มุกดา สุวรรณชาติ : 72 ปี…ประชาธิปัตย์ ช่วงชิงอำนาจรัฐ ได้ทุกวิธี (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

การชิงอำนาจรัฐครั้งใหม่ มี 2 แนวทาง

มีผู้วิเคราะห์ว่าการชิงอำนาจรัฐครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ยังมีโอกาสเป็นไปได้ 2 แนวทางคือ

แนวทางแรก ผ่านการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ตามโรดแม็ปของ คสช. ภายใต้ รธน.ไทยนิยม 2560

อีกแนวทางหนึ่ง คือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้ง (ยิ่งถ้าการเลือกตั้งเลื่อนไปเรื่อยๆ ยิ่งเกิดเรื่องง่าย) หรือเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือเกิดการไม่ยอมรับรัฐบาล หลายพรรคการเมืองก็กังวลเช่นนี้จึงไม่ทุ่มเทที่จะเตรียมตัวเลือกตั้งเพราะเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2535 จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

แม้ตั้งรัฐบาลได้แต่อาจถูกล้มแบบปี 2551 มีม็อบพันธมิตรฯ มีตุลาการภิวัฒน์ มีปิดสนามบิน ผลสุดท้ายก็มีการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนค่าย ย้ายพรรค ไม่ถึง 1 ปีรัฐบาลจากพรรคพลังประชาชนก็กลายเป็นรัฐบาลพรรค ปชป.

สุดท้ายเกิดการประท้วงให้ยุบสภา มีการปราบประชาชนจนนองเลือด…วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ครบรอบ 8 ปี ที่ยังไม่มีข้อยุติทางคดี แต่คราบเลือดคงจะฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของผู้คน กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่มีคนถูกประณาม และจดจำง่ายกว่าผลการเลือกตั้ง

สถานการณ์การเมืองขณะนี้ จึงสรุปได้ว่า การชิงอำนาจรัฐครั้งถัดไปมิใช่จะมีแต่การเลือกตั้งเท่านั้น

แต่สำหรับ ปชป. ในสภาพศึกสามก๊ก โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลเทพประทานแบบมีพลังนอกระบบหนุน หมดไปแล้ว เหลือแต่ทางเดินตามโรดแม็ป และไปช่วงชิงในรัฐสภาแบบไทยนิยม

คำถามจากผู้สนใจการเมือง คือ…ถ้าไม่มีเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ทั้ง 100 พรรคการเมือง คิดบ้างหรือไม่ว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร?

 

ยุทธวิธี 3 แบบ
เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐของ ปชป.
ถ้ามีเลือกตั้ง ก.พ.2562

วิเคราะห์การเข้าสู่อำนาจรัฐทั้งใหม่ของ ปชป. ขณะนี้อยู่บนสมมติฐานที่ว่ามีการเลือกตั้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอื่นก็ต้องวิเคราะห์กันใหม่

การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในอดีตของ ปชป. สามารถปรับตัวเข้าหาอำนาจได้ทุกสถานการณ์

รู้ว่าเมื่อไรจะอิงประชาชน

เมื่อไรจะอิงแอบทหารหรือผู้มีอำนาจ

และเมื่อไรควรจะอยู่เงียบๆ คนเดียว

ดูได้จากการที่ได้เป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2490 โดยยอมสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร

และเมื่อชนะเลือกตั้งในปี 2491 จอมพล ป. มาทวงคืนก็ยอม

หรือการอยู่เงียบๆ ในยุคสฤษดิ์และถนอม-ประภาส หรือยอมเพียงแค่เข้าร่วมรัฐบาล เช่นในยุค พล.อ.เปรม

ถ้าแกนนำ ปชป. ยังเป็นกลุ่มเดิม คอการเมืองรุ่นเก่าคาดว่ายุทธวิธีชิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่ ปชป. จะวางแผนไว้ 3 ทางเลือก

