ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / อาณานิคมในงาน EXPO ต้นแบบพิพิธภัณฑ์ไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อครั้งที่ประเทศฝรั่งเศสนึกครึ้มใจที่จะเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาก็ได้จัดให้มีงานมหกรรมนานาชาติ (งาน world”s fair ครั้งยิ่งใหญ่ของกรุงปารีส ที่มีชื่อเต็มว่า The Exposition of Universelle of 1889 หรือที่เรียกกันแบบลำลองว่า EXPO Paris 1889) และจัดให้มีการประกวดออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน

แน่นอนว่า สิ่งปลูกสร้างที่ชนะเลิศในคราวนั้นก็คืออะไรที่รู้จักกันในชื่อ “หอไอเฟล” (ตั้งชื่อตาม กุสตาฟ ไอเฟล, Gustave Eiffel, สถาปนิกควบตำแหน่งวิศวกรผู้ออกแบบ) ซึ่งก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส และประเทศฝรั่งเศส ในทุกวันนี้

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าหอไอเฟลนี้จะถูกสร้างขึ้นมาเฉยๆ ให้เปลืองงบประมาณเล่นเท่านั้นนะครับ เพราะว่าเจ้าหอนี่ยังทำหน้าที่เป็นพระเอกในงาน EXPO Paris 1889 อีกด้วย

ที่ว่าเป็นพระเอกก็เพราะหอไอเฟลนั้น ถูกใช้เป็นประตูทางเข้าไปสู่งาน EXPO Paris 1889 เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานครั้งนี้นั่นเอง

 

เจ้าหอชมเมืองกรุงปารีสแห่งนี้ ยังนับได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกเมื่อเรือน ค.ศ.1889 (ตรงกับ พ.ศ.2432 ในยุครัชกาลที่ 5 ของไทย) โดยนอกจากจะสร้างเพื่อใช่ในงานมหกรรมสินค้าโลก EXPO Paris 1889 แล้ว ยังสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการปฏิวัติอันเรืองโรจน์ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่โดยชนชั้นสูงอีกด้วย (ถึงแม้ว่าจะไม่หลุดพ้นแบบทันควันหลังหน้าฉากของการปฏิวัติครั้งที่ว่าก็เถอะ)

แต่เรื่องมันไม่ได้สวยหรูอย่างฉากที่เห็นแค่นี้หรอกนะครับ เพราะเจ้างาน EXPO อย่างนี้ ชาติมหาอำนาจ เจ้าอาณานิคม ชาติไหนในยุคนั้น เขาก็ต้องจัดขึ้นอวดบารมี และแสนยานุภาพของชาติตนเอง อันเป็นอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังของงานมหกรรมทำนองนี้ จนเหมือนกันไปหมด

งานมหกรรมนานาชาติเหล่านี้ก็คือ การจัดแสดงสิ่งของนานาชาติ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้านำสมัยในแต่ละด้าน หรือวัฒนธรรมอันวิจิตรพิสดารของประเทศตนเองต่อสายตาของชาวโลก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก และมีการจัดขึ้นหลายครั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น บรรดางานมหกรรมเหล่านี้ที่จริงแล้วก็คือ งาน “โชว์ของ” ว่าประเทศตัวเองนั้นวิเศษอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าแค่จะอวดของอย่างไรเท่านั้นก็คงไม่มีปัญหาอะไรนัก แต่หลายครั้งที่งาน EXPO ที่จัดโดยชาติเจ้าอาณานิคมขาใหญ่ทั้งหลาย มักจะไม่ได้ทำแค่อวดของในชาติของตนเองเท่านั้น แต่ยังมีการจัดแสดงภาพความ “ด้อย” พัฒนา ของชาติภายใต้อาณานิคมของตนเองอีกด้วย

แถมจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ที่ทำให้มีแสดงภาพความด้อยพัฒนาของชาติใต้อาณาคมเหล่านี้ ก็คืองาน EXPO Paris 1889 นี่แหละ

 

เพราะภายในงาน EXPO Paris 1889 ได้เกิดการแบ่งส่วนพื้นที่การจัดแสดงเป็นสองส่วน ซึ่งมักจะเรียกรวมๆ กันว่า โซน “White City” กับ “Colonial section” เป็นครั้งแรก

แน่นอนว่า “White” ใน “White City” นี่ก็หมายถึง “คนขาว” หรือพวกฝรั่งนี่แหละครับ

ดูแค่ชื่อก็เห็นได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นการเหยียดชนชาติอื่นที่ไม่ขาว ไม่ว่าจะเป็นผิวเหลือง หรือว่าจะผิวดำ ก็ถูกเหยียดแบบเสมอภาคเหมือนกันทั้งหมด

