “แอดเทค” ระบบโฆษณาที่พึ่งพิงการติดตามพฤติกรรมผู้ใช้ผ่าน “เทร็กเกอร์” ที่ถูกซ่อนไว้บนเว็บไซต์หลายสิบจุด

ชัดเจนว่าการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ตกไปอยู่ในมือของ “บริษัทเคมบริดจ์ อนาไลติกา” ที่ถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์กับการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐนั้นกลายเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง

ยังคงมีการเก็บข้อมูลการใช้งานโดยที่เราไม่รู้ตัวอีกมากมายในโลกยุคออนไลน์ซึ่งยากที่จะเลี่ยงได้พ้น