1. สู้ในเกมเลือกตั้งให้ได้เสียงเป็นที่ 1 แล้วเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล แผนนี้ใช้ประกาศเป็นเป้าหมายแต่เป็นไปได้น้อยมาก

2. แม้ไม่ได้เสียงมากที่สุด แต่อาศัยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พยายามชิงจัดตั้งรัฐบาล แข่งกับ คสช. และเพื่อไทย อันนี้ก็ยาก

3. เข้าร่วมรัฐบาล กับนายกฯ ที่มาจาก คสช. แผนนี้ง่ายสุด

 

แนวทางที่ 1 ที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้วิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านตัวเลข ส.ส. ได้ให้ข้อสังเกตเรื่องความสามารถในการแข่งขันไว้ดังนี้

ถ้าดูจำนวน ส.ส. ที่ได้รับเลือก (นับจากจำนวน ส.ส.เขต) ยุค ม.ร.ว.เสนีย์ในปี 2519 ทำได้ดีที่สุด 114 เสียง ประมาณ 42% ของทั้งสภาผู้แทนฯ

ในปี 2535 ก่อนพฤษภาทมิฬ ทำได้น้อยสุด 44 เสียง 12.2%

แต่หลังพฤษภาทมิฬในปีเดียวกันได้ 79 เสียง 22%

ครั้งที่แพ้บรรหาร ปี 2538 ก็ได้ 22%

แต่ปี 2539 ตอนที่แพ้ชวลิต ได้ 31%

แพ้ไทยรักไทยปี 2544 ได้ 29.2% ปี 2548 ได้เพียง 19.2% ปี 2550 แพ้พลังประชาชน ได้ 165 เสียง 33% และครั้งสุดท้ายปี 2554 ได้ 159 เสียง 31.8% แพ้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ได้ถึง 265

วิเคราะห์ตามสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ ปชป. จะประกาศอย่างเด่นชัด คือการไม่ร่วมกับระบบทักษิณ

เพราะนี่จะเป็นการดึงคะแนนกลุ่มที่เคยต่อสู้กับทักษิณมาเป็นพวก เนื่องจากมีพรรคใหม่หลายพรรคที่ประกาศไม่เอาทักษิณและประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่ง ปชป. วิตกว่าเสียงส่วนนี้เมื่อก่อนเคยลงคะแนนให้ ปชป. จะหันไปลงให้พรรคใหม่ๆ ทำให้เสียคะแนนไปทุกภาค

แต่ ปชป. จะไม่คัดค้านพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นแนวก้าวหน้าและจะมาแบ่งคะแนนจากผู้เลือกพรรคเพื่อไทย เช่น อนาคตใหม่

คาดว่าการเลือกตั้งใหม่ในปี 2562 ปชป. จะได้ ส.ส. 30% ของสภาผู้แทนฯ ถือว่าเป็นพรรคขนาดใหญ่ ที่มีประมาณ 150 เสียง

ซึ่งยังคงน้อยกว่าเพื่อไทย การจะรวมเสียงมาจัดตั้งรัฐบาลเป็นนายกฯ แบบตรงๆ คงทำไม่ได้

 

แนวทางที่ 2 ฉวยโอกาสจากความขัดแย้งทางการเมือง ถ้ากระแสคนไม่ยอมรับนายกฯ คนนอก ขึ้นสูง (ซึ่งกรณีนี้ คสช. ไม่ส่งคนสมัครนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองตั้งแต่ตอนหาเสียง) ปชป. อาจต่อรองขอเป็นนายกฯ เอง

ถ้าต่อรองได้ก็จะได้เสียงจากพรรคเล็ก และ ส.ว. มาสนับสนุนโดยอาศัยบทเฉพาะกาล รธน.2560 ฉบับไทยนิยม

…มาตรา 272 ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 โดยใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ว. ต้องมาร่วมด้วย)