ส่วนอะไรที่ถูกจัดแสดงอยู่ในส่วนของ White City นั้นก็คือ ความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ของประเทศที่ศิวิไลซ์เขา ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรม การขนส่ง เทคโนโลยีล้ำสมัยในยุคนั้น การเกษตรแบบทันสมัย และอื่นๆ อีกสารพัด

ในขณะที่โซน “Colonial section” หรือส่วนของพวกที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นโซนที่มีแต่ชาติใต้อาณานิคมของพวกฝรั่งในยุคนั้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงโซนของพวกคนที่ไม่ขาวอย่างฝรั่ง ซึ่งก็หมายถึงพวกที่ไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเลย (ในสายตาของฝรั่งเจ้าอาณานิคม) ไม่ว่าจะเป็นอาณานิคมของใครหรือไม่ก็ตามอีกด้วย

ข้าวของที่ถูกจัดแสดงอยู่ในโซนของชนชาติที่ไม่ขาวอย่างเราๆ (แน่นอนว่า สยามประเทศไทย ก็ไม่เคยถูกนับว่าเป็นคนขาวด้วยเช่นกัน) ก็ไม่ใช่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอะไรเหมือนทางฝั่งเมืองคนขาวเขาหรอกนะครับ แต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ และข้าวของแปลกๆ

ดูยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาในสายตาฝรั่งจากประเทศเหล่านั้นต่างหาก

 

“EXPO Paris 1889” จึงเป็นเหมือนกับการจำลอง และย่อขนาดโลกของพวกฝรั่งเศส พร้อมๆ ไปกับมีการจัดระเบียบโลกสมมติดังกล่าวด้วยการลำดับชั้นวรรณะไปด้วยว่า ชาวตะวันตกนั้นขาวและมีอารยะ ส่วนพวกคนอื่นๆ ที่ไม่เหลืองก็ดำนั้น ไม่ได้ศิวิไลซ์เอาเสียเลย

และศูนย์กลางของโลกที่เต็มไปด้วยชนชั้น และความไม่เท่าเทียม ตามอุดมการณ์ของลัทธิอาณานิคมอย่างนี้ก็คือ สิ่งปลูกสร้างล้ำสมัย ที่สูงที่สุดในโลกเมื่อครั้งนั้นอย่าง “หอไอเฟล” นี่เอง

แปลกดีนะครับ ที่พวกฝรั่งเศสฉลองครบรอบ 100 ปี ของการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) ซึ่งถือเป็นการปลดแอกชนชั้นในชาติตนเอง ด้วยการสร้างอะไรขึ้นมาตอกย้ำเรื่องการจัดระเบียบชนชั้น เพื่อการกดขี่ และส่งเสริมลัทธิล่าอาณานิคมมันเสียอย่างนั้น

 

ประเทศไทยเองก็เคยมีการจัดมหกรรมทำนองนี้ แต่เน้นจัดแสดงเรื่องราวในประเทศสยามเองเสียมากกว่า ครั้งที่สำคัญที่สุดจัดขึ้นในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2425 ภายใต้ชื่องานว่า “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน”

ถูกต้องแล้วนะครับ เอกสารส่วนใหญ่ของไทยในสมัยนั้น (ซึ่งมักจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5) จะเรียกมหกรรมเหล่านี้ด้วยคำทับศัพท์ว่า “เอกษบิชั่น” (บ้างก็เขียนแตกต่างกันไปว่า เอกซิบิเชอน, เอกซหิบิเชน, เอกซฮบิชัน ตามแต่ผู้ถอดเสียงออกมาจะได้ยินอย่างไหน)

และก็เป็นในบรรดาเอกสารเหล่านี้นี่เอง ที่นอกเหนือจากเราจะพบการใช้คำทับศัพท์ว่า “เอกษบิชั่น” แล้ว ก็ยังพบการใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” แทนคำว่า “exhibition” อยู่ด้วย เช่น ในเอกสาร กต.54/12 ว่าด้วย World Columbian Expositions 1893 (ตรงกับ พ.ศ.2436) เป็นต้น

พูดง่ายๆ อีกทีหนึ่งก็ได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ตรงกับคำว่า “exhibition” ในภาษาอังกฤษ ไม่ใช่คำว่า “museum” เหมือนกันทุกวันนี้

 

