คัมภีร์ มหายาน : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

จุดเด่นเป็นอย่างมากของเสถียร โพธินันทะ คือ การอ้างอิงจากฐานข้อมูลด้านจีน ตรงนี้ฝ่ายที่เคยชินแต่กับคัมภีร์ด้านเถรวาท อาจรู้สึกขัดเขิน กระทั่งรับไม่ได้

หลักการสำคัญก็คือ ต้องเปิดใจให้กว้าง

ดังที่ปรากฏในโพธิจิตตสูตร (พู่ที้ซิมเก็ง) พราหมณ์กัสปโคตรได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระโลกนาถ การหลุดพ้นมีความแตกต่างกันด้วยฤๅ”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อน พราหมณ์ วิมุตติมรรคหาได้มีความแตกต่างกันไม่ ก็แต่ยานพาหนะที่จะไปนั้นมีความต่างกันอยู่ พราหมณ์ อุปมาเหมือนถนนหลวง ย่อมมีผู้ไปด้วยพาหนะคือช้างบ้าง ไปด้วยพาหนะคือม้าบ้าง ไปด้วยพาหนะคือลาบ้าง

“เขาทั้งหลายย่อมบรรลุถึงนครอันตนปรารถนา พราหมณ์ เธอเข้าใจความนี้เป็นไฉน ในยานพาหนะทั้งหลายนี้มีความแตกต่างกันหรือ”

พราหมณ์ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในยานพาหนะทั้งหลายเหล่านั้นย่อมมีความแตกต่างกัน”

พระองค์ตรัสว่า “อย่างนั้นๆ ดูก่อนพราหมณ์ สาวกยาน ปัจเจกยาน อนุตตรสัมมาโพธิยาน ทั้ง 3 มีความต่างกัน ก็แต่มรรค และวิมุตติหามีความแตกต่างกันไม่” แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสนิคมคาถาว่า

“หนทางความหลุดพ้นไม่มีต่ำสูง แต่ยานพาหนะทั้งหลายมีความแตกต่าง ผู้มีปัญญาพึงเปรียบเทียบเช่นนี้แล้วพึงเลือกเอายานที่ประเสริฐสุด”

หากย้อนกลับไปศึกษาที่ เสถียร โพธินันทะ อธิบายเกี่ยวกับ “ตรียาน” อันได้แก่ 1 สาวยาน (เซียบุ้งเส็ง) 1 ปัจเจกยาน (ต๊กกักเส็ง) และโพธิสัตวยาน (พู่สักเส็ง)

แล้วก็จะเข้าใจในจุดร่วมและจุดต่าง

เพราะว่า “สาวกยาน” คือ ยานของพระสาวกที่มุ่งเพียงอรหันตภูมิ ซึ่งรู้แจ้งในอริยสัจ 4 ด้วยการสดับจากพระพุทธเจ้า “ปัจเจกยาน” คือ ยานของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้แก่ ผู้รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์

“โพธิสัตวยาน” คือ ยานของพระโพธิสัตว์

ซึ่งได้แก่ผู้มีใจกว้างขวาง ประกอบด้วยพระมหากรุณาในสรรพสัตว์ ไม่ต้องการอรหันตภูมิ ปัจเจกภูมิ แต่ปรารถนาพุทธภูมิเพื่อโปรดสัตว์ได้กว้างขวางกว่า 2 ยานแรก แลเป็นผู้รู้แจ้งในศูนยตาธรรม

ในอุปาสกศีลสูตร (อิวพ่อสักก้ายเก็ง) มีคำอุปมาที่น่าฟังอีก คือพระพุทธดำรัสว่า

“ดูก่อนกุลบุตร เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคา สัตว์ 3 ตัวได้ว่ายน้ำไปด้วยกัน คือ กระต่าย ม้าและช้าง กระต่ายไม่อาจหยั่งถึงพื้นดินได้ ลอยน้ำข้ามไป ม้าบางขณะก็หยั่งถึง บางขณะก็หยั่งไม่ถึง ส่วนช้างนั้นย่อมหยั่งถึงพื้นดิน

“แม่น้ำคงคานั่นเปรียบประดุจปฏิจจสมุปบาท 12 สาวกข้ามเปรียบเหมือนกระต่าย ปัจเจกพุทธข้ามเปรียบเหมือนม้า แต่ตถาคตข้ามเปรียบเหมือนช้าง”

ไม่ว่ามหาปรัชญาปารมิตาอรรถกถา ไม่ว่าสัทธรรมปุณฑริกสูตร ไม่ว่าทวาทศกายศาสตร์ ไม่ว่าโพธิจิตตสูตร ไม่ว่าอุปาสกศีลสูตร

ล้วนเป็น “คัมภีร์” ทางด้าน “มหายาน”

หากศึกษาจากบทความเรื่อง “คัมภีร์บาลีในพระไตรปิฎกจีน” อัน เสถียร กมลมาลย์ เรียบเรียงและตีพิมพ์ในนิตยสาร “ธรรมจักษุ” เล่ม 32 ประจำตุลาคม 2489-มกราคม 2490 ก็เข้าใจ

ความเปลี่ยนแปลงก็คือ ฝ่ายเหนือโน้มเอียงไปทางมหายานและใช้สันสกฤต ฝ่ายใต้โน้มเอียงไปทางหินยานและใช้ภาษาบาลี แต่กระนั้นหลักปรัชญาดั้งเดิมของพระพุทธองค์ก็หาได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยไม่ พระพุทธศาสนิกฝ่ายเหนือได้รับรองด้วยความจริงใจว่า

พระธรรมอันบริสุทธิ์หรือการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นมีในนิกายฝ่ายใต้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาได้ตั้งนามให้แก่นิกายเถรวาทอีกนามหนึ่งว่า “พระพุทธศาสนาดั้งเดิม” (หยวนสื่อฝูเจี้ยว)

เสถียร กมลมาลย์ ยืนยัน ข้าพเจ้าเองได้ฟังคำสรรเสริญถึงความบริสุทธิ์แห่งพระวินัยของพระบรมศาสดาที่พระภิกษุฝ่ายใต้อุตส่าห์รักษา

และปฏิบัติอย่างไม่มีการตัดทอน

จากพวกสหาย “มหายาน” เสมอ และเนื่องด้วยการปฏิบัติพระวินัยอย่างเคร่งครัดนี้เองจึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “ลี่จง” หรือนิกายวินัย

แม้จะเขียนถึง “มหายาน” แต่ก็มิได้ละเลย มองข้าม “หินยาน”