ครบ 10 ปี “ปฏิวัติเสียของ” เร่งเช็กบิล “คดีข้าว” และปม “คุณภาพสื่อ”

AFP PHOTO / SAEED KHAN

โดย แมลงวันในไร่ส้ม

 

ในรอบ 30 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา เดือนกันยายนเคยเกิดเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง

นั่นคือ รัฐประหาร 9 กันยายน 2528 เพื่อล้มรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ผู้ก่อการ คือ พ.อ.มนูญ รูปขจร และ น.ท.มนัส รูปขจร (ยศขณะนั้น) โดยระบุชื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

มีคนดังร่วมด้วยหลายคน รวมถึง นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจแชร์ชื่อดัง

เชื่อกันว่า พ.อ.มนูญ วางแผนร่วมกับนายทหารดังๆ หลายนาย แต่เกิดกรณี “ไม่มาตามนัด”

รัฐประหารจึงล้มเหลว กลุ่มก่อการกลายเป็นกบฏ แยกย้ายกันหนี เกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายจุด รวมถึงการระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์

ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และ บิล แลตช์ ชาวอเมริกัน

รัฐประหารอีกครั้งที่เกิดในเดือนกันยายน คือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ผบ.ทบ. ล้มรัฐบาลไทยรักไทย นายทักษิณ ชินวัตร ได้สำเร็จ

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นำ ครม.ขิงแก่ บริหารงานอยู่ 1 ปี ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เสร็จ คืนอำนาจ ให้เลือกตั้งใหญ่ พรรคไทยรักไทยถูกยุบ สมาชิกย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน

ผลคือ พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

นายสมัครพ้นตำแหน่งนายกฯ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ ต่อ

พันธมิตรฯ ชุมนุมปิดสนามบิน ปิดทำเนียบ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน การเมืองสลับขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เป็นรัฐบาล โดยมี นายเนวิน ชิดชอบ แตกตัวจากพลังประชาชน นำ ส.ส. เข้าสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ

ส่วนพรรคพลังประชาชน เปลี่ยนมาสังกัดพรรคเพื่อไทย

เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ในปี 2552 และ 2553 ครั้งหลังรัฐบาลสั่งสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บกว่า 2 พันคน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ผลคือ พรรคเพื่อไทยชนะ

เกิดคำกล่าวแพร่สะพัดว่า รัฐประหาร 19 กันยายน เสียของ เพราะถอนรากถอนโคนเครือข่ายทักษิณไม่สำเร็จ

จึงต้องเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ขึ้นอีกครั้ง

การรำลึกถึงกรณี 19 กันยายน 2549

อีกข่าวใหญ่ได้แก่ การเช็กบิลรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จากกรณีจำนำข้าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ผู้กระทำผิดในโครงการจำนำข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในด้านต่างๆ

ตามมาด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาเผยว่า กระทรวงการคลังจะสรุปตัวเลขความเสียหายเรื่องจำนำข้าว ที่จะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นตัวหลักในเร็วๆ นี้

จากนั้น รมว.คลังจะลงนามในคำสั่งทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.การละเมิด ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ชดใช้ค่าเสียหายตามตัวเลข

หากไม่ทักท้วง หรือร้องต่อศาลปกครอง ก็จะให้กรมบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์

เกิดข่าวเกรียวกราวจากการขายข้าวจีทูจี ที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าทำความเสียหาย 2 หมื่นล้านบาท และจะต้องเรียกให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และคณะ ชดใช้

เมื่อ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ปฏิเสธการลงนาม โดยจะให้ นางชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงลงนามแทน ด้วยเหตุผลว่า ตนเองไม่ใช่นักการเมือง

และมีข่าวว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่กำลังจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน ก็อาจจะให้ปลัดคนใหม่เซ็นแทน

ทำให้มีข่าวว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจ ออกมาขับไล่ รมว.พาณิชย์

ก่อนที่เรื่องจะยุติด้วยการที่ รมว.พาณิชย์ ลงนามแทนนายกฯ และปลัดกระทรวงลงนามแทน รมว.