แต่การใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” สำหรับหมายถึง “exhibition” ก็ดูจะยังไม่กินความหมายต้องตรงกันนัก เพราะจากรากคำที่ผูกขึ้นมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พิพิธภัณฑ์ ไม่ได้มีนัยยะถึงการจัดแสดงเลยสักนิด เพราะคำว่า “พิพิธ” แปลว่า “แปลก” ในขณะที่ “ภัณฑ์” คือ “ข้าวของ” คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จึงแปลตรงตัวได้ความว่า “ของแปลก” (ส่วนจะหมายถึง ของแปลก ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายถึง วัตถุที่วิเศษ มีคุณค่าทางด้านใดด้านหนึ่ง จริงหรือไม่นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ต่อมาจึงมีการเริ่มใช้คำว่า “นิทรรศการ” ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการเพิ่มเติมคำว่า “สถาน” เชื่อมเข้ากับคำว่าพิพิธภัณฑ์ กลายเป็น “สถานพิพิธภัณฑ์” ซึ่งหมายถึง “สถานที่เก็บของแปลก”

แต่การใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในความหมายของ “exhibition” มาจนกระทั่งถึงปีสุดท้ายในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 คือในเรือน พ.ศ.2468 ดังปรากฏว่า มีการโครงการจัดแสดงมหกรรมระดับชาติ ที่เรียกว่า “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ขึ้นที่สวนลุมพินี

แต่พระองค์กลับเสด็จสวรรคตไปก่อนหน้าหมายกำหนดการเปิดงานเพียงไม่กี่วัน การจัดแสดงทั้งหมดจึงได้ถูกยกเลิกไป

 

การเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในไทยยุคหลังจากนั้น ก็ดูจะสัมพันธ์กับความหมายที่เปลี่ยนแปลงของงาน EXPO โดยเฉพาะทางฟากของฝรั่งเศสอีกเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ในงานมหกรรมครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า Exposition colonial international 1931 (พ.ศ.2474) ซึ่งจัดขึ้นที่ชานกรุงปารีสอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีระยะเวลาเปิดให้เข้าชมถึง 6 เดือน และมีผู้เยี่ยมชมถึง 9-10 ล้านคนเลยนั้น ก็ได้ให้ภาพของชาติภายใต้อาณานิคมของตนเองที่เปลี่ยนไป

ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการจำลอง “ปราสาทนครวัด” ในประเทศกัมพูชา อันเป็นชาติภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการให้ภาพของการที่ฝรั่งเศส สามารถสยบชาติที่อดีตเคยรุ่งโรจน์ และเป็นผู้ดูแล และบริหารจัดการกับหนึ่งในอารยธรรมสำคัญของโลกอย่างนครวัด (และรวมไปถึงปราสาทอื่นๆ) มากกว่าการให้ภาพของชาติภายใต้อาณานิคมว่า ล้าหลัง และไม่ศิวิไลซ์อย่างที่เคยเป็นมาก่อน

น่าสนใจนะครับว่า สยาม ในยุคก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นประเทศไทยนั้น ก็ทำอะไรคล้ายๆ กันอย่างนี้ในพิพิธภัณฑ์ของตนเองเช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 7 นอกจากจะมีการเปลี่ยนคำว่า “สถานพิพิธภัณฑ์” มาเป็น “พิพิธภัณฑสถาน” ซึ่งก็ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้แล้ว ยังเป็นสมัยที่สยามได้ดำเนินการคัดเลือก และจัดแสดงโบราณวัตถุ เพื่อบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นครั้งแรก

ซึ่งก็คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทุกวันนี้

 

โบราณวัตถุเหล่านี้ เป็นของที่ได้มาจากดินแดนต่างๆ ภายในแผนที่ประเทศสยาม ซึ่งเพิ่งจะได้รับการรองรับจากนานาชาติในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และก็แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นล้านนา, ลพบุรี (ปราสาทขอมต่างๆ), ศรีวิชัย ฯลฯ

ไม่ต่างอะไรจากที่ฝรั่งเศสจำลองปราสาทนครวัด ไปจัดแสดงไว้ที่ชานกรุงปารีสในงาน EXPO ครั้งใหม่ ร่วมกับสัญลักษณ์ความเจริญในอดีต ของชาติใต้อาณานิคมอื่นๆ ของฝรั่งเศสในงานเดียวกัน

ถึงแม้ว่าการจัดจำแนกและจัดแสดงโบราณวัตถุ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ พ.ศ.2471 หรือ 3 ปีก่อนงาน EXPO 1931 ที่ชานกรุงปารีส แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกและจัดแสดงโบราณวัตถุในครั้งนั้นคือ ศ.ยอร์ช เซเดส์ (Goerge C?d?s) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส

และก็น่าสนใจด้วยว่าเมื่อมีการเปิดให้ชมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แล้ว เซเดส์ก็ได้จะลาออกจากราชการในสยามทันที เพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (?cole Fran?aise d”Extr?me-Orient) ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาโบราณคดี และประวัติศาสตร์ของชาติภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศสในเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอินโดจีนของฝรั่งเศส ที่มีกัมพูชารวมอยู่ด้วยนั่นเอง