เทศมองไทย : บทบาทในเมืองไทย ของ “เคมบริดจ์ อนาไลติกา”

“เคมบริดจ์ อนาไลติกา” อื้อฉาวหนักในสหรัฐอเมริกา จากสาเหตุของการ “ฉก” ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายสิบล้านรายไปใช้โดยมิชอบ ปราศจากความรู้เห็นหรือยินยอมของเจ้าของข้อมูล ซึ่งผิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคลในสหรัฐ ถึงขนาดเฟซบุ๊กตกเป็นเป้า “วิกฤตศรัทธา” มาจนถึงเวลานี้ เพราะเฟซบุ๊กเองมีนโยบายห้ามนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการของตนไปใช้ในทางการเมือง

เรื่องดังกล่าวเป็นผลมาจากการเปิดโปงของการ์เดียน กับนิวยอร์ก ไทมส์ อันเป็นรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่อิงจากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับจากการบอกเล่าของคริสโตเฟอร์ ไวลี ที่เคยทำงานวิเคราะห์ข้อมูลของเคมบริดจ์ อนาไลติกาเอง

ไวลีบอกไว้ในตอนนั้นว่า เคมบริดจ์ อนาไลติกา เคยสร้างผลงานไว้ในการเลือกตั้งในหลายประเทศ รวมทั้งในเอเชีย

เมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ควอร์ซ แม็กกาซีน ออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา หยิบเอาคำบอกเล่าส่วนดังกล่าวทำ “ตามต่อ”

ผลที่ได้ก็คือ “ได้เห็น” เอกสารชิ้นหนึ่งซึ่ง “กล่าวอ้าง” ถึงผลงานของเคมบริดจ์ อนาไลติกา และเอสซีแอล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่เคยทำเอาไว้ในบางประเทศโดยละเอียด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอินโดนีเซีย และในประเทศไทย

 

ควอร์ซระบุว่า เอกสารที่ตนได้มานั้น ออกมาในนามของเอสซีแอล โดยน่าจะเป็นเอกสารเมื่อปี 2013 อวดอ้างถึงผลสำเร็จในการ “สปอนเซอร์” การชุมนุมประท้วงในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอินโดนีเซียเมื่ออดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ยินยอมก้าวลงจากตำแหน่งใหม่ๆ บ้านเมืองวุ่นวายจากการชุมนุมและเหตุรุนแรงทางการเมือง

เอสซีแอลอ้างว่า เข้าไปทำงานวิจัย “ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาล” และจัดการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัยขึ้น “เพื่อปิดกั้นไม่ให้การชุมนุมกลายเป็นเหตุรุนแรง” และโน้มน้าว เปลี่ยนแปลงฉันทามติในสังคมจนสามารถกลับคืนสู่ความสงบ

เปิดทางให้ฮาบิบี ประธานาธิบดีรักษาการในเวลานั้นสามารถประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นมาได้ในเวลาต่อมา

เป็นคำกล่าวอ้างที่นักวิชาการที่เชี่ยวชาญการเมืองในอุษาคเนย์ยังไม่ปลงใจเห็นพ้องนัก

และเชื่อไปในทางที่ว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ “เกินเลยความเป็นจริง” ไปไม่น้อยในหลายๆ ทาง

 

ในกรณีของเมืองไทยนั้น ควอร์ซระบุเอาไว้ว่า เอกสารของเอสซีแอลดังกล่าวไม่ได้ระบุกำหนดเวลาชัดเจนมากนัก จนได้แต่คาดคะเนเอาว่า เอสซีแอลเข้ามาทำงานในไทยในช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนปี 2543 ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปอันส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้เป็นครั้งแรกในฐานะหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ไม่มีการระบุชัดว่า การว่าจ้างเอสซีแอลดังกล่าวในครั้งนั้นใครเป็นผู้ว่าจ้าง

เพียงบอกเอาไว้ว่า วัตถุประสงค์ของการทำงานในครั้งนั้นอยู่ที่การวิจัยเพื่อให้ได้ภาพและข้อมูลที่ชัดเจนของ “การซื้อเสียง” ที่เป็นปัญหาใหญ่ในไทยในเวลานั้น

ซึ่งเอสซีแอลอ้างว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “ต้นทุน” ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในไทยสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท

เอสซีแอลเข้ามาทำโครงการวิจัยเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจากเขตเลือกตั้งทั้งหมด ใช้คนทำงานมากกว่า 1,200 คน ทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานถึง 9 เดือน

เป้าหมายก็เพื่อประเมินแรงจูงใจของผู้มีสิทธิออกเสียง และตรวจสอบดูว่าในแต่ละเขตเลือกตั้งนั้น “เปิดกว้าง” ยอมรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อเสียงได้มากน้อยแค่ไหน

เอสซีแอลอ้างว่า “ภายใต้ความร่วมมือกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ เกือบทุกพรรค” เอสซีแอลสามารถดำเนินการแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยใช้เวลาในการดำเนินการ 6 เดือน สามารถลดการซื้อเสียงลงได้ 31 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเอสซีแอลอ้างว่า “คิดเป็นมูลค่าทางการเงินได้ราวๆ 420 ล้านดอลลาร์” หรือกว่า 13,000 ล้านบาท

 

ควอร์ซสอบถามความเป็นไปได้ของข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไปยัง ดันแคน แม็กคาร์โก ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ซึ่งยอมรับว่าการว่าจ้างบริษัทระดับ “อินเตอร์” เข้าไปทำวิจัยเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการเลือกตั้งนั้นเป็นไปได้ และมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าที่จะเป็นพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเวลานั้น

แต่เรื่องที่ “พรรคการเมืองใหญ่ๆ เกือบทุกพรรค” ให้ความร่วมมือและสนับสนุนงานวิจัยเพื่อต่อต้านและลดการซื้อเสียงนั้น ยังชวนให้กังขาอยู่

ถามว่า ในเมื่อครั้งนั้นทำกันได้ การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ก็น่าจะมีการว่าจ้างทำนองนี้เกิดขึ้นตามมาได้สูงมาก คณะกรรมการการเลือกตั้งรู้เรื่องนี้หรือไม่

และคิดถึงการรับมือเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้อื้อฉาวเหมือนในสหรัฐอเมริกา

อันนี้ ดันแคน แม็กคาร์โก ไม่ได้ถาม แต่ผมถามเองครับ!