เป็นภาระของผู้ถูกเรียกให้ชดใช้ว่า จะดำเนินการอย่างไร และเรื่องจะไปจบตรงไหน

ยังเป็นข่าวที่จะต้องติดตามกันต่อไป

14302997561430300438l

ท่ามกลางมรสุมของวงการสื่อที่ผันผวนอย่างหนัก “สุทธิชัย หยุ่น” แห่งเครือเนชั่น ปาฐกถาพิเศษงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง “คนสื่อในอนาคต ทางรอดสื่อไทย ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้”

ระบุว่าสัญญาณเตือนภัยของวงการสื่อเกิดเมื่อ พ.ศ.2553 หรือ 6 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันสร้างผลกระทบต่างๆ มากมาย

สุทธิชัยกล่าวว่า อาชีพสื่อไม่มีวันล่มสลาย แต่คนทำสื่อ อยู่ในภาวะล่มสลาย เพราะพฤติกรรมของบุคคล พฤติกรรมของสังคมและเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนไปทั้งหมด

ที่ต้องตระหนักคือจะปรับตัวอย่างไรเพื่อตามให้ทันกับความต้องการ พฤติกรรมและช่วงวัยของผู้เสพข่าวหรือผู้บริโภคข่าวสาร รวมถึงทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยอย่างรวดเร็ว

และกล่าวถึงสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลในประเทศไทยด้วยว่า คุณภาพที่เกิดขึ้น คือ หาร 24 หมายถึงคุณภาพลดลง เนื้อหาข่าวสารลอกเลียนกัน แข่งความเน่า แข่งดราม่า เปิดและปิดรายการด้วยคลิปวิดีโอซึ่งขโมยจากโซเชียลมีเดียที่ประชาชนเป็นผู้ถ่าย

คิดบ้างหรือไม่ว่าเมื่อทำให้คุณภาพลดลงแล้วจะทำให้อยู่รอดได้จริง ตนมองว่าประเด็นคุณภาพที่ลดลงเป็นเรื่องน่าเศร้าของวงการ เพราะเมื่อย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแม้จะทำได้ตามสิทธิและเสรีภาพ แต่เชื่อว่าคุณภาพจะลดลง เพราะขาดแรงกดดันที่ทำให้พัฒนาฝีมือมากขึ้น

นั่นคือความเห็นจากคนทำงานสื่อชั้นนำอีกคนของวงการ เพจประชาไท ได้นำมาเสนอต่อ มีผู้มาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งท้ายข่าวอย่างดุเดือด

แต่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากข้อสังเกตของสุทธิชัย ก็คือ “คุณภาพ” ของข่าวสาร ไม่ว่าจะในช่องทางไหน ในปัจจุบัน ล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้น

ส่วนหนึ่ง เพราะในสถานการณ์พิเศษเช่นในปัจจุบันทำให้เกิดข้อจำกัดในการเสนอข่าว

ง่ายๆ อย่างการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สื่อต่างๆ ก็ไม่สามารถเสนอข่าว เสนอข้อโต้แย้งต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา

ทำให้สื่อบางส่วนต้องหันไปหาเนื้อหาอื่นๆ ที่คาดคิดเอาเองว่า ประชาชนสนใจ

ซึ่งมีส่วนคล้ายกับการเสนอข่าวของสื่อไทยในยุค “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” หรือ “จอมพลถนอม กิตติขจร” ที่หันไปเน้นหนักข่าวอาชญากรรม ข่าวดารา หรือข่าวบันเทิง

ขณะที่นักเขียนก็หันไปเขียนเรื่องของกิจกรรมส่วนตัว ถอยห่างจากการแตะต้องประเด็นทางสังคม

เป็นอีกประเด็นที่เป็นปัจจัยกระหน่ำซ้ำ นอกเหนือจากวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาการเข้าแทนที่สื่อเก่าโดยบรรดา “นิวมีเดีย” ทั้งหลาย