ซึ่งต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(ส.ส. มี 500 คน + ส.ว. มี 250 คน รวม 750 คน เสียงเกินครึ่งคือเกิน 375 คน)

…แต่ถ้าขัดแย้งในรัฐสภากันจนตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ไม่ได้ ให้สมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (375 คน) เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมด่วน

แต่ถ้าจะเสนอคนนอกบัญชีเป็นนายกฯ ต้องขอเสียง 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (คือต้องมี ส.ส. + ส.ว. รวมไม่น้อยกว่า 500 คน) ยอมรับ…ยากที่สุดคือตรงนี้

ในเมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศแล้วว่าไม่หนุนนายกฯ คนนอก ดังนั้น ต่อให้ ส.ว. 250 คน รวมพรรคเล็กอีก 150 ก็ได้ไม่เกิน 400 ถ้า ปชป. ไม่ช่วยยกมือให้ ไม่มีทางได้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา ชื่อนายกฯ คนนอกไม่มีโอกาสเสนอผ่านประตูสภาเข้ามาได้

จังหวะนี้ ปชป. จะกล้าต่อรองเป็นนายกฯ เองหรือไม่ โดยให้เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน กระจายตำแหน่งรัฐมนตรีไปยังพรรคร่วมรัฐบาลเล็กๆ และตัวแทนอำนาจ ส.ว. เพราะการเลือกนายกฯ โดยรัฐสภา ต้องได้เสียงเกินครึ่ง (375)

ถึงตรงนี้ ต้องนึกถึงคำว่า…แล้วคอยดูหลังเลือกตั้ง…ใครจะดูใคร และใครจะเหนือกว่าในการต่อรอง

 

ทางเลือกที่ 3 ของ ปชป. ขอแค่ร่วมรัฐบาล… ตอนเลือกตั้งทำคะแนนให้ได้มากเท่าที่ทำได้ ซึ่งประเมินว่าน่าจะอยู่ในระหว่าง 120-150 คน…แล้วต่อรองเข้าร่วมรัฐบาล เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดตามสถานการณ์ ซึ่งในอดีตแม้ ปชป. ได้ที่ 1 แต่ก็เคยยอมให้คนอื่นเป็นนายกฯ มาแล้ว

หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ประชาธิปไตยที่เกิดใหม่เริ่มในปี 2523 เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ ที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถมีบทบาทได้ในสถานการณ์แบบนี้ แม้มี ส.ส. เพียง 35 คน เป็นฝ่ายค้าน 1 ปี ก็ร่วมกับ ส.ว. และ จปร.7 โค่น พล.อ.เกรียงศักดิ์กลางสภา แล้วหนุน พล.อ.เปรม ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน

หลังปี 2525 แกนนำพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากเข้าร่วมรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีและได้ชื่อว่าเป็นเด็กของป๋าเปรม เช่น เสธ.หนั่น, วีระ, ไตรรงค์ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นไม่ได้ช่วงชิงกันว่าใครได้ ส.ส. มากที่สุดแล้วจะได้เป็นนายกฯ แต่ช่วงชิงจำนวน ส.ส. เพื่อใช้กำหนดสัดส่วนในการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี

เพราะเมื่อฟ้าเป็นของนก นายกฯ ก็เป็นของป๋าไปแล้ว และผู้ที่จะกำหนดว่าใครจะได้เป็น รมต. ก็คือป๋า 70%

ปี 2529 คุณพิชัย รัตตกุล ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แม้ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. มากที่สุดถึง 100 เสียง ก็ยังได้เป็นแค่ท่านรองนายกฯ ผู้วิเคราะห์ยืนยันว่าแกนนำในพรรค ปชป. ไม่มีใครกล้าเสนอชื่อหัวหน้าพรรคตัวเองเป็นนายกฯ แต่เรื่องนี้วิเคราะห์ได้ไม่ยาก เพราะ

