โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/มองการปฏิวัติผ่าน ‘อยากลืมกลับจำ’

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

มองการปฏิวัติผ่าน

‘อยากลืมกลับจำ’

แทบจะเรียกได้ว่าผู้เขียนไม่รู้จัก และไม่เคยสนใจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลย
ก่อนหน้าที่จะได้อ่านหนังสือชื่อ “อยากลืมกลับจำ” ซึ่งเขียนจากคำบอกเล่าของ จีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรีคนโตของท่านจอมพล ป. ด้วยคนรุ่นหลังที่เป็นนักอุดมคติมักให้ความสนใจกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นคนแรกที่เขียนเค้าโครงเศรษฐกิจไทย ในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
อันที่จริงทั้งจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ ควรได้รับเกียรติและได้รับการจดจำว่าเป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เรียกว่า คณะราษฎร เท่าๆ กัน
เช่นเดียวกับพระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นต้น
แต่ดูเหมือนว่าผู้คนจะจดจำจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นซึ่งต่อมาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม
ความรู้สึกต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเป็นไปในด้านลบ หรือไม่ก็เฉยๆ เพราะในเหตุการณ์ครั้งนั้นกลุ่มที่ได้รับเครดิตคือ กลุ่มเสรีไทย ซึ่งดำเนินงานใต้ดินกับฝ่ายสัมพันธมิตร
และทำให้ไทยไม่ถูกประกาศเป็นประเทศที่แพ้สงคราม

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก คณะผู้เขียนคือ ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ณัฐพล ใจจริง โดยมี นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นบรรณาธิการ ในงานสัปดาห์หนังสือ สำหรับสำนักพิมพ์มติชน หนังสือเล่มนี้ขายดีเป็นลำดับสองต่อจากหนังสือของหนุ่มเมืองจันท์
และมีหนังสือเรื่องพระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งเขียนโดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิสกุล ขายดีเป็นลำดับสาม
เป็นจริงอย่างที่จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อปี 2560 กล่าวไว้เมื่อประมาณปี 2559 ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับคณะผู้เรียบเรียงว่า “ในช่วงบั้นปลายของชีวิตป้าจีร์ คุณป้ากลายเป็นประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ที่ใครๆ ให้ความสนใจ มีสื่อมวลชน นักกิจกรรม นิสิตนักศึกษา รวมทั้งนักวิจัยค้นคว้า ติดต่อขอสัมภาษณ์คุณป้าเป็นระยะ บ้างเพื่อเก็บข้อมูลเรื่องจอมพล ป. หรือท่านผู้หญิงละเอียด บ้างเพื่อสอบถามเกี่ยวกับคณะราษฎร”
ความสนใจที่มีต่อความเป็นไปเรื่อง 24 มิถุนายน และคณะราษฎร ทำให้หนังสือเล่มนี้ขายดี ในมุมหนึ่งหนังสือคือสารคดีชีวประวัติของป้าจีร์ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นประวัติศาสตร์จากฝ่ายปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475
จากเวลานั้นจนถึงเวลานี้นับเป็นเวลา 86 ปี เท่ากับช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง แต่เมืองไทยก็ยังก้าวไม่พ้นวังวนของคำว่าปฏิวัติ
เรายังยู่ในวงจรของการปฏิวัติต่อไป

เมื่อปี 2475 จุดมุ่งหมายของการปฏิวัติ ตามที่คณะราษฎรประกาศออกมามีอยู่ 6 ประการคือ
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายเช่นเอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร*
เป็นเรื่องน่าคิดว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงเสมือนว่าถอยหลังกลับไปสู่จุดเดิมอยู่ร่ำไป เกือบจะบอกได้ว่าการต่อสู้ระหว่าง “ราษฎร” กับ “เจ้า” ยังผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ผลัดกันเป็นฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะกันอยู่อย่างนั้น
ในขณะที่หลายประเทศ หลังการปฏิวัติ ประชาธิปไตยได้ตกเป็นของประชาชนแล้วอย่างมั่นคง เช่นในประเทศฝรั่งเศส หรือรัสเซีย เป็นต้น

ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” ป้าจีร์ บุตรสาวของจอมพล ป. เรียกได้ว่าอยู่วงนอก และเธอเฝ้าสังเกตชีวิตของบิดา และร่วมอยู่ในเหตุการณ์ชีวิตโดยไม่ได้มีส่วนในการเมืองแต่อย่างใด เหมือนบุตรสาวคนอื่นๆ ที่บิดาไปทำงานและได้พบหน้ากันเฉพาะตอนเช้าก่อนไปทำงานกับตอนเย็นหลังเลิกงานแล้ว
ในช่วงชีวิตของจอมพล ป. หลังจากที่ตนเองเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการ และได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ก็ได้เผชิญกับการปฏิวัติอีกหลายครั้ง
เรียกว่าการเมืองไทยไม่ได้สงบเรียบร้อยเลย
ในความคิดเห็นของผู้เขียน จอมพล ป. นั้นถือได้ว่าเป็นเหยื่อของเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกและไทยมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรกับเยอรมนีเป็นฝ่ายรุกในตอนแรก เมื่อรุกเข้ามาในเอเชียก็ต้องการผ่านไทยเข้าไปยึดครองสิงคโปร์
ประเทศไทย ในการนำของจอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกสองทางคือไม่ยอมญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องถูกญี่ปุ่นบุกทำลายอย่างแน่นอน
กับยอมเป็นพันธมิตรญี่ปุ่นและยอมให้ญี่ปุ่นผ่านไปแต่โดยดี

การตัดสินใจของจอมพล ป. จากคำบอกเล่าของป้าจีร์ เกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือผู้ร่วมคณะรัฐมนตรี
เธอเล่าว่า “ป้าจีร์เชื่อว่าการตัดสินใจทั้งหมดเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่บีบบังคับ เกิดจากความจำเป็นเฉพาะหน้าขณะนั้น เพราะประเทศไทยไม่สามารถต้านทานญี่ปุ่นเลย…อย่างเรื่องตอนรัฐบาลไทยกำลังตัดสินใจเรื่องคำขอเดินทัพผ่าน พวกทหารญี่ปุ่นก็เอาแต่กดดันไม่หยุด เมื่อคณะรัฐมนตรีประชุมกันว่าจะเอาอย่างไร ญี่ปุ่นมันมาถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเลย แต่คุณวณิช ปานะนนท์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีอยู่เข้ามายืนขวาง บอกว่า ท่านจะเข้าไปไม่ได้”
ป้าจีร์บอกว่า จอมพล ป. ผู้เป็นบิดาต้องพยายามคุมเกมตลอดเวลา ทำอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ
ป้าจีร์เล่าต่อว่า
“คุณพ่อไม่ได้ติดต่อกับคนญี่ปุ่นเลยนะคะ…บอกตรงๆ นะคะ คุณพ่อเนี่ยเกลียดญี่ปุ่นที่สุดเลย ระหว่างที่กองทัพญี่ปุ่นอยู่ในประเทศคุณพ่อไม่เคย associate กับพวกญี่ปุ่นเลย ท่านนายพลนากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น เชิญคุณพ่อไปนั่งกินข้าว คุณพ่อก็ไม่เคยไปสักหน มีแต่ส่งคนอื่นไปตลอด ป้าเองยังต้องไปแทนคุณพ่อบางครั้ง”

จอมพล ป. รู้ความเคลื่อนไหวของเสรีไทยตลอดเวลา ป้าจีร์เล่าว่า “คุณหลวงอดุลย์ ต้องมาแจ้งเรื่องเสรีไทยกับคุณพ่อทุกวันที่ลพบุรี…พอพวกเสรีไทยแอบเข้าประเทศมา เราต้องรีบเอาตัวไปก่อน…เราต้องรีบเก็บก่อนญี่ปุ่นเก็บ”
ประเทศไทยแต่ไหนแต่ไรมา มีความเก่งเรื่องการเอาตัวรอดแบบนี้ ซึ่งพาประเทศรอดไม่บอบช้ำมากในยามคับขันทุกทีไป ป้าจีร์มองว่าจอมพล ป. ไม่ได้มีเรื่องบาดหมางกับเสรีไทย ซึ่งมีปรีดีเป็นผู้นำ แค่แยกย้ายกันทำงานเพื่อประเทศชาติเท่านั้น
จากการอ่านระหว่างบรรทัด ก็พอจะเข้าใจได้ว่าคณะราษฎรอันประกอบด้วยทั้งทหารและพลเรือน ก็ได้ทำการลิดรอนอำนาจของ “เจ้า” ไม่น้อย
ที่เห็นชัดคือการยึดเอาอาคารหลายแห่งซึ่งเคยเป็นของเจ้านายและขุนนางมาเป็นที่ทำการรัฐบาล
สำหรับ “บ้านนรสิงห์” ของเจ้าพระยารามราฆพ รัฐบาลใช้วิธีซื้อมา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ทำเนียบสามัคคีชัย ใช้เป็นที่ตั้งสำนักนายกรัฐมนตรี และที่พักของ จอมพล ป. และครอบครัว เป็นที่รู้กันว่าที่นี่คือศูนย์กลางอำนาจรัฐในสมัยนั้น ปัจจุบันคือ “ทำเนียบรัฐบาล” เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก รัฐบาลซื้ออาคารหลายแห่งก่อนที่ญี่ปุ่นจะซื้อ จากคำบอกเล่าของป้าจีร์ เป็นการซื้อตัดหน้าญี่ปุ่น
ในปี 2487 จอมพล ป. เจอมรสุมการเมือง และเสียเก้าอี้ให้แก่ พันตรีควง อภัยวงศ์

