ทราย เจริญปุระ : นกกระจอกเทศ, กิ้งก่า และกลักไม้ขีด

"America First - รบเถิดอรชุน" เขียนโดย ภาณุ ตรัยเวช ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์มติชน มีนาคม, 2561

ถ้าจะให้คำจำกัดความของทวีปสองทวีป คือยุโรปกับอเมริกา คุณจะเลือกใช้ถ้อยคำสั้นกระชับคำไหน อธิบายตัวตนของทวีปนั่นตามความรู้สึกของคุณ?

สำหรับฉัน, ยุโรปเหมาะกับคำประเภทสุขุม ไว้ตัว หรืออะไรที่สะท้อนภาพความยิ่งยงอันมีมายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสงครามและความตาย เป็นผู้ใหญ่พอจะรับรู้ความเป็นอนิจจังของโลก

และด้วยอคติของฉันเอง, ทำให้ฉันมองอเมริกา (กรณีนี้จำกัดบริเวณเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือ) ว่าเป็นเด็กน้อยของโลก มีความกระเห่อกระเหิม การทดลอง แรงพลัง เป็นหม้อซุปของวัฒนธรรมที่ทั้งกำจัดและสร้างใหม่

มีความฟุ้งฝันแบบที่เรียกได้ว่าอเมริกันดรีม

 

ใน America First หรือ “รบเถิดอรชุน” เล่มถึงช่วงเวลาแห่งทางแยกของอเมริกา, การเก็บตัวเป็นทวีปที่เพิ่งสร้าง กับการก้าวเข้าไปเป็นตำรวจโลกในยุคต่อๆ มา

“นี่ไม่ใช่หนังสือส่งเสริมการรบราฆ่าฟัน ในทางตรงกันข้าม จุดประสงค์ข้อหนึ่งคือการแสดงให้เห็นว่าสงครามขนาดใหญ่ “สงครามที่ไม่จำเป็นตั้งแต่แรก” สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเหตุใดในทศวรรษที่สามสิบ เหล่านักการเมืองและผู้มีอำนาจถึงพลาดโอกาสครั้งสำคัญนี่ สันติภาพไม่ใช่เพียงสภาวะไร้สงคราม ไม่อาจได้มาด้วยการที่แต่ละประเทศก่อกำแพง โดดเดี่ยวตัวเองออกจากกัน สันติภาพมาจากความร่วมมืออันเหน็ดเหนื่อย เพื่อสร้างความยุติธรรมขึ้นในโลก”*

ผู้เขียนทำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเล่มก่อน ที่เล่าเรื่องสาธารณรัฐไวมาร์ได้อย่างมีสีสันชวนติดตาม ความไว้ตัวมีรากเหง้าถูกสั่นสะเทือนด้วยแนวคิดใหม่และสงคราม ยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีต้องมาทำความเข้าใจกับช่วงเวลาฝุ่นตลบที่อาจชวนให้คนเข้าใจผิดว่า เป็นหลักฐานยืนยันว่าประชาธิปไตยไม่เห็นจะดีตรงไหน และสุดท้ายก็ต้องล่มสลาย

เรื่องเดียวกัน เวลาเดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน หากเราจะเลือกตัดตอนเฉพาะที่ถูกต้อง ตรงกับจริตเรา เรื่องนั้นก็จะรับใช้ความเชื่อของเราได้เป็นอย่างดี

แต่ผู้เขียนก็รวบรวมเอาเกร็ดทุกด้านที่แวดล้อมเหตุการณ์สำคัญ คือการขึ้นเถลิงอำนาจของฮิตเลอร์ ว่ามาจากแรงกระเพื่อมใดบ้าง องคาพยพต่างๆ ของสังคมแทบทุกด้าน ทำงานประสานกันเพื่อนำเหตุการณ์ไปสู่ทางสุดท้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

“รบเถิดอรชุน” ก็คล้ายกันเช่นนั้น ถ้าเล่มก่อนเล่าถึงทุกรายละเอียดที่เต็มไปด้วยผู้คน เล่มนี้ทอนกลุ่มคนออกเหลือตัวละครหลักเพียง 2 คน และเสียงอีกมากมายของผู้คนในสังคมคือสิ่งสนับสนุนความเชื่อและการกระทำของตัวละครหลักทั้งสอง

ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์กห์, ชายผู้ขับเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นคนแรก

และ โรเบิร์ต เชอร์วูด, นักเขียนบทละครและนักวิจารณ์ภาพยนตร์เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์สี่ครั้ง

