วิกฤติศตวรรษที่21 : การลงมือโจมตีก่อนของสหรัฐในบางมุมมอง

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (15)

การลงมือโจมตีก่อนของสหรัฐในบางมุมมอง

การโจมตีก่อนอย่างทั่วด้านและทั่วโลกของสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นสถานการณ์ใหม่

มองจากจุดของผู้นำสหรัฐเป็นการดำเนินนโยบาย “อเมริกาเหนือชาติใด” เพื่อให้ “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง”

มองจากจุดผู้นำจีนเก่า ประธานเหมา เจ๋อ ตุง เห็นว่า เป็นการดิ้นรนก่อนตายของเสือกระดาษอเมริกัน เป็นสัญญาณว่า “ลมตะวันออกจะพัดกลบลมตะวันตก”

มองจากจุดผู้นำจีนขณะนี้เห็นว่า เป็นการคิดที่ผิดพลาดของสหรัฐที่ควรจะแก้ไข เพื่อที่จะสร้างความร่วมมือสหรัฐ-จีนที่เท่าเทียมกันและเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และต่อชาวโลก

มองจากจุดของผู้นำรัสเซีย เห็นว่าจำต้องปราบพยศของสหรัฐลงเสียบ้าง เพื่อให้เกิดความสำนึก ไม่วางอำนาจเที่ยวแซงก์ชั่นและล้มระบบปกครองของประเทศทั้งหลายอย่างที่เคยปฏิบัติมา

มองจากการวิเคราะห์พื้นฐานธรรมดา ปรากฏการณ์นี้เกิดจากความระส่ำระสายทางนโยบายทั้งในต่างประเทศและในประเทศเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างชนชั้นนำสหรัฐ

ชาวรากหญ้าก็แตกกันไปคนละทิศละทาง ทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา วัย ไปจนถึงเพศภาวะ สืบเนื่องจากลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์สหรัฐ และการสนับสนุนขบวนการปีกขวาของชนชั้นนำ ได้แก่ ขบวนการทีปาร์ตี้ และคริสเตียนปีกขวา เป็นต้น

This photo taken on August 29, 2017 shows Chinese farmers harvesting red quinoa in Jianhe in China’s southwestern Guizhou province. / AFP PHOTO / STR / China OUT

ไปจนถึงขบวนการเป็นไปเองของคนรุ่นสหัสวรรษ (เกิดระหว่าง 1985-2000 ใช้ตัวเลขนี้เพราะเห็นว่าจำได้ง่าย) ที่เอนเอียงไปยอมรับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มากกว่าคนรุ่นอื่น

ความระส่ำระสายของนโยบายนี้ เกิดจากความล้มเหลวของนโยบายใหญ่ คือ “ฉันทามติวอชิงตัน” หรือ “เสรีนิยมใหม่” ที่ใช้ได้ผลในการแก้ปัญหาวิกฤติภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน-เงินเฟ้อของสหรัฐในเฉพาะหน้า ทั้งมีส่วนให้สหรัฐได้รับชัยชนะในการแข่งขันกับระบบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต จนสหรัฐก้าวไปสู่การเป็นอภิมหาอำนาจแต่ประเทศเดียว

ลัทธิเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ที่สหรัฐเป็นแกนนั้น ออกแบบมาเพื่อให้อำนาจและความมั่งคั่งไหลกลับไปรวมศูนย์อยู่ที่สหรัฐอย่างต่อเนื่อง

แต่ในท่ามกลางการไหลเวียนของอำนาจโลก แม้จะมีส่วนที่กลับไปรวมศูนย์อยู่ที่อเมริกาตามที่ออกแบบไว้ แต่อำนาจและความมั่งคั่งบางส่วนก็ได้ไปรวมศูนย์ในกลุ่มที่เรียกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีผู้สังเกตเห็นตั้งแต่ปี 1981

และต่อมาเห็นว่ามีสี่ประเทศใหญ่ที่เป็นเหมือนแกนของประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ตั้งชื่อว่ากลุ่ม “บริก” (BRIC ในปี 2001) ต่อมาขยายเป็น “บริกส์” ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

ประเทศเหล่านี้ได้รวมตัวกันตั้งเป็นองค์กรข้ามชาติ จัดประชุมสุดยอดหลายครั้ง เป็นศูนย์อำนาจโลกใหม่ในตัวเอง ขึ้นมาเคียงคู่กับกลุ่ม 7 ที่มีสหรัฐเป็นแกน

