การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/Igort Japanese Notebook (1)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Igort Japanese Notebook (1)

หนังสือการ์ตูนประกอบภาพ คือมิใช่หนังสือการ์ตูนแท้ๆ และมิใช่นิทานประกอบภาพ โดย Igort นักเขียนการ์ตูนชาวอิตาลีที่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตมังงะภายใต้วัฒนธรรมการทำงานของนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น ปกแข็ง หนาหนึ่งนิ้ว Chronicle Books ซานฟรานซิสโก ราคา 1,035 บาท
เป็นปี 1994 อิกอร์อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ใกล้วัดชินโตแห่งหนึ่งในโตเกียว บริเวณเขตที่อยู่อาศัยเงียบสงบ เหมาะแก่การทำงาน และชอบกินเต้าหู้ สำหรับเขาแล้วเต้าหู้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสมดุลของพลังภายใน
เขาใช้รถใต้ดิน บางครั้งใช้รถเมล์ เพื่อเดินทางจากบ้านไปสำนักงาน คือโคดันฉะ (Kodansha) ยักษ์ใหญ่แห่งมังงะ ตอนที่นั่งรถเมล์ครั้งแรกเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากเพราะเขาไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น และไม่รู้ว่าจะลงตรงไหนนอกจากที่รู้เพียงว่าต้องนั่งไป 11 ป้าย
อ่านถึงตอนนี้นึกถึงสมัยที่ตนเองไปประชุมที่โตเกียวเมื่อประมาณปี 1999 เวลานั้นระบบรถไฟฟ้าในโตเกียวไม่มีภาษาอังกฤษเลย เวลาไปไหนมาไหนต้องจำอักขระจากแผนผังแล้วนับเอาเช่นกัน เพราะบนขบวนรถไฟไม่มีสัญญาณอะไรช่วยเหลือเลย
ฟังภาษาญี่ปุ่นก็ไม่รู้เรื่อง

อิกอร์เล่าเรื่องชีวิตส่วนตัว สลับกับเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจ
เรื่องแรกคือเรื่อง ภาพเขียนโลกที่ล่องลอย Pictures of the Floating World คืองานเขียนในสไตล์ของ Hokusai (คือ Katsushika Hokusai 1760-1849 หนึ่งในศิลปินภาพยูคิโยเอะ ukiyo-e โลกที่ล่องลอย
อันเป็นยุคสมัยที่ชนชั้นพ่อค้ามีเงินเหลือเฟือและกว้านซื้องานศิลปะเพื่อการเชยชมและสะสม ศิลปินหลายคนกระโจนลงมาในสนามนี้ผลิตทั้งภาพวาดภาพพิมพ์ป้อนตลาด)
นอกเหนือจากโฮะคุไซที่ตวัดแปรงพู่กันรวดเร็ววาดสรรพสิ่งให้มีชีวิต ยังมี Hiroshige, Utamaro และ Sharaku โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหลังที่วาดภาพตัวละครคาบูกิอันลือชื่อ (คือ T?sh?sai Sharaku หนึ่งในศิลปินคนสำคัญยุคโลกที่ล่องลอย)
ย้อนกลับไปปี 1980 ครั้งที่เขายังหนุ่มและอาศัยอยู่กับแม่ที่ซาร์ดิเนีย ตอนนั้นเขาคลั่งไคล้ญี่ปุ่นแล้ว การ์ตูนที่เขาเขียนเล่าเรื่อง ฮิโระ อูหลง คนแล่เนื้อในวังที่พยายามลืมความหลังครั้งสงครามโลก เก็บซ่อนอดีตกาล และฟังมาห์เลอร์ในยามค่ำคืน ลายเส้นเวลานั้นยังดิบ ง่าย ถมดำเป็นหลัก
อิกอร์อ่านหนังสือ Empire of the Signs ของโรลันด์ บาร์ธ นักปรัชญาคนสำคัญของฝรั่งเศส (Roland Barthes1915-1980 คือหนังสือว่าด้วยปรัชญาเกี่ยวกับความเป็นญี่ปุ่นเล่มสำคัญ)
เขาชอบใช้การ์ดที่เขาสะสมไว้เป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจ หยิบการ์ดขึ้นมาสักใบ แล้วสร้างพล็อตการ์ตูนขึ้นมา เขียนเรื่องและรูป ส่งให้เพื่อนรักตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุง คือผลงานหนังสือการ์ตูนเล่มแรก Goodbye Baobab (นั่นคือปี 1985)

