เมนูข้อมูล : “ขัดใจ” แต่ “ยินยอม”

ในทิศทางที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาได้เหมือนอารยประเทศคือ “จัดการเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชน”

ในเรื่องนี้แม้กระทั่ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ซึ่งเห็นว่าการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นหนทางที่จำเป็นต้องใช้ ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าที่สุดแล้วจะต้องกลับสู่ “รัฐบาลประชาธิปไตย” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

แม้จะสะท้อนถึงความไม่มั่นใจนัก โดยแสดงให้เห็นในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ต้องยอมรับการอยู่ในกรอบของ “คืนอำนาจให้ประชาชน” ด้วยความจำเป็นต้องให้มีความชัดเจนในกำหนดวันเลือกตั้งไว้เป็นเป้าหมาย

แต่เพราะ “หลักการใหญ่” คือ “การคืนอำนาจให้ประชาชน” แต่ในรายละเอียดของการปฏิบัติกลับมีความพยายามซ่อนเร้นวิธีการควบคุมอำนาจไว้โดยคนกลุ่มหนึ่งในรูปของ “กฎหมายกำหนดโครงสร้างอำนาจ” ที่ให้คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิกำหนดความเป็นไปมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

เพราะ “การปฏิบัติ” ที่ขัดแย้งกับ “หลักการใหญ่” จึงเกิดความไม่เห็นพ้องต้องกัน นำมาซึ่งแรงเสียดทานกระทบกระทั่งกันในความคิดของประชาชน จนเป็นปัญหาว่า วิธีการเช่นนี้เยียวยาความแตกแยกซึ่งเป็นวิกฤตสำคัญของการอยู่ร่วมกันในชาติของคนไทยยุคนี้ได้หรือไม่

คณะรักษาความสงบแห่งชาติบริหารจัดการประเทศ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 อีกไม่กี่วันจะครบ 4 ปีของการครอบครองอำนาจ

ความน่าสนใจคือสาเหตุหลักที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อ้างเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือต้องการเข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนไทย

4 ปีที่ผ่านมาประสบผลสำรวจในการแก้ไขแค่ไหน

เมื่อเร็วๆ นี้สวนดุสิตโพลได้สำรวจความเห็นของประชาชนอันมีบางคำถามที่ให้คำตอบจากประชาชนถึงมุมมองในเรื่องดังกล่าว

คำถามที่ว่า “จากเหตุการณ์การเมืองต่างๆ ในขณะนี้ ประชาชนคิดว่าสะท้อนการเมืองไทยอย่างไรบ้าง” ร้อยละ 56.87 ตอบว่า ยังมีความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก เห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ ร้อยละ 44.35 ตอบว่า การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ร้อยละ 30.32 ตอบว่า ควรมีการเลือกตั้งให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและตัดสินใจด้วยตัวเอง

เป็นคำตอบที่สนับสนุนให้มีการตีความได้ว่า ความขัดแย้งแตกแยกของคนไทยยังคงอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไขตามเจตนาการเข้ายึดอำนาจ และเป็นเหตุให้ประเทศไม่พัฒนา

โดยประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่าควรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้ามาจัดการเสียที

อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นไปในทางดังกล่าว ทว่า หากมองถึงการดิ้นรนที่จะทำให้เกิดขึ้นตามที่เห็นนั้น ดูว่าประชาชนส่วนใหญ่จะยังไม่คิดจะเข้ายุ่งเกี่ยวอะไร

เพราะการสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ในคำถามที่ว่า “คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จะควบคุมสถานการณ์ (เอาอยู่) หรือไม่” ร้อยละ 51.21 ตอบว่า เอาอยู่ เพราะมีอำนาจพิเศษ มีกำลังทหาร เด็ดขาด ตั้งใจแก้ปัญหา มีร้อยละ 29.61 ตอบว่า ไม่แน่ใจ เพราะขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหว

และร้อยละ 19.18 ตอบว่า เอาไม่อยู่ เพราะบ้านเมืองมีปัญหาหลายด้าน แก้ไขได้ยาก ประชาชนขาดความเชื่อมั่น

ด้วยข้อมูลนี้ สะท้อนถึงแม้จะรู้สึกว่า การแก้ไขความขัดแย้ง แตกแยก ยังได้ผลไม่น่าพอใจ

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังตระหนักถึงอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ยังมีมากพอจะควบคุมไม่ให้เกิดความยุ่งยากได้ แม้จะเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นสารพัด

ด้วยความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนใหญ่ในสำนึกแห่งการมีส่วมร่วมเช่นนี้

ย่อมสะท้อนว่า แม้ประเทศชาติจะดำเนินไป ด้วยการปฏิบัติที่ซ่อนเร้นวิธีการที่ขัดแย้งกับ “หลักการใหญ่” ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันคือ “คืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง”

ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังยินยอมให้ทุกอย่างดำเนินไปตามนั้น