นอกจากนี้ อำนาจและความมั่งคั่งอีกส่วนหนึ่ง ยังกระจายไปสู่สหภาพยุโรปพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ ซึ่งแสดงตัวกระด้างกระเดื่องเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดขึ้นในกรณีวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008 ที่สหรัฐต้องการเดินหน้านโยบายให้รัฐบาลเข้าไปช่วยไถ่ถอนและผ่อนคลายปริมาณการเงินเต็มตัว

ส่วนสหภาพยุโรปที่มีเยอรมนีเป็นแกน เห็นว่า ควรเดินนโยบายรัดเข็มขัดพร้อมกันไป ดังจะเห็นได้ในกรณีแก้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศกรีซ ซึ่งในที่สุดก็ดำเนินตามแนวของเยอรมนี

นับแต่นั้นความสัมพันธ์สหรัฐ-สหภาพยุโรปเริ่มไม่ปรกติ มีการจิกตีกันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น การเรียกค่าปรับจำนวนเงินสูงต่อสถาบันการเงินและบริษัทอุตสาหกรรมกันไปมา แต่ส่วนใหญ่เป็นการโจมตีก่อนของสหรัฐ

ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่หน่ออ่อนของศูนย์อำนาจโลกใหม่ผุดขึ้นที่โน่นที่นี่ ชนชั้นนำสหรัฐอย่างน้อยบางส่วนได้เริ่มรู้สึกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในวงล้อม ไม่ใช่ไป “ปิดล้อม” ประเทศต่างๆ อย่างได้ผลดังในช่วงสงครามเย็น

ความคิดลงมือโจมตีก่อนเพื่อแหวกวงล้อมได้ก่อรูปมั่นคงขึ้นในยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามเย็น

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายชาติของสหรัฐมีความเอนเอียงไปทางขวามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็สามารถพบในประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปเช่นกัน อย่างเยอรมนีที่เพิ่งตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่มีลักษณะเอียงขวาชัดเจน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ประกาศว่า รากฐานของความเป็นเยอรมนีอยู่ที่ศาสนายูดาห์-คริสต์ ขณะที่ศาสนาอิสลาม ไม่ใช่ของเยอรมนี

นางแมร์เคิลที่ได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักเสรีประชาธิปไตยของยุโรป ต้องออกมากล่าวแก้ว่า ขณะที่มีชาวอิสลามอยู่ 4.5 ล้านคนก็ควรถือว่าอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี แต่เธอต้องยอมรับว่านโยบายเปิดกว้างรับผู้อพยพแบบเดิมจะไม่มีอีกต่อไป

ลัทธิโจมตีก่อนและลัทธิขวาใหม่ของสหรัฐขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ในการแต่งเรื่องเพื่อรุกรานยึดครองอิรักในปี 2003 ตามแผนครอบงำมหาตะวันออกกลางด้วยเสรีประชาธิปไตยของสหรัฐ บางคนวิจารณ์ว่า นี่เป็นปฏิบัติการใหญ่ในฐานะเป็นจักรวรรดิสหรัฐครั้งสุดท้าย

ที่เหลือเป็นเพียงการเยียวยาแก้ไขความเสียหายจากความผิดพลาดนี้ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งดูไม่ได้ผลอะไรนัก ซ้ำยังก่อความผิดหวังให้แก่สาธารณชนอเมริกาที่คิดว่าโอบามาจะมาเปลี่ยนแปลงทางเดินของประเทศในสู่ทางที่ถูกต้อง

ในสายตาของทรัมป์ พวกเดินลัทธิเสรีนิยมใหม่และอนุรักษนิยมใหม่หรือขวาใหม่ล้วนเป็น “พวกขี้แพ้” นั่นคือพวกนี้เห็นอันตรายของการที่สหรัฐตกอยู่ในวงล้อมไม่เพียงพอ ยังมีความเพ้อฝันถึงพันธมิตรต่างๆ ว่าจะช่วยเหลือได้ ทั้งที่มีแนวโน้มจะคอยซ้ำเติมมากกว่า