ตำแหน่งนายกฯ เป็นของหัวหน้าพรรคเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ แต่ตำแหน่ง รมต. ที่เหลือเป็นของแกนนำแน่นอน คนส่วนใหญ่จึงสู้เพื่อตัวเอง จะได้เป็นรัฐมนตรี และสู้กันเองจนพรรคแตก

ในการเลือกตั้งปี 2531 วันที่นายกฯ เปรมบอกว่า พอแล้วกับตำแหน่งนายกฯ พรรค ปชป. ก็แตกไปแล้ว มีกลุ่ม 10 มกรา แยกตัวออกไป การเลือกตั้งต่อมา ปชป. ได้ ส.ส. แค่ 48 เสียง

ความแตกต่างของสถานการณ์วันนี้คือ

1. พล.อ.เปรมไม่ตั้งพรรคการเมือง แต่ คสช. จะตั้งพรรคและทำตาม รธน.2560 ไม่จำเป็นต้องมีทหารเยอะ อาจมีนักการเมืองเยอะก็ได้ ปชป. อาจถูกแย่งคะแนนไปบ้าง

2. ถ้าสุเทพออกไปตั้งพรรค กปปส. อาจมีผลให้คะแนน และจำนวน ส.ส. ของ ปชป. ลดลงบ้างเล็กน้อย แต่จะไปเพิ่มที่พรรคสุเทพ ซึ่งไม่มีผลเท่ากับตอนกลุ่ม 10 มกรา แตกออกไป และพรรคสุเทพ ซึ่งจะได้ ส.ส. ไม่กี่คน จะทำหน้าที่ประสาน ปชป. ในการเข้าร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

3. การบริหารผ่านระบบสภาผู้แทนฯ ตาม รธน.2560 รัฐบาลเสียงข้างมากต้องมีเสียง ส.ส. ไม่น้อยกว่าครึ่งสภา (ส.ว. 250 คนไม่เกี่ยว) ดังนั้น ถ้าไม่พึ่ง ปชป. ก็ต้องพึ่งเพื่อไทย จึงจะมีเสียงหนุนในสภาที่เหมาะสม คือ อย่างน้อย 280 เสียง จึงจะผ่านกฎหมายสำคัญได้ ผ่านงบประมาณ ผ่านความไว้วางใจ ฯลฯ

ซึ่งมองจากสถานการณ์ขณะนี้ ปชป. จะเป็นตัวเลือก

4. แต่ถ้ากระแสการเมืองเปลี่ยน มีการต้านการสืบทอดอำนาจอย่างหนัก ปชป. สามารถชิ่งออกมาได้ และหันมาใช้แผน 2 แย่งชิงตำแหน่งนายกฯ แทน

 

ผู้วิเคราะห์เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในอดีต ไม่เพียงตัดโอกาสของผู้นำพรรคการเมืองในการขึ้นบริหารประเทศ แต่ยังไปบ่มเพาะให้ ส.ส. และแกนนำรุ่นใหม่หลายพรรคการเมือง นิยมกับการอิงอำนาจผู้นำทางทหารเพื่อสร้างอำนาจการเมือง ความเชื่ออันนี้ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงการเมืองหลัง 2549 จนถึงปัจจุบัน

ดูจากการเดินหมากการเมืองในอดีต บวกสถานการณ์ปัจจุบัน ปชป. คงเดินแนวทางที่ 3 เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล และคงได้คุมกระทรวงสำคัญ แม้ไม่ได้เป็นนายกฯ และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เมื่ออำนาจนอกระบบคลายออก ก็จะรู้ว่าใครคุมใคร และใครจะบีบใคร

แม้มีสามก๊ก แต่ในระหว่างเลือกตั้ง สถานการณ์การเมืองจะกำหนดให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนมีแค่สองทางเลือก คือเลือกแนวทางสนับสนุน คสช. หรือเลือกแนวทางประชาธิปไตย