ชายทั้งสองมีเรื่องราวเป็นของตนเอง

จุดร่วมของคนทั้งสองคือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์

ทั้งคู่ขบคิด กล่าวถึง และสำรวจความรู้สึกของคู่ตรงข้ามอยู่เสมอ

ชายผู้มีเสน่ห์เฉพาะตัวอย่างยิ่งทั้งสองเลือกเส้นทางคนละเส้น และต่างใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชื่ออย่างลึกซึ้งในหัวใจออกมาใช้งานในช่วงเวลาอันคับขันนั้น

 

ออปเปนไฮเมอร์ผู้ค้นคว้าสร้างระเบิดปรมาณูชอบอ่าน ชอบศึกษาวัฒนธรรมอินเดีย เมื่อเขาได้ยลพลังทำลายล้างของสิ่งที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในทะเลทรายที่รัฐนิวเม็กซิโก ออปเปนไฮเมอร์พลันหล่นถ้อยคำของนารายณ์อวตาร

“ข้าคือกาฬเทพ ข้ามาเพื่อผลาญโลก

ข้าคือผู้เจริญแล้ว ข้าอยู่เพื่อกำราบโลก”

-ภควัทคีตา : บทที่ 11 วรรคที่ 32-

หากออปเปนไฮเมอร์สามารถยกคำพูดของนารายณ์อวตารข้างต้นขึ้นมาได้ เขาย่อมรู้จักภควัทคีตา อันเป็นบทสวดปลุกใจให้กษัตริย์ลุกขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็คือการทำสงคราม

โอ้อรชุน ไยไม่ยิงศร ดูท่านอาวรณ์เหนือความเป็นธรรม

จิตท่านโลเล ใจท่านเหลียวหลัง แรงท่านอ่อนล้า ตาท่ามืดมัว

…ดูก่อนอรชุน ท่านไม่มีทางเลือกระหว่างสงครามและสันติภาพ

ทั่วทั้งปฐพี มีเพียงคมศร อิทธิฤทธิ์รอน ลดความรุนแรง

หยุดธรรมะสงครามให้สูญเสียน้อยที่สุด

…หากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ยังรอท่าน

ทวยเทพเปิดประตูรับผู้ปราชัย

หากแม้นท่านชนะ คว้าความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

ทุกพงพื้นปฐพีรอให้ท่านเข้าครอบครอง

-ฉะนั้นแล้ว “รบเถิดอรชุน”-*

 

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย มันคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด และเมื่อทุกคนได้พูด มันก็จะนำไปสู่การถกเถียง ในบางคน ในบางสังคมจะรู้สึกว่า การต่อล้อต่อเถียงนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นความน่ารำคาญ เสียเวลาทำมาหากิน เราจะอยู่สงบๆ โดยเอาหัวปักพื้นทรายเช่นนกกระจอกเทศยามเมื่อภัยมาไม่ได้หรือ เราจะเปลี่ยนสีผิว กลืนร่างกายไปกับสิ่งแวดล้อมเพื่อจะดำเนินชีวิตอันปลอดภัยเยี่ยงกิ้งก่าไม่ได้หรือ

ใครอยากทำอะไรก็ทำไป

ขออยู่สงบๆ ก็พอแล้ว

แต่ก็ทุกที, ความสงบนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา

เป็นการพักรบระหว่างศึกใหญ่ครั้งก่อน และความโกลาหลครั้งต่อไป

เมื่อเหตุเช่นนั้นมาถึงตัว

จะเป็นนกกระจอกเทศหรือกิ้งก่าก็ไม่อาจเหลือรอด

จะทุ่มเถียงกันตั้งแต่ตอนนี้เพื่อลูกหลานและตัวเรา

หรือปล่อยดาย ให้ชีวิตเป็นผลัดๆ ทีละ 24 ชั่วโมงในความสงบจอมปลอมก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเลือกเอา

 

ฉันขอปิดท้ายด้วยบทความแสดงวิสัยทัศน์ของวิลล์ โรเจอร์, ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 1920

“…บางคนที่กำลังบริหารประเทศอยู่ตอนนี้ ให้มันถือกลักไม้ขีดผมยังไม่ค่อยจะไว้ใจเลย…”*

เหล่านกกระจอกเทศและกิ้งก่าเอ๋ย

จงร่ำร้องบทเพลงแห่งภควัทคีตา

——————————————————————————————————————-
*ข้อความจากในหนังสือ