จึงควรเดินนโยบายทางเลือกที่ขวายิ่งไปขวาใหม่เสียอีกภายใต้คำขวัญ “อเมริกาอยู่เหนือชาติใด” ไม่มีขีดจำกัดของสหรัฐในการปฏิบัตินโยบายหรือมาตรการใดที่จะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ว่ากันตามจริงแล้ว ชนชั้นนำสหรัฐโดยรวมก็ได้หันมาเดินทางขวามากขึ้น เช่น นางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งของทรัมป์ ที่เคยแสดงตัวเป็นเสรีนิยม แต่เมื่อลงมือหาเสียง ก็เสนอนโยบายเอียงขวากว่าโอบามา

เช่น กล่าวว่าเธอไม่ได้เห็นด้วยกับการทำข้อตกลงการค้าภาคพื้นแปซิฟิกของโอบามา ทั้งที่เคยสนับสนุน เป็นทัศนะที่ไม่ต่างอะไรกับของทรัมป์

ดังนั้น หากนางฮิลลารีได้รับเลือกตั้ง ก็คงปฏิบัติการเอียงขวาไม่ต่างกับทรัมป์นัก เพียงแต่จะพูดจาเหมือนอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น มีผู้เห็นว่าถึงแม้ไม่มีทรัมป์ นโยบายต่างประเทศแบบทรัมป์ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยผู้แสดงคนใหม่

ลัทธิโจมตีก่อนของทรัมป์เป็นอย่างไร

ลัทธิโจมตีก่อนของทรัมป์นั้น มีลักษณะทั่วไป ร่วมกับการโจมตีก่อนที่เคยปฏิบัติมา นั่นคือ การเป็นธรรมชาติของประเทศที่ครองความเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าจักรวรรดิที่จะปฏิบัติเช่นนั้น เพื่อรักษาสถานะเดิมไม่ให้ใครมาท้าทายได้

ปฏิบัติเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันจนถึงจักรวรรดิอังกฤษ แต่การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้การรักษาความเป็นใหญ่หรือเป็นเจ้าจักรวรรดิยิ่งมีราคาแพงขึ้น ทำให้เกิดความไม่คุ้มค่า เช่น การโจมตีอิรักเพื่อรักษาอิทธิพลของตนไว้ มีค่าใช้จ่ายสูงมากจนไม่คุ้มค่า

ทรัมป์เองเคยต่อต้านการก่อสงครามอิรักอย่างดุเดือด แต่ท้ายสุดเขาก็ประกาศตั้งจอห์น โบลตัน ซึ่งเป็นขวาสุดขั้วในกลุ่มขวาใหม่ เป็นผู้สนับสนุนการทำสงครามอิรักเต็มตัว ขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของเขา

เป็นสัญญาณว่าเขาจะไม่ทิ้งสงครามอิรักไปง่ายๆ

นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า เป็นการตั้งคณะรัฐมนตรีสงคราม เพื่อการสงคราม

ลักษณะร่วมกันอีกประการของการโจมตีก่อน ได้แก่ การปราบศัตรูคู่แข่งที่เพิ่งเติบใหญ่ขึ้นมา และยังมีความเป็นรองอยู่หลายด้าน เช่น จีนยังมีความยากจนอยู่มากที่จะต้องแก้ไข การเติบโตและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคม ก่อให้เกิดความรวนเรที่ท้าทายต่ออำนาจเดิม เช่น ชนชั้นกลางของจีนที่เติบใหญ่ ต้องการการแสดงออกและมีส่วนในการปกครองหรือการตัดสินใจมากขึ้น การกวดไล่ทางเทคโนโลยีและการทหาร แม้ว่าจะใกล้ขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ได้ก้าวมาคู่เคียง ถ้าปล่อยไปไว้เนิ่นนานก็จะยิ่งกล้าแข็ง จำต้องโจมตีก่อนเพื่อบั่นทอนพละกำลังและความเข้มแข็ง สำนวนไทยเรียกว่า “ขจัดเสี้ยนหนามของแผ่นดิน”

