ทวีศักดิ์ บุตรตัน โลกร้อนเพราะมือเรา (123) คนไต้หวันโชว์คุณภาพแก้ขยะ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ที่มาภาพ : www.taiwannews.com.tw

ไต้หวันลบภาพลักษณ์จาก “เกาะขยะ” มาเป็นเกาะที่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะรีไซเคิลสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกได้นั้นไม่ใช่เพราะนโยบายการรีไซเคิลทำอย่างต่อเนื่อง หรือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นเท่านั้น หากหมายรวมถึงคุณภาพและความมีวินัยของคนไต้หวันด้วย

ในกรุงไทเป รัฐบาลกำหนดวันจัดเก็บขยะสัปดาห์ละ 5 วัน มีจุดรับขยะ 4,500 จุด ใช้ระบบไอที แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมแยกขยะแต่ละชนิดไว้ล่วงหน้าผ่านแอพพลิเคชั่น ดูได้จากโทรศัพท์มือถือว่ารถขยะวิ่งมาถึงตรงไหนแล้ว

รถที่จะมารับขยะพ่นสีให้ง่ายต่อการจดจำ

ถ้าเป็นรถสีขาวใช้สำหรับเก็บขยะรีไซเคิล ภายในรถแบ่งเป็นช่องๆ ใส่ขยะแต่ละประเภท เช่น พลาสติก แก้ว อะลูมิเนียม เศษเหล็ก แบตเตอรี่ ฯลฯ

ถ้าเป็นสีเหลืองหมายถึงรถเก็บขยะสดที่เอาไปให้หมูกิน หรือทำปุ๋ยหมัก

ช่วงเย็นๆ รถขยะจะวิ่งไปตามถนน ระหว่างทางเปิดเพลงคลาสสิคไปด้วย เช่น เพลง Fur Elise (เพื่ออลิส) ของลุดวิก ฟาน บีโธเฟน หรือเพลง A Maiden”s Prayer (คำอธิษฐานของสาวน้อย) ของ เทคลา บาดาเซสกา บารานอสก้า คีตกวีชาวโปลิส

เสียงเพลงกระตุ้นให้ผู้คนพากันออกมายืนเข้าคิวเป็นแถวในมือถือถุงขยะที่แยกประเภทไว้แล้ว บางคนเอาถุงขยะใส่ในรถเข็น รถมอเตอร์ไซค์

กระบวนการนี้ช่วยลดปัญหาขยะร่วงหล่นหรือปนเปื้อนพื้นที่สาธารณะ

 

เมื่อรถจอดในจุดรับขยะ แต่ละคนแยกถุงใส่ตามช่องขยะของแต่ละชนิด พนักงานเก็บขยะช่วยแนะนำการทิ้งขยะให้ถูกช่อง

ขยะประเภทรีไซเคิลไม่ได้ รัฐบาลไต้หวันกำหนดให้ใส่ถุงสีน้ำเงินที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเท่านั้น

ถุงประเภทนี้มีขายตามร้านค้าทั่วไป แบ่งเป็นขนาดต่างๆ กัน ขนาดเล็กมีราคาตั้งแต่ 1 บาท จนถึงขนาดใหญ่สุด 216 บาท

กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอของไต้หวัน เข้ามาช่วยทำให้ระบบการจัดเก็บขยะรีไซเคิลของไต้หวันได้รับความสำเร็จเป็นอย่างสูง

อย่างเช่น กลุ่มผู้หญิง หรือมูลนิธิฉือจี้เป็นองค์กรพุทธที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไต้หวันจัดเก็บขยะและให้ความรู้กระบวนการคัดแยกขยะ

อาสาสมัครของมูลนิธิฉือจี้มีอยู่ทั่วไต้หวัน แบ่งแยกหน้าที่อย่างเป็นระบบ

กลุ่มเป็นหญิงสูงอายุ ช่วยแยกขวดพลาสติกแต่ละประเภทออกมากองไว้เพื่อนำไปรีไซเคิล

อาสาสมัครที่เป็นชายสูงอายุ ทำหน้าที่แยกขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้

อาสาสมัครบางคนทำงานให้กับมูลนิธิฉือจี้มาเป็นเวลาหลายปี พวกเขาเชื่อว่า การอุทิศตัวเองเช่นนี้จะช่วยให้โลกน่าอยู่ อนาคตข้างหน้าลูกหลานก็มีความสุขด้วย

