ในประเทศ : “โอ๊ค” ดับเครื่องชน “ป๋า” หลักฐานเช็ค 2 ฉบับ จับตาท่าที “ดีเอสไอ”

ช่วงสงกรานต์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐบาล พร้อมผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ เข้ารดน้ำขอพรตามประเพณี

ปีนี้ ท่ามกลางบรรยากาศชุ่มฉ่ำชื่นมื่น ได้เกิดประเด็นแทรกซ้อน โดยมีชื่อของ “ป๋าเปรม” และนายทหารคนสนิทเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง

ก่อนหน้าสงกรานต์ไม่กี่วัน นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น เดินทางไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตามความคืบหน้าคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ที่ยื่นเรื่องไว้ตั้งแต่กันยายน 2560

ติดตามเพราะเชื่อว่าดีเอสไอ “เลือกปฏิบัติ”

มุ่งดำเนินคดีข้อหา “ฟอกเงิน” กับกลุ่มของนายพานทองแท้ ชินวัตร แต่กลับ “ละเว้น” ไม่ดำเนินคดีข้อหาเดียวกันกับ “ผู้รับโอนเงิน” รายอื่น

ทั้งที่ความผิดฐานฟอกเงินไม่ใช่ความผิดส่วนตัวที่ต้องมีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ถึงจะดำเนินคดีได้ หากแต่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่หน่วยงานเกี่ยวข้องสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้เอง

อีกทั้งคดีฟอกเงิน มีอายุความต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดภายใน 15 ปี โดยคดีของธนาคารกรุงไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 หมายความว่าคดีกำลังจะ “หมดอายุความ” ในราวสิ้นปี 2561

ไม่เพียงเลือกปฏิบัติ ละเว้นไม่ดำเนินคดีกับบางราย ยังอาจทำให้คดีขาดอายุความ

คำถามก็คือ หากปล่อยไปถึงจุดนั้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

 

หากเกาะติดการเคลื่อนไหวของนายวีระ สมความคิด ก็จะพบว่า

เกิดขึ้นในห้วงเวลาไล่เลี่ยกับนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินจากการทุจริตอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร

โพสต์เฟซบุ๊กกรณี “เช็ค 2 ฉบับ”

เป็นเช็ค 2 ฉบับที่อ้างว่ามีคนส่งหลักฐาน “รูปถ่าย” และ “ใบนำฝาก” ของธนาคารมาให้พร้อมกับยืนยัน เป็นหลักฐานที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และดีเอสไอมีอยู่เช่นกัน

แต่ “เก็บเงียบ” เอาไว้

ที่สำคัญ เงินในเช็คสั่งจ่าย 2 ฉบับ เป็นก้อนเดียวกันกับที่ดีเอสไอดำเนินคดีข้อหาฟอกเงินกับนายพานทองแท้ โดยเลขที่เช็คทั้ง 2 ฉบับ มีลำดับต่อเนื่องกับเช็คที่สั่งจ่ายในชื่อนายพานทองแท้

ฉบับแรก เป็นเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จำนวน 250,000 บาท มีลายเซ็น พล.อ.เปรมเซ็นกำกับให้นำเงินไปฝากเข้าบัญชีมูลนิธิของตัวเอง

ฉบับที่ 2 เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสด สั่งจ่ายเข้าบัญชี พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป (ยศขณะนั้น) นายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม

“เงินก้อนเดียวกัน ส่วนหนึ่งโอนเข้าบัญชีตน ซึ่งได้โอนคืนกลับหมดแล้ว ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด แต่เงินอีกส่วนหนึ่งโอนเข้าบัญชีคนอื่น ถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยอย่างสบายใจ กลับปราศจากความผิดใดๆ”

โอ๊ค-พานทองแท้ระบุ

“แบบนี้คงไม่มีใครยอมแน่”

 

1สัปดาห์หลังการโพสต์ตอนแรกก็มี “เช็คคนดัง-คดีดัง ตอนที่ 2” ตามมา

โดยสรุป เริ่มจากประเด็นเช็คที่ถูกนำเข้าบัญชีของ “พีเจ” จำนวน 1 แสนบาท ต่อมามีการชี้แจงอ้างเป็นเช็คจ่ายค่างานเลี้ยง

พีเจเซ็นนำฝากเอง เขียนระบุด้วยลายมือให้นำไปเข้าบัญชีเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประเภทให้ดอกผลสูงสุด

ส่อเจตนาหาผลประโยชน์งอกเงยจากเงินก้อนนี้หรือไม่ และเป็นการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท ที่ข้าราชการทหารระดับชั้นนายพลจะต้องสำแดงหรือไม่