อย่างไรก็ตาม การโจมตีก่อนของทรัมป์ก็มีลักษณะเฉพาะบางประการ ที่สำคัญได้แก่ เป็นขยายมิติการโจมตีก่อนของนโยบายเดิมเป็นแบบทั่วด้านและทั้งโลก ลัทธิโจมตีก่อนที่เริ่มชัดเจนตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคลินตัน เน้นหนักในการโจมตีก่อนทางทหาร ผสมกับการทำสงครามข่าวสาร แต่เมื่อถึงสมัยทรัมป์ ไม่ใช่เพียงทำแค่นั้น หากแต่ยังทำมากขึ้น และยังขยายไปสู่ด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว ทั้งปัดความรับผิดชอบทั้งหมดให้ผู้อื่นมาช่วยแบกรับ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทหารและการรบ (ไปจนถึงการสร้างกำแพงสหรัฐ-เม็กซิโกที่จะให้เม็กซิโกเป็นผู้จ่าย)

การขยายวงยังกว้างไปกระทบถึงพันธมิตรเดิมในตะวันตกด้วย เรียกว่ายิงกราดไปทั่วไม่คำนึงถึงหน้าอินทร์หน้าพรหม ขณะที่โอบามายังถนอมน้ำใจพันธมิตรอยู่บ้าง

“การข่มมิตรไปทั่ว” นี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเห็นว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่ง พันธมิตรของตนล้วนอ่อนแอกว่ามาก ไม่สามารถที่จะสร้างนโยบายอิสระของตนในระยะใกล้ได้ อำนาจต่อรองก็มีไม่มาก แต่คอยโหนหาประโยชน์จากอำนาจและความมั่งคั่ง ในสายตาของทรัมป์คล้ายกับว่าโลกได้รุมล้อมให้สหรัฐตกอยู่ในความหวาดกลัว

บัดนี้ถึงเวลาที่ต้องทำให้โลกกลับมากลัวสหรัฐอีกครั้งหนึ่ง

การโจมตีก่อนของสหรัฐ : เป้าประสงค์และความเสี่ยง

การโจมตีก่อนของสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ ดูจากพฤติกรรมในหลายกรณี มีลักษณะคล้ายกับ “หมาหยอกไก่” ถ้าจับกินได้ก็จับกิน ถ้ากินยังไม่ได้ ก็เป็นการกดดันให้คู่แข่งเข้าสู่โต๊ะเจรจา เพื่อการทำข้อตกลงใหม่ที่ตนเองได้เปรียบขึ้น

แต่การปฏิบัติเช่นนั้นมีความเสี่ยงหลายประการ

ที่สำคัญได้แก่ สหรัฐกลายเป็นประเทศที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่ามาตรการและคำขู่ต่างๆ ที่ประกาศมาไม่ได้ขาด จะดำเนินไปถึงขีดไหน

ก่อให้เกิดการตอบโต้ในหลายรูปแบบ

โดยเฉพาะการตอบโต้ของมหาอำนาจอย่างจีน-รัสเซีย ที่ถึงวันนี้ก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่สหรัฐอีกต่อไป ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจโลกยิ่งเลวร้าย ทั่วทั้งโลกร้อนระอุตกอยู่ในอารมณ์ร้าย

ที่เบากว่านั้นได้แก่ การตอบโต้จากพันธมิตรแอตแลนติกมีเยอรมนีและฝรั่งเศส เป็นต้น ก็ยังก่อผลกระทบต่อศูนย์กลางอำนาจโลกเดิม ที่จะก่อความปั่นป่วนในด้านต่างๆ อย่างคาดไม่ถึง รวมทั้งดุลอำนาจโลก ทั้งหมดดังกล่าวทำให้เหตุการณ์บานปลาย ควบคุมได้ยากขึ้น จนอาจปะทุขึ้นเป็นการรบกันทางการเคลื่อนกำลังได้

ความเสี่ยงจากลัทธิโจมตีก่อนของทรัมป์อีกประการหนึ่งได้แก่ แม้การโจมตีก่อน เช่น การขึ้นภาษีศุลกากร จะทำให้ตลาดการค้าการเงินทั่วโลกตื่นตระหนก แต่อำนาจแห่งชาติสหรัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายนี้ ซ้ำยังจะเกิดปัญหาที่ขยายความแตกแยกและความอ่อนแอของสหรัฐขึ้นอีกได้มาก ทำให้เกิดการเสี่ยงที่ทรัมป์จะ “เกทับ” เพิ่มขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ไม่ปรกติขึ้นในสหรัฐที่ส่งผลไปทั่วโลก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการตอบโต้ของจีนและรัสเซีย