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จะรับช่วงเป็นหัวหน้ารัฐบาลเมื่อปี 2489 ในระหว่างนั้นไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐ เงินเฟ้อ โจรผู้ร้ายชุกชุม จนฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
เกิดความขัดแย้งระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือน เนื่องจากมีการปลดนายทหารจำนวนมากออกจากประจำการ จึงเกิดการปฏิวัติขึ้นอีกเพื่อสลายอิทธิพลของเครือข่ายเสรีไทยที่มีปรีดีเป็นหัวหน้า
คณะปฏิวัตินำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ พลโทกาจ กาจสงคราม และพลตรีก้านจำนง ภูมิเวท
ในถ้อยคำของป้าจีร์ จอมพล ป. ไม่ได้เห็นด้วยกับการปฏิวัติ และพยายามเตือนหลวงธำรงให้รู้ตัว แต่ในที่สุดการปฏิวัติก็สำเร็จเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490
ป้าจีร์ยังเล่าอีกว่า จอมพล ป. หลั่งน้ำตาเพราะการรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นจุดจบของคณะราษฎรที่ได้อยู่ในอำนาจมา 15 ปี
เหตุการณ์พาไป เมื่อจอมพลสฤษดิ์และพลตำรวจเอกเผ่าไปตามตัวจอมพล ป. ที่แม้จะหลบไปอยู่ในที่ห่างไกล แต่ในที่สุดก็ถูกตามตัวให้เข้ามาเป็นผู้นำคณะรัฐประหาร และเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด
นี่คือภาพหนึ่งของการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่การกินดีอยู่ดีได้ และเพราะทหารนั้นเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งเข้มแข็ง สั่งซ้ายหันขวาหันได้ จึงมีบทบาทเข้ามมาล้มกระดานด้วยการใช้อำนาจ แทนที่จะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำด้วยวิธีการทางรัฐสภาตามวิถีประชาธิปไตย

จากนั้นจนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังมีการปฏิวัติอีกหลายครั้ง และสุดท้ายจากคำบอกเล่าในหนังสือเล่มนี้ของป้าจีร์คือการปฏิวัติจอมพล ป. ของจอมพลสฤษดิ์ที่ส่งผลให้จอมพล ป. ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศและจบบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิงในที่สุด
ผู้เขียนอยากจะสรุปว่าเหตุผลสำคัญมีอยู่สองประการ นั่นคือในระยะแปดสิบกว่าปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรและรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถบรรลุซึ่งความกินดีอยู่ดีและการศึกษาที่เท่าเทียมที่ได้ระบุไว้ในอุดมการณ์ของคณะราษฎรได้ และกองทัพเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง สามารถสั่งการให้ทำการปฏิวัติได้
อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งด้วยผลประโยชน์ของชนชั้นผู้นำในทางเศรษฐกิจและสถาบัน ที่มักอาศัยทหารเป็นผู้กระทำการเมื่อสถานะของคนเหล่านั้นเริ่มไม่มั่นคง
การปฏิวัติจะหมดไปได้ก็ต่อเมื่อคณะราษฎรบรรลุวัตถุประสงค์ของการทำให้คนไทยมีความเข้มแข็งทางปัญญา รวมทั้งการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ รวมถึงการตระหนักในสิทธิของตนเอง ในการปกครองตนเอง

มีหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติชีวิตบุคคลซึ่งมีการเมืองเป็นฉากหลังอีกมากมายที่ผู้เขียนยังไม่เคยอ่าน สำหรับ “อยากลืมกลับจำ” มีความหมายต่อตัวผู้เขียนเองและต่อสังคมในแง่ที่ว่า มันได้ทำให้เรารู้จักตัวตนของบุคคลสำคัญของประเทศ และของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในประเทศนี้มากขึ้น
อคติต่างๆ ที่เคยมีตกค้างได้ถูกทดแทนด้วยข้อเท็จจริง
แม้จะเป็นข้อเท็จจริงจากปากของผู้ใกล้ชิดมากที่สุด ซึ่งแน่นอนไม่สามารถวางตัวเป็นกลางได้เต็มร้อย ก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้เดินหน้าหาข้อเท็จจริงจากบุคคล เอกสาร ข้อมูลอื่นๆ ต่อไป
เพราะนอกจากจะเป็นการให้ความยุติธรรมกับบุคคลในประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังเป็นการเรียนรู้สังคม การเมืองของประเทศที่เราทุกคนมีส่วนร่วมกันเป็นเจ้าของ รวมทั้งมิติของความเป็นมนุษย์ซึ่งมีส่วนกำหนดชตากรรมของประวัติศาสตร์อีกด้วย