สถิติเมื่อปี 2558 อาสาสมัครฉือจี้ช่วยเก็บขยะรีไซเคิลได้มากถึง 100,000 ตันหรือราว 3% ของขยะทั้งหมดในไต้หวัน

 

สําหรับคนทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางนั้น รัฐบาลไต้หวันใช้กฎหมายเอาผิดกับคนเหล่านี้อย่างเข้มงวด

กล้องวงจรปิดที่ถ่ายบันทึกชาวไต้หวันละเมิดกฎหมายติดตั้งทั่วเมือง

ทำผิดครั้งแรกเจ้าหน้าที่จะแจ้งเตือน

แต่ผิดซ้ำต้องเสียค่าปรับในราคาแพง

ในปี 2555 เจ้าหน้าที่ไต้หวันดำเนินคดีคนทิ้งขยะชุ่ยๆ ราว 5,600 ราย ค่าปรับสูงสุดอยู่ที่ 7,000 บาท

คนแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่จับกุมจะได้เงินส่วนแบ่งจากค่าปรับ

แม่ค้าในตลาดกลางคืนหรือไนต์มาร์เก็ตของไต้หวันเคยรับเงินส่วนแบ่งราว 7 แสนบาท จากการแจ้งเบาะแสคนทิ้งขยะชุ่ยๆ

คอนโดมิเนียมของเอกชนติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องเก็บขยะด้วย ลูกบ้านที่ละเมิดกติกา พนักงานคอนโดฯ ถ่ายรูปแล้วส่งไปเตือน

ถ้าทำผิดเป็นครั้งที่สอง เจ้าของคอนโดฯ จะประจานโดยนำรูปถ่ายพฤติกรรมคนคนนั้นไปโพสต์ในเฟซบุ๊กของกลุ่มธุรกิจคอนโดฯ ที่มีคนติดตามกว่า 5 ล้านคน แต่จะเบลอหน้าคนทำผิดเพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคค

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การรีไซเคิลของไต้หวันประสบความสำเร็จ นั่นคือการอุดหนุนทางการเงินให้กับโรงงานอุตสาหกรรมรีไซเคิลและผู้ขายสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล เช่น โรงงานผลิตโซดาในขวด PET (polyethylene terephthalate)

เงินอุดหนุนเหล่านี้ได้มาจากการขายถุงสีน้ำเงินที่รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมการผลิตและรับรองมาตรฐานนั่นเอง

ถ้าเปรียบเทียบ “ก่อน” และ “หลัง” การใช้นโยบายรีไซเคิล จะภาพชัดขึ้น

เมื่อก่อนไต้หวันทิ้งขยะทุกชนิดเฉลี่ย 1.43 กิโลกรัมต่อคน หรือรวมแล้วประมาณ 3,300 ตันต่อวัน เก็บคัดแยกขยะไปรีไซเคิลได้เพียง 5%

ขยะ 95% เหลือค้างอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

จึงไม่น่าแปลกในอดีตไต้หวันจึงถูกตั้งฉายาว่าเป็นเกาะแห่งขยะ

หลังการใช้นโยบายรีไซเคิลตั้งแต่ปี 2531 การทิ้งขยะเฉลี่ยลดลงเหลือวันละ 0.43 กิโลกรัมต่อคน

ปริมาณขยะทั่วประเทศหายไปถึง 2 ใน 3 แต่ประสิทธิภาพในการเก็บคัดขยะไปรีไซเคิลกลับทำได้มากถึง 55%

 

แม้ประสบความสำเร็จติดอันดับท็อปไฟว์ของโลก รัฐบาลไต้หวันยังไม่หยุดนิ่งในการดำเนินนโยบายรีไซเคิล

ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันประกาศแผนบังคับภัตตาคารใหญ่ๆ ที่มีสาขามากมายยกเลิกการแจกหลอดดูดเครื่องดื่มให้กับลูกค้าฟรีๆ ในปีหน้า

จากนั้นในปี 2563 จะห้ามแจกหลอดดูดในร้านอาหาร ภัตตาคารทุกแห่ง

เมื่อถึงปี 2568 ผู้บริโภคคนไหนอยากใช้หลอดดูด ขอถุงช้อปปิ้งหรือถ้วยใส่เครื่องดื่ม ร้านค้าจะคิดเงินเพิ่ม

สำหรับถุงช้อปปิ้งนั้น มีการกำหนดเป้าหมายในปี 2573 จะเลิกใช้ทั่วเกาะไต้หวัน