“เปรียบเทียบกับกรณีเช็ค 26 ล้านที่ตัวเงินยังไม่ทันเข้าบัญชี เช็คก็ถูกยกเลิกไปก่อน ไม่มีเงินเข้าบัญชีแม้แต่บาทเดียว ภายหลังเงินถูกนำไปเข้าบัญชีผู้อื่น ซึ่งทราบว่ามีการคืนเงินกลับไปแล้วทุกบาททุกสตางค์เช่นกัน ไม่มีใครได้รับผลประโยชน์ แต่ผมกลับจะโดนคดี”

ต่อกรณีนายพานทองแท้

พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ชี้แจงว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นนานแล้ว

เจตนาผู้บริจาคต้องการบริจาคเงินเข้ามูลนิธิรัฐบุรุษฯ แต่ในเช็คใส่ชื่อ พล.อ.เปรม ต่อมา พล.อ.เปรมได้ส่งเช็คดังกล่าวเข้ามูลนิธิรัฐบุรุษฯ เรียบร้อย ไม่ได้นำเงินมาใช้ส่วนตัว

พล.ท.พิศณุชี้แจงด้วยว่า มูลนิธิรัฐบุรุษฯ มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีเป็นประธานมูลนิธิ มีคณะกรรมการดูแลดำเนินกิจกรรมการกุศล พล.อ.เปรมไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการ เพียงแต่มีการมาขอชื่อตั้งเป็นมูลนิธิ

สรุปก็คือ มูลนิธิไม่ใช่ของ พล.อ.เปรม ดังนั้น ที่บอกว่านำเงินบริจาคเข้าบัญชีมูลนิธิตัวเอง จึงไม่ใช่

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะประธานมูลนิธิ กล่าวถึงข้อมูลที่นายพานทองแท้นำมาเปิดเผยว่า เป็นเรื่องเก่า เกิดขึ้นนานมากแล้ว ตอนนั้นตนเองยังไม่ได้ทำหน้าที่ประธานมูลนิธิ

“คิดว่าคงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตรวจสอบ เพราะเรื่องเกิดขึ้นก่อนผมจะเข้ามา”

ส่วนที่มีการพาดพิงถึง พล.อ.เปรมนั้น พล.ท.พิศณุชี้แจงไปแล้ว

“ก็เป็นไปตามนั้น”

 

สอดรับกันระหว่างดีเอสไอกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ต่อกรณี “เช็ค” ดังกล่าว

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ในชั้นสอบสวนดีเอสไอตรวจสอบเงินที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร สั่งจ่ายไปยังบุคคลต่างๆ

รวมถึงสอบสวนกรณีที่หลายฝ่ายยื่นหนังสือให้ตรวจสอบบุคคลที่มีชื่อรับเช็ค ในส่วนที่มีมูลหนี้ต่อกันจริง เช่น ชำระค่าที่ดิน ดีเอสไอก็ไม่แจ้งข้อกล่าวหากับผู้รับเช็ค

ยืนยันดีเอสไอตรวจสอบครบถ้วนทุกราย แต่ไม่สามารถเปิดเผยผลตรวจสอบได้เพราะเป็นรายละเอียดในสำนวน

เช่นเดียวกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ กล่าวถึงกรณีเช็ค 2 ฉบับ ว่า

พูดเรื่องนี้ไม่ได้ ดีเอสไอสอบไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนและไม่ให้ตนพูด ทั้งนี้ ไม่จริงอย่างที่เขาพูด ข่าวออกมาไม่จริง สาเหตุคนละอย่าง คนละเรื่องและไม่เกี่ยวอะไรกันเลย

“ดีเอสไอมาสอบปีกว่าแล้ว ดีเอสไอไม่ให้พูด เคลียร์จบแล้วเมื่อรู้ที่มาที่ไป” พล.ร.อ.พะจุณณ์ระบุ

ทั้งนี้ หากยกกรณี “นาฬิกาหรู” 25 เรือนมาวางเทียบเคียงกับกรณี “เช็ค 2 ฉบับ” จะพบจุดความคล้ายคลึง

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังโลกโซเชียล ที่สนับสนุนข้อมูล ขุดคุ้ย เปิดโปง ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะ จากกลุ่มคนที่โอ๊ค-พานทองแท้เรียกว่า “นักสืบออนไลน์” และ “นักกฎหมายออนไลน์”

ยังคล้ายกันในแง่ที่ว่าเป็นเครื่องชี้นำให้สังคมจับตามองไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในกรณีนาฬิกาหรู และดีเอสไอ ในกรณีเช็ค 2 ฉบับ

จะทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ได้จริงหรือ