อิกอร์เดินทางไปโคดันฉะครั้งแรกเมื่อปี 1991 ได้พบยูกะ สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่น หัวหน้าส่วนลิขสิทธิ์ต่างประเทศ เขาพูดว่าเป็นเรื่องดีที่ญี่ปุ่นและยุโรปจะได้ร่วมมือกัน ยูกะแสดงท่าตกใจ
“นี่ผมพูดอะไรผิด!”
ยูกะลากผมไปกระซิบ “ใครบอกคุณเรื่องที่โอโตโมะกำลังจะร่วมมือกับโจโดโรว์สกี้”
(คือ โอโตโมะ คัตสึฮิโร ผู้สร้าง Akira และ Alejandro Jodorowsky นักสร้างหนังชาวชิลี-ฝรั่งเศส)
แล้วยูกะก็พาเขาไปพบฮุระคาริ หัวหน้ากองบรรณาธิการที่ซึ่งมีบรรณาธิการ 55 คนทำงานให้ เป็นการต้อนรับด้วยน้ำชายาวนานสามชั่วโมงครึ่ง ด้วยความที่ไม่รู้ธรรมเนียมว่าแขกต้องเป็นฝ่ายลุกก่อน
ฮุระคาริจึงรินน้ำชาไปเรื่อยๆ คงคิดว่าเขากำลังจะขอขึ้นค่าตอบแทน

อิกอร์นอนบนพื้นห้อง บนฟูกญี่ปุ่นที่พับเก็บใส่ตู้ได้หลังตื่นนอน เขาตื่นตีห้าแล้วออกจากบ้านไปเดินสูดความสงบ และเซน
เขาเอาหนังสือของมิชิมาติดตัวมาด้วยหลังจากที่หนังสือถูกแบนอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะนำกลับมาพิมพ์ใหม่ในยุค 80 มิชิมากระทำการฆ่าตัวตายตามลัทธิบูชิโดเพื่อประท้วงกองทัพ
หนังสือที่มิชิมาเขียนเป็นเหมือนแก้วเปราะบาง เหมือนภาพแปรเปลี่ยนในกล้องคาไลโดสโคป ยากเกินทำความเข้าใจ และง่ายเกินกว่าจะอ่านผ่านๆ (คือนักเขียนคนสำคัญ Yukio Mishima 1925-1970)
อิกอร์เขียนว่าเขากำลังถูกมิชิมาทรมาน เช่นเดียวกับที่โฮะคุไซทำกับเขา เขาน้ำหนักลด 12 กิโลกรัมและสุขภาพดีขึ้น ได้รู้จักคนเก่งๆ หลายคน เช่น จิโร่ซัง ผู้เล่าให้เขาฟังถึงการผลิตการ์ตูน ที่นี่นักเขียนการ์ตูนคนหนึ่งเขียนได้ 60 หน้าต่อวัน นั่นเท่ากับผลงานนักเขียนการ์ตูนในยุโรปในหนึ่งปี
อีกคนคือทานากะซัง ผู้เขียน Gon ไทโรแนนซอรัส เร็กซ์ร่างเล็กหัวโตที่ไม่มีบทพูดเลย
และบรรณาธิการของเขา ซึทซึมิ ยาสึมิตสึ ผู้พยายามฝึกเขาเขียนการ์ตูนด้วยวิธีการของโสคราติส ทำไมอย่างนั้น ทำไมอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้
“ลองซิมโฟนีของรอสสินีดู” ซึทซึมิแนะนำ ดนตรีเริ่มต้นแล้วหายไปในทันใด ขณะที่อะไรๆ ดูจะไม่เหมือนเดิม ดนตรีก็กลับมาใหม่ “ทำแบบนี้กับมังงะ”
ผมบอกเขาว่าผมชอบไอเดียนี้นะ อิกอร์เขียนเล่าเอาไว้ เรื่องเขียนมังงะแบบดนตรีคลาสสิค แต่ต้องเพิ่มความยาวอีก 20 หน้า เพราะ 200 หน้าคงจะไม่พอ
“ทำไมไม่ 300 หน้า” ซึทซึมิลุกยืน “ไม่มีกำหนดตายตัว อะไรก็ได้ที่ทำให้เรื่องเดินได้”
ยังมีต่อ